ThaiPublica > คนในข่าว > “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ถอดหลักการทรงงานในหลวงร.9 “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ซื่อสัตย์ รักในงานที่ทำ” บนรากความเปราะบาง เมื่อฝนตกไม่ทั่วฟ้า มองสั้น สนิมกัดกร่อน

“ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ถอดหลักการทรงงานในหลวงร.9 “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ซื่อสัตย์ รักในงานที่ทำ” บนรากความเปราะบาง เมื่อฝนตกไม่ทั่วฟ้า มองสั้น สนิมกัดกร่อน

31 มีนาคม 2017


วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาร่วม หัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารการพัฒนา : จากปรัชญาสู่การปฏิบัติ”

วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2560 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาร่วม หัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารการพัฒนา : จากปรัชญาสู่การปฏิบัติ” งานการประชุมวิชาการระดับชาติ ในวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 51 ปี ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์

ดร.ประสารกล่าวว่า “ท่านทั้งสองเป็นผู้รู้ ที่มีประสบการณ์ในการผลักดัน “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ให้เกิดผลจริงในเชิงปฏิบัติมายาวนาน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริที่ยังประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้าง และเป็นการกล่าวปาฐกถาในวาระครบรอบ 51 ปี ของการจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” ซึ่งเป็นสถาบันระดับบัณฑิตศึกษาแห่งแรกของไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้น เพราะทรงเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ มาช่วยกันพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในด้านสถิติที่สำคัญต่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และทรงรับเป็นธุระในการติดต่อกับ Dr.David Rockefeller จากมูลนิธิ Rockefeller ในการส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติมาช่วยพัฒนาบุคลากรและจัดตั้งคณะสถิติประยุกต์ของนิด้า”

ที่ผ่านมา นิด้ามีบทบาทสำคัญในการสร้างบัณฑิต และผลิตงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารพัฒนาประเทศในหลายด้าน อีกทั้งมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านการปฏิรูปกฎหมาย ระบบราชการ การเติบโตทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในสังคม และจัดตั้งศูนย์การศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และสนับสนุนให้ผู้คนในสังคมน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในบทบาทต่างๆ ในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้า ในภาวะที่ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในหลายด้านเพื่อยกระดับศักยภาพและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ผมเชื่อว่า นิด้าจะยังเป็นกำลังสำคัญในการผลิตงานวิจัยและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่จะตอบโจทย์สำคัญของบ้านเมือง

สำหรับการร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมขอแบ่งการบรรยายเป็น 3 ส่วน ดังนี้

    ส่วนที่ 1 ย้อนพิจารณาและถอดบทเรียนจากการบริหารพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา

    ส่วนที่ 2 จะพูดถึงประสบการณ์การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค และ

    ส่วนที่ 3 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม

ส่วนที่ 1 ถอดบทเรียนการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา

เรามีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะสามารถก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคง ในส่วนแรกจะขอพาท่านย้อนไปพิจารณาและถอดบทเรียนในการพัฒนาของโลก ข้อมูลพัฒนาการของโลกในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งจัดทำโดย Our World in Data (OWID) ชี้ว่าการพัฒนาที่ผ่านมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลกในหลายมิติ เช่น

  • อัตราความยากจน ลดจากร้อยละ 94 เหลือ ร้อยละ 10
  • จำนวนคนที่อ่านออกเขียนได้ (Literacy) เพิ่มจากร้อยละ 12 เป็น ร้อยละ 85
  • อัตราการตายของเด็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงจากร้อยละ 43 เหลือเพียงร้อยละ 4
  • และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง สะท้อนจากจำนวนประเทศที่มีระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 56

นอกจากนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรม พัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมืองทำให้หลายประเทศขยับฐานะจากประเทศยากจนสู่ประเทศที่มีฐานะดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาพรวมพัฒนาการของโลกที่ดูดีขึ้นในหลายมิติ หากนำข้อมูลระหว่างประเทศมาเปรียบเทียบกลับน่าตกใจ โดยเฉพาะรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีของประเทศที่รวยและจนที่สุด พบว่าแตกต่างกันมาก กล่าวคือ ลักแซมเบิร์ก อยู่ที่ 101,450 ดอลลาร์ สรอ. เทียบกับบุรุนดี อยู่ที่ 277 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งหมายความว่าโดยเฉลี่ยคนบุรุนดีมีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ สรอ. หรือน้อยกว่า 35 บาทต่อวัน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

