ThaiPublica > คอลัมน์ > “ว่าด้วยเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ”

“ว่าด้วยเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ”

29 มีนาคม 2017


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต

ที่มาภาพ : https://www.pttep.com/th/Aboutpttep/Pttepmilestone.aspx

เห็นข่าวร้อนๆ วงการพลังงานช่วงนี้ หลายท่านอาจจะยังตามไม่ทันว่า ข้อถกเถียงเรื่อง ‘บรรษัทพลังงานแห่งชาติ’ มาจากไหน เมื่อไหร่ เพราะอะไร ฯลฯ

ผมจะขอสรุปให้ฟังแบบนี้ครับ

1.ประเทศไทยมีกฎหมายที่ควบคุมการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่ชื่อว่า พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

2.กฎหมายนี้ ระบุให้ประเทศไทย ใช้ระบบจัดการที่เรียกว่า ระบบสัมปทาน (Concession)

3.เนื่องด้วยแหล่งสัมปทานใหญ่ของไทย จะสิ้นสุดลงในยุครัฐบาลปัจจุบันพอดี จึงมีบุคคลกลุ่มหนึ่งถือโอกาสเรียกร้องรัฐบาล ขอให้เปลี่ยนไปใช้ ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) แทนของเดิม เพราะเชื่อว่ารัฐจะได้เงินเยอะกว่าระบบเดิม

สองระบบนี้ต่างกันอย่างไร อธิบายในที่นี้จะยาวเกินไป ถ้ามีโอกาสคราวหน้า จะอธิบายให้ฟังครับ

4.นายกฯ ตู่ของเรา เกรงว่าหากปล่อยช้าไป การสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่จะทำให้พลังงานขาดแคลน ก็เลยสั่งให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรฯ รองนายกฯ ตอนนั้น ไปจัดการเสนอแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมใหม่ โดยให้กฎหมายใหม่สามารถใช้ได้ทั้งสองระบบ คือ Concession และ PSC

พูดง่ายๆ คือเปิดทางเลือกไว้ทุกทาง ทุกระบบ

5.ต่อมารัฐบาลได้เสนอ ร่างกฎหมายนี้ ไปที่ สนช. เพื่อออกกฎหมาย แต่ก็ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการพลังงานฯ ของ สนช. เสนอร่างกฎหมายเข้ามาอีกฉบับ ที่มีการตั้ง ‘บรรษัทพลังงานแห่งชาติ’ เข้ามาด้วย

ทั้งๆ ที่คนริเริ่ม คือ รัฐบาล ไม่เคยมีแนวความคิดนี้

6.สรุปก็คือ ตอนนั้นก็เลยมีร่างกฎหมายปิโตรเลียมสองฉบับ คือ ของรัฐบาล กับ สนช. เมื่อยังไม่ตรงกัน รัฐบาลก็เลยส่งไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตัดสิน

7.คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาแล้ว มีมติให้ส่งร่างของรัฐบาล (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ) ไปยัง สนช. เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป

8.ร่างกฎหมายของรัฐบาลดังกล่าว (ที่ไม่มีเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ) ก็ผ่านการพิจารณาของ สนช. ในวาระรับ ‘หลักการ’ ไปแล้ว แต่ปรากฏว่า ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มาก่อน

9.คือ ในการพิจารณาในวาระคณะกรรมาธิการของ สนช. (ต่อจากวาระรับหลักการ) ได้เพิ่มเติมเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเข้าไปอีกครั้ง

ทั้งที่ รัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ยินยอมด้วย

10. โดยระบุไว้ในมาตรา 10\1 ดังนี้

“มาตรา 10/1 ให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ”

โดยวาระนี้ จะถูกพิจารณาโดย สนช. ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่จะถึงนี้ ก็ต้องมาคอยติดตามกันว่า สนช. จะว่าอย่างไร กับเรื่องนี้

สำหรับผม มีข้อที่น่าสังเกต ดังนี้

เหตุใดมาตรา 10/1 ที่ให้ตั้ง ‘บรรษัทพลังงานแห่งชาติ’ ถึงมาถูกเพิ่มลงหลังจากที่ร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี กับ คณะกรรมการกฤษฎีกา มาแล้ว การลักไก่ของ สนช. โดยรัฐบาลไม่ได้ยินยอมเช่นนี้ ขัดแย้งต่อกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? เนื่องจากการออกกฎหมายโดย สนช. จะต้องผ่านขั้นตอนด้วยกัน 3 วาระ คือ

    1) วาระที่จะรับหลักการหรือไม่ หาก สนช. ไม่รับหลักการ ร่างกฎหมายก็จะตกไป แต่หาก สนช. รับหลักการ ก็จะต้องเข้าสู่วาระที่ 2
    2) วาระพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการที่สภาตั้ง ซึ่งหากเห็นชอบก็จะนำไปสู่วาระที่ 3
    3) วาระที่ สนช. ให้ความเห็นชอบหรือไม่ โดยหาก สนช. ไม่เห็นชอบร่างกฎหมายก็จะตกไป แต่หากเห็นชอบก็จะส่งกลับไปให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สามารถดูขั้นตอนกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2557 ได้ที่นี่

ประเทศไทยมี ปตท. เป็น ‘บรรษัทพลังงานแห่งชาติ’ อยู่แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีและโดยความเข้าใจของต่างชาติ โดยทุกคนสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เหตุใดจึงจะต้องตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาให้มีความซ้ำซ้อนและไม่สามารถตรวจสอบได้โดยตลาดหลักทรัพย์?

ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 30 มีนาคม 2560

1. ในที่สุดประเด็นเรื่องที่ว่าจะให้มีการบรรจุ NOC ร่างกฎหมายปิโตรเลียมหรือไม่ นั้น ก็จบลงโดยที่คณะกรรมาธิการพลังงาน ของ สนช. ยอมตัดมาตรา 10/1 ที่ให้ตั้ง NOC เจ้าปัญหาออก ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้ง NOC

แต่เรื่องนี้ให้ไปใส่ไว้ในข้อสังเกตแทนว่า…

“รัฐควรจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยเร็ว คณะรัฐมนตรีควรตั้งคณะกรรมการศึกษาภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณารายละเอียดของรูปแบบบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี ”

2. ในทางกฎหมาย การทำเป็นมาตรากับการตั้งเป็นข้อสังเกต มีความแตกต่างกันมากครับ

แปลง่ายๆ ว่า ให้ไปศึกษามาใหม่แล้วค่อยมาว่ากันว่าจะทำเป็นกฎหมายหรือไม่

3. อย่างไรก็ดี ผมได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า คณะกรรมาธิการพลังงานฯ ของ สนช. ได้ทำการ ‘ลักไก่’ คณะรัฐมนตรี คือ แอบใส่เรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติลงไปในมาตรา 10\1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากคณะรัฐมนตรี

4. ปรากฏว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีได้ออกมาแถลงข่าวยอมรับด้วยตัวเองว่า จริงอยู่ในครั้งแรก รัฐบาลไม่ได้มีแนวคิดเรื่อง NOC แต่ในเมื่อคณะกรรมาธิการพลังงานเสนอให้มี NOC เข้ามาด้วยจากความเห็นของประชาชน คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติให้แก้หลักการเดิมได้

คณะรัฐมนตรียอมรับว่า คณะกรรมาธิการไม่ได้ลักไก่ เพราะขอความยินยอมคณะรัฐมนตรีแล้ว

5. แม้กระนั้น เหตุการณ์กลับกลายเป็นว่า วันนี้ไม่มีฝ่ายใดพอใจสักฝ่าย

ฝ่ายที่สนับสนุน NOC ก็อ้างว่า มาตรา 10\1 นี้ร่างไว้คลุมเครือ คือ ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนไว้ กว่าจะเกิดคงกินเวลาเป็นสิบปี ซึ่งฝ่ายสนับสนุน NOC อยากให้มีการจัดตั้งทันที

ส่วนฝ่ายที่คัดค้าน NOC ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้เขียนไว้ในกฎหมาย เพราะเท่ากับเป็นการยอมรับหลักการว่า ประเทศไทยต้องมี NOC ขึ้นมาแทนที่กระทรวงพลังงาน และ ปตท.

6. สุดท้ายเมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ ทุกอย่างก็กลับไปสู่จุดเดิม คือ ไม่มีการตกผลึกใดๆ ทั้งสิ้นว่าประเทศไทยควรมี NOC หรือไม่

ดังนั้น จากผลของวันนี้ เชื่อได้เลยครับว่า ประเด็น NOC จะยังคงเป็นเรื่องอึมครึมอยู่ในสังคมไทยต่อไปอีกนาน

หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมบทความ วันที่ 31 มีนาคม 2560