ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ยันไม่เว้นความผิดพระธัมมชโย – มติ ครม. ยกเครื่อง “สหกรณ์” ดึงเข้าเครดิตบูโร – แยกอำนาจตั้งหน่วยงานกำกับเฉพาะ

นายกฯ ยันไม่เว้นความผิดพระธัมมชโย – มติ ครม. ยกเครื่อง “สหกรณ์” ดึงเข้าเครดิตบูโร – แยกอำนาจตั้งหน่วยงานกำกับเฉพาะ

8 มีนาคม 2017


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ยันไม่เว้นความผิดพระธัมมชโย ชี้ทุกคนอยู่ใต้ กม. เดียวกัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กรณีวัดธรรมกาย วันนี้ก็ทำอยู่ 2 อย่างด้วยกัน ประการแรก คือ มาตรการด้านการปกครองของรัฐในเรื่องกฎหมาย ซึ่งกรณีนี้เป็นทำความผิด ก็ดำเนินการตามมาตรการของรัฐ ประการที่ 2 คือ มาตรการทางสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะสงฆ์ ซึ่งมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาเถรสมาคม (มส.) เป็นผู้ดำเนินการอยู่

“ถ้าไม่มีความผิดก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้นขอให้ยอมรับและเข้ามาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ความเดือดร้อนลดลง หลายคนก็กังวลเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ เพราะต้องใช้เจ้าหน้าที่เป็นจำนวนมาก แต่ในกรณีเดียวกัน คนยากจนที่ทำผิดก็ยังต้องถูกจับ แล้วกรณีนี้จะยกเว้นได้อย่างไร แค่เพียงมาต่อสู้คดี การดำเนินการก็เป็นมาตรฐานเดียวกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามที่ว่า เจ้าหน้าที่ใช้เวลากว่า 20 วันแล้ว แต่ยังไม่สามารถจับตัวพระธัมมชโยได้ จะเปลี่ยนให้หน่วยงานอื่นมาดำเนินการหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไปหาคำตอบกันเอาเอง ไม่ใช่รัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และเจ้าหน้าที่ไม่อยากค้น แต่ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ ที่ไม่สามารถทำได้เพราะมีการต่อต้านและมีคนจำนวนมากใช่หรือไม่ พร้อมถามกลับทำไมไม่ไปเล่นงานคนที่ทำให้เกิดปัญหา ถามแต่ว่าจะจับกุมวันไหนและใช้งบประมาณเท่าใด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องถอดสมณศักดิ์ว่า ได้มีการชี้แจงไปแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องทางสงฆ์ ซึ่ง พศ. และ มส. จะมีการหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็เหมือนกับศาลพระ ซึ่งต้องใช้เวลาเนื่องจากมีคณะกรรมการอุทธรณ์และคณะกรรมการต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากพระธัมมชโยไม่มาก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ปัญหาอยู่ที่ตัวคน

แจงไม่ใช้ ม.44 ดับไฟใต้ มี กม. เฉพาะอยู่แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเครือข่ายชาวพุทธ 3 จังหวัดชายแดนใต้เรียกร้องให้ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหาในพื้นที่ว่า ขอให้ดูว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เพราะกฎหมายปกติใช้ไม่ได้จึงต้องใช้กฎหมายพิเศษ แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ซึ่งมาตรา 44 เบากว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะสามารถยกเว้นหรือยกเลิกได้ สามารถทำในรูปแบบเบาหรือหนักก็ได้ ซึ่งได้ทำความเข้าใจในเรื่องที่เครือข่ายชาวพุทธฯ เรียกร้องไปแล้ว ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ยัน รธน. ตามโรดแมป – ขอประชาชนรอหน่อย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองมีการเคลื่อนไหว จะกระทบโรดแมปหรือไม่ ว่า สื่อรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ใครเป็นคนทำ ให้ไปหาคนทำ ตนพยายามทำให้สงบอยู่แล้ว ยืนยันว่าโรดแมปไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกอย่างจะคลี่คลายลงหลังจากพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และมีพิธีพระบรมราชาภิเษก

ต่อคำถามกรณีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้รอก่อน อีกไม่นานจะมีการเปิดเผยให้ดู พร้อมกำหนดพระราชทานโดยละเอียด

โบ้ยจัดซื้อเรือดำน้ำให้ “บิ๊กป้อม” ตอบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยระบุว่าให้ถามประเด็นดังกล่าวที่พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ด้านรัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลพระราชบัญญัติงบประมาณต่างๆ ที่ออกมา ยืนยันว่ามีการวางแผนการใช้จ่ายของทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งกองทัพได้บรรจุแผนการพัฒนากองทัพไว้ในแผนการใช้จ่ายอย่างเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ตนได้กำชับให้กระทรวงการคลังดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งก็มีหน่วยงานที่ดำเนินงานเรื่องนี้อยู่แล้ว คือ กรมสรรพากร ตอนนี้รัฐบาลก็รับฟังจากหน่วยงาน จากการประชุมต่างๆ

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ยกเครื่อง “สหกรณ์” ดึงเข้าเครดิตบูโร – แยกอำนาจตั้งหน่วยงานกำกับเฉพาะ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ ก่อนส่ง สคก. ตรวจพิจารณาโดยให้นำไปรวมกับร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่เสนอก่อนหน้านี้โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสคก.  โดยให้รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และธนาคารแห่งประเทศไทยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายแบ่งเป็น 8 ประเด็น ได้แก่ 1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งกลไกการกำกับดูแลสหกรณ์ซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุน ดังนี้

1.1 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่เสนอแนะให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการของสหกรณ์ซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุนขึ้นโดยเฉพาะ และกำหนดให้สหกรณ์ดังกล่าวนั้นแม้จะประกอบธุรกิจเงินทุนแต่ไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน แต่ในการดำเนินการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

1.2 กำหนดให้ ธปท. มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลให้สหกรณ์ซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุนปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และหากพบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องให้มีอำนาจสั่งแก้ไขหรือระงับการดำเนินการ หรือกรณีที่การกระทำนั้นอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อาจขอให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งหรือสั่งเลิกสหกรณ์ได้

2) กำหนดให้นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดระบบบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี ตลอดจนสมุดบัญชี และแบบรายงานต่างๆ ที่สหกรณ์ต้องยื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์ตามคำแนะนำของอธิบดีกรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์

3) กำหนดให้สมาชิกมีสิทธิร้องขอให้นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ดำเนินการร้องทุกข์หรือฟ้องคดีแทนสหกรณ์ได้ และกำหนดให้ดำเนินการพิจารณาเรื่องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

4) กำหนดประเภทและลักษณะ รวมถึงขอบเขตการดำเนินกิจการที่พึงดำเนินการได้ของสหกรณ์แต่ละประเภทในกฎกระทรวง รวมทั้งกำหนดให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งการได้ตามที่เห็นสมควรในกรณีที่สหกรณ์ดำเนินการนอกขอบเขตที่จะพึงดำเนินการได้

5) กำหนดลักษณะต้องห้ามของกรรมการดำเนินการสหกรณ์เพิ่มเติมกรณีเคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งหรือเคยเป็นกรรมการในสหกรณ์ที่ถูกสั่งเลิกสหกรณ์ตามคำสั่งของนายทะเบียน

6) กำหนดให้กรรมการ ผู้จัดการ และเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อสมาชิกสหกรณ์ ในกรณีที่เกิดความเสียหายใดๆ  อันเกิดจากการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์หรือ ธปท.

7) กำหนดห้ามสหกรณ์จัดสรรกำไรสุทธิประจำปีจนกว่าจะได้ดำเนินการจัดทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดให้ถูกต้องตามความเป็นจริง

8) แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษ ดังนี้ กรณีสหกรณ์ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กำหนดให้พระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1, กรณีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ กรรมการ ผู้จัดการสหกรณ์ หรือเจ้าหน้าที่สหกรณ์ผู้ใด มีมติหรือดำเนินการฝ่าฝืนข้อห้ามเรื่องการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีตามข้อ 7, กรณีสหกรณ์กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยกรรมการดำเนินการสหกรณ์หรือผู้จัดการสหกรณ์ ลงมติให้สหกรณ์ดำเนินการหรืองดเว้นการดำเนินการหรือเป็นผู้ดำเนินการ หรือรับผิดชอบในการดำเนินการนั้น ได้กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต

นอกจากนี้ นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติให้พิจารณาร่วมกับแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของกระทรวงการคลัง ซึ่งเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีโดยกระทรวงการคลังและได้รับอนุมติภายในวันเดียวกัน โดยมีรายละเอียด 4 ประเด็น ได้แก่

1) ให้มีการกำกับดูแลทางการเงินในแนวทางเดียวกับสถานบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยนำหลักการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel I มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบท โดยจะแบ่งเป็น 2 ระดับ สหกรณ์ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 5,000 ล้านบาท และน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท

2) ออกร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยด้วยการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ พ.ศ. …. โดยมีสาระดังนี้

สำหรับสหกรณ์ทุกขนาด ในด้านธรรมาภิบาล

  • ให้มีการถ่วงดุลอำนาจในสหกรณ์ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ ให้แยกการวิเคราะห์สินเชื่อและการอนุมัติสินเชื่อออกจากกัน
  • สหกรณ์ไม่ควรจ่ายเงินปันผลเกิน 80% ของกำไรสุทธิหลังหักเงินจัดสรรเป็นทุนสำรองและเงินบำรุงค่าสันนิบาตสหกรณ์
  • สมาชิกสมทบของสหกรณ์ต้องเป็นบิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตร ของสมาชิกสหกรณ์นั้น
  • งบการเงินของสหกรณ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีไทย
  • เพิ่มเติมเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลงบการเงินทั้งหมดให้แก่สมาชิกสหกรณ์
  • กรรมการดำเนินการสหกรณ์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เกินสองวาระติดต่อกัน

และหากมีขนาดใหญ่ หรือมีสินทรัพย์มากกว่า 5,000 ล้านบาท จะต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้

  • คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน และผู้จัดการสหกรณ์ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการเงินและการบัญชี
  • ให้มีคณะกรรมการชุดย่อยที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อรับผิดชอบด้านการตรวจสอบภายในและการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์
  • ให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่เหมาะสมกับขนาด ลักษณะ และขอบเขตการประกอบธุรกิจของสหกรณ์
  • ว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงิน

ความเสี่ยงด้านเครดิต

  • ปรับปรุงแนวทางการจัดชั้นสินเชื่อถึงสินทรัพย์ให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง และมีการกันสำรองเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสหกรณ์
  • การพิจารณาเงินกู้ให้สมาชิกสมทบต้องไม่เกินมูลค่าของเงินฝากและเงินค่าหุ้นของสมาชิกสมทบและภาระหนี้ต่อรายได้รวมสุทธิของสมาชิกรายใดรายหนึ่งต้องไม่เกิน 70%
  • จำกัดประเภทและปริมาณหลักทรัพย์ที่สหกรณ์สามารถฝากหรือลงทุนโดยการลงทุนของสหกรณ์ต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของส่วนของผู้ถือหุ้น มูลค่าการลงทุนในหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทต้องไม่เกิน 5% ของปริมาณหุ้นกู้ของบริษัทนั้นและห้ามสหกรณ์ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นแต่เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินกิจการหรือเป็นการได้มาจากการชำระหนี้และการประกันสินเชื่อ
  • กำหนดความสามารถในการก่อหนี้ของสหกรณ์อัตราส่วนหนี้ต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่าทันมีให้สหกรณ์นำเงินรับฝากทั้งหมดมาคำนวณเป็นหนี้สินเพื่อควบคุมปริมาณการทำธุรกรรมทางการเงินให้เหมาะสมกับระดับทุน
  • การปรับโครงสร้างหนี้ต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขหนี้เพื่อให้สหกรณ์มีโอกาสได้รับเงินต้นคืนได้มากขึ้น

และหากมีขนาดใหญ่ควรเพิ่มเติมคุณสมบัติ ดังนี้

  • กำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมการดำเนินการหรือผู้บริหารระดับสูงของสหกรณ์ เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้สินเชื่อในลักษณะเอื้อประโยชน์ เช่น ให้สินเชื่อได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดรวมของหุ้นและเงินสำรองของสหกรณ์ หรือไม่เกิน 15 ล้านบาท เป็นต้น
  • เพิ่มเติมการกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตสินเชื่อมากจนเกินไป โดยกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อลงทุนก่อภาระผูกพันหรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อแก่บุคคลหรือโครงการหนึ่งต้องไม่เกิน 100 เท่าของรายได้หรือการให้กู้แก่สหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของส่วนของผู้ถือหุ้นหรือไม่เกิน 15 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน
  • ต้องเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติจำกัด

ด้านความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

  • สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม
  • แก้ไขนิยามสินทรัพย์ที่สหกรณ์สามารถนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องโดยกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ที่สหกรณ์สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

และหากมีขนาดใหญ่ ควรเพิ่มเติมคุณสมบัติดังนี้

  • กำหนดนโยบายและแผนการบริหารด้านสภาพคล่องและส่งรายงานแบบข้อมูลสภาพคล่อง ได้แก่ แบบรายงานส่วนต่างสภาพคล่อง แบบรายงานการกระจุกตัวของแหล่งเงินทุนและแผนจัดหาแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน และกำหนดอัตราสินทรัพย์สภาพคล่องให้ครอบคลุมกระแสเงินไหลออกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ

  • กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการควบคุมภายในที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดพลาดจากการดำเนินงานและการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการและผู้อำนวยการสหกรณ์เป็นหลัก
  • สำหรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีศึกษามากกว่า 5 พันล้านบาท

และหากมีขนาดใหญ่ ควรเพิ่มเติมคุณสมบัติดังนี้

  • ให้คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่บริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ โดยกำหนดกรอบนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับองค์กร รวมทั้งให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นการเฉพาะ โดยให้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบของสหกรณ์