และเมื่อมองลึกเข้าไปในภาพการเติบโตที่ดูดีของแต่ละประเทศก็จะเห็นหลายประเทศมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่แตกต่างกันมากอย่างน่ากังวล ความยากจนที่ซ่อนตัวในซอกมุมต่างๆ สะท้อน “บาดแผล” จากการพัฒนาที่ยากจะกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จและยั่งยืน

ที่สำคัญ ความยากจนและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งใน Common visions ที่องค์การสหประชาชาติประกาศเป็นเป้าหมายหลักเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs)) ควบคู่กับเป้าหมายอื่นรวม 17 ข้อ (อาทิ สิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียมทางเพศ คุณภาพการศึกษา) ก็สะท้อนว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่พวกเราสามารถร่วมมือกันทำให้โลกดีและน่าอยู่ขึ้นได้

คำถามสำคัญคือ ทำไมการพัฒนาของโลกที่ผ่านมาเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืนและยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร? ผมคิดว่ามาจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

ประการแรก คือ เป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งสร้างความเจริญเติบโตเป็นหลัก

เป้าหมายการพัฒนาที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และจัดสรรทรัพยากรตามภาคเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศเป็นสำคัญ ทำให้อานิสงส์ของการพัฒนากระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม เหมือน “ฝนที่ตกไม่ทั่วฟ้า” ย่อมทำให้บางพื้นที่อุดมสมบูรณ์ขณะที่บางพื้นที่แห้งแล้งกันดาร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการใช้ GDP เป็นเครื่องชี้หลักในการพัฒนา และอยู่ในความสนใจของรัฐบาล และผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความทั่วถึงของผลประโยชน์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับและไม่ได้สะท้อนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ว่า ยิ่งพัฒนาความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้แสดงออกมาในรูปปัญหาสังคมหลากหลายแบบ

ในระดับภาคธุรกิจ การตั้งเป้าหมายการบริหารจัดการที่มุ่งสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก โดยละเลยการดูแลผู้มีส่วนได้เสียอื่น ไม่ว่าชุมชน ผู้บริโภค หรือสิ่งแวดล้อม ในที่สุดอาจจะมีผลในด้านลบต่อองค์กรในระยะยาว ทำให้ไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม

ประการที่สอง คือ การพิจารณาและแก้ปัญหาด้วยมุมมองระยะสั้น

ในระดับบุคคล ความเป็นปุถุชน บ่อยครั้งเรามักจะเลือกตอบสนองความพอใจในระยะสั้น มากกว่าจะรอคอยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแม้จะเป็นเรื่องดี เหมือนที่เรารู้อยู่แก่ใจว่าการออกกำลังกายมีผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว แต่บ่อยครั้งเราเลือกที่จะขี้เกียจทำมันในระดับองค์กร ปรากฏการณ์ที่ผู้ถือหุ้นต้องการเงินปันผลมากๆ ในระยะสั้น ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทละเลยการลงทุนที่จำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพในระยะยาว หรือ

ในระดับผู้กำหนดนโยบาย ช่วงที่ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปให้เงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร แต่ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในหลายประเทศว่า ด้วยความกลัวที่จะสูญเสียคะแนนนิยม รัฐบาลไม่สามารถเลิกมาตรการที่ตั้งใจทำเพียงชั่วคราว และลงเอยด้วยการใช้งบประมาณอย่าง “ไม่ยั่งยืน” จนเป็น “สนิม” ที่กัดกร่อนฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาในหลายประเทศชี้ว่า การแก้ปัญหาด้วยมุมมองระยะสั้นเช่นนี้ ในระยะยาวจะไม่ยั่งยืน

หรือกรณีผู้มีส่วนได้เสียในสังคม “ขาดจิตสำนึก” ในการ “หวงแหน” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวสร้างสมดุลสำคัญให้กับชีวิต ท้ายที่สุดก็อาจจะก่อให้เกิด “Tragedy of the commons” หรือ “ความสูญเสียของส่วนรวมในระยะยาว” จากการสละซึ่ง “ความยั่งยืน” ด้วยต้นทุนที่ “สูงลิ่ว”

