ThaiPublica > คอลัมน์ > ขอบคุณ กทม. ที่ช่วยให้เราได้ลดโลกร้อน

ขอบคุณ กทม. ที่ช่วยให้เราได้ลดโลกร้อน

4 มีนาคม 2017


ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ธงชัย พรรณสวัสดิ์ สถาบันการเดินและการจักรยานไทย

ปัญหาโลกร้อนเกิดจากการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศในปริมาณที่เกินกว่าโลกจะดูดซึมไว้ได้ ก๊าซเรือนกระจกนี้เชื่อกันว่าร้อยละ 50 มาจากภาคการเดินทางและขนส่ง ดังนั้น หากเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและขนส่งได้ เราก็จะสามารถช่วยโลกไม่ให้ร้อนได้ การเดินทางขนส่งในอดีตเราใช้วิธีการเดินหรือใช้ช้าง ม้า ลา ล่อ เป็นพาหนะในการขนส่ง จึงไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนในปัจจุบัน แต่เทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้เราหันมาใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน เช่น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องบิน เรือยนต์ มาเป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งยานพาหนะเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น หนึ่งในมาตรการแก้ไขปัญหานี้คือระบบที่โลกเรียกว่า “การสัญจรอย่างยั่งยืน” หรือ Sustainable Mobility (SM) ซึ่งก็คือ การเดินและการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันของพลเมืองโลก ถึงขนาดที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงการณ์ให้ทุกประเทศทั่วโลกใช้งบประมาณอย่างน้อยร้อยละ 20 ของงบประมาณการก่อสร้างถนนมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและปลอดภัยแก่การเดินและการใช้จักรยาน

วิธีการหนึ่งที่จะทำให้การเดินและการใช้จักรยานของประชาชนคนทั่วไปทำได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะชักจูงให้คนหันมาเดินและใช้จักรยานมากขึ้น คือ การกำหนดให้อัตราการเร็วของรถต่างๆ บนถนนที่เป็นเขตที่พักอาศัยหรือเขตพาณิชย์ของชุมชนไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะหากเกินกว่านั้น อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถชนคนเดินหรือขี่จักรยานจะสูงขึ้นมากอย่างน่าตกใจ คือ หากโดนรถชนด้วยอัตราเร็วที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะมีโอกาสเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 10 ในขณะที่ถ้าความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โอกาสเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 และหากโดนชนที่ความเร็ว 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คนที่โดนชนแทบจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตเลย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความไม่เข้าใจในประเด็นนี้นัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ กรุงเทพมหานครยังคงกำหนดอัตราเร็วของรถยนต์หรือพาหนะอื่นๆ ไว้ที่ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในบางถนนบางพื้นที่ ทั้งที่ถนนนั้นพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เขตค้าขายของชุมชนที่มีคนเดินข้ามถนนไปมาตลอดเวลา หรือเป็นพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัยที่มีแม้กระทั่งโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ในบริเวณ สอบถามมาได้ความว่า การกำหนดอัตราเร็วนั้นกรุงเทพมหานครใช้หลักทางวิศวกรรม คือ ความกว้างของถนน เป็นเกณฑ์ ซึ่งหากกว้างมากพอก็จะกำหนดอัตราเร็วของยานพาหนะไว้สูงขึ้นตามไปด้วย

เราได้ทักท้วงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องขอบคุณกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมากที่เข้าใจในประเด็นความปลอดภัยนี้ได้อย่างรวดเร็วและได้เปลี่ยนป้ายฯ จาก 45 เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแทบจะทันที แต่ถ้าจะให้ดีไปกว่านั้นกรุงเทพมหานครก็ไม่ควรกำหนดอัตราเร็วของยานพาหนะโดยอิงเกณฑ์ทางวิศวกรรม (ความกว้างของถนน) แต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรต้องเอาบริบททางการใช้ประโยชน์พื้นที่ของสังคมบริเวณนั้นมาประกอบการกำหนดอัตราเร็วที่ว่านี้ด้วย โดยอาจต้องยกระดับเกณฑ์ทางสังคมนี้ไปถึงการกำหนดเป็นเกณฑ์ภาคบังคับเสียด้วยซ้ำ และเมื่อประกาศอัตราเร็วของรถยนต์ให้เกิดความปลอดภัยแล้ว คราวนี้ก็ต้องเป็นภารกิจและความรับผิดชอบของตำรวจจราจรที่ต้องบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานรวมถึงการแก้ปัญหาโลกร้อนจึงจะเกิดขึ้นได้จริง

สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ หากภาคส่วนราชการท้องถิ่นอันหมายรวมไปถึงเทศบาลอื่นๆ ทั่วประเทศเข้าใจในความสำคัญนี้ และปรับกระบวนทัศน์ให้ถูกต้องและตรงตามกระแสการสัญจรอย่างยั่งยืน (SM) ของโลก นั่นหมายความว่าจะมีประชาชนหันมาเดินทางในระยะทางสั้นๆ ด้วยการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยมากขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลง และโลกก็จะร้อนน้อยลงด้วยมือ (และขา) ของเราทุกคน

องค์กรอนามัยโลก (WHO, 2004) กำหนดอัตราเร็วของรถยนต์ไว้ไม่เกิน 30 กม./ชม. เพื่อความปลอดภัย
ป้าย 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตพาณิชย์ของชุมชนซอยอารีย์
ป้าย 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตที่พักอาศัยที่มีโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ด้วยที่ซอยราชครู
ป้ายในพื้นที่เขตค้าขายซอยอารีที่กำหนดใหม่เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ป้ายในเขตที่พักอาศัยซอยราชครูที่มีโรงเรียนเด็กเล็กอยู่ด้วยที่กำหนดใหม่เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง