ThaiPublica > คอลัมน์ > ข่าวดี หรือข่าวน่าเป็นห่วงกันแน่?

ข่าวดี หรือข่าวน่าเป็นห่วงกันแน่?

8 มีนาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

วานนี้(วันที่ 6 มีนาคม 2560) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกาศข่าวดีว่า บริษัทในตลาด 567 บริษัท มีกำไรในปี 2559 รวมกัน 909,000 ล้านบาท เพิ่มจากกำไรปี 2558 ถึง 30.41% ทั้งๆ ที่ยอดขาย 10.125 ล้านล้านบาทนั้นลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งฟังดูน่าจะเป็นข่าวดี โดยเฉพาะสำหรับชาวหุ้น นักลงทุนทั้งไทยทั้งเทศ

แต่สำหรับผม เห็นตัวเลขนี้ถึงกับสะดุ้งด้วยความกังวล และความเป็นห่วงถึงปัญหาที่ใหญ่หลวงกว่า ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นต้นตอพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของความแตกแยกในสังคมไทย ทั้งที่มีมาในอดีต และที่จะเป็นไปในอนาคต นั่นก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ”

ถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำ แล้วไปดูตัวเลขทางวิชาการประเทศไทยดูเหมือนจะไม่ได้แย่มาก อย่างค่าสัมประสิทธิ์ GINI ก็อยู่ที่ 39.2 เมื่อปี 2012 แย่เป็นอันดับที่ 73 จาก 154 ประเทศ แถมดูเหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยสูงถึง 48 เมื่อปี 1992 (ค่า GINI Coefficient นี้เป็นมาตรฐานวัดความเหลื่อมล้ำ มีค่าได้ตั้งแต่ 0-1 และวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ตั้งแต่ 0-100 ยิ่งค่า GINI สูงยิ่งเหลื่อมล้ำมาก เช่น ถ้า 0 แปลว่าทุกคนมีรายได้เท่ากันหมด ถ้า 100 แปลว่าคนคนเดียวมีรายได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น สูงไม่ดี ต่ำดี ประเทศที่ห่วยสุดคืออาฟริกาใต้ได้ 63 ส่วนที่ดีสุดจะเป็นยูเครน สโลเวเนีย นอร์เวย์ คือประมาณ 25) ส่วนอีกตัวเลขหนึ่งที่ใช้วัดกันก็คือเอารายได้คน 10% แรกหารด้วย 10% สุดท้าย ของเราก็อยู่ที่ประมาณ 13 เท่า ซึ่งก็คงที่มากว่ายี่สิบปีแล้ว นั่นคือหากใช้ตัวเลขพวกนี้วัดเราก็ไม่ได้เลวลง แถมดีกว่าหลายๆ ประเทศแถวนี้ ไม่ว่าจะเป็นจีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เลยทำให้เราค่อนข้างละเลยถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่ง มาตลอด มุ่งแต่จะให้เติบโต แล้วหวังเอาว่าพอโตแล้วจะเกิดการไหลลงให้คนมั่งมีกันทั่วหน้า

ทีนี้ ที่เมืองไทยมีปัญหาจนนำไปสู่ความแตกแยก ผมคิดว่ามาจากสองสาเหตุ คือ ประการแรก เป็นเรื่องการขยายของเมือง จากเดิมคนจนมักอยู่ในชนบท ลูกหลานที่เข้ามาหางานทำในเมืองก็มักเป็นไปเพื่อส่งเงินไปเจือจานครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้คนจนเมืองเพิ่มขึ้นมหาศาล พ่อแม่ส่งมาเรียน จบแล้วก็ไม่กลับ หางานทำได้รายได้ตำ่ไม่พอใช้ต้องกู้หนี้ยืมสิน แถมหลายคนยังต้องให้พ่อแม่ส่งเงินให้เสียอีก

และปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ เศรษฐกิจเราดันหยุดโต ตั้งแต่หลังวิกฤติการเติบโตลดลงเรื่อยๆ จากเคยโต 9% มาสามสิบห้าปีก่อนวิกฤติเหลือ 5% ยุคทักษิณ ชินวัตร และสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่มา 8 ปีหลังโตเฉลี่ยไม่ถึง 3% แถมมีติดลบตั้งสามปี ซึ่งการโตต่ำขนาดนี้ขณะที่เรายังมีรายได้ต่อหัวแค่ครึ่งเดียวของเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วย่อมทำให้เกิดปัญหาการกระจาย เพราะเศรษฐีกับคนชั้นกลางไม่ยอมโตต่ำไปด้วย คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยและมีโอกาสน้อยย่อมยากที่จะเข้าถึงส่วนแบ่งของการเติบโต

