ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลอาญาประทับคดี“ซุปเปอร์ซาร่า”ฟ้องอธิบดีกรมศุลฯและพวก 7 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ – “เบสท์ริน” โชว์ Form-D รับรองรถเมล์ผลิตมาเลฯ

ศาลอาญาประทับคดี“ซุปเปอร์ซาร่า”ฟ้องอธิบดีกรมศุลฯและพวก 7 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ – “เบสท์ริน” โชว์ Form-D รับรองรถเมล์ผลิตมาเลฯ

11 กุมภาพันธ์ 2017


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 นายคณิสสร์ ศรีวชิระปะภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นายชนิด ศุทธยาลัย ที่ปรึกษากฎหมาย อดีตข้าราชการ สำนักกฎหมายกรมศุลกากร  และนายปัญญ์ เกษมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศุลกากร แถลงข่าว “เปิดโปงเบื้องหลังมหากาพย์ รถเมล์ NGV ขสมก.”
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 นายคณิสสร์ ศรีวชิระปะภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด นายชนิด ศุทธยาลัย ที่ปรึกษากฎหมาย อดีตข้าราชการ สำนักกฎหมายกรมศุลกากร และนายปัญญ์ เกษมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศุลกากร แถลงข่าว “เปิดโปงเบื้องหลังมหากาพย์ รถเมล์ NGV ขสมก.”

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 13.30 น. นายคณิสสร์ ศรีวชิระปะภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด พร้อมกับนายชนิด ศุทธยาลัย ที่ปรึกษากฎหมาย อดีตข้าราชการ สำนักกฎหมายกรมศุลกากร และนายปัญญ์ เกษมทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายศุลกากรแถลงข่าว เปิดเบื้องหลัง มหากาพย์ รถเมล์ NGV ขสมก. โดยแสดงหลักฐานยืนยันหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ผลิตในมาเลเซีย ไม่ได้ผลิตในจีนตามข้อกล่าวหา รวมทั้งข้อความเจ้าหน้าที่ศุลกากรลงบันทึกเพิ่มเติมในใบขนสินค้าขาเข้า

ในวันเดียวกันศาลอาญาจังหวัดพัทยารับคำฟ้องคดีอาญา กรณีบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเจ้าหน้ากรมศุลกากร 7 คน เป็นจำเลย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประกอบด้วย 1. นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร 2. นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร 3. นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง 4. นายธีระชาติ อินทริง นักวิชาการศุลกากรชำนาญการศุลกากร 5, นายวิฑูรย์ อาจารียวุฒิ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ สังกัดฝ่ายสืบสวนและปราบปราม 6. นายยงยุทธ ทองสุข นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และ 7. นายปิติณัช ศรีธรา หัวหน้าฝ่ายควบคุมทางศุลกากร โดยศาลจะนัดไต่สวนคดีในวันที่ 24 เมษายน 2560

นายคณิสสร์ กล่าวว่า “จากข้อสงสัยของกรมศุลกากรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนกรุงเทพต้องอดทนรอ และนั่งรถเมล์ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยเจ้าคุณปู่มาจีบเจ้าคุณย่า และไม่รู้ต้องอดทนรออย่างนี้ไปนานแค่ไหน วันนี้จึงนำพยานหลักฐานต่างๆมากชี้แจงประเด็นข้อสงสัยที่ว่ารถเมล์เอ็นจีวีทั้ง 489 คัน มีถิ่นกำเนิดจากประเทศใด”

นายคณิสสร์ ชี้แจงว่าที่ผ่านมาบริษัทผู้นำเข้ายืนยันมาตลอดว่าได้สั่งซื้อรถเมล์จำนวนดังกล่าวมากจากประเทศมาเลเซีย โดยข้อเท็จจริงนั้นบริษัทผู้นำเข้าได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวกับผู้ประกอบการที่ประเทศมาเลเซีย และได้รับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือ “Form D” จากผู้ขาย ซึ่งเอกสารดังกล่าวนี้ออกโดยกระทรวงการค้าและอุสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย และที่สำคัญเอกสารฉบับนี้ยังผ่านการรับรองความถูกต้องจากกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียด้วย กล่าวคือมีหน่วยงานมาเลเซียรับรองความถูกต้องถึง 3 แห่ง

