ThaiPublica > คอลัมน์ > โรแบร์โต ดูรัน “กำปั้นหิน” แห่งปานามา

โรแบร์โต ดูรัน “กำปั้นหิน” แห่งปานามา

6 มีนาคม 2017


Hesse004

กระบวนกีฬาที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็น “ภาพยนตร์” บ่อยครั้งที่สุด เห็นจะเป็น “มวยอาชีพ” เหตุผลน่าสนใจที่ “มวย” ถูกจับลงบนแผ่นฟิล์ม ก็เพราะเป็นกีฬาที่สะท้อนให้เห็นความมีน้ำอดน้ำทนในการต่อสู้กับความยากลำบาก การเอาชนะตัวเองและการสร้างแรงบันดาลใจให้ชีวิต

…พูดง่ายๆ คือ เวลาดูจบแล้ว “ฮึกเหิม” ขึ้น

หนังนักมวยส่วนใหญ่ เล่าเรื่องเหล่ากำปั้นผู้ไม่เคยย่อท้อกับชีวิต เช่น Cinderella Man (2005) ของผู้กำกับรอน โฮเวิร์ด (Ron Howard) ซึ่งถ่ายทอดชีวิตของ เจมส์ เจ. แบร็ดด็อก (James J. Braddock) อดีตแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท ช่วงทศวรรษ 30-40 ที่ “ค้ากำปั้น” สู้ชีวิตในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (great depression) จนก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลกในที่สุด

จะว่าไปแล้ว หนังเกี่ยวกับนักมวยมัก “ทำเงิน” ด้วยการใส่ส่วนผสมที่ลงตัวทั้งความดราม่า สร้างกำลังใจเพื่อต่อสู้กับอุปสรรค รวมถึงให้ความหวังกับผู้ชมภาพยนตร์ว่าตราบใดที่ “ระฆัง” บนสังเวียนชีวิตยังไม่สั่น หมดยก จงอย่ายอมแพ้หรือ “จำนน” กับโชคชะตา

…เมื่อกลางปีที่แล้ว มีหนังนักมวยน่าสนในอยู่เรื่องหนึ่ง ที่กล่าวถึงโรแบร์โต ดูรัน (Roberto Duran) ยอดมวยปานามายุค 70-80 นับเป็นครั้งแรกที่นำชีวิตดูรันมาถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ โดยก่อนหน้านี้ เคยมีภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับดูรันมาแล้ว ในชื่อ The Fists of Nation

ส่วนหนังเรื่องที่ว่านี้ มีชื่อว่า Hands of Stones หรือแปลตรงตัวว่า “กำปั้นหิน”

Hands of Stone เป็นผลงานการกำกับของโจนาธาน จาคูโบวิค (Jonathan Jakubowicz) ได้ดารานำมารับบทเป็น ดูรัน คือ เอ็ดการ์ รามิเรซ (Edgar Ramirez) หนุ่มหล่อสไตล์ละตินจากเวเนซุเอลา แถมด้วย อัชเชอร์ (Usher) นักร้องผิวสีชื่อดังชาวอเมริกัน รับบทเป็น ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด (Sugar Ray Leonard) คู่ปรับแห่งยุคของดูรัน

นอกจากนี้ยังได้ “บรมครู” นักแสดงอย่าง โรเบิร์ต เดอ นิโร (Robert De Niro) อภิมหาอมตะแห่งฮอลลีวู้ด มารับบทเป็น เรย์ อาร์เซล (Ray Arcel) ตำนานเทรนเนอร์มวยอาชีพแห่งศตวรรษ

จริงๆ แล้ว Hands of Stone เป็นฉายาของดูรัน ที่บอกสรรพคุณของเขาได้เป็นอย่างดี

หนังบอกเล่าความเป็นมาของ โรแบร์โต ดูรัน ตั้งแต่วัยเด็กที่มีฐานะยากจน แม่ของเขามีลูกหลายคน ดูรันเริ่มหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการต่อยมวยและขอไปฝึกมวยกับโค้ชท้องถิ่น ก่อนจะฉายแววเป็น “ดาวรุ่ง” ที่กลายมาเป็นหนึ่งในฮีโร่ของประเทศปานามาในที่สุด

ดูรันเป็นนักมวยประเภท “อึด ถึก ทน” เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตำนาน” แห่งยุค 80 เคียงคู่กับนักมวยรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด โทมัส เฮิร์น และมาร์วิน แฮคเลอร์