ตัวเลขการขยายตัวอย่างมโหฬารของ Corporate Profit ที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศเมื่อวานนี้ สะท้อนความกังวลที่ผมว่าไว้เป็นอย่างดี คือ ใน GDP ด้านรายได้ (Income Side) นั้นจะประกอบด้วย เงินเดือนค่าจ้าง (Wage) + ค่าเช่า (Rental) + ดอกเบี้ย (Interest) + กำไร (Profit) + กิจกรรมอื่นๆ นอกระบบ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากำไรนั้นเป็นส่วนไม่เล็กเลย

ไทยมี GDP ปีละ 14 ล้านล้านบาท บริษัทในตลาดมีกำไร 900,000 ล้านบาท ถ้ารวมกับนอกตลาดจะมีกำไรรวมไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท (ประมาณจากการเก็บภาษี) ซึ่งรวมกำไร (เฉพาะในระบบที่เสียภาษี ไม่นับนอกระบบและที่หนีภาษี) คิดเป็นประมาณ 25 % ของ GDP

แล้วกำไรในตลาดโต 30.4% สมมติว่านอกตลาดโตน้อยกว่าโดยโตรวมสัก 15% (ประมาณแบบอนุรักษ์) แค่นี้ก็คำนวณได้แล้วนะครับว่าส่งผลอย่างไร

GDP Nominal ของไทยในปีที่แล้วโตแค่ 4% (Real GDP โต 3.2% บวกด้วยเงินเฟ้อและตัวปรับอื่น) แต่ Corporate Profit ซึ่งมีส่วนอยู่ 25% ดันโตเสีย 15% เด็กประถมก็คำนวณได้ว่า ส่วนที่เหลือ 75% จะติดลบถึง 2% ทีนี้ ลองไปดูในส่วนที่ติดลบ ค่าเช่าและดอกเบี้ยไม่น่าจะติดลบ ผมไม่เคยได้ยินว่ามีการลดค่าเช่า มีแต่ขึ้น แถมมีของให้เช่าเยอะขึ้น ยอดเงินออมก็เพิ่มอัตราดอกเบี้ย ปีที่แล้วก็ไม่ได้ลด สรุปว่าทั้งกำไรกิจการ ทั้งค่าเช่า ทั้งดอกเบี้ย ซึ่งเป็นของคนรวยหมดเลยมีแต่เพิ่มกับคงที่ แล้วไอ้ที่ลดเป็นของใครล่ะครับ คนมีรายได้น้อยทั่วไป คนรับเงินเดือน เกษตรกร คนทำงานนอกระบบ แต่คนรับเงินเดือนอาจยังไม่ถูกลดนอกจากจะถูกเลิกจ้าง แถมถ้าเป็นข้าราชการ พนักงานราชการและรัฐวิสาหกิจกลับได้เพิ่มเยอะเสียอีก ทีนี้เราก็เลยหาตัวเหล่าคนโชคร้ายที่รายได้ลดได้แล้ว ก็พวกเสื้อแดงไงล่ะครับ แหะๆ สรุปว่าชาวบ้านร้านตลาด เกษตรกร คนรายได้น้อย คนทำงานนอกระบบ พวกที่จนอยู่แล้วกลับมีรายได้ลดลง

นี่แหละครับ เราประกาศก้องว่าจะต้องพัฒนาแบบ “Inclusive Growth” จะเติบโตไปด้วยกัน จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ผลที่ออกมันยังขัดกับที่ตั้งใจอย่างมาก คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น ขณะที่คนจนกลับรายได้ลด

จากรายงานGlobal Wealth Report 2016 ของ Credit Suisse ก็ให้เกียรติไทยได้ขึ้นโพเดียม ว่าเป็นหนึ่งในแค่สามประเทศในโลกที่คน 1% ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 50% ของประเทศ โดยคนไทย 680,000 คนมีทรัพย์สิน 58.0% ตามหลังแค่รัสเซีย (74.5%) และอินเดีย (58.4%) ขนาดอเมริกาที่ขึ้นชื่อว่าเหลื่อมล้ำเพิ่มจนคนบ้าชนะเลือกตั้งยังตามมาห่างๆ ในอันดับ 7 (42.1%) ถ้าไปแบบนี้เรื่อยๆ ปีหน้าเราก็คงแซงอินเดียได้ และไม่กี่ปีพี่ปูตินก็อาจจะเสร็จเรา

