ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาพยนตร์ มินิซีรีส์ Tutankhamun คาร์เตอร์ กับการค้นพบ “สุสานแห่งศตวรรษ”

ภาพยนตร์ มินิซีรีส์ Tutankhamun คาร์เตอร์ กับการค้นพบ “สุสานแห่งศตวรรษ”

19 กุมภาพันธ์ 2017


ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://www.imdb.com/title/tt5193662/mediaviewer/rm2095122432
ที่มาภาพ : http://www.imdb.com/title/tt5193662/mediaviewer/rm2095122432

เมื่อกลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถานีโทรทัศน์ ITV ของอังกฤษ ได้ออกอากาศภาพยนตร์มินิซีรีส์ 4 ตอน ความยาว 3 ชั่วโมง เรื่อง “ตุตันคามุน” (Tutankhamun) มีคนอังกฤษกว่า 6 ล้านคน ติดตามชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวของโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) ที่มุ่งมั่นและต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ในการค้นหาสุสานของฟาโรห์อียิปต์องค์ที่ประวัติศาสตร์ลืมไปแล้วว่าเคยมีอยู่ คาร์เตอร์ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เช่น การแข่งขันระหว่างนักโบราณคดีในการขุดหาสุสานราชวงศ์ ทัศนะของนักโบราณคดีส่วนใหญ่ที่เห็นว่า ในหุบเขากษัตริย์นั้นไม่มีสุสานฟาโรห์เหลือให้ขุดหาอีกแล้ว แต่แล้วในปี ค.ศ. 1922 คาร์เตอร์ก็ขุดพบสุสานของยุวฟาโรห์ พระนามว่า ตุตันคามุน

เรื่องราวของคาร์เตอร์ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เริ่มต้นเมื่อปี 1905 อียิปต์ในเวลานั้น การขุดหาโบราณวัตถุเป็นงานอดิเรกของพวกผู้ดีมีฐานะ แต่คาร์เตอร์เป็นนักโบราณคดีมืออาชีพ และเป็นนักอียิปต์วิทยาที่ศึกษาด้วยตัวเอง ที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็มาขอคำแนะนำจากเขา เมื่อสมาชิกคณะขุดโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์ MET แห่งนิวยอร์กคนหนึ่งนำถ้วยดินเผาชิ้นหนึ่งที่ขุดพบในหุบเขากษัตริย์มาให้คาร์เตอร์ดู ถ้วยดินเผามีข้อความจารึกอ่านว่า เนบเคเปอรูเร (Nebkheperure) สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของคาร์เตอร์ในความพยายามค้นหาสุสานตุตันคามุน ที่ใช้เวลาถึง 17 ปีกว่าจะสำเร็จ

คาร์เตอร์รู้ว่าตุตันคามุนมีพระนามครองราชย์ว่าเนบเคเปอรูเร หลักฐานชิ้นนี้ทำให้เขามั่นใจว่ายังมีสุสานของฟาโรห์หลงเหลืออยู่ในหุบเขากษัตริย์ แม้ประวัติศาสตร์ลืมฟาโรห์องค์นี้ไปแล้ว แต่ทว่ากำลังรอการขุดพบ สุสานที่ยังขุดไม่พบน่าจะเป็นของฟาโรห์ที่มีพระนามเมื่อแรกเกิดว่าตุตันคามุน นักโบราณคดีคนอื่นๆ มองว่าความคิดของคาร์เตอร์เป็นความเฟ้อฝัน แต่คนที่เชื่อมั่นในความสามารถของคาร์เตอร์ และพร้อมให้เงินสนับสนุนการขุดหาของเขา คือ ลอร์ดคาร์นาร์วอน (Carnarvon) ขุนนางอังกฤษ ในที่สุด การเป็นหุ้นส่วนของคนทั้งสองนำไปสู่การค้นพบ “สุสานแห่งศตวรรษ” ที่ถือกันว่าเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่สุดของโลก