บริษัทผู้นำเข้า (บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด) จึงปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวไปแล้ว เพราะสินค้าจำนวนนี้ บริษัทผู้นำเข้าไม่เคยติดต่อซื้อ-ขายกับผู้ประกอบการในจีนแต่อย่างใด และที่สำคัญบริษัทผู้นำเข้าไม่มีมูลเหตุต้องหลีกเลี่ยงภาษีอากร เนื่องจากบริษัทผู้นำเข้าต้องเสียภาษีอัตรา 40% คิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 580 ล้านบาท อีกทั้งการประมูลรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 600 ล้านบาท เพราะมีความมั่นใจว่าบริษัทไม่มีภาระภาษี หากต้องเสียภาษีให้กับรัฐ บริษัทก็ต้องรับผิดชอบเอง โดยไม่เรียกเก็บเงินจากขสมก.ได้

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า การประมูลในครั้งที่แล้วมีบริษัทอื่นชนะการประมูลด้วยราคา 4,000 ล้านบาท ต่อมา ขสมก.สั่งยกเลิกการประมูล เนื่องจากมีคณะกรรมการคุณธรรมลาออก 2 ราย ทำให้การประมูลงานครั้งถัดมามีราคาอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท บริษัทเบสท์ริน ชนะการประมูลด้วยราคา 3,400 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 600 ล้านบาท ช่วยให้รัฐบาลประยัดเงินมหาศาล ผู้ชนะการประมูลแทบจะไม่มีกำไรเลย หลังจากกรมศุลกากรแจ้งข้อกล่าวหาบริษัท จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การส่งมอบรถเมล์ครั้งนี้เต็มไปด้วยอุปสรรค จนนำไปสู่ความเสี่ยงในการยกเลิกสัญญาจากขสมก.

เอกสาร FORM D
เอกสาร FORM D-2

การนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีครั้งนี้ บริษัทผู้นำเข้าได้ยื่น Form D ประกอบการผ่านพิธีการศุลกากรภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ATIGA) แต่กลับถูกกรมศุลกากรแจ้งข้อกล่าวหาทำผิดตามพ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27และมาตรา 99 ฐานหลีกเลี่ยงอากร

กรณีตั้งข้อกล่าวหาบริษัทผู้นำเข้ามีความผิดฐานสำแดงประเทศแหล่งกำเนิดของสอนค้าเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 ทางบริษัทผู้นำเข้ามาข้อสงสัย คือมาตรา 3,4,5 ครอบคลุมเฉพาะสินค้าหัตถกรรม แต่ในการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ปรากฏคำบรรยายว่ารถยนต์ถือเป็นหัตถกรรมแต่อย่างใด ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ศุลกากรบางกลุ่มเจตนาเพื่อให้บริษัทผู้นำเข้า ยอมยกของที่นำเข้าให้เป็นของแผ่นดิน เพื่อแลกกับการระงับคดีใช่หรือไม่

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า กรมศุลกากรได้สอบถาม หรือตรวจสอบกับมาเลเซียในฐานะผู้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือไม่ หากยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่าสำแดงประเทศถิ่นเนิดของสินค้าเป็นเท็จ เกรงว่าอาจเป็นการกล่าวหาโดยขาดองค์ประกอบความผิดและขัดกับมาตรา 2 วรรคที่ 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่บัญญัติไว้ว่า “โทษที่จะลงกับผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” ซึ่งประเด็นนี้ บริษัทผู้นำเข้าจะดำเนินการฟ้องศาลภายหลัง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวถามว่าภาพถ่ายรถเมล์สำเร็จรูปขับจากเรือลงมาจอดที่ท่าเรือมาเลเซีย ถือเป็นหลักฐานยืนยันได้หรือไม่ว่าเป็นรถเมล์ผลิตในจีน นายชนิด ตอบว่า ข้อสังเกตในใบตราส่งสินค้าทางทะเล (Bill of lading) ไม่ได้ระบุ ใครเป็นผู้รับสินค้า หรือเป็นของใคร ยังไม่ชัดเจน เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเช่นนี้ กรมศุลกากรต้องทำหนังสือสอบถามมาเลเซียว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เรื่องนี้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เอาภาพถ่ายมาสอบถามบริษัทผู้นำเข้าก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร สิ่งที่กรมศุลกากรต้องทำคือ 1. ทำหนังสือสอบถามทางมาเลเซีย 2.ขอให้มาเลเซียตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง และ 3.ตรวจสอบโรงงานผู้ผลิต

thaipublica_5880

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ผู้นำเข้าสามารถนำหลักฐานภาพถ่ายการนำเข้าอะไหล่ชิ้นส่วนและภาพรถเมล์ 489 คัน ประกอบในโรงงานมาเลเซีย หรือ ขอสำเนาใบเสร็จจากโรงงานผู้ผลิตว่าได้สั่งซื้ออะไหล่ชิ้นในอาเซียนสัดส่วนเกิน 40% มายืนยันต่อกรมศุลกากรได้หรือไม่

นายชนิด ตอบว่า “ตามข้อตกลงของอาเซียน ต้องใช้อะไหล่ชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนไม่ต่ำกว่า 40% ไม่ใช่ใช้ที่มาเลเซียเท่านั้น หากกรมศุลกากรสงสัย ต้องทำหนังสือสอบถามมาเลเซีย ไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำเข้า และในกรณีประเทศผู้นำเข้ามีข้อสงสัยเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าต้องทำหนังสือสอบถามภายใน 60 วัน และประเทศผู้ส่งออกต้องตอบภายใน 30 วัน ตอนนี้ไม่รู้กรมศุลกากรสอบถามมาเลเซีย และได้รับคำตอบหรือยัง ตอนนี้มีเฉพาะหลักฐานภาพถ่าย ควรต้องส่งภาพไปสอบถามมาเลเซียด้วย กรมศุลกากรมาถามผู้นำเข้า ผู้นำเข้าจะตอบได้อย่างไร”

นายคณิสสร์ กล่าวเสริมว่า หลักในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามี 2 ข้อ คือ 1. ออกโดยประเทศผู้ส่งออกสุดท้าย และ 2. ต้องมีสัดส่วนการใช้อะไหล่ชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 40% ขอถามว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่นำมาแสดง ระบุว่าใช้วัตถุดิบมากกว่า 40% หรือไม่ หากตรงตามหลักเกณฑ์ 2 ข้อนี้ ก็ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ ส่วนข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร กรมศุลกากรมีหน้าที่ต้องสอบถามหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า

“กรมศุลกากรยืนอยู่จุดเดียว มองไม่เห็นภาพทั้งหมด กรมศุลกากรไม่รู้ด้วยซ้ำ ก่อนที่รถคันนี้วิ่งมาจากจีนเข้ามาเลเซีย ทำอย่างไรบ้าง มันอาจจะส่งชิ้นส่วนจากมาเลเซียไปจีนก็ได้ หรืออาจส่งแชสซี หรือรถสำเร็จรูปเข้าไปก็ได้ แต่คนที่จะคำตอบไม่ใช่ผม ต้องเป็นคนที่ตั้งข้อสงสัยเท่านั้นที่จะไปสืบหาข้อเท็จจริง” นายคณิสสร์ กล่าว

นายคณิสสร์ กล่าวต่อว่า หากกรมศุลกากรมีความเห็นว่าผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี ไม่ได้รับสิทธิลดอัตราอากรดังกล่าว กรมศุลกากรต้องปฏิบัติตามภาคผนวก 1 ว่าด้วยระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังตามกฎข้อ 18 หรือร่วมตรวจสอบกับประเทศสมาชิกผู้ส่งออก ตามกฎข้อ 19 หรือ หากมีข้อสงสัยว่ามีการกระทำอันฉ้อฉลที่เกี่ยวข้องกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 24 และหน่วยงานผู้มีอำนาจออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด อาจเพิกถอนสิทธิ์เมื่อใดก็ได้ ตามกฎข้อ 12 D และที่สำคัญ การถอนสิทธิ์ต้องแจ้งเลขาธิการอาเซียนทันที ถ้าไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมตกลงกันไว้ อาจก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างประเทศ ทั้งนี้กรมศุลกากรต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในภาคผนวก 1 ระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้ลงนามรับรองร่วมกันไว้ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิ์ รวมถึงการตรวจสอการใช้สิทธิ์ในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน

“กรมศุลกากรไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์ แต่มีหน้าที่ตรวจสอบ สอบทานการใช้สิทธิ์ที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่สมาชิกอาเซียนได้ตกลงร่วมมือกันไว้ ส่วนการเพิกถอนสิทธิ์ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งในที่นี้คือ “MITI” ของมาเลเซียน ไม่ใช่กรมศุลกากรไทย หรือกรมศุลกากรมาเลเซียแต่อย่างใด แต่ตามที่ปรากฏเป็นข่าว กลับไม่สอบถามหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของมาเลเซียแต่อย่างใด มีเฉพาะข่าวเจ้าหน้าที่ได้มีการสืบสวนในทางลับ และมีข้อสงสัยว่าสินค้ามาจากจีน หรืออาจมีการสอบถามไปแล้วได้คำตอบไม่ถูกใจ จึงไม่มีการเปิดเผยเรื่องนี้ ปล่อยค้างคามานานกว่า 2 เดือนแล้ว” นายคณิสสร์ กล่าว

นายคณิสสร์ กล่าวว่าที่ผ่านมากรมศุลกากรมีการแจ้งข้อกล่าวหาบริษัทผู้นำเข้า โดยใช้คำว่า “เชื่อว่า จึงกล่าวหาว่า” แสดงให้เห็นกรมศุลกากรยังไม่มั่นใจในตัวหลักฐานที่มี จึงใช้คำว่า “เชื่อว่า” นอกจากนี้กรมศุลกากรได้ทำหนังสือถึงขสมก.เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 ระบุว่า “อยู่ระหว่างดำเนินการสอบถามข้อเท็จจริงของประเทศกำเนิด” แต่ปรากฏตามข่าววันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 โดยผู้อำนวยการ สำนักบริหารกลางกรมศุลกากร แถลงว่า “ที่ผ่านมาได้ตอบจดหมาย ขสมก.ไป 1 ฉบับ ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการยกเลิกสัญญาแล้ว” พยายามชี้นำให้ ขสมก. เกิดการยกเลิกสัญญากับบริษัท หรือไม่ ทั้งๆที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเลย

thaipublica_5884

ประธานบริษัทเบสท์ริน กล่าวว่า สิ่งที่บริษัทคาดไม่ถึง คือ ได้ตรวจพบการต่อเติม แก้ไขข้อความใน Remark ของเอกสารใบขนสินค้า หรือเรียกได้ว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร ทางบริษัทผู้นำเข้าจึงได้แจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อสืบสวนหาเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวเรียกร้อยแล้ว และทราบมาว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้เดินทางไปให้ปากคำตำรวจ และยอมรับว่าเป็นคนลงข้อความในใบขนสินค้าขาเข้าจริง เป็นเอกสารที่บริษัทได้สำแดงรายการพร้อมรายละเอียดต่างๆ และได้ลงนามรับรองความถูกต้องของข้อความ ซึ่งข้อความนั้นมีผลผูกพันทางกฎหมายกับบริษัททั้งแพ่งและอาญา ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถบันทึกการตรวจสอบความเห็นต่างๆ เพิ่มเติมในใบขนที่มีช่องสำหรับให้เจ้าหน้าที่บันทึกในด้านหลังของใบขนสินค้ามากมายหลายแห่ง ที่สำคัญเมื่อเจ้าหน้าที่พิมพ์เพิ่มข้อความใดๆในใบขนสินค้า ชอบที่จะลงนามชื่อผู้พิมพ์พร้อมวันเวลาที่พิมพ์ไว้ด้วย แต่เจ้าหน้าที่กลับมาพิมพ์เพิ่มต่อจากข้อความที่บริษัทรับรองไว้ และไม่ได้มีการลงนามว่าผู้ใดเป็นผู้พิมพ์ หรือ ใครเป็นผู้สั่งพิมพ์เพิ่มข้อความดังกล่าว และไม่มีการลงลามมือชื่อผู้พิมพ์ข้อความดังกล่าว รวมถึงวันเวลาที่ได้พิมพ์ข้อความดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

นายคณิสสร์ กล่าวว่า ที่สำคัญการปลอมแปลงเอกสารดังกล่าวได้เกิดขึ้นถึง 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการนำข้อความที่พิมพ์ออกเผยแพร่ต่อสื่อในรูปแบบต่างๆ ถามว่าใครที่มีเอกสารตัวนี้บ้าง จนประชาชนทั่วไปเห็นและเข้าใจว่าบริษัทเป็นผู้รับรอง และยอมรับข้อความในหมายเหตุ ทั้งหมด และเข้าใจว่าบริษัทบอมรับรถเมล์เอ็นจีวีมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน ตามที่กรมศุลกากรได้กล่าวหาบริษัท และทำให้ขสมก.ไม่ยอมรับมอบรถเมล์ ทางบริษัทจึงมีข้อสงสัยเหตุใดถึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องลงทุนทำขนาดนี้ และเหตุใดจึงพยายามยัดข้อหา เช่น พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 ด้วย แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ทางบริษัทก็ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์นี้ไปแล้ว ทำให้ประชาชนผู้อ่านข่าวเข้าใจผิด และตกเป็นจำเลยของสังคม ที่สำคัญทำให้ขสมก.ไม่กล้าตรวจรับรถด้วย ในชั้นนี้บริษัทจึงได้ดำเนินการฟ้องศาล เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และลงโทษผู้กระทำผิดด้วย และในขณะนี้ศาลอาญาได้ประทับรับฟ้องเจ้าหน้าที่ศุลกากรฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว โดยศาลนัดไต่สวนคดีวันที่ 24 เมษายน 2560

บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ร้านอาหารเพลิน ถนนวิภาวดีรังสิต
บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป แถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ร้านอาหารเพลิน ถนนวิภาวดีรังสิต