ThaiPublica > คนในข่าว > “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ปลุกสังคมเมื่อพระธรรมวินัยถูกละเมิด – ฆราวาสใช้ช่องทาง”พระ”ทำมาหากิน ชี้ใช้ความโปร่งใส กาง”บัญชีวัด-พระ”

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” ปลุกสังคมเมื่อพระธรรมวินัยถูกละเมิด – ฆราวาสใช้ช่องทาง”พระ”ทำมาหากิน ชี้ใช้ความโปร่งใส กาง”บัญชีวัด-พระ”

18 มีนาคม 2017


นายไพบูลย์ นิติตะวัน

เวลานี้ ดูเหมือนคนไทยจะกล้าตรวจสอบ “พระ” และ “วัด” ที่ไม่อยู่ในพระธรรมวินัยกันมากขึ้น เห็นได้จากกรณีการตรวจสอบพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย ซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาลงโทษพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงๆ มากนัก เพราะอาจถูกตราหน้าว่าเป็นพวกทำลายพุทธศาสนา

เช่นเดียวกับ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กว่า 2 ปีมานี้เขาลุกขึ้นมาให้ความสนใจตรวจสอบความไม่ถูกต้องในวงการสงฆ์อย่างจริงจัง ทั้งกรณีวัดพระธรรมกายและวัดอื่นๆ มากมาย จนกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้มีการปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม

ท่ามกลางการทำงานของเครือข่ายปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนา ก็ไม่วายถูกกล่าวโจมตีสารพัดทั้งเลือกปฏิบัติ มีวาระซ่อนเร้น เป็นมารทำลายพุทธศาสนา ฯลฯ แถมยังถูกผู้ไม่หวังดีเข้าไปแก้ไขประวัติการนับถือศาสนาของเขาในวิกิพีเดีย โดยเปลี่ยนจากศาสนาพุทธเป็นศาสนาอิสลาม ซึ่งเรื่องนี้ไพบูลย์บอกชัดเจนว่า “ผมเป็นพุทธ”

ทุกวันนี้ มีพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมากส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่อยู่ในพระธรรมวินัยต่างๆ ของพระสงฆ์ทั้งที่เป็นเจ้าอาวาส และสมณศักดิ์ต่างๆ รวมทั้งวัดมาให้ “ไพบูลย์” ช่วยตรวจสอบแทบทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปกครองในวัด ความไม่โปร่งใสของการเงินวัด ไปจนถึงข้อร้องเรียนว่ามีการใช้เงินซื้อสมณศักดิ์ในวงการสงฆ์

ล่าสุด หลังมีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการถอดถอนสมณศักดิ์พระธัมมชโยและพระทัตตชีโว จากกรณีวัดพระธรรมกาย ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าเพราะสนใจเรื่องความถูกต้อง เรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องความถูกต้องของสังคม ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปฏิรูปคณะสงฆ์ขนานใหญ่

พระภิกษุไทยจำนวนมากละเมิดพระธรรมวินัย

“ไพบูลย์” ให้สัมภาษณ์ “ไทยพับลิก้า” ว่า เขาหันมาสนใจเรื่องวงการพระพุทธศาสนา โดยมีจุดเริ่มต้นจากสมัยเป็น ส.ว. เมื่อปี 2553 ถูกเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่องพระภิกษุณี ซึ่งก็เพิ่งรู้ว่ามีพระผู้หญิงด้วย

“ตอนนั้นในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา ผมได้พูดในประเด็นของกฎหมาย ก็เลยพูดว่าพระภิกษุณีน่าจะถือเป็นนักบวชได้ แต่ประเด็นนี้ทางคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับ มีคำสั่งทั้งสมเด็จพระสังฆราชในสมัยก่อน ทั้ง “มหาเถรสมาคม (มส.)” ก็ยืนยัน โดยมีมุมมองทางพระวินัยว่าภิกษุณีสาบสูญไปแล้ว”

ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะไปอะไรกับมหาเถรสมาคม ไม่รู้จักด้วย แต่ผมมองในข้อกฎหมายว่า ถ้าคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับ แต่ว่าสิทธิในการนับถือ การปฏิบัติในนิกายอื่นใด ความเชื่อทางศาสนา เขาก็ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นคณะสงฆ์อื่นไป ตอนนั้นผมมีประเด็นนี้ ก็เลยบอกว่าหาทางออกให้เป็นคณะสงฆ์อื่น มันจะได้จบ

แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้น มหาเถรสมาคมไม่พอใจมาก ไปออกเป็นมติมหาเถรสมาคม สั่งห้ามไม่ให้พระจากต่างประเทศเข้ามา ถ้าจะเข้ามาต้องขออนุญาตเขา แล้วสั่งห้ามไม่ให้มีการจัดบวชภิกษุณีในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้บวชโดยคณะสงฆ์ไทย แต่บวชตามความเชื่อของเขา โดยมีพระสงฆ์จากต่างประเทศเป็นผู้บวชให้ในประเทศไทย

แล้วก็สั่งกระทรวงการต่างประเทศให้งดวีซ่า ไม่ให้เข้า ตรวจตราวีซ่า สั่งนั่นสั่งนี่ มันเกินกว่าอำนาจของมหาเถรสมาคม เพราะมหาเถรสมาคมมีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะสงฆ์ไทย ดูแลคณะสงฆ์ไทย ภิกษุไทย จะไปดูแลภิกษุอื่นไม่ได้ ไปยุ่งกับภิกษุอื่นก็ไม่ได้ รวมทั้งไปยุ่งกับสันติอโศกก็ไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจ แต่ออกคำสั่งเกินกว่าอำนาจที่ตัวเองมี

“ผมก็มองในแง่กฎหมายว่าเป็นปัญหาเรื่องการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของมหาเถรสมาคมในปี 2557 แต่ก็พยายามช่วยเหลือผู้ที่เชื่อในเรื่องภิกษุณี ทั้งอุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งภิกษุณีที่บวชมาแล้ว มีจำนวนเป็นร้อยรูป”

ขณะที่ผมโต้แย้งประเด็นนี้ มหาเถรสมาคมอ้างเหตุผลเรื่องหลักพระธรรมวินัยในการห้ามเรื่องนี้ โดยบอกว่าตามหลักของพระธรรมวินัยทำไม่ได้ ผมก็แถลงข่าวไปว่า ถ้ามหาเถรสมาคมยึดมั่นในหลักพระธรรมวินัยจริง ทำไมไม่ห้ามเรื่องเกี่ยวกับพระภิกษุรับเงิน ซึ่งเป็นหลักของพระธรรมวินัยด้วย ทำไมทำเรื่องหนึ่งแต่ไม่ทำเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักสำคัญด้วย ผมพูดในตอนนั้นว่า เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า เงินเป็นอสรพิษของพระภิกษุ

พอพูดเรื่องนี้ ผมก็เลยเริ่มศึกษาลงลึกเรื่องหลักพระธรรมวินัยในประเด็นนี้มากขึ้น ก็ยิ่งเห็นความเละเทะในวงการคณะสงฆ์ คือล่วงละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้กันมาก หลายองค์ไม่เป็นนะ เป็นส่วนน้อย แต่ภิกษุทั้งหมดทุกระดับชั้น สมเด็จราชาคณะต่างๆ พระปกครอง วัด เจ้าอาวาส มีปัญหากันไปหมด ผมก็เลยสนใจเรื่องนี้

จากพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร กรณีธรรมกาย สู่การตรวจสอบการเงินของวัดไทยที่ไม่โปร่งใส

ไพบูลย์เล่าต่อว่า ในขณะที่กำลังสนใจปัญหาดังกล่าว ตอนนั้นก็มีประเด็นเรื่องธุดงค์ธรรมชัย วัดพระธรรมกาย และเรื่องปัญหาการเงินของวัดมากมาย จึงมีการตั้ง “คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา” สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อจะมาดูเรื่องพระธรรมวินัยในส่วนของการจัดการทรัพย์สินวัด

การประชุมนัดแรกก็วางนโยบายว่าจะทำเรื่องอะไรบ้างในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพราะได้ยินเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องเงินวัดที่ไม่โปร่งใสกับเรื่องพระภิกษุที่ไปทำมาหากิน ทำพุทธพาณิชย์ สะสมเงินทอง ผิดพระธรรมวินัย

กรณีที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ “พระธัมมชโย” กับ “วัดพระธรรมกาย” คณะกรรมการฯ ก็เลยเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา เพราะมันชัด แต่ก็มีวัดอื่นๆ ทำเต็มไปหมด มีพระภิกษุจำนวนมากที่ทำ แต่พระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกายเด่นมาก

และเรื่องที่ทำให้ท่าน (พระธัมมชโย) มีปัญหาที่ชัดเจนก็คือ เรื่องพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร เกี่ยวกับพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกาย เลยให้เจ้าหน้าที่ติดต่อไปว่าการประชุมครั้งที่ 2 ให้ทาง “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)” และสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มาร่วมประชุม แล้วให้นำพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวรมาด้วย เพื่อที่มาประชุมเรื่องนี้ แล้วประชุมเรื่องการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

ในการประชุมครั้งที่ 2 ก็เอาพระลิขิตซึ่งเป็นเอกสารทางราชการมีการรับรองถูกต้องมานำเสนอ ทางกรรมการฯ ตรวจเอกสารทั้งหลายก็พบว่า พระลิขิตดังกล่าวนั้นถูกต้อง ไม่ได้เป็นของปลอมอย่างที่เล่าลือกัน เพราะมีการรับเรื่องเข้าไปในมหาเถรสมาคม มีการประชุมและมีมติไปแล้ว รับรองดำเนินการตามพระลิขิตนี้ให้ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยพระธรรมวินัยแล้ว โดยมหาเถรสมาคม

กรรมการฯ ก็เลยมีความเห็นว่า ถ้าอย่างนั้นพระลิขิตนี้ถูกต้อง มันก็ต้องมีผล เมื่อมีผล พระธัมมชโยก็ต้องสึกไปแล้ว ต้องปาราชิกไปแล้ว แต่ทำไมยังเป็นพระอยู่ เราก็ถามคำถามนี้ออกไปสู่สังคม

ประเด็นนี้ก็เลยกระพือขึ้นมา ประกอบกับตอนนั้น มส. จะประชุมกันอยู่แล้ว ก็เลยมีเรื่องนี้เข้าไปในที่ประชุมมส. มส. ประชุมเสร็จก็เอาเรื่องนี้ไปรายงานสำนักงานพระพุทธฯ เลขามหาเถรสมาคมก็เอาเรื่องนี้ไปดู แล้วเอาไปรายงานมหาเถรสมาคม ซึ่งไม่รู้ประชุมกันว่าอย่างไร แต่ต่อมาโฆษกมหาเถรสมาคมออกมาแถลงว่าพระธัมมชโยไม่ได้ปาราชิก มันก็เลยเป็นเรื่อง

สังคมไทยตื่นตัวตรวจสอบ มส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ

ไพบูลย์อธิบายว่า โดยข้อกฎหมายแล้ว มหาเถรสมาคมเป็นหน่วยงานของรัฐ ตั้งโดยกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505ไม่ได้ตั้งโดยพระธรรมวินัย ซึ่งเมื่อตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐ ตั้งโดยกฎหมาย ทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการเถรสมาคมก็เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง ก็กระทำผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ผมก็พูดไปแค่นี้ ทางโน้นก็โวยวายกันใหญ่ แต่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์เขียนไว้ตอนท้ายอยู่แล้วว่า สังฆาธิการทั้งหมดถือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ก็คือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มันจริงไหม มันก็จริง ตอนนี้ก็เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เคยมีใครเปิดออกมาว่า จริงๆ มหาเถรสมาคมเป็นหน่วยราชการที่ตั้งโดยกฎหมายเท่านั้นเอง แต่ไม่มีใครกล้าไปแตะ พอเรื่องนี้ถูกเปิดออกมา สังคมไทยก็ตื่นตัวมีการตรวจสอบมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร

ต่อมาการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3 ผมก็เห็นว่ามีประเด็นเรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็เลย ถาม ปปง. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ว่า เรื่องเงินสหกรณ์ฯ คลองจั่นไปถึงไหนแล้ว

ปปง. รายงานว่าตรวจสอบแล้ว มีเช็คจ่ายให้พระธัมมชโยเป็นเงินเท่านั้นเท่านี้ เราก็มองว่าอย่างนี้เข้าข่ายทำให้สมาชิกสหกรณ์เขาเสียหาย ก็ต้องเรียกเงินคืน แต่ก็มีข่าวว่าเรียกไม่ได้เพราะวัดเป็นที่ธรณีสงฆ์

ผมก็บอกว่าไม่จริงหรอก ธรณีสงฆ์ยึด ไม่ได้จริง แต่เงินในบัญชี แสดงออกมาแล้ว พระธัมมชโยท่านยังเหลือเงินอยู่ 300 ล้าน วัดพระธรรมกายเหลืออีกตั้งหลายร้อยล้าน ก็อายัดเงินในบัญชีเอามาจ่ายให้สหกรณ์

ธรณีสงฆ์มีอยู่ร้อยกว่าไร่ อันนั้นไปยึดไม่ได้จริง แต่บัญชีเงินฝากยึดได้ ส่วนที่ที่เหลือ 2 พันกว่าไร่ ไม่ใช่ชื่อวัด เป็นชื่อมูลนิธิ (มูลนิธิธรรมกาย) ดังนั้น เมื่อเป็นชื่อมูลนิธิก็อายัดได้ อยู่ในข่ายบังคับคดี ก็แถลงออกมา นั่นคือการเปิดประเด็นเรื่องสหกรณ์ฯ คลองจั่น

จากนั้นมาก็มีม็อบพระจะมาล้อมสภาบ้าง จะให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ ทันที ไม่อย่างนั้นจะไปล้อมทำเนียบอะไรต่างๆ ก็วุ่นวาย ผมเลยเห็นว่าถ้าจะไปต่อมันจะทะเลาะกันเปล่าๆ แล้วก็คิดว่าภารกิจเราเสร็จแล้ว คือเปิดประเด็นให้สังคมรับรู้ ก็สรุปรายงานส่งประธาน สปช. แล้วก็หยุดทำงานก่อน ก็จบไป

แนะปฏิรูป 4 แนวทาง

ในรายงานของคณะกรรมการฯ ก็เสนอแนวทางปฏิรูป 4 แนวทางว่าควรจะมีกฎหมายว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัด-พระภิกษุ ควรจะแก้ปัญหาเรื่องปฏิรูปการศึกษาของสงฆ์ ควรจะแก้เรื่องการปกครองของคณะสงฆ์ ควรจะแก้เรื่องการสอนองค์กรตีความต่างๆ

เมื่อส่งไปถึงท่านประธาน(นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ) ท่านก็มีหน้าที่เอาเข้าไปบรรจุในวาระการพิจารณาของ สปช. ก็มีการนำรายงานของคณะกรรมการฯ เข้ามาพิจารณาในสภา สมาชิกก็อภิปราย แสดงความคิดเห็น ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเห็นว่ามีปัญหาจริง และเห็นด้วยกับรายงานนี้

ฝ่ายพระที่ต่อต้านเรื่องพวกนี้ก็โมโหกันมาก ก็เลยเคลื่อนไหวอีกครั้ง โจมตีอย่างหนัก แต่มันสายไปแล้ว สภาลงมติรับรอง เมื่อรับรองเรียบร้อย ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติก็ส่งรายงานนี้ไปให้ คสช. ส่งไปให้นายกรัฐมนตรี เรื่องมันก็เดินไป

ต่อมารัฐบาล คสช. ก็ถือรายงานนี้ไปให้สำนักพระพุทธฯ สำนักพระพุทธฯ เอาไปให้มหาเถรสมาคม เขาก็ไม่ทำอะไร เราก็นำรายงานนี้ส่งไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจเรื่องพระลิขิตและมีความเห็นวินิฉัย ก็เสนอข้อแนะนำไปยัง คสช. และนายกรัฐมนตรีว่าควรจะมีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา โดยเอาแนวทางของคณะกรรมการฯ เสนอไปด้วย

เมื่อ คสช. และนายกฯ ได้รับเรื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ให้ดำเนินการ แต่ส่วนหนึ่งในรายงานเขียนว่าควรจะให้มีกฎหมายต่างๆ ตามแนวทาง สปช. คสช. ก็เลยส่งมาให้ สปช. ลองร่างกฎหมาย

ตอนนั้นผมก็ใกล้ครบวาระ สปช. ก็ทำ “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและ พระภิกษุ พ.ศ. ….” และ “ร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ พ.ศ. ….”“ร่าง พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ พ.ศ. ….” ทำเสร็จก็ส่งให้ประธานสภา ประธานสภาก็ส่งไป 2 วันสุดท้ายก่อนที่จะจบภารกิจของ สปช. เรื่องทั้งหมดก็เดินหน้าไปสู่ คสช. แล้วก็เหมือนเดิม ก็ไปอยู่ที่มหาเถรสมาคม

วัดเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต้องทำบัญชีวัด

ไพบูลย์อธิบายเพิ่มเติมว่า วัดเป็นนิติบุคคล ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แต่กลับไม่มีการทำระบบบัญชีที่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี มีผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจสอบเหมือนกับนิติบุคคลทุกแห่งในประเทศไทย

เพราะนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิ สมาคม บริษัท บริษัทมหาชน กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจทั้งหมด เป็นนิติบุคคลหมด ไม่มีใครที่จะหลีกเลี่ยงการทำบัญชีได้ ต้องทำบัญชีอย่างถูกต้อง และมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง

ส่วนพระภิกษุชั้นปกครอง กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล แล้วก็เจ้าอาวาส เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เขียนไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์

“เป็นนิติบุคลเดียวที่ยังไม่ต้องทำบัญชีเลยคือวัด ได้รับอภิสิทธิ์จากความกลัวทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่กล้ายุ่งกับพระ เช่น ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ไปตีความว่าไม่ได้หมายรวมพระ ว่าพระไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามนิยามกฎหมาย ป.ป.ช. และป.ป.ช. ก็ไม่รับเรื่อง ถ้ามีร้องเรียนว่าพระไปทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ก็ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบ”

ศาลปกครองก็เหมือนกัน ไม่รับวินิจฉัยเรื่องทางปกครองของสงฆ์ เช่น เจ้าอาวาสถูกแกล้งโดยเจ้าคณะภาค หรือพระในวัดถูกแกล้งโดยเจ้าอาวาส หรือการย้ายเจ้าอาวาสไม่เป็นธรรม หรือย้ายเจ้าคณะจังหวัดไม่เป็นธรรมทั้งหลาย ไปศาลปกครองก็ยกคำร้อง บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ มส. ถือว่าคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งทางการปกครอง สิ่งเหล่านี้ก็คือที่มาของสังคมไทย จะเป็นนิติรัฐแบบมียกเว้นอภิสิทธิ์ชน

โครงสร้างสงฆ์เป็นแท่ง เกิดระบบอุปถัมภ์ ใช้เงินซื้อสมณศักดิ์ ผูกขาดอำนาจ

เช่นเดียวกับ มส. ที่ไพบูลย์เห็นว่า เป็นปัญหาและมีอำนาจ ซึ่งเป็นผลจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เช่นกัน ที่ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กำหนดให้ มส. เป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการคณะสงฆ์ไทย จนส่งผลให้การปกครองสงฆ์มีปัญหามาถึงทุกวันนี้

นายไพบูลย์ นิติตะวัน

“ปี 2505 พอประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ สงฆ์ก็ผูกขาดอำนาจ แล้วก็ว่ากันเอง ผลก็คือสงฆ์ฝ่ายอลัชชีก็ขึ้นมามีอำนาจเต็มไปหมด สมัยสมเด็จพระญาณสังวรเป็นสมเด็จพระสังฆราช ท่านก็เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ”

“แต่ว่ากรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังเป็นพระที่มีผลประโยชน์กันไปหมด สุดท้ายท่านก็อาจจะจัดการได้ในปี 2538 จัดการสึกพระยันตระได้ แต่หลังจากนั้นปี 2542 ก็กลายเป็นว่าท่านไม่เข้าประชุมมหาเถรสมาคมอีกต่อไป เพราะว่าท่านรู้ว่ามันไปไม่ไหวแล้ว”

“หลักฐานที่แสดงว่าการปกครองสงฆ์มีปัญหา ต้องกลับไปดูตอนปี 2542 สมเด็จพระญาณสังวรบอกให้เห็นแล้วว่าไปไม่ไหวแล้ว เป็นแต่เรื่องผลประโยชน์ เป็นแต่เล่นพรรคพวกกัน ไม่คำนึงถึงพระธรรมวินัย”

“ฉะนั้น ตั้งแต่ปี 2542 มาถึงปี 2559 เราก็หมิ่นเหม่ที่จะพังเสียหายหนักกว่าเก่า แต่สุดท้ายเราก็ยังสามารถเข้มแข็งพอที่จะสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่มีวัตรปฏิบัติที่ดีขึ้นมาได้อีกครั้ง”

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มีตำแหน่งคณะปกครองสงฆ์กันเป็นแท่งๆ ลงไปแบบโบราณเหมือนระบบราชการ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ มีอำนาจแต่งตั้งอะไรกันต่างๆ เรียกว่ามีระบบเดี่ยว คนคนเดียวหรือพระรูปเดียวมีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินการ

อันนี้ไม่ใช่เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เพราะพระพุทธเจ้าให้การจัดการเรื่องอธิกรณ์ทั้งหลาย เรื่องการดูแลทั้งหลายโดยคณะสงฆ์ ต้องให้เป็นคณะ แต่นี่ใช้พระรูปเดียว

ไพบูลย์เล่าว่า “ตอนหลัง พระจำนวนมากเป็นฆราวาสที่เห็นช่องทางทำมาหากิน ถ้าไปบวชเป็นพระแล้วมีรายได้ดี คนก็เคารพกราบไหว้ด้วย เลยไปปลอมบวช พวกนี้ก็จะมองช่องทางทำมาหากิน วัดไหนมีผลประโยชน์เยอะๆ ก็อยากจะไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น ก็ไปซื้อตำแหน่ง เอาเงินไปให้เจ้าคณะจังหวัด เพื่อให้ได้ตำแหน่งมา ก่อนหน้านั้นหลายแสน แต่ตอนหลังหลักล้าน ถ้าวัดมีรายได้ดี”

หรือเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งมีอำนาจตั้งคนใกล้ชิดไปกินเมือง ไปกินวัดนั้นวัดนี้ เสร็จแล้วก็ส่งผลประโยชน์มา เพื่อตัวเองจะรวบรวมแล้วเอาไปจ่าย ในการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอีก มันก็เลยวิบัติกันไปหมดทั้งระบบ

“ระบบการได้มาซึ่งการแต่งตั้งพระปกครองนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มาเพราะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แต่มาเพราะมีอามิสสินจ้าง ถ้าเป็นฆราวาส เช่น บางองค์กรที่ขึ้นชื่อในเรื่องคอร์รัปชัน เราก็ด่าเลวอยู่แล้ว ต้องปฏิรูปกัน แต่เรื่องพระ หนักกว่าอีก”

เมื่อความถูกต้องในคณะสงฆ์ไม่มี มีการหลอกลวง มีการบิดเบือน มีทุจริตเป็นส่วนใหญ่ มันเป็นการไปทำลายพระที่ท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่ยังมีอยู่ในคณะสงฆ์ ท่านเสียชื่อไปด้วย

“และพระอีกจำนวนมาก ที่ไม่ใช่พระชั้นปกครอง ไม่ใช่เจ้าอาวาส พระลูกวัดในที่ต่างๆ ท่านเดือดร้อน เขามาร้องเรียนกับผมไม่รู้กี่รูป กี่วัดแล้ว เขาโดนเจ้าอาวาสกดขี่ เจ้าอาวาสบีบบ้าง เจ้าอาวาสกลั่นแกล้งบ้าง เพราะเรื่องผลประโยชน์ หรือเขาไปตรวจสอบเจ้าอาวาสขึ้นมา เจ้าอาวาสโกรธ เล่นงานเขา เกิดขึ้นเต็มไปหมด”

“ดังนั้น ปัญหาใหญ่คือ มีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปอาศัยผ้ากาสาวพัสตร์ทำมาหากิน โดยอ้างว่าตัวเองเป็นพระ แล้วคนเหล่านี้กลไกของกฎหมาย กลไกของโครงสร้าง ทำให้เขาเป็นผู้มีอำนาจ”

ถ้าเปรียบเทียบในทางโลกก็เหมือนนักการเมือง ถ้านักการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชัน ซื้อเสียง ยิ่งได้มีอำนาจมากขึ้น ยิ่งได้คะแนนเสียง ยิ่งได้คนมาเป็น ส.ส. ยิ่งเข้ามาเป็นรัฐบาล ยิ่งคอร์รัปชันมากขึ้นเพื่อจะเข้าไปถอนทุน เข้าไปซื้อเสียงกลับมาใหม่ วัฏจักรเป็นอย่างนี้ กำลังเป็นปัญหาของคณะสงฆ์

อย่างไรก็ดี ถ้าไม่มีนักการเมืองเลยก็ไม่ได้ ต้องมีนักการเมือง ไม่มีสภาก็ไม่ได้ ก็ต้องมีสภา ฉะนั้น การปกครองสงฆ์ก็มีได้ โครงสร้างก็มีได้ แต่ทำอย่างไรที่จะจัดการกับคนเลวออกไป แล้วทำอย่างไรจะดันให้คนดีขึ้นมา

สงฆ์ปกครองสงฆ์ก็ทำให้มันดีขึ้นได้ โดยให้สงฆ์มีส่วนร่วมเยอะ คือให้พระทั้งวัดมีส่วนร่วม จะมีเรื่องอะไรในจังหวัดก็ให้พระมีส่วนร่วมกัน ในระดับสูงก็เช่นเดียวกัน พระเรื่องของพระ ก็ทำได้ แต่การจะทำอย่างนี้ได้ พระอยู่ดีดี ไม่ทำ มันต้องมีกฎหมาย มันก็เป็นงานของฆราวาสที่ต้องทำให้เรียกว่าปฏิรูปคณะสงฆ์ ให้ภิกษุทั้งหลายมามีส่วนร่วมในการปกครอง ไม่ใช่ผูกขาดอำนาจอยู่แค่คนไม่กี่คน

และเพื่อเป็นไปตามหลักของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าให้พุทธบริษัททั้ง 4 ช่วยกันดูแลพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าไม่ได้มอบให้พระภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ดังนั้นการดูแลศาสนา ดูแลพระธรรมวินัย เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททั้ง 4 แยกกันกับเรื่องการปกครองของสงฆ์