ฟาโรห์ที่ประวัติศาสตร์ลืม

ตามปกติแล้ว สุสานฟาโรห์ที่นักโบราณคดีขุดพบ ล้วนถูกปล้นสะดมมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ มีเพียงผนังกำแพงในสุสานเท่านั้นที่มีการจารึกข้อความหรือภาพวาดที่เป็นแหล่งข้อมูลแก่นักอียิปต์วิทยา มักมีคำพูดในหมู่นักโบราณคดีว่า สุสานอียิปต์โบราณมีปฏิภาคผกผัน (irony) อย่างหนึ่ง เมื่อปิดสุสานแล้ว เจ้าของสุสานไม่มีความประสงค์ใดๆเลยที่จะให้คนภายนอกได้เข้าไปเห็นมัน แต่เมื่อมีการขุดพบ และคนภายนอกมีโอกาสได้เข้าไปเห็น สุสานกลายเป็นแหล่งความรู้มหาศาลที่ทำให้คนในปัจจุบันได้ความเข้าใจเรื่องราวความเชื่อทางศาสนาหรือวิถีชีวิตของคนอียิปต์โบราณ และหากว่าไปขุดพบสุสานที่ไม่เคยถูกปล้นสะดมมาก่อน และยังเป็นสุสานของฟาโรห์อีกด้วย ก็ยิ่งจะกลายเป็นแหล่งข้อมูลมหาศาล

ในประวัติศาสตร์ของอียิปต์วิทยา มีเพียงสุสานของตุตันคามุนเท่านั้นที่เป็นแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์มากมายที่สุด สุสานนี้ตั้งอยู่ทางฝากตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ฝั่งตรงกันข้ามกับนครธีบส์ในอดีต หรือเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน ในบริเวณที่นักอียิปต์วิทยาตั้งชื่อว่า “หุบเขากษัตริย์” (The Valley of the Kings) พื้นที่บริเวณนี้เต็มไปด้วยความลี้ลับ ไม่เพียงแค่นักโบราณคดีทุกคนใฝ่ฝันว่าตัวเองจะมีส่วนร่วมในการค้นพบ แต่ยังเป็นสถานที่ที่ทำให้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องเกิดความรู้สึกถึงประวัติศาสตร์ “ที่ยิ่งใหญ่” เพราะทั้งรามเสสที่ 2 (Ramesses II) ฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และราชินีฮัตเชปซุต (Hatshepsut) “สตรีที่ยิ่งใหญ่คนแรก” ในประวัติศาสตร์ ล้วนถูกฝังในบริเวณนี้ทั้งสิ้น

หุบเขากษัตริย์เป็นพื้นที่สุสานหลวงของอียิปต์โบราณ ในยุคที่เรียกว่า “ราชอาณาจักรใหม่” (New Kingdom) ในสมัยนั้น หากคนอียิปต์โบราณมองย้อนกลับไปในอดีต มหาพีระมิดแห่งกิซาก็มีอายุเก่าแก่กว่า 1 พันปีมาแล้ว อียิปต์ในยุคสมัยนี้เต็มไปด้วยความรุ่งเรือง วิลิศมาหรา และเป็นมหาอำนาจ คนในปัจจุบันมองเห็นภาพของอียิปต์ในยุคนี้ได้จากภาพยนตร์เรื่อง Exodus: Gods and Kings ผู้ปกครองในยุคนี้ไม่มีความคิดที่จะสร้างพีระมิดอีกแล้ว แต่หันไปสร้างสุสานลับที่เจาะเข้าไปในเทือกเขา ตัวเทือกเขาทำหน้าที่คล้ายๆ พีระมิดที่ธรรมชาติเป็นคนสร้างขึ้นมา ฟาโรห์แทบทุกองค์ของราชวงศ์ที่ 18 และ 19 ในยุคราชอาณาจักรใหม่ล้วนฝังพระศพไว้ในหุบเขากษัตริย์ ประชาชนธรรมดาสามัญคงถูกห้ามไม่ให้เข้ามาในบริเวณนี้ หรืออาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่สุสานหลวง

เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (1874-1939) นักโบราณคดีชางอังกฤษ ผู้ขุดพบสุสานตุตันคามุนในปี 1922 ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/24/Howard_carter.jpg
เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (1874-1939) นักโบราณคดีชางอังกฤษ ผู้ขุดพบสุสานตุตันคามุนในปี 1922 ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/2/24/Howard_carter.jpg

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-17) นักล่าสมบัติ และต่อมาคือนักโบราณคดี ได้ทำการขุดหาสุสานราชวงศ์ในหุบเขากษัตริย์จนทั่วพื้นที่หมดแล้ว สุสานฟาโรห์ของราชวงศ์ที่ 18 และ 19 ที่ขึ้นครองราชย์ในยุคราชอาณาจักรใหม่ถูกขุดพบแล้วเกือบทุกองค์ สุสานฟาโรห์ที่ขุดพบล้วนเป็นฟาโรห์ที่มีชื่ออยู่ในรายพระนามที่บันทึกอย่างเป็นทางการไว้ตามวิหารเทพเจ้า แต่ที่ยังขุดไม่พบคือสุสานของฟาโรห์อีกองค์หนึ่ง พระนามว่าตุตันคามุน

คาร์เตอร์เป็นนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ในปี 1891 มูลนิธิ Egypt Exploration Fund ส่งเขาไปอียิปต์เพื่อให้ไปบันทึกเป็นภาพวาดจากกำแพงสุสาน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อียิปต์ตอนกลางระหว่างไคโรกับลักซอร์ หลังจากนั้นต่อมา เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจของหน่วยงานโบราณคดีของอียิปต์ แต่ก็ลาออกในปี 1905 เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสกับยามท้องถิ่นที่เฝ้าสุสาน คาร์เตอร์เข้าข้างคนท้องถิ่น ในเวลานั้น อียิปต์ตกอยู่ในสภาพล้มละลาย ถูกชาติยุโรปแบ่งหน้าที่กันปกครอง ฝรั่งเศสมีอำนาจดูแลงานด้านโบราณคดี

นับจากปี 1903 เป็นต้นมา ใบอนุญาตในการขุดหาสุสานในหุบเขากษัตริย์ ที่ออกโดยหน่วยงานโบราณคดีของอียิปต์ เป็นของทีโอดอร์ เอ็ม. เดวิส (Theodore M. Davis) นักกฎหมายชาวอเมริกันที่มีฐานะมั่งคั่ง ในปี 1906 คนงานของเดวิสขุดพบถ้วยดินเผาที่มีชื่อสลักว่าเนบเคเปอรูเร พระนามครองราชย์ของตุตันคามุน นับเป็นครั้งแรกที่ตุตันคามุนเข้ามาเกี่ยวข้องกับหุบเขากษัตริย์ แต่ในเวลานั้น นักโบราณคดีแทบไม่มีข้อมูลใดๆ เลยเกี่ยวกับตุตันคามุน รู้แต่เพียงว่ามีฟาโรห์องค์นี้อยู่

การขาดข้อมูลเกี่ยวกับตุตันคามุน เกิดจากวิธีบันทึกประวัติศาสตร์ราชวงศ์ของอียิปต์โบราณ ที่ไม่เรียงลำดับการครองราชย์ของฟาโรห์แบบต่อเนื่องกัน เหตุการณ์ต่างๆ จะถูกบันทึกเป็นปีการครองราชย์ของฟาโรห์องค์นั้น เช่น ปีที่ 3 ของยูเซอร์มาตเร (Usermaatre) ที่เป็นพระนามครองราชย์ของรามเสสที่ 2 ในสมัยราชวงศ์ที่ 19 คือ ราชวงศ์ของตระกูลรามเสส มีการบันทึกรายพระนามของฟาโรห์ไว้ในวิหารเทพเจ้าหลายแห่ง ตั้งแต่ฟาโรห์องค์แรก พระนามว่า เมเนส (Menes) มาจนถึงสมัยที่มีการบันทึก แต่มีการละเว้นไม่บันทึกรายพระนามฟาโรห์บางองค์ของราชวงศ์ที่ 18 เช่น ตุตันคามุน

