ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ซุปเปอร์ซาร่า” ฝันสลาย ศาลจังหวัดพัทยายกเลิกคำสั่งให้กรมศุลฯ ปล่อยรถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน

“ซุปเปอร์ซาร่า” ฝันสลาย ศาลจังหวัดพัทยายกเลิกคำสั่งให้กรมศุลฯ ปล่อยรถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน

28 กุมภาพันธ์ 2017


เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 13.00 น. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ส่งตัวแทนติดต่อศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ขอนำรถเมล์เอ็นจีวีล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน  ผ่านพิธีการศุลกากร
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 เวลา 13.00 น. บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ส่งตัวแทนติดต่อศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ขอนำรถเมล์เอ็นจีวี ล็อตที่ 2 จำนวน 291 คัน ผ่านพิธีการศุลกากร

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ได้ออกเอกสารข่าว โดยปรากฏเป็นข่าวว่า “ซุปเปอร์ซาร่า” ระบุศาลพัทยาสั่งกรมศุลฯ ปล่อยรถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน จ่ายภาษีอัตรา 40% เว้นค่าปรับ 2 เท่า อธิบดีกรมศุลฯ เผยยังไม่ได้รับคำสั่ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่าทางกรมศูลกากร(จำเลยทั้งหก)ยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวข้างต้นและเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องของบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ซึ่งหลังจากไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยทั้งหกแล้ว ศาลจังหวัดพัทยาจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของโจทก์ และคืนเงินประกันความเสียหายที่โจทก์วางไว้ต่อศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์

โฆษกศาลยุติธรรมกล่าวต่อไปอีกว่า การยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาเป็นการใช้สิทธิตามปกติของคู่ความ ซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยศาลจะกำหนดวันนัดไต่สวนและส่งสำเนาคำร้องให้คู่ความอีกฝ่ายเพื่อโต้แย้งคัดค้าน แต่หากมีกรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉิน โจทก์สามารถยื่นคำขอตามมาตรา 266 ให้ศาลทำการไต่สวนเพื่อคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาตามมาตรา 254 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้าก็ได้ ซึ่งหากศาลเห็นว่าคดีนั้นเป็นคดีมีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริง ก็ให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขตามที่เห็นจำเป็นทันที ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 267 วรรคหนึ่ง และหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว จำเลยอาจยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นได้เช่นกัน ตามมาตรา 267 วรรคสอง โดยคำสั่งดังกล่าวของศาลทั้งสอง กรณีจะเป็นที่สุด ไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา 254 นั้นใหม่

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวมาจากกรณีที่กรมศุลกากรยึดรถเมล์โดยสารปรับอากาศ เอ็นจีวี ที่ถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรไว้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง นั้น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 99 คัน ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมศุลกากร กับข้าราชการของกรมศุลกากร รวม 6 คน เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพัทยาในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.170/2560 เพื่อขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งหกปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมดออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยโจทก์ยินยอมชำระเงินประกันภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่ารถเมล์เอ็นจีวี แต่ไม่ต้องชำระค่าปรับ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรถยนต์แต่ละคัน

นอกจากนี้ ยังให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 17,512,654.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายในอัตราวันละ 198,000 บาท (วันละ 2,000 บาทต่อคัน) นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีที่ยึดหน่วงไว้ และในวันเดียวกัน โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

หลังจากที่ศาลทำการไต่สวนพยานโจทก์แล้วมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า ให้จำเลยทั้งหกร่วมกัน หรือแทนกัน ปล่อยเมล์เอ็นจีวีจำนวน 98 คัน ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง โดยให้ยึดหน่วงไว้ได้ 1 คัน เพื่อตรวจสอบ โดยโจทก์ต้องวางเงินประกันภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่ารถเมล์เอ็นจีวีแต่ละคัน และไม่ต้องชำระค่าปรับ และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันออกหนังสือรับรองการจดทะเบียนรถยนต์แต่ละคัน โดยให้โจทก์วางเงินประกันความเสียหายต่อศาล 500,000 บาท