ThaiPublica > เกาะกระแส > โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นหน้าปก Economist, Der Spiegel ภาพสะท้อนเมื่อพวกกบฏเข้ายึดทำเนียบขาว

โดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นหน้าปก Economist, Der Spiegel ภาพสะท้อนเมื่อพวกกบฏเข้ายึดทำเนียบขาว

8 กุมภาพันธ์ 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

อเมริกาในสมัยทรัมป์ ปฏิเสธการเป็นดินแดนของผู้อพยพ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/
อเมริกาในสมัยทรัมป์ ปฏิเสธการเป็นดินแดนของผู้อพยพ ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

หลังจากขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ดำเนินนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ด้วยการออกคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) 19 ฉบับ แต่ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกคือ การออกคำสั่งระงับโครงการรับผู้อพยพเป็นเวลา 120 วัน และการห้ามเดินทางมายังสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน ของพลเมืองจาก 7 ประเทศ คือ อิรัก อิหร่าน ซีเรีย ลิเบีย เยเมน โซมาเลีย และซูดาน คำสั่งดังกล่าวของทรัมป์ทำให้นิตยสารชื่อดังอย่าง Economist, New Yorker และ Der Spiegel นำภาพลักษณ์ที่สะท้อนการปฏิเสธของอเมริกาที่เป็น “ดินแดนของผู้อพยพ” มาขึ้นเป็นหน้าปก

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้ออกคำสั่งประธานาธิบดีให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนทรานส์แปซิฟิก (TPP) ให้มีการเจรจาใหม่เรื่องข้อตกลงการค้าเสรี NAFTA และสร้างกำแพงชายแดนติดกับเม็กซิโก ทรัมป์เคยชื่นชมที่อังกฤษถอนตัวจากกลุ่ม EU มีท่าทีเป็นมิตรกับรัสเซีย ปกป้องวิธีการทรมานพวกก่อการร้าย และโจมตีสื่อมวลชน ตามปกติแล้ว ความปั่นป่วนทางการเมืองจะสะท้อนความล้มเหลว แต่สำหรับทรัมป์ ความปั่นป่วนเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการใช้นโยบายและมาตรการที่จะสั่นคลอนพวกมีอำนาจในระบบเดิมและระบบโลกที่เป็นอยู่

กบฏในทำเนียบขาว

นิตยสาร Economist เขียนไว้ว่า การเป็นกบฏของทรัมป์คือ การใช้ประโยชน์จากความโกรธแค้นไม่พอใจของคนอเมริกันที่มีต่อพวกที่มีอำนาจในระบบที่เป็นอยู่ อเมริกากำลังเป็นสังคมที่มีความแตกแยก เมื่อฝ่ายหนึ่งที่คือกลุ่มคนชั้นนำถูกมองว่ามีความผิดพลาดและสร้างปัญหาที่อันตราย ความขัดแย้งจึงกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา ยิ่งทรัมป์พูดวิจารณ์กล่าวหาพวกมีอำนาจในวงการเมือง สื่อมวลชน หรือธุรกิจอุตสาหกรรม ก็ยิ่งทำให้ผู้สนับสนุนของทรัมป์เห็นว่าเขาเอาจริงเอาจังที่จะเล่นงานพวกที่มีอำนาจแต่ทว่าละโมบเห็นแก่ตัว เป็นข้อพิสูจน์ว่า ทรัมป์เป็นคนพูดจริงทำจริงตามที่ได้หาเสียงไว้

Steve Bannon ที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของทรัมป์ ขึ้นหน้าปก Time Magazine
Steve Bannon ที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของทรัมป์ ขึ้นหน้าปก Time Magazine

การเมืองภายในที่ขัดแย้งแบ่งขั้วในสหรัฐฯ นำไปสู่การมีทัศนะที่มองโลกโดยปฏิเสธนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินมาหลายทศวรรษ ทรัมป์ไม่สนใจองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่กำหนดกติกากฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ตั้งแต่เรื่อง ความมั่นคง การค้า จนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าประเทศอื่นๆ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ เป็นคนแบกรับค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้น สหรัฐฯ จะหันไปใช้วิธีการเจรจาเป็นรายประเทศ เพื่อเอาประโยชน์กลับคืนมา

ส่วน สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของทรัมป์ ที่กำลังกลายเป็นคนมีอำนาจมากที่สุดในรัฐบาลทรัมป์ ก็เป็นพวกที่ปฏิเสธแนวคิด “เสรีนิยมสากล” (International Liberalism) โดยมองว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว แนวคิดนี้ยึดมั่นเรื่องสิทธิมนุษยชน การค้าเสรี หรือประชาธิปไตย แบนนอนเชื่อว่า การต่อสู้ทางอุดมการณ์ในโลกปัจจุบันไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนสากล แต่เป็นการปกป้องวัฒนธรรม “คริสเตียน-ยิว” จากการรุกรานของอิสลาม ทัศนะการมองโลกแบบนี้ทำให้องค์กรอย่างสหประชาชาติหรือกลุ่ม EU กลายเป็นตัวอุปสรรค ส่วนวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กลายเป็นพันธมิตร

Economist บอกว่า สำหรับโลกเรา ช่องทางที่จะควบคุมความเสียหายจากนโยบายของทรัมป์มีอยู่น้อย แต่นักการเมืองพรรครีพับลิกันและพันธมิตรของสหรัฐฯ ควรจะบอกกับทรัมป์ตรงๆ ว่า การใช้วิธีการทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีแทนพหุภาคีนั้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากระบบทวิภาคีที่ซับซ้อนยุ่งยาก ไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่สหรัฐฯ จะได้มาจากการเจรจาเป็นรายประเทศ ส่วนเครือข่ายพันธมิตรคือสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นมหาอำนาจโลก ทำให้สหรัฐฯ มีฐานะเหนือกว่าประเทศคู่แข่งระดับภูมิภาคอื่นๆ เช่น เหนือกว่าจีนในทะเลจีนใต้ หรืออิหร่านในตะวันออกกลาง หากทรัมป์ไม่ยอมรับฟังความเห็นนี้ พันธมิตรของสหรัฐฯ ก็ต้องเตรียมตัวรับมือกับโลกที่ไม่มีอเมริกาเป็นผู้นำ โดยพยายามประคับประคองความอยู่รอดขององค์กรระหว่างประเทศ

ภาพหน้าปกที่อื้อฉาว

thaipublica-cover_08-02-2560

ส่วนภาพหน้าปกของนิตยสารรายสัปดาห์เยอรมันชื่อ Der Spiegel ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากในเรื่องความเหมาะสม เพราะเป็นภาพวาดรูปโดนัลด์ ทรัมป์ ถือดาบที่ตัดหัวเทพีเสรีภาพ Der Spiegel ต้องการจะสื่อความหมายว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นดินแดนของผู้อพยพอีกต่อไปแล้ว แต่หนังสือพิมพ์เยอรมันเองหลายฉบับมีความเห็นว่าเป็นภาพหน้าปกที่ไม่เหมาะสม เป็นการง่ายเกินไปที่จะเปรียบเทียบการกระทำของทรัมป์ว่าเหมือนกับการตัดหัวนักข่าวของกลุ่มก่อการร้าย ISIS การสร้างภาพลักษณ์ของทรัมป์ดังกล่าว ยิ่งไปสอดคล้องกับข้อกล่าวหาของทรัมป์ที่ว่า พวกหนังสือพิมพ์กระแสหลักมักรายงานข่าวที่บิดเบือนต่อเขา

Der Spiegel ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาที่วิจารณ์นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ สไตล์การบริหารของทรัมป์ เช่น คำสั่งฝ่ายบริหาร การแต่งตั้งคนทำงาน และการปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้สร้างความแตกแยกในสหรัฐฯ และต่อโลก จะเข้าใจนโยบายของทรัมป์ที่สร้างความแตกแยกทั่วโลก เช่น ความคิดที่ต้องการบ่อนทำลาย “ระบบถ่วงดุลอำนาจ” ระหว่างประเทศ ก็ต้องเข้าใจแนวคิดของคนทำงานที่อยู่วงในของทรัมป์