ในปี 1907 คนงานของทีโอดอร์ เดวิส ขุดพบหลุมขนาดเล็กลึก 1 เมตร ในหุบเขากษัตริย์ ที่มีเศษอาหาร ถ้วยดินเผา เหยือกเหล้าไวน์ ดอกไม้แห้ง และโถภาชนะ ที่โถภาชนะมีชื่อครองราชย์ของตุตันคามุนและระบุวันเวลาว่า ปีที่ 6 และ 8 การครองราชย์ ทำให้รู้ว่าตุตันคามุนครองราชย์เป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี หลักฐานนี้ยังแสดงว่า ตุตันคามุนถูกฝังไว้ในหุบเขากษัตริย์ แต่ทีโอดอร์ เดวิส เข้าใจผิดว่า เขาได้ขุดพบหลุมที่ฝังสมบัติที่ปล้นมาจากสุสานตุตันคามุน จริงๆ แล้วสิ่งของที่พบในหลุมเป็นเศษสิ่งของต่างๆ จากงานเลี้ยงพิธีศพหน้าสุสานตุตันคามุน ดังนั้น สุสานตุตันคามุนคงจะซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่ยังขุดหาไม่พบเท่านั้น

ภาพยนตร์ตอนที่ คาร์นาร์วอน คาร์เตอร์ และเอเวอลีน บุตรสาว อยู่ภายในสุสานตุตันคามุน ที่มาภาพ : http://www.imdb.com/title/tt5193662/mediaviewer/rm1557872128
ภาพยนตร์ตอนที่ คาร์นาร์วอน คาร์เตอร์ และเอเวอลีน บุตรสาว อยู่ภายในสุสานตุตันคามุน ที่มาภาพ : http://www.imdb.com/title/tt5193662/mediaviewer/rm1557872128

ในช่วงเดียวกันนี้ คาร์นาร์วอนได้ขอใบอนุญาตการขุดสุสานจากหน่วยงานโบราณคดีอียิปต์ Gaston Maspero ชาวฝรั่งเศสที่ดูแลหน่วยงานนี้ ต้องการจะช่วยเหลือคาร์เตอร์ที่กำลังตกงาน จึงแนะนำให้คาร์นาร์วอนจ้างคาร์เตอร์ คาร์นาร์วอนกับคาร์เตอร์มีนิสัยที่แตกต่างกัน จึงไม่น่าจะทำงานร่วมกันได้ คาร์นาร์วอนเป็นขุนนางที่มั่งคั่ง มีบุคลิกที่สง่า และเป็นคนมีวัฒนธรรม ส่วนคาร์เตอร์มาจากครอบครัวคนชั้นกลางที่ขยันทำงาน มองโลกแบบขาวดำ ขาดทักษะการเข้าสังคม เป็นโสด และชอบอยู่คนเดียว แต่ความร่วมมือระหว่างคาร์นาร์วอนกับคาร์เตอร์กลับสร้างมิตรภาพที่มีชื่อเสียงมากสุดในประวัติศาสตร์ของอียิปต์วิทยา

ปี 1914 ทีโอดอร์ เดวิส ขอยกเลิกสัมปทานการขุดหาสุสานในหุบเขากษัตริย์ พร้อมกับประกาศว่า “ในหุบเขากษัตริย์ไม่มีอะไรให้ขุดหาอีกแล้ว” แต่คาร์เตอร์ขอให้คาร์นาร์วอนเข้าไปซื้อสัมปทานต่อจากเดวิส คาร์นาร์วอนทำตามที่คาร์เตอร์เสนอ และให้เงินสนับสนุนแก่เขาในการขุดหาสุสาน แต่การค้นหาต้องหยุดลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 คือระหว่างปี 1914-1917 คาร์นาร์วอนเองก็ต้องเดินทางกลับอังกฤษก่อนเกิดสงคราม ในภาพยนตร์ Tutankhamun ก่อนเดินทางออกจากหุบเขากษัตริย์เพื่อกลับไปยังอังกฤษ คาร์นาร์วอนพูดกับคาร์เตอร์ว่า “คาร์เตอร์ พระองค์อยู่ที่นี่แหละ พระองค์รอมาแล้ว 3 พันปี ผมเชื่อว่า พระองค์ยังคงรอนานกว่านี้ได้อีกสักหน่อย”

การค้นพบสุสาน

แผนผังภายในสุสานตุตันคามุน
แผนผังภายในสุสานตุตันคามุน

หลังสงคราม คาร์เตอร์กลับมาขุดหาสุสานใหม่ คาร์เตอร์เป็นนักโบราณคดีที่ใช้สติปัญญาในการค้นหา เขามองอียิปต์วิทยาแบบงานสืบสวนของนักสืบที่อาศัยหลักฐานบวกกับการคิดแบบใช้เหตุผลแล้วจะนำไปสู่คำตอบ หลังจากพิจารณาแผนที่และการขุดพบที่ผ่านๆ มาในหุบเขากษัตริย์ คาร์เตอร์ก็ให้ความสนใจกับพื้นที่บริเวณสุสานของฟาโรห์รามเสสที่ 6 ที่ครองราชย์ 200 ปีหลังจากตุตันคามุน ในปี 1919 คนงานของคาร์เตอร์ขุดพบกระท่อมพักอาศัยของคนงานที่ทำหน้าที่ตกแต่งภายในสุสานของรามเสสที่ 6 และขุดพบภาชนะเครื่องใช้ในสมัยรามเสส คาร์เตอร์รู้ทันทีว่า นับตั้งแต่สมัยโบราณมา พื้นที่ใต้ดินของกระท่อมที่พักคนงานนี้เป็นบริเวณที่ยังไม่เคยถูกขุดมาก่อน และสุสานตุตันคามุนคงจะซ่อนอยู่ใต้กระท่อมคนงานดังกล่าว

แต่งานขุดหาที่ไม่คืบหน้าเป็นเวลาหลายปี ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคาร์เตอร์กับคาร์นาร์วอนมีปัญหาไม่ราบรื่น เดือนตุลาคม 1922 คาร์นาร์วอนบอกกับคาร์เตอร์ว่าจะหยุดการช่วยเหลือทางการเงินในการขุดหาสุสาน คาร์เตอร์ขอร้องให้คาร์นาร์วอนคงสัมปทานการขุดออกไปอีกระยะหนึ่ง โดยคาร์เตอร์จะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายเอง และพร้อมที่จะขายบ้านของเขาในอังกฤษเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย หากเขาสามารถค้นพบสุสาน คาร์นาร์วอนจะต้องคืนเงินที่เขาจ่ายไปก่อน ในที่สุด คาร์นาร์วอนตกลงจะให้เงินทุนเป็นครั้งสุดท้ายแก่คาร์เตอร์ไปอีกระยะหนึ่ง

เดือนพฤศจิกายน 1922 คนงานของคาร์เตอร์กลับมาขุดบริเวณกระท่อมที่พักคนงานสุสานอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่คาร์เตอร์ทิ้งพื้นที่นี้ไป 3 ปี โดยเขาให้เหตุผลว่า ที่ทิ้งพื้นที่นี้ไปเพราะนักท่องเที่ยวไม่สะดวกที่จะเข้ามาดูสุสานบริเวณนี้ วันที่ 3 พฤศจิกายน คนงานไปบอกกับคาร์เตอร์ว่า ขุดพบทางเดิน คาร์เตอร์ใช้เวลา 2 วันก็สามารถเคลียร์ทางลงได้ 12 ขั้น เมื่อถึงทางลงขั้นที่ 16 ที่เป็นขั้นสุดท้าย ก็พบประตูที่ปิดทางเข้าสุสาน มุมประตูด้านบนทางซ้ายมีรอยที่ปิดผนึกขึ้นมาใหม่ ไม่สนิทเหมือนประตูเดิม คาร์เตอร์รู้ทันทีว่า เขาขุดพบ สุสานที่เคยถูกปล้นมาแล้ว แม้จะยังไม่รู้ว่าเป็นสุสานของใคร

