ThaiPublica > เกาะกระแส > ” หม่อมอุ๋ย ” เปิดจม.ถึง สนช. ชี้กลุ่มผู้มีอำนาจซุกมาตรา 10/1 ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” หวั่นถอยหลัง 50 ปี

” หม่อมอุ๋ย ” เปิดจม.ถึง สนช. ชี้กลุ่มผู้มีอำนาจซุกมาตรา 10/1 ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” หวั่นถอยหลัง 50 ปี

27 มีนาคม 2017


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี

วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีรายละเอียดว่า “เมื่อผมพ้นหน้าที่จากคณะรัฐบาลชุดปัจจุบันมาแล้ว ผมระมัดระวังไม่ทำอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลนี้ ด้วยเห็นว่าจะต้องช่วยกันผลักดันให้ประเทศของเราก้าวหน้าต่อไปอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตามมีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมเฝ้าติดตามเรื่อยมา เพราะหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงจะมีผลเสียต่อประเทศชาติเป็นอย่างมากชนิดที่ว่าจะแก้กลับไม่ได้ และนั่นก็คือความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเข้ามามีอำนาจเหนือแหล่งพลังงานและกิจการพลังงานของชาติ”

ท่านสมาชิก สนช. คงพอจะจำได้ว่า เมื่อตอนต้นปี 2558 รัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ขุดเจาะใช้อยู่ในปัจจุบันมีปริมาณลดน้อยลง จนอาจจะหมดไปในระยะเวลา 4-5 ปี จำเป็นต้องมีการสำรวจหาแหล่งใหม่ที่ยังมีก๊าซธรรมชาติเพียงพอที่จะเจาะนำขึ้นมาใช้ได้อีกนาน กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทเอกชนที่สนใจ ยื่นข้อเสนอในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ โดยจะให้สัมปทานในการขุดเจาะแก่ผู้ที่สำรวจพบและเสนอผลประโยชน์แก่รัฐสูงที่สุด ปรากฏว่ามีผู้ออกมาคัดค้าน โดยมิได้คัดค้านในประเด็นที่จะต้องมีการสำรวจ แต่คัดค้านว่าไม่ควรให้สัมปทานแก่ผู้ที่สำรวจพบ และเสนอแนะใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract หรือ PSC) แทน ด้วยเชื่อว่าระบบ PSC จะให้ประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าระบบสัมปทาน การคัดค้านดังกล่าวทำให้นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนใจและหยุดการประกาศเชิญชวนให้สิทธิสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21ไว้

ผมในฐานะรองนายกรัฐมนตรีซึ่งรับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานจึงเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบนโยบายว่าจะให้มีการสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมหรือไม่ คำตอบของนายกรัฐมนตรีก็คือ ยืนยันที่จะให้มีการสำรวจ และมอบให้ผมแก้ไขกฎหมาย (พ.ร.บ.ปิโตรเลียม) เพื่อมิให้การสำรวจและการผลิตจำกัดอยู่เฉพาะระบบสัมปทานดังที่ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ใช้อยู่ ผมได้มอบให้เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานร่างแก้ไขกฎหมายให้เปิดกว้าง โดยให้รวมถึงระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบจ้างสำรวจและผลิตด้วย

ผมเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2558 คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยเร่งพิจารณาให้จนเสร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมแล้วส่งกลับมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปรากฏว่าไม่มีการนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. จนผมต้องไปตามเรื่องจึงทราบว่าติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในที่สุดก็ยอมให้นำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อตราเป็นกฎหมายออกใช้ เพื่อที่จะได้สามารถเริ่มการสำรวจก๊าซธรรมชาติได้ทันใช้

“สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ทันทีที่ ครม. มีมติดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้บอกผมว่าก่อนนำเสนอ สนช. ขอให้ผมชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช. ผมได้ปฏิบัติตามโดยเชิญคณะกรรมาธิการดังกล่าวมาสนทนากันที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ผู้ที่มาพบมีด้วยกัน 7 คน ปรากฏว่าเป็นอดีตนายทหารระดับสูงถึง 6 คน เมื่อผมชี้แจงแล้วก็ได้รับคำตอบว่าไม่ขัดข้องที่จะเปิดทางเลือกในการสำรวจและการผลิตให้มีหลายวิธี แล้วเลือกจากวิธีที่ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุด แต่เห็นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังขาดไปอีก 1 เรื่อง คือเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจเป็นอย่างมาก ผมได้ชี้แจงกลับทันทีว่าจุดมุ่งหมายของการออก พ.ร.บ. ใหม่ฉบับนี้ก็เพื่อจะเปิดโอกาสให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติโดยให้ครอบคลุมถึงวิธีการต่างๆ ให้มากขึ้นกว่าระบบสัมปทานแต่อย่างเดียว ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน ไม่เคยมีใครพูดถึงบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเลย กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายในเรื่องนี้ และเมื่อนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ผมร่างกฎหมาย ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนคณะกรรมาธิการดังกล่าวก็ยังยืนยันว่าควรเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปด้วย ผมได้แจ้งว่าคงจะเติมให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล และจะขอเสนอร่างไปยัง สนช. ตามที่ร่างไว้”

ครั้นถึง 19 สิงหาคม 2558 ผมก็พ้นจากตำแหน่งโดยยังไม่ทันได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อ สนช. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนต่อมาได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอต่อ สนช. ตามเนื้อหาที่ร่างไว้เดิม ปรากฏว่าคณะกรรมาธิการการพลังงานได้เสนอร่าง พ.ร.บ. เพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ รัฐบาลจึงส่งร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หากเห็นด้วยก็อาจรวมเป็นร่างเดียวกันได้

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เชิญรองนายกรัฐมนตรีที่คุมงานของกระทรวงพลังงานไปชี้แจง ซึ่งท่านได้ชี้แจงว่าไม่เห็นด้วยและไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้ปฏิเสธที่จะเพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง พ.ร.บ. ของรัฐบาล และส่งเรื่องกลับไปยัง ครม. ซึ่งได้มีมติให้ส่งร่างเดิมของรัฐบาลไปยัง สนช. เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ) ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระหนึ่งและ สนช. ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในวาระ 2 ปรากฏว่าได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสภานิติบัญญัติ กล่าวคือ ในการพิจารณาในวาระ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องใหม่ซึ่งเป็นการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ. โดยเติมมาตราเกี่ยวกับการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปในร่าง ทั้งๆ ที่รัฐบาลผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่มีการระบุหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแต่ประการใด การเพิ่มเติมเรื่องใหม่นี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏว่ามีการขอเพิ่มเติมข้อความในเรื่องนี้กลับไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการถึงสองครั้ง และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันก็ได้กระทำการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยการโอนอ่อนผ่อนตามให้มีการเพิ่มมาตราในเรื่องใหม่ดังกล่าว ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และแม้กระทั่งการศึกษาถึงผลได้ผลเสียตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติรัฐบาลก็ยังไม่เคยทำไว้ คณะรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดเลยที่จะต้องโอนอ่อนผ่อนตามคำขอที่ไม่ชอบมาพากลของคณะกรรมาธิการฯ ในเรื่องนี้ นอกเสียจากว่าจะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย

มาตราที่เพิ่มเติมใหม่นี้คือ มาตรา 10/1 ซึ่งมีข้อความว่า

มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ได้ถูกนำบรรจุวาระเพื่อการพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ ซึ่งหากที่ประชุม สนช. มีมติอนุมัติก็จะสามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งหมายความว่ากลุ่มบุคคลที่ต้องการให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สามารถเริ่มผลักดันด้วยการเริ่มเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ การศึกษาผลดีผลเสียก็คงจะเตรียมกันไว้แล้วในแนวทางที่ต้องการ หน่วยงานที่เห็นว่ายังไม่มีความพร้อมเพียงพอหรือมองเห็นถึงผลเสียเป็นอันมาก ก็คงจะไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะคัดค้านได้ เพราะแม้แต่เรื่องที่รัฐบาลไม่เห็นด้วย กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ก็ยังผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมายจนได้ ต้องมีผู้มีอำนาจหนุนหลังอยู่อย่างแน่นอน