มวยแบบดูรันเป็นมวย “ไฟท์เตอร์” ไม่เคยกลัวใคร ต่อยสนุก เดินลุยเข้าหาและใช้พละกำลังบวกหมัดที่ถูกขนานนามว่าเป็น กำปั้นหิน ไล่ถล่มคู่ต่อสู้แบบไม่กลัวเจ็บ

ด้วยสรีระของความเป็นมวยรุ่นเล็ก ดูรันสูง 170 ซม. เขาไต่ระดับขึ้นไปต่อยจากรุ่นไลท์เวท เวลเตอร์เวท ไลท์มิดเดิลเวท มิดเดิลเวท และซุปเปอร์มิดเดิลเวท และกวาดแชมป์ครบทั้ง 4 รุ่น

ชีวิตนักมวยไม่ใช่ “เรื่องง่าย” ความสำเร็จเป็นเหมือน “พลุ” ที่ขึ้นสูงสุด ส่องแสงสว่างจ้า และตกลงมาจางหายไปพร้อมกับสังขารที่ร่วงโรยไปตามกาลเวลา… ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักเห็นนักมวยดังหลายคนมีชีวิตบั้นปลายไม่ค่อยสวยหรูนัก

โรแบร์โต ดูรัน ก็เช่นกัน ตลอดช่วงอาชีพการชกของเขา เขาผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความเจ็บปวดมากมาย เข้าทำนอง “เจ็บมาเยอะ” สถิติการต่อย 119 ไฟท์ ชนะ 103 เป็นชนะแบบน็อกเอาต์เสีย 70 และแพ้ไป 16 ไฟท์

หนึ่งในความพ่ายแพ้ที่กลายเป็น “แมตช์จดจำ” มากที่สุดในทศวรรษ 80 คือการแพ้ต่อ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ในไฟท์ “รีแมตช์” หยุดโลก

ก่อนจะเล่าถึงไฟท์นี้ ขอเท้าความถึงชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ยอดมวยอเมริกัน ก่อน

ชูการ์ เรย์ เป็นนักมวยผิวสี เติบโตมาในยุคที่มูฮัมหมัด อาลี เป็น “ไอดอล” เลียวนาร์ดได้เหรียญทองกีฬามวยสากลสมัครเล่นในโอลิมปิกเกมส์ ปี 1976 ที่มอนทรีล (Montreal) แคนาดา

ขณะที่ชื่อของเลียวนาร์ดเปล่งประกายขึ้นเรื่อยๆ ชื่อของ “ดูรัน” ก็เป็น “ดาวจรัสแสง” แห่งวงการมวยปานามา และเป็นฮีโร่ของชาติอยู่แล้ว

การจับคู่ชกระหว่าง ดูรัน กับ เลียวนาร์ด เปรียบเสมือนการทำสงครามย่อมๆ ระหว่างปานามากับสหรัฐอเมริกา เนื่องจาก ช่วงเวลานั้น ปานามาเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาคืนกรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการดูแลคลองปานามา (Panama Canal) ให้รัฐบาลปานามาดูแล

โดยประเด็นคลองปานามา มีเรื่องขัดแย้งระหองระแหงกันมานาน ชาวปานามาที่ต่อต้านอเมริกาเคยบุกเข้าไปสถานทูตอเมริกามาแล้ว

เรื่องนี้ซับซ้อนยิ่งนัก เพราะอเมริกา คือ ผู้ออกทุนขุด “คลองปานามา” โดยมีเงื่อนไขสนับสนุนให้ปานามาแยกตัวเป็นเอกราชออกจากโคลอมเบีย… แต่แน่นอนว่าการช่วยขุดคลอง อเมริกาย่อมมีต้นทุน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถอนทุนคืนโดยผูกขาดบริหารจัดการผลประโยชน์จากการขุดคลองต่อเนื่องมาเรื่อยๆ

ชาวปานามารู้สึกคับข้องใจในน้ำมิตรของสหรัฐอเมริกา และพยายามเรียกร้องสิทธิในการจัดการดูแลสมบัติชาติมาโดยตลอด

ความขัดแย้งร้าวลึกมาจนถึง “กีฬา” ดังนั้น การต่อสู้ระหว่างดูรันกับเลียวนาร์ด จึงกลายเป็นสงครามตัวแทนบนสังเวียนผ้าใบ

