ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% รับมือปัจจัยต่างประเทศ แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน

กนง.คงดอกเบี้ย 1.5% รับมือปัจจัยต่างประเทศ แม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวชัดเจน

29 มีนาคม 2017


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่ากนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เป็นครั้งที่ 15 ติดต่อกัน โดยให้เหตุผลว่าไทยยังคงต้องเผชิญความไม่แน่นอนอยู่มากโดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ

กนง.จึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

ในรายละเอียด ธปท.ได้ปรับเพิ่มจีดีพีจาก 3.2% ในครั้งประมาณการเดือนธันวาคมเป็น 3.4% โดยมีการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลัก และส่งผลให้การลงทุนของเอกชนค่อยๆเริ่มปรับตัวขึ้นตาม ส่วนจะส่งผ่านไปยังการบริโภคของเอกชนหรือไม่ ยังคงต้องติดตามต่อไป แต่ระยะที่ผ่านถือว่าเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ได้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวและการใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะธปท.จะปรับประมาณการลงแต่มาจากฐานที่สูงในปีก่อนๆหน้า

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด ทั้งผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน รวมถึงพัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรป

“Based Line ของเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจโน้มไปด้านต่ำมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศที่ไม่สามารถใส่เข้ามาในประมาณการได้หมด ซึ่งคงต้องติดตามต่อไป” นายจาตุรงค์กล่าว

ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำที่ -0.39% อย่างไรก็ดีเงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร และกนง.มองว่าในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนอาจผันผวนสูงขึ้นได้จากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างประเทศ

ด้านระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ค่อนข้างดีแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ 1) ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจที่ด้อยลง ซึ่งกนง.ไม่ได้กังวลมากนัก เนื่องจากปกติความสามารถในการชำระหนี้จะค่อยๆฟื้นตัวตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไปแล้วประมาณ 6 เดือน 2) พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) โดยธปท.จะต้องติดตามระบบการเงินให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารต่างๆ หรือสหกรณ์

ผู้สื่อข่าวถามว่ากนง.ได้พูดคุยกันถึงข้อแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ให้ลดดอกเบี้ย นายจาตุรงค์ กล่าวว่ากนง.ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าว แต่ไม่ได้มีความเห็นแต่อย่างใดเป็นพิเศษ