3) เสนอว่าควรแยกโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออกจากการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ โดยจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลตรวจสอบกิจการทางการเงินของสหกรณ์ให้มีอำนาจพัฒนาหลักเกณฑ์และตรวจการประกอบกิจการทางการเงิน ซึ่งควรมีผู้แทนจาก ธปท. หรือ ก.ล.ต. เป็นกรรมโดยตำแหน่ง และควรให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นหน่วยงานเลขานุการ

4) พัฒนาระบบฐานข้อมูลของสหกรณ์ โดยกำหนดให้สหกรณ์ส่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการกำกับและตรวจสอบตามแบบฟอร์มที่ ธปท. จัดทำขึ้นสำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ ขณะที่สหกรณ์ขนาดเล็กอาจกำหนดให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเป็นผู้รวบรวมข้อมูลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และระยะยาวควรจัดทำระบบสารสนเทศที่สามารถรองรับข้อมูลสำหรับสหกรณ์ทุกแห่ง

“งานจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ในระยะเร่งด่วน กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตร และธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแผนการดำเนินงานที่คำนึงถึงการให้โอกาสสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งจัดฝึกอบรม สร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้สามารถนำแนวทางปฏิรูปกล่าวไปขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่ในระยะกลางและยาว ให้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ฯ เป็นการเฉพาะแยกออกจากการกำกับดูแลสหกรณ์ประเภทอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการออก พ.ร.บ.สหกรณ์ใหม่ที่กำลังพิจารณาอยู่ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้เทียบเท่ากับการกำกับสถาบันการเงินรูปแบบอื่นๆ ต่อไป” นายกอบศักดิ์กล่าว

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แก้กฎหมายบริหารสินทรัพย์ เพิ่มประเภทผู้ประกอบธุรกิจ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ เช่น

  • แก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามคำว่าการบริหารสินทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน และผู้มีอำนาจในการจัดการ เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ธุรกิจอื่นนอกจากธนาคารพาณิชย์สามารถเข้ามาบริหารสินทรัพย์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Non Bank ผู้ประกอบการ P-Loan ผู้ประกอบการ Nano/Pico-Finance และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สามารถดำเนินการเป็นที่ปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้และผู้ไกล่เกลี่ยได้ จากเดิมที่สามารถรับซื้อหรือบริหารหนี้เสียได้เท่านั้น
  • กำหนดให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์จากผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินสามารถดำเนินงานที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
  • กำหนดให้การโอนสินทรัพย์ที่ได้มาจากการยึดหรืออายัดของหน่วยงานของรัฐและการโอนสินทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากร และกำหนดให้การโอนสินทรัพย์ที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนของผู้ประกอบการธุรกิจทางการเงินไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์นั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่อาจสวมสิทธิเป็นคู่ความในคดีที่อยู่ในชั้นศาล และไม่อาจเรียกเก็บดอกเบี้ยจากลูกหนี้ตามสัญญาเดิมได้ รวมทั้งจะต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
  • เพิ่มบทกำหนดโทษกรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม

ดึงรถไฟฟ้าสายสีทองขึ้นบนดิน – ลดต้นทุน 2,300-2,900 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่องพื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดินในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก)

โดยให้ กทม. เร่งรัดการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รูปแบบการก่อสร้างได้ออกแบบให้เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย) บริเวณสถานีคลองสาน ระยะทาง 2.72 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี คาดว่าสามารถเปิดบริการในปี 2561 เพื่อลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนเจริญนครและถนนกรุงธนบุรี

เห็นชอบงบ 293 ลบ. ต่อเวลา สปท. 8 เดือน

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเบิกจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น [ค่าใช้จ่ายสำหรับสนับสนุนการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) วงเงิน 293 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายระยะเวลาการทำงานของ สปท. ออกไปอีก 8 เดือน (กุมภาพันธ์- กันยายน 2560)] เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

เห็นชอบ กม.อุทยาน – คุ้มครองสัตว์ป่า พร้อมแนวทางคุ้มครองผู้อยู่มาก่อน

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนต กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และร่าง พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. เพื่อให้รับกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดย พ.ร.บ. ทั้งสองมีบทเฉพาะกาลกำหนดข้อยกเว้นสำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่มาก่อน โดยให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยอธิบดีกรมอุทยานฯ มีอำนาจอนุญาตเป็นหนังสือให้บุคคลได้อยู่อาศัยหรือทำกินต่อไป ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว ระยะเวลาคราวละไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี โดยไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดิน

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับใหม่มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแนวเขต การกำหนดเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติได้ ส่วนร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ เช่น การกำหนดให้พื้นที่ที่ยังไม่มีบุคคลได้กรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า