ประการที่สาม คือ การมองและแก้ปัญหาแบบแยกส่วน

หลายทศวรรษที่ผ่านมา การพัฒนาบนพื้นฐานความเชื่อในเรื่องว่า “ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน” (Specialization) และ “การแบ่งงานกันทำ” (Division of labor) จะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยให้การบริหารและพัฒนาประเทศหรือองค์กรภาคธุรกิจประสบความสำเร็จ ความเชื่อนี้พัฒนามาสู่การวางระบบโครงสร้างการบริหาร “ภาครัฐและภาคธุรกิจ” ที่มีการแบ่งงานกันตาม Function เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญและกำหนดความเป็นเจ้าของงานให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นอย่างที่คาด เรามักจะเห็นอาการที่เรียกว่า “ความเชี่ยวชาญที่ปราศจากความร่วมมือ” สิ่งที่มักปรากฏบ่อยๆ ในการทำงานไม่ว่าที่ไหน คือ คนส่วนใหญ่มุ่งมั่นทำงานที่ตนรับผิดชอบเหมือน “ม้าที่มุ่งวิ่งเข้าเส้นชัยเฉพาะในลู่ของตัว” จึงไม่แปลกที่แนวคิดหรือนโยบายที่ดีหลายเรื่องไม่ถูกขับเคลื่อนให้สำเร็จจริงได้ เนื่องจากปัญหา “ความล้มเหลวในการร่วมมือ” หรือ “Coordination failure” ที่นักเศรษฐศาสตร์คุ้นเคยกันดี

ส่วนที่ 2. การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค

ประเทศไทยก็เคยเผชิญกับวิกฤติซึ่งเป็นผลจากการมุ่งสร้างความเจริญเติบโตจนลืมคำว่า “พอดี” การคิดถึงผลประโยชน์ระยะสั้นจนขาดจิตสำนึกในเรื่อง “ความยั่งยืน” และแต่ละองค์กรต่างมองเศรษฐกิจในมุมของตัวเอง จนทำให้การดำเนินนโยบาย “ผิดพลาด”

พวกเราส่วนใหญ่ในที่นี้คงจำวันที่เศรษฐกิจไทยมีความก้าวหน้าจนได้รับการคาดหมายว่า ไทยจะเป็น “เสือตัวที่ 5 ของภูมิภาค” จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเกือบทศวรรษ แต่ทว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นกลับ “เปราะบาง” ตั้งอยู่บนยอดของ “บันไดเมฆ” เพียงไม่กี่เดือนที่เราถูกโจมตีจากนักเก็งกำไรจนต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว มีผลให้ไทยก้าวสู่วิกฤติทางการเงินปี 2540

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกร และในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 4 ธันวาคม 2540 พระองค์ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นแนวทางแก้ปัญหาประเทศและเป็นหลักคิดสำหรับการใช้ชีวิตภายใต้กรอบความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล ความมีภูมิคุ้มกันในตน ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับความรู้ (หลักวิชา) และคุณธรรม (เช่น ซื่อสัตย์ ขยัน และมีสติ) เพื่อให้ประเทศและชีวิตของพวกเราทุกคนมีความมั่นคง

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เมื่อเหตุของวิกฤติปี 2540 เกิดจากรากฐานเศรษฐกิจและระบบการเงินที่ไม่มั่นคง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เกี่ยวข้องพยายามประยุกต์ใช้หลักปรัชญานี้ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคของไทยใน 4 มิติ ซึ่งหลายเรื่องก้าวหน้าไปได้ดี แต่ต้องยอมรับว่า บางเรื่องก็ยังห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

มิติแรก การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และทั่วถึง

การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาช่วยยกระดับประเทศไทย จากที่เคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคจนกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ความยากจนลดลงอย่างมาก และมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนไทยในภาพรวมดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งนับเป็นผลการพัฒนาที่น่าพึงพอใจหากมองในมุมนี้ แต่พระองค์ทรงเคยเตือนสติให้พิจารณาการพัฒนาในมุมที่พวกเราอาจมองข้ามว่า การพัฒนาประเทศจะต้องทำให้เหมาะสมกับฐานะและทั่วถึง จึงจะสร้างความเจริญที่มั่นคงและยั่งยืนได้

ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“… ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข …”

คำว่า “ชีวิตของแต่ละคน” มีความลึกซึ้งมากเพราะสะท้อนพระราชประสงค์ที่จะเห็นการกระจายประโยชน์ของการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงแก่คนส่วนใหญ่ แต่ข้อเท็จจริงที่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ คือ เกือบ 6 ทศวรรษของการพัฒนาเรากลับเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันในอันดับต้นๆ บทเรียนจากประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นอยู่บ่อยๆ ว่า เมื่อความเป็นอยู่ของคนในสังคมแตกต่างกันมาก โอกาสที่คนในสังคมจะเกิดความขัดแย้งและแตกความสามัคคีก็จะมีมาก และนี่คือสิ่งที่เราต้องแก้ไขและให้ความสำคัญ

มิติที่สอง การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ

ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คนไทยใช้เงินเกินกว่าฐานะและศักยภาพที่จะหาได้จริงและมองโลกแง่ดีด้านเดียวจนขาดสมดุล บริษัทหลายแห่งลงทุนมากเกินตัวและก่อหนี้ต่างประเทศมาก แต่หลังวิกฤติ ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินปฏิรูปและปรับตัวเองอย่างมาก เพื่อให้ฐานะการเงินกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง กล่าวคือหนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยลดลงจากร้อยละ 43 ในปี 2540 เหลือประมาณร้อยละ 2.8 ในปี 2559 และสัดส่วนหนี้ต่อทุนของภาคธุรกิจลดลงจาก 5.1 เท่า ในปี 2540 เป็น 0.7 เท่า ในปี 2559

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่า “ไม่ลงทุน” แต่สนับสนุนให้เราลงทุน “ตามศักยภาพ” ที่มี ดังที่พระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่า

“…ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง”

มิติที่สาม การพัฒนาระบบการเงิน ให้เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการเงินที่สำคัญ 5 ด้าน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ การสร้างระบบธรรมาภิบาล การกระจายตัว การขยายโอกาสการเข้าถึง และการร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการวางรากฐานระบบการเงินที่มั่นคง และเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

ผมขอขยายความในเรื่อง “การร่วมมือ” ที่บางคนเข้าใจผิดว่า เศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการปิดประเทศจากเวทีโลก แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงเล็งเห็นผลดีมากกว่าผลเสียในเรื่องการเปิดประเทศเพื่อร่วมมือกับประเทศอื่น ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน”

ที่ผ่านมา เราจึงเลือกที่จะ “ร่วมมือ” และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินของโลก เพราะรู้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับมีมากกว่าต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้น ขนาดประเทศจีนที่ครั้งหนึ่งเคยปิดประเทศยังต้องขานรับกระแสโลกาภิวัฒน์ และปฏิเสธการตั้งกำแพงกีดกันการค้า ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้กล่าวย้ำในที่ประชุม World Economic Forum เมื่อตอนต้นปีไว้อย่างน่าสนใจว่า “การใช้นโยบายกีดกันการค้าก็เหมือนปิดตัวเองไว้ในห้องมืด อาจช่วยให้ปลอดจากลมและฝน แต่ก็จะทำให้ขาดแสงแดดและอากาศ”

มิติที่สี่ การสร้างระบบ “สถาบัน” ให้แข็งแกร่งขึ้น

บทเรียนสำคัญจากวิกฤติปี 2540 คือ “เราเปิดเสรีระบบการเงินโดยไม่ได้เตรียมเครื่องมือที่จะดูแลอย่างเพียงพอ และไม่ได้เตรียมกรอบนโยบายรองรับที่เหมาะสม” และในด้านตลาดทุน ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งขาดธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน ทำให้เกิดปัญหาสารพัดรูปแบบ ซึ่งกัดกร่อนความมั่นคงจนบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งมีสภาพง่อนแง่นไม่สามารถทานพิษเศรษฐกิจ และ “สิ้นชื่อ” ไปในที่สุด

บทเรียนครั้งนั้นทำให้ผมนึกถึงพระราชดำรัสของพระองค์ ความตอนหนึ่งว่า

“…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น … เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป…”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุนของไทยพยายามและทุ่มเทเพื่อพัฒนาและวางรากฐานระบบ “สถาบัน” ให้แข็งแกร่ง กล่าวคือ

เพื่อให้ระบบการเงินมีภูมิคุ้มกัน สามารถรองรับความผันผวนไม่แน่นอนและแรงกระแทกต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำกรอบนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นมาใช้ เพื่อยกระดับการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความ “อิสระ” “โปร่งใส” ควบคู่กับการปรับปรุงให้มีระบบ “ตรวจสอบและกลไกถ่วงดุล” ที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ธปท.ได้พยายามปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้ได้มาตรฐาน มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมั่นใจว่า การดำเนินงานของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ เป็นไปอย่างมีเหตุมีผล และรอบคอบ และเมื่อไม่นานนี้ได้มีการโอนงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เพื่อให้ทุกสถาบันการเงินอยู่ภายใต้มาตรฐานการกำกับดูแลที่สอดคล้องกันมากขึ้น

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

เพื่อวางรากฐาน “ธรรมาภิบาลในบริษัทจดทะเบียน” ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ผลักดันงานใน 3 ด้านสำคัญ กล่าวคือ

  • ด้านแรก การออกกฎระเบียบที่มีความจำเป็นต่อการกำกับดูแล พร้อมกับการให้ความสำคัญกับสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย การเปิดเผยข้อมูล สร้างความโปร่งใส การส่งเสริมให้กรรมการของบริษัทดำเนินงานอย่างรับผิดชอบ
  • ด้านที่สอง การสร้างแรงจูงใจ ด้วยการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณให้บริษัทจดทะเบียนที่ได้คะแนนธรรมาภิบาลสูง ซึ่งเป็น Market Incentive เพื่อให้บริษัทเหล่านี้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ควบคู่กับการส่งเสริมให้ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยเข้าใจ “สิทธิ์” และ “รู้วิธีใช้สิทธิ” ของตน
  • และ ด้านที่สาม การเสริมสร้างจริยธรรมแก่กรรมการและผู้บริหารบริษัท ให้มีกรอบความคิดและการตัดสินใจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียในทุกระดับ

จนกระทั่ง ปัจจุบัน “ธรรมาภิบาล” ในตลาดทุนไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล Asian Corporate Governance Association ประกาศให้ไทยอยู่อันดับ 3 เมื่อเทียบกับภูมิภาคในเรื่อง Corporate Governance เป็นรองเพียงสิงคโปร์และฮ่องกงเท่านั้น

ก่อนจะจบในส่วนนี้ ผมขอสรุปว่า ในช่วงหลังวิกฤติปี 2540 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารเศรษฐกิจมหภาค และทำให้เสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศในภาพรวมมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ซึงเป็นจุดแข็งสำคัญของประเทศที่สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน และที่ผ่านมาได้เป็น “กันชน” สำคัญที่ช่วยรองรับผลกระทบที่คาดไม่ถึง ทั้งที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม อย่างไรก็ดี เรายังต้องรักษาจุดแข็งนี้ และพัฒนาให้เกิดความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะบริบทโลกซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น เหมือนการดูแลสุขภาพ ที่จำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อใดขาดวินัย โอกาสที่โรคจะถามหาก็ง่ายขึ้น

ส่วนที่ 3 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม

ไม่ว่าจะมองไปทางไหนคงยากที่จะปฏิเสธว่า เราอยู่ใน “โลกที่ไม่เหมือนเดิม” โลกที่การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผันผวน มีความซับซ้อน และมิหนำซ้ำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เป็นไปในลักษณะที่ยากจะคาดเดา

หลายท่านในที่นี้อาจมีคำถามว่า เราจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการบริหารและพัฒนาภายใต้บริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิมได้หรือไม่? อย่างไร? ผมคิดว่า ด้วยหลักคิดหรือมุมมองที่สำคัญ 4 ด้านดังต่อไปนี้ จะทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและบริหารประเทศในด้านต่างๆ ได้ในระยะต่อไป

ด้านแรกมองกว้าง เหตุการณ์ปัญหาความขัดแย้งสงครามกลางเมืองที่เกิดในหลายมุมโลก และเหตุการณ์ Brexit และการชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดี Trump ที่พลิกความคาดหมาย ทำให้เราฉุกคิดถึงความเหมาะสมของการบริหารและพัฒนาที่ผ่านมา นักคิด นักวิชาการ หรือฝ่ายนโยบายทั่วโลก เริ่มตั้งคำถามและหันกลับมาทบทวนถึง “แนวทางการพัฒนา” ที่ทำอยู่ สำหรับประเทศไทยของเรา ผมคิดว่าเรามีความโชคดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงพระราชทานแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักในการพัฒนา ซึ่งผมคิดว่ายังทันสมัยและสามารถนำมาปรับใช้ได้ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม ถ้าได้ศึกษาองค์ความรู้ หลักในการทรงงานจะพบว่า พระองค์ไม่ได้เน้นแค่ให้ประเทศเติบโตได้ปีละมากๆ แต่จะให้ความสำคัญกับ “คุณค่า” และ “คุณภาพ” ของชีวิตคนแต่ละคน มากกว่า “มูลค่า” ที่เป็นเป้าหมายแบบหยาบๆ

