ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > 15 แบงก์จับมือทำข้อตกลงจรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

15 แบงก์จับมือทำข้อตกลงจรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

29 มีนาคม 2017


ข่าวประชาสัมพันธ์

ผู้บริหารของ 15 ธนาคารสมาชิกสมาคมธนาคารไทย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงและประกาศความร่วมมือ ในการกำหนดจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด จรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน โดยมี ดร.วิรไท สันติประภพ (กลาง)ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายปรีดี ดาวฉาย (ที่2 จากซ้าย)ประธานสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงและประกาศความร่วมมือ ในการกำหนดจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้แนวคิดจรรยาบรรณธนาคารพาณิชย์ พัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนว่าการปรับปรุงจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ให้ทันสมัยและเท่าทันกับความคาดหวังของสังคม โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1 หลักความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา 2 หลักความเป็นธรรม และ 3 หลักการดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรับผิดชอบ ทั้งสามหลักการ จะสร้างความเชื่อมั่น และความไว้วางใจหรือ Trust ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธนาคารพาณิชย์ ความไว้วางใจจะต้องเริ่มจากพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องแสดงให้เห็นในทุกระดับ ตั้งแต่ คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ตลอดจนวิธีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ความท้าทายต่อจากนี้ไป คือ จะต้องเร่งทำหลักการในจรรยาบรรณให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2558 สมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกันกำหนดทิศทางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของอุตสาหกรรมธนาคารโดยครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผน National E-payment การสร้างสังคมทางการเงิน ด้วยการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานด้วยจรรยาบรรณธนาคาร (Banking Industry Code of Conduct) และส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน การสนับสนุนการทำธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ การเข้าถึงบริการทางการเงินทุกภาคส่วน การผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบธนาคารที่มีประสิทธิภาพสูงในระยะยาว และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการลงนามในวันนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งในการบรรลุแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะ CEO Sponsor แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีสมาคมธนาคารไทย ด้าน Banking Industry Code of Conduct เปิดเผยว่า การจัดทำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ในการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณและยกระดับความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าจะได้รับการบริการที่มีความยุติธรรม ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องก่อนการตัดสินใจใช้บริการ

อนึ่ง จรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับแรกได้จัดทำตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มีการกำหนดจรรยาบรรณของตัวเองและแม้จะมีเนื้อหาแตกต่างกัน แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ขอบเขตและสอดคล้องกับจรรยาบรรณฉบับดังกล่าว สำหรับการจัดทำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับใหม่ คณะทำงานได้ศึกษาจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ ตลอดจนจรรยาบรรณของอุตสาหกรรมอื่นๆ และนำมาเพิ่มเติมในจรรยาบรรณฉบับเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงสถานการณ์และภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยประกอบด้วย 9 หลักการ ได้แก่ 1 จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ 2 บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร 3 มาตรฐานการให้บริการ 4 พนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน 5 ความรับผิดชอบต่อลูกค้า6 ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ 7 การจัดการข้อมูล 8 การกำกับดูแลโดยรวม 9 การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท ซึ่งแต่ละธนาคารจะนำจรรยาบรรณของธนาคารพาณิชย์ฉบับนี้ไปกำหนดเป็นมาตรฐานในการปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการสื่อสาร และอบรมให้พนักงานเข้าใจและปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน

จรรยาบรรณธุรกิจของธนาคารพาณิชย์

1. จรรยาบรรณด้านการประกอบธุรกิจ
ธนาคารพึงดูแลให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด รวมถึงนโยบายการต่อต้านและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น นโยบายด้าน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พนักงานของธนาคารจะต้องปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และความระมัดระวังรอบคอบ

2. บทบาทของกรรมการและผู้บริหาร
กรรมการและผู้บริหารของธนาคารพึงมีจิตสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้กรอบคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลทุกระดับในองค์กร

3. มาตรฐานการให้บริการ
ธนาคารต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย โดยจัดให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ มีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีระบบการจัดการและบริหารควบคุมภายในที่รอบคอบ รวมทั้งมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องกับธุรกิจ

4. พนักงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ธนาคารควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานทุกคนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จัดให้สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีและปลอดภัย ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเป็นธรรม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริม สนับสนุนให้พนักงานได้รับโอกาสการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม

5. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า
ธนาคารควรให้ความสำคัญและปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างมีความรับผิดชอบ โดยจัดให้มีการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของลูกค้า จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์จะต้องสื่อสารอย่างโปร่งใสด้วยข้อความที่ชัดเจนไม่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ปกป้องรักษาข้อมูลลูกค้าเป็นความลับ จัดให้มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และจัดการประเด็นต่างๆที่ลูกค้าร้องเรียนอย่างชัดเจนและเหมาะสมอีกทั้งมีการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างยั่งยืน

6. ความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ธนาคารพึงจัดให้มีมาตรการเพื่อบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งในเรื่องของ
การป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในทางมิชอบ มีการกำหนดกระบวนการการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและรายการที่เกี่ยวโยงกันที่ไม่ให้เกิดการถ่ายเทผลประโยชน์โดยมิชอบ และ
มีการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องการรับและให้ของขวัญ การรับรองและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อไม่มีการรับหรือให้สินบน
ทั้งกับลูกค้า หน่วยงานของรัฐ เอกชน

7. การจัดการข้อมูล
ธนาคารควรมีการจัดการข้อมูลต่างๆให้เหมาะสม มีการปกป้อง จัดเก็บ ดูแลข้อมูลของลูกค้า รวมถึงข้อมูลของธนาคารเอง นอกจากนี้ การสื่อสาร แถลงการณ์ หรือการให้ข้อมูลใดๆที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร ธุรกิจของธนาคารและลูกค้า ต้องมีความถูกต้องเหมาะสม

8. การกำกับดูแลโดยรวม
ธนาคารต้องดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง นโยบายและระเบียบปฏิบัติของธนาคาร รวมถึงหลักธรรมาภิบาล โดยจะต้องจัดให้พนักงานมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและกฎเกณฑ์ จัดให้มีหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลที่เป็นอิสระจากการบริหาร จัดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ พร้อมทั้งจัดให้มีช่องทางต่างๆในการแจ้งเบาะแส หรือรายงานข้อสงสัย

9. การแข่งขันทางการค้าและการระงับข้อพิพาท
เพื่อให้ระบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ธนาคารพึงดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและแข่งขันอย่างเป็นธรรม เสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้ลูกค้าอย่างเสรี ไม่กล่าวโจมตีคู่แข่ง หรือกระทำการใดๆอันเป็นการผูกขาด ทั้งนี้ หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ธนาคารพึงจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสมในการระงับหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท