ThaiPublica > เกาะกระแส > PwC แนะรัฐเร่งทำความเข้าใจ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เชิงลึก ชี้ 4 แนวปฏิบัติสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

PwC แนะรัฐเร่งทำความเข้าใจ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เชิงลึก ชี้ 4 แนวปฏิบัติสู่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

18 กุมภาพันธ์ 2017


เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2560 นาย วสันต์ ชวลิตวรกุล หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐเริ่มตื่นตัวในการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN Sustainable Development Goals (SDGs) มากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลมีการบูรณาการเป้าหมายเอสดีจีเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) ซึ่งเป็นแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และกำหนดให้ทุกกระทรวง และหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละเป้าหมายของเอสดีจี จัดทำรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานเสนอ กพย. ทุกๆ 6 เดือน แต่อย่างไรก็ดี ยังพบว่าอุปสรรคสำคัญของการดำเนินงานตามเป้าหมายเอสดีจีนั้นคือ หน่วยงานส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจทฤษฎีเชิงลึกเพื่อนำไปกำหนดกลยุทธ์ กรอบการปฏิบัติ และกระบวนการในการวัดผล

“การสื่อสารและทำความเข้าใจเรื่องเป้าหมายเอสดีจีในเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงและหน่วยงานรัฐ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนในเวลานี้ โดยหากภาครัฐมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะทำให้สามารถนำมาข้อมูลที่ได้มาทำการศึกษาและปรับใช้ก่อนกำหนดเป็นนโยบายและกฎระเบียบข้อบังคับ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนำไปปฏิบัติตามต่อไป ซึ่งนั่นหมายรวมถึงเอกชนด้วย นี่จะทำให้การบรรลุเป้าหมายเอสดีจีเดินไปถูกทาง ในช่วงของการเริ่มต้น ผมมองว่า เราไม่จำเป็นต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 17 เป้าหมายในทันที แต่จะให้ทุกฝ่ายในองค์กรเห็นภาพเดียวกันว่า เป้าหมายขององค์กรมีกี่เป้าหมายที่ตรงกันกับ 17 เป้าหมาย แล้วองค์กรนั้นๆ จะมีกลยุทธ์อย่างไรในการขับเคลื่อนในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว” นายวสันต์กล่าว

อนึ่ง เอสดีจีมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลกเพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอีก 13 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 17 ด้าน ได้แก่ 1) ความยากจน 2) ความหิวโหย 3) สุขภาวะ 4) การศึกษา 5) ความเท่าเทียมทางเพศ 6) น้ำและการสุขาภิบาล 7) พลังงาน 8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10) ความเหลื่อมล้ำ 11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 14) ทรัพยากรทางทะเล 15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 16) สังคมและความยุติธรรม และ 17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล โดยมีเป้าหมายรองอีก 169 เป้าหมาย

sdgs

นอกเหนือจากที่รัฐบาลได้บรรจุเป้าหมายเอสดีจีเข้าสู่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 และจัดตั้ง กพย. แล้ว ไทยยังมีบทบาทในฐานะประเทศผู้ประสานงานระหว่างภูมิภาคอาเซียนและองค์การสหประชาชาติในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายเอสดีจี รวมทั้งได้มีข้อริเริ่มในการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sufficiency Economy Philosophy Partnership programme) ในขณะที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 เมื่อปี 2559 อีกด้วย

นายวสันต์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยมีโครงการต่างๆ หลายโครงการที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสอดคล้องกับเป้าหมายเอสดีจี เช่น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และกองทุนการออมชุมชน ที่สนับสนุนเป้าหมายเอสดีจี 1 ในเรื่องขจัดความยากจน และโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่สอดรับกับเป้าหมายเอสดีจี 6 ซึ่งมุ่งรักษาคุณภาพทรัพยากรน้ำ นอกจากนี้ ยังมีโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นโดยภาคส่วนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตามแนวทางเอสดีจี

ในส่วนของภาคเอกชนไทยเอง ก็มีความตื่นตัวและเร่งดำเนินงานที่สอดคล้องกับ UN SDGs ไม่แพ้กัน โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี2559 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้จัดงาน Sustainable Development Forum ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานจาก บริษัท หน่วยงานรัฐบาล สื่อมวลชน และองค์การนอกภาครัฐ (NGO) จำนวนกว่า 400 ราย ขณะที่องค์กรอิสระและบรรดาธุรกิจชั้นนำอื่นๆ ต่างก็จัดการประชุมแสดงความคิดเห็นและสัมมนาที่เกี่ยวข้องขึ้นเป็นระยะๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทชั้นนำของไทยในหลายอุตสาหกรรม เช่น ผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันครบวงจรและธุรกิจพลังงานทดแทน ที่เริ่มจัดทำรายงานด้านความยั่งยืน ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาเอสดีจีอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นแบบอย่างที่ดีของภาคธุรกิจไทย “รัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนคนไทยถือว่ามีความตระหนักรู้ถึงความหมายและความสำคัญของเอสดีจีไม่ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่หากเราหวังผลลัพธ์ที่จับต้องได้และเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ต้องเร่งสร้างความเข้าใจเชิงลึกเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง” นาย วสันต์ กล่าว