สตีฟ แบนนอน ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของทรัมป์ ตามปกติแล้ว คนที่ตำรงตำแหน่งนี้จะคอยติดตามการสำรวจคะแนนนิยมของประธานาธิบดี แต่ทรัมป์แต่งตั้งให้แบนนอนเป็นสมาชิกประจำ ใน “คณะกรรมการหลัก” สภาความมั่นคงของสหรัฐฯ ขณะที่หัวหน้าคณะเสนาธิการร่วมทหารของสหรัฐฯ หรือหัวหน้าหน่วยข่าวกรองแห่งชาติเข้าประชุมได้ตามวาระที่เกี่ยวข้องเท่านั้น นอกจากจะพิจารณานโยบายเรื่องความมั่นคงต่างๆของสหรัฐฯ สภาความมั่นคงฯ ยังพิจารณาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงคราม หรือสันติภาพในโลกอีกด้วย

แบนนอนเคยเป็นเจ้าของเว็บไซต์ข่าวที่มีแนวคิดชาตินิยมขาวจัดชื่อ Breitbartเว็บไซต์ข่าวที่ต้องการเป็นทางเลือกที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก เมื่อปีที่แล้ว เขาเคยพูดว่า ภัยคุกคามใหญ่สุดต่อสหรัฐฯ คือจีนกับอิสลาม “เราคงจะเข้าสู่สงครามในทะเลจีนใต้ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า” ทัศนะดังกล่าว บวกกับการเป็นที่ปรึกษาที่มีอิทธิพลมากสุดของทรัมป์ ทำให้เกิดความวิตกกันว่าจะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แบนนอนเคยกล่าวอีกว่า “คุณได้เห็นพวกอิสลามที่กำลังขยายอำนาจ และจีนที่กำลังขยายอำนาจ คนกลุ่มนี้มีความมุ่งมั่น เย่อหยิ่ง และกำลังเดินรุดไปข้างหน้า คนพวกนี้คิดว่าตะวันตกที่มีวัฒนธรรมแบบคริสเตียน-ยิวกำลังเป็นฝ่ายถอย”

ถึงเวลาที่โลกต้องปกป้องตัวเอง

Der Spiegel กล่าวว่า สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จของศตวรรษที่ 20 คือ ระบบองค์กรระหว่างประเทศและการค้าเสรี โลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ประเทศเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ได้เอง องค์กรระหว่างประเทศล้วนตั้งขึ้นมาเพื่อเหตุผลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติ องค์การค้าโลก ข้อตกลงระหว่างรัฐเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ องค์กร NATO และกลุ่ม EU แต่สตีฟ แบนนอน มีความคิดที่ต้องการทำลายสิ่งนี้ลงไป ส่วนทรัมป์เป็นคนดำเนินการในสิ่งที่เป็นเป้าหมายของแบนนอน หรือไม่ก็เห็นพ้องด้วย

Der Spiegel เสนอให้เยอรมันลุกขึ้นมาคัดค้านโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ แม้จะเป็นงานที่ยากลำบาก เพราะ ประการแรก สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีบุญคุณทำให้เยอรมันมีประชาธิปไตยเสรี และประการที่สอง ไม่มีใครรู้ว่าทรัมป์จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไรหากถูกกดดันทางการทูต แต่หากรวมตัวกับประเทศในเอเชียและประเทศในยุโรปอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะสำเร็จ

เมื่อบารัก โอบามา ยังอยู่ในทำเนียบขาว ได้พยายามทุกอย่างที่จะทำให้คนมุสลิม 1.4 พันล้านคน ไม่หันเหไปทางก่อการร้าย ไม่ต้องการให้อเมริกาอยู่โดดเดี่ยว ผลักดันให้มีข้อตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ให้ความเคารพต่อกลุ่ม EU และในงานเลี้ยงอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โอบามาได้บอกกับนายกรัฐมนตรีเยอรมัน อังเกลา แมร์เคิล ให้นางขึ้นมาแสดงบทบาทนำของประเทศโลกเสรี เหตุการณ์ที่ว่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ถึงเดือนที่ผ่านมา แต่ภายใน 2 สัปดาห์ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจนหมด