ThaiPublica > คอลัมน์ > เก็บภาษีจากหุ่นยนต์

เก็บภาษีจากหุ่นยนต์

11 มีนาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

เจียเจีย หุ่นยนต์สาวสวยหุ่นดีของจีนที่เหมือนคนมาก ที่มาภาพ : https://toistudent.timesofindia.indiatimes.com/cms/newsimages/image/Nitya%20images/jia4.jpg
มนุษย์เราจำเป็นต้องใช้สมองซึ่งหมายถึงการใช้ความคิด เรียนรู้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะมีประสบการณ์กับสิ่งซึ่งแปลกไปจากที่คุ้นเคยเพื่อรักษาเซลล์สมองที่งอกขึ้นทุกวันในทุกวัย ถ้าผู้เขียนบอกว่า “หุ่นยนต์ สมควรถูกเก็บภาษี” คงจะเป็นประโยชน์ต่อสมองของท่านผู้อ่านเป็นแน่

ข้อเสนอให้เก็บภาษีจากหุ่นยนต์นั้นมีจริง และเสนอแนะโดยผู้น่าเชื่อถือในระดับโลกเสียด้วย ในการให้สัมภาษณ์นิตยสารออนไลน์ Quartz เมื่อเร็ว ๆ นี้ Bill Gates พูดถึงความกังวลของสังคมในการจัดการกับ automation ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่ง (automation หมายถึงระบบหรือกระบวนการที่ให้เครื่องมือหรือเครื่องจักรทำงานโดยอัตโนมัติซึ่งหุ่นยนต์คือเรื่องใหญ่ของ automation)

Bill Gates บอกว่าเพื่อถ่วงเวลาให้หุ่นยนต์แพร่ระบาดในสังคมเราช้าลง ไม่รวดเร็วจนไม่สามารถจัดการกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่วิกฤตของสังคม รัฐบาลควรพิจารณาเก็บภาษีจากหุ่นยนต์

เมื่อได้ยินดังนี้สมองคนส่วนใหญ่ก็จะทำงานทันที “จะบ้าหรืออย่างไร หุ่นยนต์ไม่ใช่คนนะจะได้เก็บภาษี” “มันเป็นเครื่องจักรที่มีประโยชน์จะเอาภาษีไปยุ่งอะไรกับมัน” “ถ้าทำอย่างนี้อีกนานสิกว่าผมจะมีโอกาสเป็นเจ้าของเจียเจีย” (เจียเจียคือชื่อของหุ่นยนต์สาวสวยหุ่นดีของจีนที่เหมือนคนมาก ทราบว่าจะมาโชว์ตัวในไทยอีกไม่นานนี้)

อย่าลืมว่ารถยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ฯลฯ ก็ล้วนถูกเก็บภาษีทั้งนั้น ถึงจะไม่ใช่คนก็ตาม แล้วทำไมหุ่นยนต์ (ถ้าสมควร) จะถูกเก็บภาษีไม่ได้ มันก็เหมือนเครื่องจักรชิ้นหนึ่งที่ทำงานโดยอัตโนมัติโดยไม่จำเป็นต้องมีร่างเหมือนคน อาจอยู่ในรูปของเครื่องจักรที่ทำงานโดยตัวของมันเอง เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ ภาษีนั้นอยู่ทุกแห่งหน เป็นปกติ โลกเรามีความแน่นอนอยู่สองอย่างคือความตายและเสียภาษี

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/39/ASIMO_4.28.11.jpg/512px-ASIMO_4.28.11.jpg

หากจะว่าไปแล้ว หุ่นยนต์อาจเป็นอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติก็ได้ อาจเป็น humanoids (ตัวอย่างคือ ASIMO ของ Honda ที่เดินเคลื่อนไหวร่างกายได้) drones บินอยู่ในอากาศ De Vinci ซึ่งเป็นชื่อของหุ่นยนตร์ผ่าตัด หุ่นยนต์ที่มีหน้าตาเหมือนมนุษย์ ฯลฯ

เหตุที่เริ่มมีความกังวัลกันก็คือการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือความฉลาดที่มนุษย์ประดิษฐ์ใส่ไปในเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์นั้นไปไกลมากจนมันอาจฉลาด สามารถคิดเองได้ตามแนวของมัน ต่อไปมนุษย์จะไม่สามารถควบคุมได้ (ตอนนี้การแปลข้ามภาษาก็ทำได้ดีมาก การเล่นเกมส์ต่าง ๆ มันชนะมนุษย์ได้หมด การแปลภาษาพูดเป็นภาษาเขียนก็ไปไกล) และประการสำคัญมันจะแย่งงานมนุษย์ จนเกิดการว่างงานขนานใหญ่เกิดผลเสียทางสังคม

มีการพยากรณ์ว่าใน 20 ปี ข้างหน้า แรงงานในสหรัฐอเมริกาไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ (เศรษฐกิจอเมริกันนั้นใหญ่อันดับ 1 ของโลก ผลิต GDP ประมาณ 1 ใน 4 ของ GDP โลก) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวมาก

การเกิดและแพร่กระจายของหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแล้วทั่วโลก ในบ้านเราการปลดคนงานเป็นร้อยคนของโรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ตลอดจนการใช้รถตัดอ้อย เครื่องนวดข้าว รถไถนา รถแทรกเตอร์ ฯลฯ ล้วนส่อให้เห็นความเป็น automation ที่มากยิ่งขึ้น

ในความเห็นของ Bill Gates การทดแทนแรงงานอย่างรวดเร็วของหุ่นยนต์ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมเฉกเช่นเดียวกับคนสูบบุหรี่ ขับรถเร็ว การปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ การปล่อยควันเผาไหม้ของโรงงานหรือรถยนต์ การดูดน้ำบาดาลจนทำให้เกิดการทรุดตัวของแผ่นดิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสิ่งที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่าผลกระทบภายนอกที่เป็นลบ (negative externality) กล่าวคือเกิดผลกระทบต่อคนอื่นโดยเขาไม่รู้ อิโหน่อิเหน่ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนา

รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นน้อยที่สุดหรือเยียวยาด้วยการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น กฎหมาย กฎระเบียบ และที่สำคัญคือภาษี เพื่อทำให้การกระทำเหล่านี้มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างจงใจจนมีการกระทำน้อยลง

Bill Gates บอกว่าในกรณีของหุ่นยนต์ การเก็บภาษีตอนติดตั้งหรือตอนเกิดกำไรจากการใช้หุ่นยนต์ (อันเนื่องมาจากมีต้นทุนต่ำลงเพราะไม่ต้องใช้คน) จะทำให้ต้นทุนของการใช้หุ่นยนต์สูงขึ้น ผู้ประกอบการก็จะไตร่ตรองไม่รีบนำมาใช้ ส่วนรายได้จากภาษีก็จะนำมาเยียวยาบำบัดแรงงานที่ถูกทดแทน

ข้อเสนอของ Bill Gates นั้นช่วยกระตุ้นเซลล์สมองได้เป็นอย่างดีเพราะตรงข้ามกับความเชื่อในทางวิชาการเพราะหุ่นยนต์เป็น capital investment ที่สำคัญ ช่วยให้ระบบเศรษฐกิจผลิตได้มากขึ้นด้วยการใช้วัตถุดิบเท่าเดิม หัวใจสำคัญของการสร้างความกินดีอยูดีของทุกสังคมอยู่ที่การเพิ่มขึ้นของ ผลิตภาพ (productivity) หรือปริมาณผลผลิตต่อหนึ่งหน่วยวัตถุดิบ หุ่นยนต์มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพ ดังนั้นจึงสมควรส่งเสริม ไม่ควรปิดกั้นด้วยการเก็บภาษี ซึ่งจะทำให้เกิดขึ้นได้ยากขึ้น

คนงานหนึ่งคนเคาะขันได้วันละ 10 ใบ ถ้าใช้เครื่องจักรในการขึ้นรูปก็จะช่วยทำให้ผลิตได้วันละ 20 ใบ เช่นนี้คือการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ วัตถุดิบคือแรงงานก็หนึ่งคนเหมือนเดิม ค่าแรงก็เท่าเดิมแต่ผลิตได้มากขึ้นในแต่ละวัน ในด้านเศรษกิจ ถ้าแต่ละคนสามารถผลิตได้มากขึ้นต่อวัตถุดิบหนึ่งหน่วย(ผลิตภาพเพิ่มขึ้น)ผลผลิตของทั้งประเทศก็จะเพิ่มขึ้น และกลายเป็นรายได้รวมของประเทศเพิ่มขึ้น

ข้อแตกต่างระหว่างความเห็นของ Bill Gates กับคนทั่วไปในเรื่องนี้ก็คือเขากังวลเรื่องผลเสียทางสังคมจากการว่างงาน ในขณะที่คนทั่วไปอาจเถียงว่าเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ว่างงาน (หากฝึกฝนทักษะใหม่หลายคนก็มีงานใหม่ทำ) แต่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ อีกทั้งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก็เป็นตัวสร้างงานที่สำคัญในอนาคตอีกเช่นกัน

ในความเห็นของผู้เขียน ไม่มีใครสามารถหยุดการแพร่กระจายของหุ่นยนต์ได้แล้วในปัจจุบัน เพราะมันเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าในด้านการแพทย์ (ผ่าตัด ตรวจหรือรักษา) ด้านการบันเทิง ด้านอุตสาหกรรม ภาคบริการ ด้านความมั่นคง ด้านการดำรงชีวิต ฯลฯ

การเก็บภาษีไม่น่าจะชะลอได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ยกเว้นแต่จะเก็บในระดับสาหัสเท่านั้น การเลียนแบบกันข้ามสังคมอย่างรวดเร็วในยุคสังคมออนไลน์ และการคาดหวังของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งในทุกสังคม เป็นตัวผลักดันสำคัญที่สำคัญในการใช้หุ่นยนต์

เซลล์สมองไม่รู้ว่าตัวของมันเองอยู่ในสมองของใคร ถ้ามันได้รับการดูแลผ่านการกระตุ้นความคิดในแต่ละวัน มันก็จะอยู่ในสภาพที่เสื่อมสลายช้าลง ถ้าบังเอิญเจ้าของเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อโลก ไอเดียของ Bill Gate ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายไม่น้อย

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 มี.ค. 2560