ความจริงคนอย่างผม ซึ่งรวมอยู่ในหกแสนกว่าคนนั้นก็ไม่ควรจะเดือดร้อนอะไร หุ้นที่ถือกำไรเพิ่มก็รวยขึ้นทุกวัน แต่ที่กังวลก็เพราะกลัวว่า ถ้าพื้นฐานเรื่องนี้ไม่แก้ไข ความเหลื่อมล้ำไม่ลด ความปรองดองก็คงไม่มา สังคมคงยากที่จะสงบสุข จะมีเงินแค่ไหน ถ้าอยู่ในสังคมที่วุ่นวายก็ยากที่จะมีความสุขไปได้ นอกจากจะอพยพหนีไปเมืองอื่น ซึ่งนั่นคงเป็นทางเลือกสุดท้ายของคนไทยทุกคน

มาดูสิ่งที่เขาพยายามทำกันอยู่ อย่างโครงการสานพลังประชารัฐที่ดูเหมือนว่าตั้งใจจะช่วยให้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังตามที่ประกาศตอนให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง แต่ผลระยะสั้นมันยังตรงข้ามกันอยู่ มีแต่คนที่ไปทำไปร่วมเป็นกรรมการที่ล้วนแต่เป็นเจ้าของเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่กำไรเพิ่มกระฉูด หวังว่าชาวบ้านจะได้แบ่งบ้างในระยะต่อไปนะครับ หรืออย่างแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะออกมา ก็หวังว่าจะมุ่งเน้นการกระจายให้มากกว่าจะแค่ขยายขนาด บทบาท และอำนาจรัฐ กับจะเน้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้บรรดาเจ้าสัวได้ร่าเริงกัน

การที่บริษัทจะกำไรเพิ่มมากไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรอกนะครับ โดยเฉพาะถ้ากำไรที่เพิ่มเป็นธุรกิจที่ทำนอกประเทศยิ่งดีใหญ่ แต่กำไรของบริษัทในตลาดไทยกว่า 95% ได้มาจากการประกอบธุรกิจในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดการไปเบียดบังจากภาคส่วนอื่นๆ อย่างที่บอก

ถามว่าได้แต่บ่นๆ แล้วควรจะทำอย่างไร ผมคงมีภูมิตอบได้ไม่หมดหรอกครับ มีเรื่องที่ต้องทำต้องแก้หลายร้อยหลายพันเรื่อง แต่ที่สำคัญต้องตั้งเป้าให้ชัดเจน ต้องให้ความสำคัญเรื่องแก้ความเหลื่อมล้ำนี้อย่างสูงสุดในเป้าหมายนโยบาย แล้วสร้างนโยบายให้สอดคล้องกับเป้า อย่างสามเรื่องที่ผมพยายามเข้าไปช่วยทำมาสองปีครึ่ง แก้รัฐวิสาหกิจ ลดกฎหมาย ป้องกันคอร์รัปชัน ผลสุดท้ายก็จะช่วยลดเหลื่อมล้ำได้ด้วย ประกอบกับเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษา การเพิ่มผลิตภาพ การกระจายอำนาจ กระจายโอกาส ปัญหาใหญ่และหมักหมมมายาวนานอย่างนี้ไม่มีทางแก้ได้ง่ายๆ หรอกครับ ต้องทำพร้อมๆ กันทุกเรื่องอย่างเป็นบูรณาการ

บ่นไปบ่นมา นึกขึ้นได้ว่า กำไรของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรที่ผมร่วมบริหารอยู่ ปี 2559 ปาเข้าไป 5,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนตั้ง 67% แถมรายได้ทุกบาททุกสตางค์เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งสิ้น นี่แหละครับ ห่วงก็ห่วง กังวลก็กังวล แต่หน้าที่ก็ต้องทำไป ชีวิตคนมันก็สับสนอย่างนี้แหละครับ แต่ยืนยันได้ว่าประกอบอาชีพสุจริตตลอดมานะครับ และถ้าทุกคนเติบโตเพิ่มผลิตภาพได้อย่างนี้ ประเทศไทยจะไม่ได้โตแค่ 3.2% แน่นอนครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 7 มี.ค. 2560