ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ชี้ส่งออกดึงเศรษฐกิจฟื้น- จับตา “การลงทุน-บริโภค” ยังไม่ชัดเจน

ธปท. ชี้ส่งออกดึงเศรษฐกิจฟื้น- จับตา “การลงทุน-บริโภค” ยังไม่ชัดเจน

29 เมษายน 2017


ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2560 ว่ามูลค่าการส่งออกปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนที่ 10.8% หรือคิดเป็นมูลค่า 20,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงสุดในตั้งแต่ปี 2554 และยังเป็นการเติบโตแบบกระจายตัวไปยังสินค้าประเภทต่างๆ สอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบที่ขยายตัวขึ้นอย่างมากในไตรมาสนี้ที่ 21.2% เทียบกับปี 2559 ที่ขยายตัวในครึ่งปีแรกเพียง 4.1%

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ อย่างเช่น ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน และมาเลเซีย ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่การส่งออกฟื้นตัวสูงที่สุด เช่นเดียวกับตลาดส่งออกที่กลับมาดีขึ้นในทุกตลาดไม่ว่าจะเป็นจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินโดนีเชีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และตะวันออกกลาง

“การส่งออกที่ดีขึ้นหลายคนอาจะบอกว่าเป็นการปรับตัวตามราคาสินค้าที่ดีขึ้น แต่ถ้าไปดูตัวเลขไส้ในของการเติบโตของมูลค่าการส่งออกที่หักทองคำและน้ำมันที่ 6.6% ในเดือนมีนาคม พบว่า 3.8% เป็นผลจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น 3.8% และอีก 2.8% เป็นการขยายตัวของปริมาณสินค้า แสดงว่าเรามีอุปสงค์จากต่างประเทศเข้ามา จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทั้งประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศเกิดใหม่ ตรงนี้ทำให้ ธปท. มีมุมมองว่าทิศทางระยะ 1-2 เดือนข้างหน้ายังไปต่อแน่นอน ระยะยาวแม้มีแนวโน้มดีแต่ต้องจับตาปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบายการค้าของสหรัฐฯ หรือประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น” ดร.ดอนกล่าว

ผิดหวังเอกชนยังไม่ลงทุน – ชี้เร่งใช้กำลังการผลิตที่เหลือ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวเล็กน้อย สวนทางกับการส่งออกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะยานยนต์ที่แม้การส่งออกจะเป็นบวก ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบายสินค้าคงคลังที่เหลืออยู่และใช้กำลังการผลิตที่เหลือก่อนหน้านี้ ขณะที่สินค้าประเภทอื่นยังคงขยายตัวได้ในระดับหนึ่ง ส่งผลให้โดยรวมการลงทุนของเอกชนยังคงหดตัว ซึ่งต่ำกว่าที่ ธปท. คาดการณ์ไว้และค่อนข้างผิดหวัง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งลงทุนช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าปัจจัยทุนที่หักเครื่องบินและแท่นขุดเจาะออกไปเติบโตเพียงแค่ 1%

“ในตัวเลขดุลบัญชีการชำระเงินเดือนนี้อาจจะเห็นตัวเลขการออกไปลงทุนของนักลงทุนไทยค่อนข้างสูงที่ 7,078 ล้านบาท และเป็นการลงทุนโดยตรง 1,567 ล้านบาท ถามว่าจะกระทบกับการลงทุนของเอกชนหรือไม่ หากดูในไส้ในจะพบว่าคนที่ออกไปลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นขนาดใหญ่และไม่มีตลาดให้ขยายในประเทศ จึงหันออกไปลงทุนต่างประเทศ อย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก ดังนั้น ส่วนนี้ถ้าเงินเหลือแล้วเก็บไว้ในประเทศก็คงไม่ได้ลงทุนอะไร จึงอยากให้มองว่าเป็นการออกไปยังตลาดโลก เหมือนที่ญี่ปุ่นเคยทำก่อนหน้านี้ ที่ออกไปเก็บเกี่ยวรายได้กลับเข้าประเทศแบบนั้น แต่คาดว่าการส่งออกที่เริ่มดีขึ้นอาจจะมาช่วยดึงการลงทุนให้ฟื้นตัวตามมากขึ้นในอนาคต” ดร.ดอนกล่าว

จับตาการบริโภค รายได้เกษตรฟื้นในรอบ 4 ปี – หนี้ครัวเรือนกดดัน

ขณะที่การบริโภคของเอกชน ซึ่งคิดเป็น 50% ของจีดีพีไทย ดร.ดอนกล่าวว่ามีทิศทางปรับดีขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทน ขณะที่สินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนยังฟื้นตัวได้ไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทนที่ไตรมาสแรกกลับมาหดตัวอีกครั้งเล็กน้อย ขณะที่ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกเติบโตที่ 2.9% ลดลงจากปี 2559 ที่ 3.3% ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้ามีปัจจัยที่ทั้งส่งเสริมและกดดันการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นรายได้ภาคเกษตรที่ฟื้นตัวกลับมาเท่าระดับปี 2557 ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็ว อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะชะลอตัวลงมาอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของเอกชนอยู่ในระยะต่อไป

คงมาตรการลดบอนด์ ชี้ได้ผลตามคาด

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า จากการที่ ธปท. ปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นเพื่อลดช่องทางในการใช้พันธบัตรระยะสั้นเป็นที่พักเงินในเดือนที่ผ่านมานั้น จากการประเมินเบื้องต้น ถือว่าบรรลุผลในการสื่อสารให้ตลาดทราบว่า ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเงินร้อนที่เข้าออกเร็วในระยะสั้น

ในเดือนนี้ ธปท. ยังคงนโยบายการปรับลด supply ของพันธบัตรระยะสั้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยกำหนดวงเงินการออกพันธบัตรระยะ 3 และ 6 เดือนไว้ที่ 30,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ซึ่งแม้จะเป็นปริมาณการออกเท่ากับเดือนก่อนหน้า แต่ก็เป็นจำนวนน้อยกว่าพันธบัตรที่ครบกำหนด ทำให้สุทธิแล้ว supply ของพันธบัตรระยะสั้นในเดือน พ.ค. จะปรับลดลงประมาณ 1 แสนล้านบาท (พันธบัตร 3 เดือนและ 6 เดือนครบกำหนดสัปดาห์ละ 45,000 ล้านบาท และ 40,000 ล้านบาทตามลำดับ) ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอาจปรับวงเงินตามความเหมาะสม รวมทั้งพิจารณาใช้มาตรการอื่นเมื่อจำเป็น