แนะ 4 แนวทางทำเอสดีจีให้บรรลุผล

นายวสันต์กล่าวว่า จากการจัดอันดับดัชนีและภาพรวมผลการดำเนินงานด้านเอสดีจีจากรายงาน SDG Index and Dashboards – Global Report ของเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ร่วมกับ Bertelsmann Stiftung ที่ผ่านมา พบว่า ไทยอยู่ในอับดับที่ 61 จาก 149 ประเทศ โดยมีคะแนนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอยู่ที่ 62 (จาก 100) ขณะที่ 3 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน มีคะแนน 84.5 ตามมาด้วย เดนมาร์ก (อันดับที่ 2) มีคะแนน 83.9 และ นอร์เวย์ (อันดับที่ 3) มีคะแนน 82.3 นอกจากนี้ ไทยยังมีคะแนนต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ (อันดับที่ 19) มีคะแนน 74.6 ส่วนประเทศขนาดใหญ่อย่าง สหราชอาณาจักร (อันดับที่ 10) มีคะแนน 78.1 และสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 25) มีคะแนน 73

นี่สะท้อนให้เห็นว่า ไทยยังต้องดำเนินการในอีกหลายๆ ด้าน โดยสามารถเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 ไทยจะสามารถขยับอันดับในตารางให้สูงขึ้นเป็นที่เท่าไหร่ ซึ่งการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน จะช่วยให้ภาคประชาสังคมสามารถกำหนดแนวนโนบายที่สามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเผชิญกับความท้าทายในการผลักดันเป้าหมายเอสดีจีให้สัมฤทธิ์ผล

ทั้งนี้ นายวสันต์มองว่า มี 4 แนวทางที่จะช่วยให้ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าประสงค์ ได้แก่

1.สร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ก่อนอื่นหน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน ต้องทำงานร่วมกัน โดยทั้ง 3 ฝ่ายต้องสร้างขีดความสามารถในการตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึง สิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังต้องมีการส่งเสริมทักษะ ความสามารถด้านเทคนิค และ สมรรถนะทางอารมณ์ (Soft Skills) ความคิดเป็นเหตุเป็นผล และการมีทัศนคติที่ดีเพื่อให้สามารถพัฒนาหนทางแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการตระหนักรู้และการพัฒนาทักษะต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกปลูกฝังลงไปในทุกภาคส่วนของสังคมไทย

2.ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน (Partnership) เพราะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นไม่สามารถดำเนินการได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว แต่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกฝ่าย

3.ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม (Implementation) นอกจากนี้ แต่ละฝ่ายภายในองค์กรจะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างพร้อมเพรียงในการลงมือปฏิบัติ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ และต้องมีแผนการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง (Change management) ไว้รองรับ

นอกจากนี้ ผู้นำด้านเอสดีจีจะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของตนไปสู่บุคลากรอื่นๆ ในองค์กรได้อีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะมีผู้นำหลายรายที่มีวิสัยทัศน์แต่กลับไม่สามารถสื่อสารความคิดของตนออกมาเป็นแผนการปฏิบัติที่จับต้องได้ ส่งผลให้ไม่ได้รับการสนับสนุน หรือถูกปฏิเสธจากผู้บริหารระดับสูง หรือ คณะกรรมการบริหารไปในที่สุด ขณะเดียวกันการขาดความเข้าใจบริบทในภาพกว้าง การลงทุนในการสื่อสาร และปลูกฝังความตระหนักรู้ที่ไม่เพียงพอ รวมทั้ง โครงสร้างระบบบริหารหรือระบบราชการที่มีความล่าช้า ไม่ทันการ ยังส่งผลให้กระบวนการภายในไม่คืบหน้า นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรต่างๆ และกระทบกับขวัญและกำลังใจของบุคลากรที่ปฏิบัติงานโดยใช่เหตุ

4.ทำการวัดผลและประเมินผลกระทบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Impact measurement) เพื่อให้บริหารจัดการผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทราบถึงผลกระทบด้านต่างๆ หลังจากที่ได้ลงมือปฏิบัติ โดยภาคส่วนต่างๆ จะต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน มีข้อมูลสนับสนุนและระบบการเก็บข้อมูลที่ครอบคลุม เพื่อนำผลที่ได้ไปประเมินความก้าวหน้าและเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ ซึ่งปัจจุบัน ไทยยังมีการประเมินผลกระทบเป้าหมายเอสดีจีอยู่อย่างจำกัด

“พัฒนาการของการบรรลุเป้าหมายเอสดีจีของไทยในระยะต่อไป คือ เราจะทำอย่างไรที่จะผลักดันความตระหนักรู้ไปสู่การดำเนินการที่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม ผมเชื่อว่า ภาคธุรกิจใดที่สามารถดำเนินตาม 4 แนวทางที่ให้ไว้ข้างต้น จะมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะสามารถรู้เท่าทันโอกาสและความเสี่ยงก่อนคู่แข่งรายอื่น นอกจากนี้ ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริง และไม่ได้เป็นแค่เรื่องของวิสัยทัศน์ ที่ใครๆ มักพูดถึง แต่ไม่ลงมือปฏิบัติ เมื่อบริษัทใดที่ทั้งพูดและทำตามเป้าหมายเอสดีจีที่ตั้งไว้ ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเอกชนรายอื่น และยังส่งผลดีต่อชื่อเสียงของธุรกิจและประเทศชาติโดยรวมด้วย” นายวสันต์กล่าว