ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ระบุเตรียมเรียกประเมินภาษี “ทักษิณ” ยันไม่รังแกใคร – ครม. ผ่าน กม.ทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

นายกฯ ระบุเตรียมเรียกประเมินภาษี “ทักษิณ” ยันไม่รังแกใคร – ครม. ผ่าน กม.ทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

15 มีนาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ซึ่งภายหลังการตอบคำถามผู้สื่อข่าว นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนางยุวดี ธัญญสิริ (เจ๊ยุ) ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา ว่า

“คิดถึงพี่ยุกันหรือไม่ คิดถึงนะ ผมยังจำได้ ผมเคยทานข้าวกันตรงหน้ารังนกกระจอก ก็ได้ทานข้าวกับป้ายุหรือพี่ยุของผม ก็คุยกันดี ไม่มีอะไรหรอก วันนี้ท่านก็หมดห่วงไปแล้ว ไปสบาย ก็ช่วยกันอธิษฐานจิตให้ท่านมีความสุข ผมไม่เคยโกรธเคืองอะไรท่านอยู่แล้ว หน้าที่ก็คือหน้าที่ พี่ก็คือพี่ เป็นพี่เป็นภรรยารุ่นพี่ อย่างไรก็เป็นพี่ผมเสมอ ผมเคารพเสมออยู่แล้ว ให้เกียรติซึ่งกันและกัน” พร้อมเดินออกไปดูบริเวณที่เคยทานข้าวร่วมกัน

เตรียมเรียกประเมินภาษี “ทักษิณ” -ยันไม่รังแกใคร

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีคดีภาษีหุ้นชินคอร์ป ที่กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ว่า กรณีดังกล่าวตนไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การดำเนินการต่างๆ ต้องไม่ขัดหลักยุติธรรม และจะไม่ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2560 ได้ให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), กรรมสรรพากร, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งได้ข้อยุติว่าจะใช้กฎหมายปกติดำเนินการ โดยกรมสรรพากรเป็นผู้เรียกให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำการเสียภาษีตามกระบวนการ

“ได้ไม่ได้ยังไงก็ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสโต้แย้งในศาล เรื่องนี้ได้ผลสรุปออกมาแล้วจากที่ประชุม ไม่ใช่คำสั่งผม หลายอย่างซับซ้อน ผมพยายามแกะมา 3-4 วันแล้ว ต่อจากนี้ก็จะเรียกมา หากไม่ได้ก็อุทธรณ์ว่าไปตามกฎหมายให้ทันวันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่งต้องดูคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมประกอบด้วยที่ว่าการดำเนินการมีการวางแผนแยบยล โอนกันหลายทอด แต่ทั้งหมดไม่ได้รังแกใคร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “การดำเนินการได้ทันก่อนอายุความ 10 ปีที่กำลังจะสิ้นสุด ในที่ประชุมร่วมเห็นว่า เมื่อปี 2555 ศาลภาษีอากรกลางตัดสินไว้ว่า นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทาเป็นนอมินีของนายทักษิณ ไม่ใช่ตัวการสำคัญ เพราะตัวการสำคัญคือนายทักษิณ แต่การออกหมายเรียกทั้งคู่ในตอนนั้นก็เหมือนเป็นการออกหมายเรียกนายทักษิณแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การขอประเมินภาษี ซึ่งเมื่อขอประเมินภาษีแล้ว ถือว่าอายุความได้สะดุดหยุดลง จากนั้นจะดำเนินการฟ้องร้องต่อไป ข้อสรุปจะเป็นอย่างไรไปสู้กันใน 3 ศาล ผลออกมาอย่างไรก็อย่างนั้น”

แจงตรวจสอบ “พระทัตตชีโว” ปมเช็คสหกรณ์ฯ คลองจั่น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาพระทัตตชีโวเกี่ยวข้องกับการนำเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่บริจาควัดให้พระธรรมกายไปเล่นหุ้นว่า ข้อเท็จจริงเดี๋ยวให้เขาพิสูจน์ทราบมา ตอนนี้กระบวนการยุติธรรมกำลังเข้าดำเนินการในทุกกรณี โดยเฉพาะการสอบทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ต้องทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟู ดังนั้นขอให้อดทนหน่อย

ส่วนกรณีผ่อนปรนการบังคับใช้คำสั่งตามมาตรา 44 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรา 44 เขียนคลุมไว้เฉยๆ ขอให้เข้าใจว่า มาตรา 44 ช่วยให้ไม่ต้องใช้หลายกฎหมาย แต่ท้ายที่สุดนำไปสู่การใช้กฎหมายปกติ วันนี้ มาตรา 44 มีไว้เพื่อรักษาพื้นที่ ดูแลพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วขึ้น แต่เรื่องคดีก็ต้องนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม

ขอจบปม CCTV 3 จว.ชายแดนใต้ด้วยกลไกกฎหมาย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการติดตามปัญหาการจัดตั้งระบบกล้องวงจรปิดในโครงการ Safe Zone School (ซีซีทีวี) 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่ตรงสเปกว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ อะไรที่ส่อว่าไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย และไม่โปร่งใสก็ต้องสอบทั้งหมด หน้าที่ของรัฐบาลคือนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไรก็ต้องไปดูที่เหตุผล ถ้ารับได้ก็คือรับได้แล้วเรื่องก็ต้องจบ แต่ถ้ารับไม่ได้ก็ไปสู่กระบวนการศาลที่ต้องตัดสินและต้องเชื่อศาล ถ้าใช้ความรู้สึกของตัวเองก็ไปไม่ได้ อะไรที่จบได้ก็ต้องจบไปด้วยกลไกทางกฎหมาย

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ผ่าน กม. เตรียมทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” 20 ปี-ทบทวนทุก 5 ปี

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. … และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต้องตราตามร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มียุทธศาตร์ในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20 ปี และกำหนดให้ยุทธศาสตร์ชาติมีองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาวและระยะเวลาที่ต้องดำเนินการ รวมไปถึงตัวชี้วัดที่เหมาะสมและยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ โดยการจัดยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะอาศัยกลไก “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” และ “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” ในการทำงาน โดยคณะกรรมการแรก เบื้องต้นมีจำนวน 25 ตำแหน่งและอาจแต่งตั้งเพิ่มเติมได้ วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติในเชิงนโยบายและเป็นผู้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ครม. รวมถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน การติดตามตรวจสอบ และประเมินผล

ขณะที่คณะกรรมการชุดที่สองจะถูกแต่งตั้งขึ้นมาจากคณะกรรมการชุดแรก เพื่อทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติในรายละเอียดแต่ละประเด็น โดยมีจำนวนไม่เกินคณะละ 15 คน ภายหลังจากประกาศใช้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านต้องจัดทำแผนแม่บท เพื่อผูกพันการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆ ต่อไป

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวได้ระบุสภาพบังคับใช้โดยให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ และหากมีการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องจะมีกลไกดูแล โดยสามารถให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณามีมติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการชี้มูล และหากมีมติว่ามีมูลให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน หรือสั่งให้ออกจากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน หรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งต่อไป

สำหรับ พ.ร.บ. ฉบับที่สอง จะเป็นการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านที่จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติมีความสอดคล้องกัน โดยต้องมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศและผลอันพึงประสงค์ กำหนดระยะเวลาที่ต้องดำเนินการ และตัวชี้วัดผลการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

กฎหมายดังกล่าวจะมีกลไกทำงานผ่านคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้าน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการ และกรรมการจำนวนไม่เกิน 14 คน รวมเป็นไม่เกิน 15 คนในแต่ละด้าน

“ยุทธศาสตร์ดังกล่าวอาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้หากมีเหตุจำเป็นเหมาะสมตามมาตรา 11 ของกฎหมายที่สามารถแก้ไขโดยความเห็นชอบของสภาฯ เนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แผนยุทธศาสตร์ที่จัดทำวันนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์อีกต่อไป แต่ในเบื้องต้นก็มีความคิดว่าจะทบทวนกันทุกๆ 5 ปี ซึ่งวันนี้ท่านนายกก็ได้ให้กฤษฎีกาไปดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงต่างๆ ของคณะกรรมการต่างๆ รวมไปถึงเรื่องคุณสมบัติของคณะกรรมการต่างๆ การมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนความกังวลว่าพรรคการเมืองขึ้นมาแล้วจะสามารถออกนโยบายส่วนตัวที่แตกต่างได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าได้ เพียงแต่ตัวยุทธศาสตร์นี้จะเน้นไปที่เรื่องพื้นฐานต่างๆ ของประเทศที่ควรทำต่อไปเพื่อความเข้มแข็งของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จะมาแก้ปัญหาที่เมื่อเปลี่ยนพรรคการเมืองแล้วนโยบายเปลี่ยน การทำงานพัฒนาไม่ต่อเนื่อง กฎหมายก็จะบังคับให้รัฐบาลทำงานเหล่านี้ร่วมกันไปกับนโยบายอื่นๆ ของแต่ละพรรคด้วย” นายกอบศักดิ์กล่าว

เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การศึกษา 20 ปี

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ โดยจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกคนมีลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3R8C (3R ได้แก่ การอ่าน การเขียน การคิด) (8C ได้แก่ การมีทักษะด้วยการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม มีภาวะผู้นำ มีทักษะด้านการสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ การรู้เท่าทันสื่อ และการมีเมตตา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม)

ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การจัดการศึกษาเพื่อความมั่งคงของสังคมและประเทศชาติ 2) การผลิตและพัฒนากำลังคน  การวิจัย  และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3) การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย  และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ 4) การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา 5) การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6) การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา

เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ครม. ยังเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี และแผนจัดการมลพิษ พ.ศ. 2560-2564  และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี โดยเฉพาะในระยะ 5 ปีแรกต่อไป ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป  ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

โดยแนวทางการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษ 20 ปี จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงที่ 1 คือ ระยะ 5 ปีแรก (2560-2564) จะวางแนวทางการดำเนินงานในเรื่องที่มีความเร่งด่วน   การเร่งแก้ไขปัญหาที่มีความวิกฤติ  จัดระบบการบริหารจัดการมลพิษ มีการดำเนินงานชัดเจน  สะดวกต่อการนำไปปฏิบัติ และช่วงที่ 2 คือ ระยะหลัง 5 ปีแรก จนถึง 20 ปี (2565-2579) จะเป็นการวางทิศทางการดำเนินงานจากช่วง 5 ปีแรก  ปรับเปลี่ยนไปสู่ระยะ 20 ปี โดยยังไม่ได้ระบุรายละเอียด เนื่องจากจะต้องมีการปรับและพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลกและของประเทศ

สำหรับแผนจัดการมลพิษฯ (ช่วงที่ 1 ระยะ 5 ปีแรก ของยุทธศาสตร์ การจัดการมลพิษ 20 ปี) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดกำจัดของเสียและควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการมลพิษ

เห็นชอบ 7,800 ล้านบาท ซื้อดาวเทียมสำรวจใหม่

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ วงเงิน 7,800 ล้านบาท

โดยให้ปรับรูปแบบการจัดหาจากรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลเป็นประมูล เพื่อความเหมาะสม โครงการมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564 ทั้งนี้ วท. รายงานว่าในปี 2547 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือ GISTDA ได้พัฒนาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของประเทศไทย หรือ ธีออส (Thailand Earth Observation System: THEOS) ซึ่งเดิมจะหมดอายุในปี 2556 แต่หลังได้รับการดูแลรักษาคาดว่าจะใช้งานไปได้ถึงปี 2561

“ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดาวเทียมไทยโชตที่ครบกำหนดอายุการใช้งานไปเมื่อปี 2556 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อการบริการข้อมูลและภูมิสารสนเทศจากดาวเทียมในภารกิจสำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งหากล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความต่อเนื่องของการได้มาซึ่งข้อมูล โดยเฉพาะในสถานการณ์เร่งด่วน ฉุกเฉิน และในพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของชาติได้ เช่น การติดตามและประเมินภัยพิบัติ และการถ่ายภาพพื้นที่ตามแนวชายแดน พื้นที่ประมงทะเล รวมทั้งการพัฒนาระบบดาวเทียมต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 3-4 ปี ดังนั้น สทอภ. จึงได้เริ่มดำเนินกระบวนการขอแบบแนวคิด (Request for Conceptual Model: RCM) เพื่อรวบรวมข้อมูลทางเทคโนโลยีการสำรวจโลกด้วยดาวเทียมสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาแนวคิดของระบบดาวเทียมสำรวจโลก ระยะที่ 2 ในการนี้ สทอภ. จึงได้ส่งเอกสาร RCM ให้แก่ประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีประเทศที่ตอบรับและส่งเอกสารกรอบแนวคิดกลับมาทั้งสิ้น 10 ประเทศ” นายณัฐพรกล่าว

คสช. ผ่าน 4 เรื่อง ใช้ ม.44 – คุมมาตรฐานรถตู้ ปรับแก้ก่อนสงกรานต์

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม คสช. ได้เห็นชอบในหลักการการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามกฎหมายมาตรา 44 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

  • เรื่องความปลอดภัยในการใช้รถโดยสาร (รถตู้/มินิบัส) เพื่อกำหนดมาตรการปรับปรุงรถโดยสารให้ปลอดภัยก่อนเทศการสงกรานต์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร โดยยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และต้องไม่กระทบฝ่ายใดมากไป เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พบว่าปัญหาเกิดจากสภาพรถตู้ไม่ปลอดภัย การควบคุมพนักงานขับรถของผู้ประกอบการ ที่ประสบปัญหาพนักงานพักผ่อนน้อย ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลได้มีการหารือร่วมกับผู้ประกอบการ และมีมาตรการออกมาว่ารถแบบใดที่ต้องปรับปรุงให้ปลอดภัยก่อนเทศกาลสงกรานต์

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดให้ยกเลิกการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะ ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นไปตามความสมัครใจ รถตู้ที่ไม่ได้คุณภาพหรือไม่ปลอดภัยก็ต้องยกเลิก ส่วนรถมินิบัสเป็นการดำเนินการเสริมเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเท่านั้น

  • การดำเนินการกับผู้ได้รับใบสั่ง โดยหากผู้ใดได้รับใบสั่ง เมื่อจะดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีจะได้รับใบแทน ซึ่งมีอายุ 1 เดือน จะได้ป้ายวงกลมต่อเมื่อทำการจ่ายค่าปรับตามใบสั่งแล้ว หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด เสมือนรถดังกล่าวขาดการต่ออายุ ซึ่งจะมีความผิดอีกกระทงหนึ่ง
  • ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม สวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเดิมทีให้บุคลากรในตำแหน่งดังกล่าวพ้นหน้าที่ และให้ คสช. ตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน โดยให้กลับไปใช้การสรรหาแบบเดิม
  • การสรรหาคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) โดยใช้วิธีการสรรหาจาก 2 ส่วน คือ เป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งจาก รมว.ศึกษาฯ เป็นประธาน กรรมการมี รมช.ศึกษาฯ มีปลัดกระทรวง เป็นต้น และคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิ เพื่อแก้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบ การต่อรองผลประโยชน์ เนื่องจากการใช้ระบบเลือกตั้งตามเขตพื้นที่การศึกษา

นอกจากนี้ พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้รายงานว่ากระทรวงการต่างประเทศและบริษัทผู้รับผิดชอบทำอีพาสปอร์ตได้มีการเจรจาระหว่างกันแล้ว ทำให้ไม่ต้องใช้คำสั่งตาม มาตรา 44 และประชาชนสามารถทำพาสปอร์ตได้ตามปกติโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการหมดอายุสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด

ยกเว้นค่าผ่านแดนแรงงาน 3 สัญชาติ กลับบ้านสงกรานต์

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา เดินทางกลับประเทศตนเองเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2560 ในระหว่างวันที่ 5-30 เมษายน เป็นระยะเวลา 26 วัน

โดยจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ทั้งการเดินทางออกและกลับเข้ามาในไทย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานออกหนังสือรับรองให้แรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางไปร่วมประเพณีสงกรานต์ใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อเข้าหน้าที่ในการเดินทาง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการเพิ่มเติมให้ระวังเรื่องเจ้าหน้าที่เรียกผลประโยชน์กับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางด้วย

นอกจากนี้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นค่าทำเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษเพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเส้นทางที่ละเว้นเก็บค่าธรรมเนียมคือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ตอนกรุงเทพ-เมืองพัทยา และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอก-กรุงเทพฯ หรือถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน-บางพลี ระหว่างวันที่ 11-18 เมษายน 2560