ที่มาภาพ: http://movienewsplus.com/wp-content/uploads/2016/07/hands-of-stone.jpg

…การต่อยชิงเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเวลเทอร์เวท ดูรันเอาชนะคะแนนชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ไปได้ ตลอดการชก 15 ยก ที่มอนทรีล ดูรันโชว์ให้เห็นความเป็นมวยที่เพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ การชิงไหวชิงพริบ ความอดทน และเขาก็รักษาเข็มขัดแชมป์ได้ในที่สุด

ชัยชนะเหนือเลียวนาร์ด ทำให้ โรแบร์โต ดูรัน กลายเป็นวีรบุรุษของชาติที่คนปานามาฝากความหวังไว้ว่า พวกเขาเอาชนะพวก “ไอ้กัน” ได้

แต่ความพ่ายแพ้ของเลียวนาร์ด กลับทำให้ ชูการ์ เรย์ พัฒนาตัวเองและขอรีแมตช์ต่อยอีกครั้งในอีก 5 เดือนต่อมา ขณะที่ดูรันยังอยากพักและหลงระเริงกับชื่อเสียงที่ถูกยกยอให้เป็นวีรบุรุษของชาติ

นอกจากนี้ Hands of Stone ยังฉายให้เห็นภาพธุรกิจของมวยอาชีพ ที่คนชักใยอยู่ “เบื้องหลัง” ไฟท์รีแมตช์นี้ กลับกลายเป็น “โปรโมเตอร์” ที่หิวเงินในช่วงที่กระแสกำลังขึ้น

แต่สำหรับดูรันแล้ว การแก้มือกับคู่ต่อสู้ที่ฉลาดปราดเปรื่องภายในเวลา 5 เดือน นับเป็น “ความเสี่ยง” เพราะเมื่อประเมินดูแล้ว เขาอาจไม่ได้เป็นผู้ชนะอีกก็เป็นได้

…และแล้ว สิ่งที่ดูรันคิดก็เกิดขึ้น

การชก “รีแมตช์” กับ เลียวนาร์ด ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1980 กลายเป็น “ตราบาป” ของเขาไปตลอดชีวิต

การชกสู้กันมาถึงกลางยกที่ 8 จู่ๆ ดูรันก็หยุดชก “เอาดื้อๆ” และพูดออกมาเป็นภาษาสเปนว่า No Mas หรือ No More ซึ่งแปลสั้นๆ ว่า “กูไม่ต่อยแล้ว ไม่เอาแล้ว” เขายอมแพ้กลางคัน และยกแชมป์ให้กับชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ไปครอง ท่ามกลางความ “งงงวย” ของแฟนมวยทั่วโลก โดยเฉพาะแฟนมวยปานามา

การหยุดยอมแบบง่ายๆ เช่นนี้ ทำให้ โรแบร์โต ดูรัน กลายเป็น “ไอ้ขี้แพ้” ไปทันที เขากลับบ้านเกิดที่ปานามาซิตี้ ท่ามกลางเสียงโห่ฮา สาปแช่ง และก่นด่า

…จาก Hero สู่ Zero…นี่คือวิถีของนักมวยโดยแท้

เหตุการณ์หยุดชกกลางคันในวันนั้น เปรียบเสมือนการถอยกลับมาตั้งสติของเขา หลังจากที่ต้องสู้เพื่อตัวเอง สู้เพื่อครอบครัว และสู้เพื่อประเทศชาติ

หลังแมตช์อื้อฉาววันนั้น ดูรัน เตรียมพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โดยกลับขึ้นสู้สังเวียนอีกครั้ง และไล่เก็บสถิติเป็นแชมป์โลกรุ่นไลท์มิดเดิลเวท (1983-1984) และมิดเดิลเวท (1989)

โรแบร์โต ดูรัน กลับมาเป็นวีรบุรุษของปานามา เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ ด้วยฉายา Hands of Stone หรือ กำปั้นหิน

…แน่นอนว่า ชาวปานามาไม่มีใครลืม โรแบร์โต ดูรัน

https://www.youtube.com/watch?v=1W1L0WnVnjY
Trailer ภาพยนตร์ Hands of Stone เรื่องเล่าชีวิตของโรแบร์โต ดูรัน
ตำนานมวยปานามา