สาเหตุที่ไม่ควรมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น เป็นเพราะผมเองได้เคยเห็นข้อความในร่างที่มีผู้เตรียมการเพื่อเสนอจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นผู้ถือสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ” และ “ในระยะเริ่มต้นของการดำเนินงาน ให้กรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานที่บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน…”

หากเป็นไปตามร่างดังกล่าว กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไป ผมจำได้ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ขณะที่กรมพลังงานดูแลกิจการน้ำมัน เรามีน้ำมัน “สามทหาร” ของไทยที่มีส่วนการตลาดน้อยมากและถูกครอบงำโดยบริษัทน้ำมันต่างชาติเป็นสำคัญ ต่อมาเราก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่เสมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่าพัฒนามาได้ดีอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เหนือกว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งหมด ปตท. ได้พัฒนาแหล่งพลังงานใหม่คือก๊าซธรรมชาติรองรับความต้องการพลังงานที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ได้ขยายตัวไปสำรวจและผลิตในต่างแดนนำพลังงานกลับมารองรับความเจริญของประเทศได้อย่างทันเหตุการณ์ ได้ขยายเครือข่ายการขายออกไปคุมตลาดในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ และได้ตั้งบริษัทในเครือเพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานอีกหลายบริษัท เรามีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ดีอยู่แล้ว

ถ้ามีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติใหม่เกิดขึ้นมาและใช้อำนาจที่มีกฎหมายรองรับ ดึงกรรมสิทธิ์ของพลังงานทุกชนิดมาอยู่ที่บรรษัทใหม่แห่งนี้ วิสาหกิจและกิจการของบริษัทพลังงานต่างๆ หลายแห่งจะดำเนินอยู่ต่อไปได้อย่างไร กิจการเหล่านี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ หากต้องหยุดลง ปัญหาอาจลุกลามจนเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจได้ และบรรษัทใหม่ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์จะพัฒนาตนเองให้สามารถรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจได้เพียงพอหรือ? จะสามารถรับมือกับปัญหาและพัฒนาการใหม่ๆ ของกิจการพลังงานได้หรือ? กิจการพลังงานของเราซึ่งรุดหน้ามาด้วยดี คงจะสะดุดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้

ผมจึงใคร่ขอร้องมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทุกท่านที่จะเข้าประชุมในวันที่ 30 มีนาคม 2560 นี้ได้โปรดช่วยชาติด้วยการใช้ความระมัดระวังในการลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวาระ 2 และ วาระ 3 ถ้าท่านจะลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ. ตามที่คณะกรรมการวิสามัญเสนอมาซึ่งรวมมาตรา 10/1 เท่ากับว่าท่านสนับสนุนให้เกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลเสียต่อความเจริญของประเทศอย่างแน่นอน แต่ถ้าท่านลงมติไม่รับร่างดังกล่าว เราก็จะไม่มีกฎหมายรองรับการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ ฉะนั้น จะเป็นไปได้ไหมครับที่จะลงมติรับร่างโดยให้ตัดมาตรา 10/1 เรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกไป ถ้าได้เช่นนั้น ประชาชนคนไทยคงจะขอบใจและวางใจได้ว่าเรายังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อยู่

เพื่อนของผมบอกผมว่าถึงผมจะอ้อนวอนอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะในสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีทหารอยู่มากกว่าครึ่ง ทหารก็คงจะลงมติตามที่กลุ่มทหารเสนอมา ผมตอบเขาไปว่าทหารทุกคนรักชาติไม่แพ้พวกเรา หากไม่มีใครชี้แจงให้เขาเห็นข้อดีข้อเสีย เขาก็จะลงมติตามที่บอกต่อกันมา แต่ถ้าเราชี้แจงให้เขาเห็นอย่างชัดเจนถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติ เขาก็จะคิดได้และเขาก็มีความเป็นตัวเองที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ผมจึงขอวิงวอนมายังท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติทุกท่านได้โปรดใช้ดุลยพินิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วยเถิด ผมอยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังกลับไปเหมือน 50 ปีก่อนครับ