มองไปข้างหน้า การจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปได้อย่างราบรื่นและมั่นคง ผมคิดว่าจำเป็นที่เราต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ให้มีน้อยลง ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“..การนำความเจริญ การพัฒนาไปสู่ชนบท หมายถึงไปสู่ประชาชนในชนบทนั้น มีเหตุผลหลายประการ เหตุผลใหญ่ที่สุดข้อแรก ก็คือมนุษยธรรม ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมประเทศกับเรา…เหตุผลที่สองที่จะต้องพัฒนาชนบทนั้นคือ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของบ้านเมือง”

ที่ผ่านมา แม้ภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีที่ดิน การสร้างหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการให้ทั่วถึง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมเป็นธรรม มาตรการเหล่านี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ แต่ยังมี “ก้าวต่อไป” ที่สำคัญที่สามารถทำได้ คือ “การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น” ซึ่งปัจจุบันยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางอยู่มาก มีผลให้การแก้ปัญหามักมีสูตรเดียว ทำให้ยากที่จะตอบโจทย์ของท้องถิ่นที่แตกต่างกันได้อย่างตรงจุด ภาครัฐจึงควรกระจายอำนาจมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถเสนอแนะสิ่งที่ต้องการ และ การทำเช่นนี้จะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพชัดเจน (Accountability) บทเรียนการปฏิรูปการศึกษาในหลายประเทศชี้ว่า การกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น ทั้งงบประมาณ การบริหารบุคคลและการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ ท้ายที่สุดจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำลงได้

ด้านที่ 2 มองไกล ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิมนี้ สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความจำเป็นที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัว ปรับบทบาทให้เท่าทันโลก หลักคิดสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และวางแผนไปข้างหน้า ดังพระราชดำรัสที่ว่า “..เราต้องไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ด้วยการขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้น จนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ” ซึ่งหลายฝ่ายอาจจะเข้าใจผิดว่า “พอเพียง” คือ “พอแล้วและไม่ต้องทำอะไร” ซึ่งอาจประมาทไป สุดท้ายอาจจะเป็น “พอเพียงแค่ชั่วคราว” คือ “พอเพียง” ในปัจจุบันแต่ “ขัดสน” ในอนาคต

สำหรับในประเทศไทย ผมคิดว่าเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือ การปรับปรุงกฎกติกาของบ้านเมืองให้เท่าทันกับกาลสมัย ซึ่งพระองค์เคยมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ว่า

“กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับบ้านเมือง…ขอให้ศึกษาว่า กฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างไร และจะทำอย่างไรสำหรับกฎหมายมีประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยที่สนใจถึงชีวิตของกฎหมายและของคนในสภาพปัจจุบัน … ในสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบัน”

แทบจะไม่น่าเชื่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบรวมกันกว่า 1 แสนฉบับ และกฎหมายและกฎระเบียบจำนวนมากเหล่านี้ไม่ได้มีการปรับปรุงมานาน ย่อมมีผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ และมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ

ด้านที่ 3 มองลึกลงข้างใน ไม่ว่าโลกจะก้าวหน้ารวดเร็วแค่ไหน สิ่งที่ยังคงอยู่และไม่ได้หายไปไหน คือ “คน” แม้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและได้เข้ามาทำงานแทนคนได้ในหลายอย่าง แต่เทคโนโลยีก็ทำให้เรา “เก่งได้ง่ายขึ้น” เพราะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลได้ง่าย ขณะเดียวกัน เราต้องยอมรับว่า คนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองได้ในหลากหลายมิติอย่างที่เทคโนโลยีไม่สามารถพัฒนาได้ทันเช่นกัน โดยเฉพาะ “การพัฒนาที่เกิดจากภายใน” ด้วย “การสร้างทัศนคติเรื่องความพอเพียงในการดำรงชีวิต” จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ “คน” สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน ดังพระราชดำรัสสั้นแต่สรุปความไว้อย่างลึกซึ้งว่า “คำว่า พอสมควร นี้ เป็นคำที่สำคัญที่สุดแล้ว อาจเป็นใจกลางของการปฏิบัติทุกอย่าง”