คาร์เตอร์รีบส่งโทรเลขแจ้งคาร์นาร์วอนว่า “ในที่สุดก็ค้นพบสิ่งที่วิเศษสุดในหุบเขา สุสานยอดเยี่ยมที่ยังมีตราเครื่องหมายปิดอยู่แบบเดิม” คาร์นาร์วอนเดินทางจากอังกฤษมาถึงหุบเขาในปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อเคลียร์พื้นที่ทางเดินลงสุสานทั้งหมด ส่วนล่างของประตูปิดสุสานมีเครื่องหมายราชสำนักอ่านว่า “เนปเคเปอรูเร” พระนามครองราชย์ของตุตันคามุน สิ่งที่คาร์นาร์วอนและคาร์เตอร์รอคอยมานานกว่า 10 ปี

บันไดทางลงสุสานตุตันคามุน
บันไดทางลงสุสานตุตันคามุน

ต่อจากบันไดทางลง 16 ขั้น เป็นเฉลียงทางเดิน ที่ปลายทางเดินมีประตูปิดตายอีกประตูหนึ่ง ส่วนบนทางซ้ายของประตูมีรอยถูกเจาะ แต่ถูกปิดทับใหม่ จุดนี้แสดงว่ามีคนเคยบุกเข้ามาในห้องต่างๆ ของสุสาน คาร์เตอร์เจาะบริเวณประตูที่ปิดทับใหม่เพื่อทดสอบอากาศภายในห้อง คาร์เตอร์จุดเทียนเข้าไปส่องดูภายในห้องนี้ ห้องที่ต่อมาคาร์เตอร์เรียกว่า “ห้องรอง” หรือ Antechamber อากาศร้อนที่พุ่งออกมาจากในห้องทำให้แสงไฟจากเทียนกระพือขึ้นมา คาร์นาร์วอนถามคาร์เตอร์ว่า “คุณมองเห็นอะไรมั่ง” แม้จะยังมองเห็นอะไรไม่มาก แต่คาร์เตอร์ก็กล่าวตอบและกลายเป็นคำพูดประวัติศาสตร์ว่า “เห็นสิ่งของที่วิเศษสุดยอด” (wonderful things)

คาร์เตอร์ใช้เวลา 10 ปีในการขนย้ายสิ่งของต่างๆ หลายพันชิ้นออกจากสุสานตุตันคามุน สัญญาสัมปทานการขุดกำหนดเงื่อนไขว่า ให้มีการแบ่งสิ่งของที่ขุดพบระหว่างหน่วยงานโบราณคดีอียิปต์กับคนขุด ในภาพยนตร์ Tutankhamun เจ้าหน้าที่โบราณคดีอียิปต์บอกกับคาร์เตอร์ว่า ก่อนหน้านี้ 6 วัน ก่อนที่จะมีการขุดพบสุสานตุตันคามุน อียิปต์ออกกฎหมายใหม่ระบุว่า การขุดพบสุสานราชวงศ์ สมบัติในสุสานจะตกเป็นของอียิปต์ทั้งหมด

หลังจากเคลียร์สิ่งของจากสุสานตุตันคามุนจนหมดแล้ว คาร์เตอร์ก็ไม่ได้กลับมาเป็นนักโบราณคดีอีกเลย เขาเสียชีวิตในปี 1939 เมื่ออายุ 64 ปี สุสานของเขาที่ลอนดอนมีข้อความเขียนไว้ว่า “ขอให้วิญญาณท่านยังคงอยู่ ขอให้ท่านใช้ชีวิตล้านปี ท่านผู้มีความรักต่อนครธีบส์ เวลานั่งมีใบหน้าหันไปทางทิศเหนือ ดวงตาท่านเปี่ยมด้วยความสุข” ข้อความนี้นำมาจากจารึกที่อยู่ในถ้วยหินอ่อนอาราบาสเตอร์ของตุตันคามุน