อย่างไรก็ตามม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้กล่าวตอนท้ายพร้อมให้รายชื่อบุคคลที่จะให้ข้อมูลเรื่อง”บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” ได้แก่ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน, นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ,นายพลายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงานอิสระ,คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต กรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและกรรมการอำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย,นางอานิก อัมระนันทน์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร,นายเจน นำชัยศิริ ประธานอุตสาหกรรม, นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรม,นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, นายเทวินทร์ วงศ์วาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.,นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ,นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อดัตอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ,นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บมจ.หลักทรัพย์ภัทร,นายอนันต์ สิริแสงทักษิณ กรรมการ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล,นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน,นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ที่ปรึกษาอาวุโส บมจ.บางจากปิโตรเลียม

อนึ่งก่อนหน้านี้นายบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ประจำของ”ไทยพับลิก้า” ได้เคยเขียนบทความ“ปฏิรูปพลังงานไทย…ระวังจะเป็นสังคมนิยมโดยไม่รู้ตัว” โดยเปรียบเทียบว่าทำไมประเทศที่ร่ำรวยน้ำมันที่สุดในโลกสองประเทศ เวเนซุเอลากับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีประชากรประมาณเท่าๆ กัน (เวเนซุเอลา 29 ล้าน ซาอุดีอาระเบีย 28 ล้าน) หลังจากพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานมาร่วมร้อยปี (เวเนซุเอลาเริ่ม 1914 ซาอุดีอาระเบียเริ่มหลังร่วม 25 ปี ในปี 1940) จึงมีผลความก้าวหน้าแตกต่างกันมากถึงเพียงนี้ ซึ่งไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้นที่ก้าวหน้า ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ก็แตกต่างกันมากทีเดียว

และอีกบทความ“อธิปไตยพลังงาน” …วาทกรรมไร้ความหมาย มายาคติสังคมที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้นมาเพื่อใคร? ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า…”เราจะต้องเสียอธิปไตยพลังงาน” ถ้าไม่ทำตามที่พวกท่านเรียกร้อง คือ ถ้าไม่ยึดแหล่งพลังงานมาทำเอง ถ้าไม่ตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาเป็นเจ้าของและบริหารควบคุม (แล้วตั้งพวกท่านเข้าไปบริหารบรรษัทอีกทีหนึ่ง) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบจากที่เคยให้สัมปทานเอกชนไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือว่าจ้างผลิต ก็จะถือว่ายกทรัพยากรให้เอกชน ให้ต่างชาติ เพราะว่าน้ำมันจะเป็นของเขา รัฐจะนั่งรอให้เขาเอาไปขายแล้วรอแบ่งเงินค่าภาคหลวงค่าภาษี ไม่ได้มีอำนาจที่จะขนเอาน้ำมันมาเข้าคลัง มาจัดการขายเองเอาเงินเอง (ทำอย่างกับว่ารัฐทำเป็น ทำเก่ง)

หรือกระทั่งบางคนถึงกับกล่าวหาว่า ที่เราใช้ระบบสัมปทานให้เอกชนขุดหาแหล่งพลังงาน โดยรัฐเก็บค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ เป็นตัวเงินในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมานั้น เป็นการที่เราไม่มีอธิปไตยทางพลังงานตลอดมา พอสัมปทานจะครบอายุจึงเป็นเวลาที่จะต้องเอา “อธิปไตยพลังงาน” ที่สูญเสียไปนานกลับคืนมาเสียที โดยการจัดตั้งบรรษัทที่ว่าและเปลี่ยนระบบมาเป็นแบบที่เขาเรียกร้อง

“ผมขอบอกเลยว่า ไม่ว่าจะมีบรรษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ 100% ลงทุนเอง เสี่ยงเอง บริหารเอง หรือมีรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นแค่ครึ่งเดียว หรือจะให้เอกชนแข่งขันกันทำทั้ง 100% (เหมือนพวกประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกแห่ง) ไม่ว่าจะใช้ระบบสัมปทาน (Concession) ไม่ว่าจะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต (Product Sharing) หรือจะว่าจ้างผลิต จะเป็นแบบไหนระบบใด ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “อธิปไตย” หรือ “อำนาจอธิปไตย” ใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีบทความ ความมั่นคงทางพลังงาน VS ความมั่นคงทางการเมือง