หลายท่านคงสังเกตเหมือนผมว่า พระราชดำรัสของพระองค์จะมีคำว่า พอมีพอกิน พออยู่พอใช้ พออกพอใจ หรือ พอประมาณ ในหลายโอกาส ซึ่งทำให้ผมเกิดคำถามว่า ทำไมพระองค์จึงพยายามถ่ายทอดและปลูกฝังความคิดเรื่อง “ความพอเพียง” ให้กับพวกเรา?

เมื่อได้คิดทบทวนบ่อยๆ ผมคิดว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “ความรู้จักพอ” เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จะช่วยสร้างใจให้เป็นอิสระ รู้จักพอใจในสิ่งที่มี ภูมิใจในสิ่งที่ตนสร้าง พอใจในความสามารถที่พึ่งตนเองได้ และมั่นใจว่า ได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายโดยไม่ต้องวิ่งตามกระแส ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้แต่ละคนสามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

ความพอเพียงในการดำรงชีวิต แม้จะเป็น “สิ่งที่มองไม่เห็น” แต่เป็น “รากฐาน” สำคัญที่ทำให้ชีวิตมีหลักยึดที่ถูกต้อง ดังพระราชดำรัสที่ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มด้วยซ้ำไป”

ทั้งนี้ ผมคิดว่า ความพอเพียงอาจจะเปรียบได้กับ “optimization” ในภาษานักเศรษฐศาสตร์ที่เน้นสร้าง “สมดุล” ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ มิใช่ “maximization” ในด้านใดด้านหนึ่งซึ่งจะทำให้ “เสียสมดุล” ได้ง่าย

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

นอกจากนี้ ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่จำเป็นต้องสร้างอุปนิสัย “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก” ซึ่งก็คือ การให้ความสำคัญกับความรู้และความเพียรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะด้วยอุปนิสัย “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก” ในโลกที่ความรู้เปิดกว้าง และนำความรู้นั้นมาทดลองใช้อย่างไม่ย่อท้อจนกว่าจะสำเร็จจะช่วยสร้างแรง “ระเบิดศักยภาพจากภายใน” ดังที่พระองค์ทรงทำให้พวกเราเห็นเป็นตัวอย่างในหลายโครงการ อาทิ “การทำฝนเทียม” หรือในโครงการ “แกล้งดิน” ล้วนมาจากความใฝ่รู้ สู้สิ่งยากของพระองค์ทั้งสิ้น

ที่สำคัญ “ความใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก ซื่อสัตย์ และรักในงานที่ทำ” ที่มักถูกมองข้ามจากตัวแปรทางเศรษฐกิจ กลับเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่ม “Productivity” “Efficiency” และ “Innovation” ซึ่งล้วนเป็น Key Success Factors ในบริบทโลกที่มีการแข่งขันสูง เพราะคุณสมบัติข้างต้นจะช่วยยกระดับศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างไม่ต้องสงสัย และทุกคนสามารถสร้างขึ้นมาได้โดยไม่ต้อง “ลงทุน” แค่ “ลงใจ” นั่นหมายความว่า ทุกฝ่ายต้องพร้อมให้คุณค่ากับคุณสมบัติเหล่านี้ กล่าวคือ องค์กรต้องพร้อมสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานที่ “ใฝ่รู้ สู้สิ่งยาก” มีกำลังใจในการพัฒนาตัวเองบนค่านิยมที่ถูกต้องเช่นนี้ เพราะพลังใจเช่นนี้เป็น “สิ่งที่มีค่า” สำหรับประเทศและทุกองค์กร

และในโลกที่เทคโนโลยีอาจจะ disrupt วิถีชีวิต การดำเนินธุรกิจ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายด้าน หลายท่านในที่นี้อาจเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่น่าหวั่นไหว ตัวอย่างเช่น การที่ Internet banking เข้ามาแทนการดำเนินธุรกรรมทางการเงินแบบเก่า และมีผลทำให้สาขาของธนาคารทยอยปิดตัวลงมากขึ้นเป็นลำดับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียว แต่ยังมีหลายธุรกิจที่กำลังเผชิญกับบริบทเช่นนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ในอนาคตจะมี “คนตกงาน” มากขึ้นเรื่อยๆ คำถามสำคัญ คือ “เราจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร?” ซึ่งถือเป็นความท้าทายร่วมกันของทุกคน

บนความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ การสร้างบรรยากาศในสังคมให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และผมคิดว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้ลดทอนความตึงเครียด และประคองสังคมให้เดินหน้าไปได้ คือ การสร้าง “คุณธรรม” อาทิ “การเกื้อกูล เมตตาปรานีกัน” ให้เกิดขึ้นในสังคม จะมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเสมือน “สิ่งหล่อเลี้ยง” ที่จะช่วยนำพาให้การเปลี่ยนผ่านในสังคมเป็นไปได้อย่างราบรื่น ตรงนี้ ผมนึกถึงที่ท่านพุทธทาสกล่าวเตือนไว้ว่า “ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ”

นอกจากนี้ ในโลกที่ข้อมูลมีมากมายแทบจะเรียกได้ว่า “ข้อมูล” วิ่งมา “ชน” เราเอง “การมีสติที่ตั้งมั่น” เพื่อให้การตัดสินใจถูกต้องก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากเช่นกัน

ด้านที่ 4 มองอย่างไร หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญของการบริหารและพัฒนา คือ “จะทำอย่างไรให้เกิดการขับเคลื่อนงานให้เกิดขึ้นได้จริง?” จากการทรงงานในโครงการตามพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ครอบคลุมในหลายสาขา ในระหว่างดำเนินการ พระองค์ได้ตั้งข้อสังเกตและรวบรวมประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ ซึ่งภายหลังเรียก “หลักการทรงงาน 23 ข้อ” ซึ่งผมคิดว่า หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าจะเป็น “กุญแจ” ที่ช่วยไขปริศนาว่า “จะทำอย่างไร” เพื่อขับเคลื่อนงานพัฒนาที่ยากให้สำเร็จได้จริง

ในบริบทของโลกที่ไม่เหมือนเดิม ที่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว และยากจะคาดเดา ผมคิดว่า หลักการทรงงานหลายข้อมีความสำคัญมาก อาทิ การไม่ติดตำรามากเกินไป ในโลกที่เราคาดการณ์ข้างหน้าแทบจะไม่ได้ จำเป็นต้องสามารถ “Improvise” และมีกรอบความคิดที่ “ยืดหยุ่น” ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ว่า “คนที่ทำงานตามวิชาการจะต้องพึ่งตำรา เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้ายแล้ว ในหน้าสุดท้ายนั้นเขาบอก “อนาคตยังมี” แต่ไม่บอกว่าให้ทำอย่างไร ก็ต้องปิดตำรา … เริ่มต้นใหม่ ถอยหลังเข้าคลอง แต่ถ้าเราใช้ตำราแบบคนจน ใช้ความอะลุ่มอล่วยกัน … เราจะก้าวหน้า “เรื่อยๆ”

นอกจากนี้ โลกที่ซับซ้อนมากขึ้น การที่จะตอบโจทย์ที่ยากขึ้นของประเทศหรือของโลกในหลายเรื่อง มีความจำเป็นที่เราต้องรู้จักทำงานแบบร่วมมือกับคนอื่น ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่การทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น แต่หมายถึงทุกคนต้องรู้จักนำจุดแข็งหรือความเชี่ยวชาญของแต่ละคนมาช่วยกันผลักดันงานให้สำเร็จ การทำงานอาจมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันได้ แต่ต้องรับฟังกันอย่างมีเหตุผล และคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จึงจะทำให้เกิดความสำเร็จในงาน ปัจจุบัน คุณูปการของ “ความร่วมมือ” ได้กลายเป็นเป้าหมายร่วมกันที่องค์การสหประชาชาติ บรรจุเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การมองแนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทางหนึ่งเกิดจากความรัก ความศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ส่วนอีกทางหนึ่งคือ การใช้สติปัญญาพิจารณาทำความเข้าใจว่า แนวความคิดเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร มีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง สัมพันธ์กันอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง แล้วอาจจะแปลงความคิดเป็นการปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วพบปัญหาอะไร นำมาปรับปรุงความคิด ผมเข้าใจว่า แนวทางหลังนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสัมมนาวิชาการอย่างที่เรากำลังทำอยู่ในโอกาสฉลอง 51 ปีของนิด้าในวันนี้