“การปกครองสงฆ์ให้สงฆ์ปกครองกันเองได้ แต่ต้องมีส่วนร่วมกันหมด ให้เหมือนกับประชาธิปไตยสงฆ์ ธรรมาธิปไตยสงฆ์ ไม่ใช่ให้ผูกขาดอำนาจอย่างนี้ แล้วพระภิกษุทั่วไปหรือพระภิกษุที่ดีๆ ก็ไม่ถูกรังแก”

แยกแยะบัญชีวัด-บัญชีพระ ต้องมีการตรวจสอบบัญชี

ไพบูลย์กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาว่า ถ้าเราไปพูดว่าปัญหาเป็นยังไง เราควรจะแก้ปัญหายังไง มันไม่มีวันเป็นรูปธรรม เหมือนการที่เราพูดเรื่องปฏิรูปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เป็นรูปธรรม ก็พูดกันไป ต่อให้มีเอกสารหนาเท่าไหร่ก็ไม่เป็นรูปธรรม ทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมได้ มีอย่างเดียวคือต้องออกเป็นร่างกฎหมาย

ดังนั้น กฎหมายที่ร่างไว้คือ “ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ” ทำให้บัญชีวัดเปิดเผย แล้วทำให้เงินของพระเป็นเงินของวัด ดังนั้น พระก็ต้องเปิดเผยกับวัดกับคณะกรรมการวัด

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายการจัดการทรัพย์สินวัดฯ ในนิยามที่สำคัญก็คือ จะต้องเป็นในรูปคณะกรรมการวัด มีเจ้าอาวาส มีพระในวัด ฯลฯ ส่วนทรัพย์สินของวัด ผมให้นิยามให้หมายรวมถึง ทรัพย์สินของมูลนิธิหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยวัดหรือเกี่ยวเนื่องกับวัดด้วย

ถ้ากฎหมายนี้มีก่อนหน้านี้หรือมีหลังจากนี้ก็ตาม มูลนิธิธรรมกายจะต้องเป็นทรัพย์สินของวัด เพราะตั้งโดยศรัทธาของคนที่มีต่อวัดพระธรรมกาย แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ มูลนิธิก็มูลนิธิ วัดก็คือวัด

ส่วนทรัพย์สินของพระภิกษุหมายถึง เงินและทรัพย์สินอื่นใดของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเป็นสมณเพศ และสิ่งที่ผมอยากให้ดูก็คือ ในหมวดที่ 1 เรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัด ในมาตรา 6 คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินวัด ที่มาบอกว่าจะให้ฆราวาสไปจัดการ ไม่จริง

มาตรา 6 จะเห็นว่า ผมให้เจ้าอาวาสเป็นประธานคณะกรรมการ, รองเจ้าอาวาส, ภิกษุที่สังกัดอยู่ในวัดเลือกกันเอง 2 รูป เพื่อความโปร่งใส ให้ภิกษุมีส่วนร่วม ไวยาวัจกร 1 คน ก็เป็นอยู่แล้ว อุบาสก อุบาสิกา ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในถิ่นนั้น ประเภทละ 3 คน ก็เป็น 6 คน รวมเป็นคณะกรรมการวัด เหมือนกรรมการมูลนิธิ แต่มีส่วนร่วม

คณะกรรมการวัดมีอำนาจหน้าที่บริหารวัด แต่งตั้งผู้สอบบัญชี วางระเบียบเกี่ยวกับวัดให้สอดคล้องกับระเบียบหรือตามกฎหมาย ต่อมา มาตรา 8 ให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินวัดจัดทำงบบัญชีทรัพย์สินของวัดตามหลักการบัญชีตามมาตรฐานสากล ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยงบแสดงฐานะทางการเงิน งบรายได้ค่าใช้จ่ายและงบกระแสเงินสดทั้งรายเดือนและรายปี

ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชี ตรวจสอบและรับรองงบบัญชี และให้คณะกรรมการจัดการทรัพย์ของสินวัดส่งงบบัญชีให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทราบภายใน 120 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และที่สำคัญคือเขียนว่า “ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนในท้องถิ่นที่วัดตั้งอยู่”

ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเปิดเผยบัญชีที่ได้รับตามวรรค 2 ต่อสาธารณะ อันนี้ต้องลงในอินเทอร์เน็ตเพื่อสืบค้นเหมือนบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ตรวจสอบได้

การจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดและการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของวัดตามวรรคหนึ่ง หรือการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัดในลักษณะอื่น หรือข้อยกเว้นวัดที่ไม่เข้าข่ายที่ต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของวัด เช่น ทรัพย์สินไม่พอ จำนวนคนไม่พอ หรือวัดร้าง

อันนี้ก็เขียนกันไว้แล้ว เพราะมีการโจมตีว่าวัดทั้งหมดต้องทำ ผมบอกว่าไม่ใช่ ก็ดูเข้าเกณฑ์ไหม เอาวัดใหญ่ก่อน วัดที่มีรายได้เยอะ ค่อยๆ ทำมา

และการจัดการทรัพย์สินของพระภิกษุ มาตรา 10 เขียนว่า ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาระหว่างที่อยู่ในสมณเพศให้ถือเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่ นี่เป็นหลักการสอดคล้องกับพระธรรมวินัย ไม่ถือเป็นทรัพย์สินของพระภิกษุ แต่ว่าให้พระภิกษุที่ได้ทรัพย์สินมาตามวรรคหนึ่ง ใช้จ่ายทรัพย์สินได้ตามความจำเป็นเพื่อการดำรงสมณเพศ เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของพระพุทธศาสนาหรือเพื่อสาธารณะประโยชน์อื่น อันนี้ท่านก็ใช้ได้

“ผมถูกโจมตีมาก ชนิดว่าให้ไวยาวัจกรถืออย่างเดียว พระห้ามถือเงิน มันก็เป็นไปไม่ได้ บางทีท่านไปรูปเดียว ท่านจะทำยังไง แต่ถ้าไม่ใช่เงินของท่านเสียอย่าง ใช้จ่ายในเรื่องศาสนา ผมว่าก็ใช้ได้ เมื่อภิกษุพ้นจากความเป็นภิกษุ เมื่อท่านสึก หรือมรณภาพ ให้ทรัพย์สินตกเป็นทรัพย์สินของวัดที่พระภิกษุนั้นสังกัดอยู่”

ต่อมามาตรา 12 สำคัญที่สุดคือ “พระภิกษุจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินของตนตามมาตรา 10 ก็คือ ทรัพย์สินที่ตัวเองได้มา ให้คณะกรรมการจัดการวัดที่ตนสังกัดทราบทุกปี”

“เช่น สมเด็จช่วง (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) มีเงินอยู่เท่าไหร่ก็ต้องแจ้ง เพราะเป็นของวัด ต้องแจ้งว่าท่านมีไว้อยู่ ก็จะไปปรากฏอยู่ในบัญชีวัด ทรัพย์สินวัดมีอยู่เท่านี้ ทรัพย์สินที่ถืออยู่ในชื่อผู้อื่น ก็คือภิกษุชื่อนี้ เป็นจำนวนเท่านี้”

“แล้วผู้สอบบัญชีก็ต้องเซ็นรับว่าจริง แล้วต้องตรวจสอบบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แล้วเปิดเผยพร้อมบัญชีวัด บัญชีวัดไม่ได้เปิดเผยเฉพาะทรัพย์สินวัดอย่างเดียว เปิดเผยบัญชีพระภิกษุไปด้วย โดยกฎหมายฉบับนี้”

“พอบัญชีโปร่งใสก็จะมองออกเลยว่า จริงๆ เงินในศาสนามีเท่าไหร่ อยู่ในวัดเท่าไหร่ ภิกษุถืออยู่เท่าไหร่ สำนักพระพุทธฯ เวลาจะช่วย วัดรวยจะตายอยู่แล้วไปช่วยทำไม ทำไมไม่ช่วยวัดที่ยากจน”

“วันนี้ปัญหาเกิดจากกฎหมาย ก็ไม่ใช้วิธีการล้างให้ไม่มีกฎหมาย ไม่ได้ ปัญหาเกิดจากกฎหมายก็ต้องแก้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมาย เพราะเราอยู่ในโลกของนิติรัฐ โลกยุคนี้ทุกอย่างต้องมีกฎหมายหมด”

การเงินวัดต้องเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

“นี่คือกฎหมายที่ร่างขึ้นมา มันเสียตรงไหนเรื่องจัดการทรัพย์สินวัดในกฎหมายฉบับนี้ ทำให้โปร่งใส และล่าสุดผมเพิ่งบอกผ่านสื่อว่า รัฐบาลต้องทำวัดอื่นๆด้วย เพราะปัญหาเรื่องทรัพย์สินวัดที่ไม่โปร่งใส ปัญหาเรื่องพระที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ มีทั้งประเทศเป็นจำนวนมาก”

“ถ้าท่านเล่นไปทำเฉพาะพระธัมมชโย เฉพาะวัดพระธรรมกาย ท่านต่างหากจะถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติจงใจจะแกล้งพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกาย ฉะนั้น ท่านต้องทำทุกวัดเพื่อความเป็นธรรม”

ส่วน “พ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ” ก็คือ การตีความพระธรรมวินัย การปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ มีอยู่ในกฎหมายนี้หมด สาระสำคัญ เช่น มาตรา 16 ให้สภาพุทธบริษัทแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะ และให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัย

นอกจากนี้ยังศึกษา วิเคราะห์ ให้ความเห็นในปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหรือคำสอนที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ศึกษา รวบรวม วิเคราะห์พระธรรมวินัยที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเผยแผ่แก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งอันนี้เป็นรูปธรรม ถ้ามีสภาพุทธบริษัทมันก็จะต่อยอดไปได้ ในขณะเดียวกัน ต้องมี พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินวัดฯ

ไพบูลย์ขยายความเกี่ยวกับกฎหมาย 2 ฉบับนี้ว่า ที่จริงแล้ว ร่างพ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินวัดฯ ควรจะเป็นผลิตผลของ ร่างพ.ร.บ.สภาพุทธบริษัทแห่งชาติ ที่วิเคราะห์แล้วว่าตามพระธรรมวินัยพระมีเงินไม่ได้ วัดจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วถึงค่อยมาออกกฎหมายนี้ทีหลัง แต่เรื่องนี้มันสุกงอมไปแล้ว เรื่องพระรับเงินได้หรือไม่ วัดจะต้องจัดการยังไง มันเป็นพื้นฐาน เพราะว่าวัดเป็นนิติบุคคลหนึ่งอยู่แล้วทำไมถึงยกเว้นไม่ต้องทำบัญชีตามมาตรฐานสากล มันอธิบายไม่ได้

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องไม่ไปปนกับเรื่องของพระปกครองกันเอง อันนี้เป็นเรื่องกฎหมายวัดในฐานะเป็นนิติบุคคล ใช้งบประมาณแผ่นดิน วัดเป็นทรัพย์สินของรัฐ การจัดการทรัพย์สินของรัฐ การจัดการเกี่ยวกับการรับงบประมาณแผ่นดิน การจัดการเกี่ยวกับประชาชนทั้งหลาย เกี่ยวข้องกันยังไง ต้องมีกฎหมายให้โปร่งใส

ถ้ามีปัญหามากเรื่องพระภิกษุ ก็ตัดไปเหลือเฉพาะเรื่องการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ได้ แต่ผมไม่เห็นว่ากับพระภิกษุจะมีปัญหา ดังนั้นก็เลยพ่วงเข้าไปด้วย ตอนเสนอก็เสนอวัดและพระภิกษุ หนีจากกันไม่ได้

เพราะว่าไปจัดการแต่วัด แต่เจ้าอาวาสก็เล่นเพลิดเพลิน มันก็รั่วไปอีกทาง ฉะนั้นต้องแก้ทั้งสองข้างไปพร้อมกัน จะได้ไม่รั่ว ถ้าอุดทั้งสองข้าง ทั้งบุคคลในองค์กรและองค์กรต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ฉะนั้นต้องแยกระหว่างเรื่องเกี่ยวกับศาสนากับเรื่องความโปร่งใสขององค์กรนิติบุคคลออกจากกัน

“แต่เพราะพระเหล่านี้ถือว่า หน่วยงานรัฐไม่กล้า ไม่ใช่แต่ ป.ป.ช. ไม่กล้ายุ่ง ปปง. หรือศาลปกครองพยายามไม่ยุ่ง ธนาคารก็ไม่กล้ายุ่ง เปิดไม่ได้ด้วยและไม่กล้ายุ่ง ไม่กล้าพูด แต่วิธีการออกกฎหมายทำให้ต้องเปิดงบบัญชี เปิดบัญชีพระ ถ้ากฎหมายเขียนให้เปิด กรรมการวัดต้องเปิด”

เดินหน้าปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา –ประชาชน-สื่อ ต้องช่วยตรวจสอบ

ไพบูลย์กล่าวว่า ผมไม่ได้ตั้งเป้าว่าร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือมีการรับไปพิจารณาหรือไม่ ไม่สนใจ แต่ที่ผมสนใจมากกว่าคือ สังคมตื่นตัวเรื่องนี้ไหม และสนใจร่วมกันผลักดันไหม ถ้าสนใจร่วมกันผลักดันแล้วตื่นตัวขึ้นมา รัฐบาลนี้ก็อาจจะเอาไปทำ แต่ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำ รัฐบาลหน้าก็จะทำ มันอยู่ที่สังคม

แต่ถ้าถามว่า หากสังคมไม่ตื่นตัว ไม่สนใจ แล้วหวังว่าให้รัฐบาลนี้ทำ เป็นไปไม่ได้ แล้วก็หวังว่ารัฐบาลหน้าจะทำ ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเสียงตัดสินคือประชาชน ซึ่งเราเพิ่งเริ่มกันอีกครั้ง ก่อนหน้านั้นผมก็ไม่อยากพูดเรื่องนี้มาก เพราะจะไปกระทบเรื่องวัดพระธรรมกาย เรื่องพระธัมมชโย เพราะมีกระแสเอาไปปั่นเยอะ แต่ตอนนี้จบแล้ว แล้วเราจะไปตอบเรื่องพระธัมมชโยกับวัดพระธรรมกายได้อย่างไร เขาก็หาว่าเราเลือกปฏิบัติ ทำแต่พระธัมมชโย ตรวจสอบเฉพาะท่านรูปเดียว ตรวจสอบวัดพระธรรมกายวัดเดียวอย่างนั้นหรือ มันไม่ใช่ ไม่ใช่เรา เราต้องการตรวจให้เกิดความถูกต้องทั้งประเทศ วัดที่มีปัญหาทั้งประเทศ ภิกษุที่ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยทั้งประเทศ มีอยู่กี่รูปไม่รู้ วัดไม่รู้มีกี่แห่ง ก็ต้องดำเนินการ แต่ไม่ใช่วัดเดียวหรือพระรูปเดียว”

ส่วนประเด็นว่าฆราวาสที่บริจาคเงินให้เงินพระเป็นจำนวนมาก ไพบูลย์มองว่า ก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ถ้าพระไม่รับ หรือพระบอกว่าไม่ถูกนะโยม ก็หยุดใช่ไหม ดังนั้น ทำไมเราไปโทษฆราวาส อันนั้นมีคนพยายามไปบิดเบือนกลายเป็นว่าพระไม่ผิด แล้วก็บอกว่าที่พระท่านรับเงินท่านไม่ได้อยากรับ แต่ท่านขัดศรัทธาไม่ได้

ผมบอกว่ามันเขียนในพระธรรมวินัยตรงไหน พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า ถ้าญาติโยมให้ไว้ ท่านรับได้ เพราะขัดศรัทธาไม่ได้ พระธรรมวินัยไม่เขียน ท่านบอกรับไม่ได้เลย จะรับหรือให้คนอื่นรับแทน หรือยินดีในการที่คนอื่นรับให้ ก็ไม่ได้ ถ้าเป็นของตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า เงินเป็นอสรพิษของสงฆ์ เงินคืออสรพิษของพระภิกษุ พระพุทธเจ้าเห็นภัยของการที่ภิกษุมีเงินอย่างมากอยู่แล้ว ท่านก็วางกฎเกณฑ์ไว้หมด แล้วมันก็จริง

“พระธัมมชโยมีคดีพังพินาศเพราะเงินใช่ไหม แล้วพระทั้งหลายเรื่องเงินทั้งนั้น ตอนนี้อาจยังไม่มีเรื่อง แต่มีแล้วมันก็ไปหมด ถ้าท่านคิดว่าท่านอยากได้เงิน อยากร่ำรวยมีเงินมาก แต่ไม่อยากเปิดเผย ท่านก็สึกไปซะ จะทำให้ศาสนาดีขึ้น”

แล้วพระภิกษุอย่าไปเน้นจำนวน ต้องเน้นคุณภาพ คือพระภิกษุในพุทธศาสนาต้องอยู่ในพระธรรมวินัย มีเท่าไหร่ก็เท่านั้น ไม่ใช่ต้องมี 3 แสนรูป พอมีน้อยลงแสดงว่าศาสนาเสื่อม ศาสนาจะรุ่งเรืองหรือไม่ไม่ได้อยู่ที่จำนวนพระภิกษุ แต่อยู่ที่วัตรปฏิบัติว่าอยู่ในพระธรรมวินัยหรือไม่ ประเด็นนี้สำคัญ

ดังนั้นเราจะเห็นว่า พระภิกษุแค่รูปเดียวสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจได้มากขนาดไหน เช่น พระอาจารย์พุทธทาส ส่วนพุทธบริษัท เป็นอุบาสก อุบาสิขา ก็ต้องทำแบบสมัยพระเจ้าอโศก

พระเจ้าอโศกสลักไว้ในเสาหินเลยว่า หน้าที่ขจัดพระที่เป็นอลัชชีเป็นหน้าที่ของอุบาสก อุบาสิกา ด้วยนะ ท่านไม่เขียนว่าพระภิกษุไปขจัดกันเอง ไม่ใช่ เพราะทำไม่ได้ พระยิ่งดีเท่าไหร่ ท่านยิ่งต้องอุเบกขา ท่านยิ่งต้องวางเฉย

ดังนั้น เป็นหน้าที่อุบาสก อุบาสิกา ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมา สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าต้องวางพระธรรมวินัยต่างๆ มันเกิดจากอุบาสก อุบาสิกา มาฟ้องท่านทั้งนั้น ท่านก็วางกติกา อุบาสก อุบาสิกา ช่วยกันตรวจสอบ

“ดังนั้น ที่ผมทำ ‘เครือข่ายประชาชนปฏิรูป’ ผมก็ปวารณาตัวว่าจะเดินหน้าเรื่องปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่ต้องทำ ดังนั้น กฎหมายนี้จะเสร็จในสมัยนี้หรือไม่สมัยนี้ ไม่รู้ เราจะเดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่ว่าที่สำคัญ ถ้าไม่ได้สื่อช่วย ก็ไม่สำเร็จ”

แต่วันนี้มีสื่อลง ประชาชนรับรู้ สำรวจโพลออกมาก็ให้ปฏิรูปหมด อยากให้เปลี่ยนแปลง อยากให้ทำ แล้ววันนี้คนโทรมาหาผมปัญหาเรื่องวัดตลอด อยากให้แก้ เราก็ไม่รู้จะทำได้ยังไง แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากเรื่องร้องเรียน ก็ยิ่งเห็นปัญหาเยอะ

ปัญหาวงการสงฆ์ต้องแก้เชิงระบบ แก้เป็นเรื่องๆ ไม่มีวันจบ

ไพบูลย์ยังเห็นว่า ปัญหาวงการสงฆ์ต้องแก้ในเชิงระบบ ไปแก้เป็นเรื่องๆ มันไม่มีวันจบ แล้วพอเราแหวกเข้าไปจริงๆ ก็เจอว่ามันไปไม่ได้ เช่น บางเรื่องเป็นเรื่องเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ก็ช่วยกัน บางทีผมก็ต้องแนะนำให้ชาวบ้านไปฟ้องศาล

แต่หากมองจริงๆ แล้ว ถ้าเจ้าอาวาสเป็นแบบคณะกรรมการจัดการวัด ไม่ได้ทำโดยเจ้าอาวาสคนเดียว ซึ่งมีอุบาสก อุบาสิกา มีชุมชนอยู่ด้วย จะกล้าไปออกคำสั่งไปแกล้งชาวบ้านได้ไหม ก็ไม่กล้า เพราะถูกตรวจสอบ

อย่างล่าสุด มีคนมาฟ้องผมว่า พระเอาเงินบริจาคไปเล่นหวย ผมบอกว่ามีหลักฐานไหม เพราะเล่นหวยผิดแน่ เล่นหวย ติดหนี้เต็มไปหมด เป็นพระเจ้าอาวาสจังหวัดหนึ่งในภาคกลาง คือทำเหมือนวัดเป็นที่ทำมาหากิน โกงกันดื้อๆ แถมยังเป็นรักษาการเจ้าคณะจังหวัดด้วย

ผมย้ำว่าพระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ 2 ทางเลือกที่จะเป็นคนในพระพุทธศาสนา เป็นนักบวชก็ได้ เป็นฆราวาสก็ได้ บรรลุธรรมได้ทั้งนั้น แต่ว่าถ้าเป็นนักบวชก็ต้องอยู่ในพระธรรมวินัย แต่ถ้าเป็นฆราวาสก็อยู่ในศีลน้อยหน่อย

ถ้าพูดย้อนถึงตรงนี้ จะเห็นว่าที่เป็นพระทุกวันนี้แล้วละเมิดพระธรรมวินัย มันไม่ใช่เป็นการรักษาพระพุทธศาสนา ตัวเองควรจะกลับมาเป็นฆราวาส ก็ยังเป็นฆราวาสที่ดีได้ เพราะเขาเคยบวชซึ่งก็ดีอยู่แล้ว แต่เขามีกิเลส ฉะนั้นเขาเป็นพระไม่ดี ก็ออกมาเป็นฆราวาสที่ดีได้

ผมมีหลักคิดของผมว่า วัดที่มีอยู่แล้วก็มีไป แต่ว่าหลักใหญ่แล้ว อะไรที่ท่านอยู่ในพระธรรมวินัยท่านจะต้องสมถะ ละแล้วซึ่งวัตถุทั้งหลาย ไม่ต้องไปก่อสร้างอะไรให้มันเหนื่อย ให้มันยาก มันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับท่าน ถ้าท่านจะปฏิบัติธรรมจริงๆ

แต่ที่ท่านทำเพราะว่าหลักเกณฑ์การจะให้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นนั้นชั้นนี้ ต้องไปสร้างวัตถุ 30 ล้าน ถึงได้เลื่อนชั้นขึ้น อันนี้เป็นความเลวร้ายที่สุดที่ไปกำหนดอย่างนี้ ไปมองเป็นเคพีไอว่า สร้างวัตถุขึ้นมาจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับพระพุทธศาสนา มีเจดีย์ใหญ่ๆ

พระพุทธเจ้าห้ามไว้แล้ว ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งจิตใจ อยู่ในใจ การปฏิบัติคือการปฏิบัติที่ตัวใครตัวมันอยู่แล้ว แต่ท่านเล่นไปเข้ารกเข้าพง เลยมีปัญหา

ถูกด่า ถูกโจมตี ถูกบิดเบือน – ต่อสู้ด้วยเหตุผล

ไพบูลย์ยอมรับว่า ตั้งแต่เข้ามาตรวจสอบวงการพระพุทธศาสนา เขาถูกว่าถูกด่า ถูกโจมตีสารพัด แต่ก็ยึดหลักคำสอนพระพุทธเจ้า วางเฉย ไม่รับคำด่า ซึ่งสุดท้ายคำด่านั้นก็ตกอยู่กับผู้ด่าไปเอง

“ก็เพลิดเพลินดี เราก็คือเรา ก็มีทั้งฆราวาส มีทั้งพระ โทรมาพูดไม่ดี ผมก็ใส่ไปแรงๆ หายเงียบไปเลย หลังจากนั้นก็ไม่มี แต่ก็มีไปบิดเบือนว่าผมเป็นอิสลามบ้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราเป็นพุทธ และพุทธแท้ เขาต่างหากที่บิดเบือน”

ก็เลยไม่สามารถตอบผมได้ว่าเรื่องที่เราพูดจริงหรือไม่จริง ก็เลยใช้วิธีว่าเราคงไม่ใช่ศาสนาพุทธ (หัวเราะ) ถ้าตราบใดที่ไปกล่าวหากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นศาสนาอื่น แสดงว่าไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรแล้ว ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาต่อสู้แล้ว

ถ้าต่อสู้ด้วยเหตุผล ใช้เหตุใช้ผลกันอย่างแท้จริง ถ้าเห็นว่าเราพูดไม่ถูกก็มาโต้แย้งกัน คุยกัน แต่การไปบอกว่าเป็นศาสนาอื่น ก็คือจนด้วยเกล้า ไม่สามารถต่อสู้ด้วยเหตุผล

ผมก็บอกว่า ถ้าพวกไหนมากล่าวหาผมว่าเป็นอิสลามเมื่อไหร่ พวกนั้นแพ้อย่างสิ้นเชิง เพราะหมดทางไม่รู้จะต่อสู้กับเราอย่างไร ดังนั้นผมก็เฉย แล้วก็มีการไปแก้ประวัติผมในวิกิพีเดีย แต่ตอนนี้ไปแก้ไม่ได้แล้ว ผมทำเข้าระบบไปแล้ว

แต่ผมคิดว่าประการหนึ่ง ตอนพระพุทธเจ้าท่านเผยแพร่ศาสนา สอนคำสอนท่าน ท่านโดนพราหมณ์โจมตีอย่างหนัก แต่มีอันหนึ่งผมชอบมาก ท่านบอกว่า พราหมณ์มาด่าท่านตลอด ท่านถามพราหมณ์ว่า ถ้าเกิดพราหมณ์เอาของไปให้เขา แล้วคนที่พราหมณ์เอาของไปให้เขาไม่รับ ของมันจะตกอยู่ที่ใคร

พราหมณ์ก็บอกว่าก็ตกอยู่ที่พราหมณ์ อยู่ที่คนให้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าก็บอกว่า ที่พราหมณ์ด่ามาทั้งหลาย ท่านไม่รับ มันก็ตกอยู่ที่พราหมณ์นะ (หัวเราะ) ท่านพูดอย่างนี้ ผมก็เอามาใช้ นี่คือคำของพระพุทธเจ้าอยู่ในสุตตันตะ ก็เมื่อเราไม่รับ ก็เป็นของคนที่พูดนั่นแหละ เขาด่าเราว่ายังไง คำด่าก็อยู่ที่เขา เราไม่รับซะอย่าง ดังนั้นมันเป็นเรื่องของใจ เราก็ไม่รับ