ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจปี’60 เครื่องยนต์ติดเกือบทุกเครื่อง – อีไอซีหวั่นปัจจัยภายนอกป่วนส่งออก

สภาพัฒน์เผยเศรษฐกิจปี’60 เครื่องยนต์ติดเกือบทุกเครื่อง – อีไอซีหวั่นปัจจัยภายนอกป่วนส่งออก

20 กุมภาพันธ์ 2017


ดร.ปรเมธี วิมลศิริ (กลาง) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ (กลาง) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2559 และไตรมาส 4 ของปี 2559 ว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3.2% และ 3% ตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ของปี 2559 ที่เติบโตถึง 3.4% เพิ่มขึ้นจาก 0.4% ในไตรมาสก่อนหน้าและทำให้ในปี 2559 ทั้งปีส่งออกกลับมาโตที่ 0% หลังจากที่ติดลบมาตลอด 3 ปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในโลกที่การส่งออกกลับมาฟื้นตัวกันเป็นส่วนมาก ยกเว้นจีนที่ยังติดลบอยู่ และส่งผลให้การลงทุนของเอกชนพลิกกลับมาเป็นบวก 0.4% ในปี 2559 จากหดตัว -2.2% ในปี 2558

ในรายละเอียด การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งส่วนราคาและปริมาณ โดยดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจาก -2.3% ในปี 2558 เป็น -0.1% ในปี 2559 และปริมาณเพิ่มขึ้นจาก -3.4% เป็น 0.1% โดยในรายไตรมาสดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจาก 0.8% ในไตรมาส 3 ของปี 2559 ก่อนจะเพิ่มเป็น 2% ในไตรมาสถัดไป เช่นเดียวกับปริมาณที่เพิ่มขึ้นจาก -0.3% เป็น 1.6% ส่งผลให้สภาพัฒน์ปรับขึ้นประมาณการส่งออกจาก 2.4% เดือนพฤศจิกายน 2559 เป็น 2.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขณะที่ประมาณการลงทุนเอกชน สภาพัฒน์ปรับลดลงเล็กน้อยจาก 2.8% เป็น 2.5% เนื่องจากการฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปียังไม่ถือว่าแรงมากนัก

ส่วนนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและส่งออกของไทย ดร.ปรเมธีกล่าวว่ายังเป็นความเสี่ยงที่สมดุลและยังต้องติดตามต่อไป โดยด้านหนึ่งนั้นการฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา การเร่งรัดลงทุนภายในประเทศ และการลดภาษีเงินได้ในประเทศ จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้าโลก ขณะที่อีกขาหนึ่ง การออกนโยบายกีดกันการค้าอาจจะส่งผลลบ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนมากนักและยังไม่รวมอยู่ในสมมติฐานหลักของสภาพัฒน์

“ตอนนี้วัฏจักรเปลี่ยนไปจากช่วงปี 2551 ที่เกิดวิกฤตการเงินโลก ตอนนั้นเผชิญกับทั้งการเติบโตต่ำ เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ แต่ช่วงปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อเริ่มเพิ่ม ดอกเบี้ยก็เริ่มเพิ่มตามการขึ้นของสหรัฐฯ รวมถึงการเติบโตที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งช่วงข้างหน้าก็คาดว่าจะเป็นไปในแนวนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น จากเดิมที่มาจากการท่องเที่ยว ภาครัฐ ท่องเที่ยว ภาครัฐ ตอนนี้เราเห็นการส่งออกฟื้นขึ้นมาแรง ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่สูง จะช่วยเพิ่มการใช้กำลังการผลิตของเอกชน และทำให้การลงทุนของเอกชนขยับขึ้นได้ ซึ่งยังคงต้องรอให้ออกแรงสักหน่อย แต่โดยรวมเรียกว่าเครื่องยนต์กลับมาติดเกือบหมดแล้ว คาดว่าปีหน้าจะเติบโตได้ 3-4%” ดร.ปรเมธีกล่าว

สำหรับการบริโภคของเอกชน ดร.ปรเมธีกล่าวว่ายังฟื้นตัวต่อเนื่องจาก 2.2% ในปี 2558 เป็น 3.2% ในปี 2559 ซึ่งกลับมาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาษีสำหรับการท่องเที่ยว อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น 9.1% ถือเป็นการเพิ่ม 3 ไตรมาสติดต่อกัน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตการเกษตรและราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.6% และ 4% ตามลำดับ

ด้านรายจ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวยังถือเป็นแรงหนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตของการใช้จ่ายภาครัฐลดลงจาก 3% ในปี 2558 เป็น 1.6% ส่วนการลงทุนของภาครัฐลดลงจาก 29.3% เป็น 9.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ค่อนข้างสูงในปีที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 ภาครัฐเบิกจากได้ 32.1% สูงกว่าเป้าหมายที่ 30% เช่นเดียวกันกับการท่องเที่ยว รายรับจากนักท่องเที่ยวหดตัวลดเล็กน้อยจาก 24.2% ในปี 2558 เป็น 12.6% ในปี 2559 ซึ่งเป็นผลมาจากข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทำให้นักท่องเที่ยวอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ รวมไปถึงการจัดระเบียบทัวร์ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ดร.ปรเมธีกล่าวว่า ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยก็มีเครื่องยนต์อื่นๆ เข้ามาช่วย การแผ่วลงดังกล่าวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก ขณะที่การท่องเที่ยว คาดว่าในอนาคตเมื่อนักท่องเที่ยวปรับตัวได้ก็จะกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง

ทั้งนี้ ในปี 2560 ภาครัฐคาดว่าจะเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป โดยจะมีเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบตาม 1) การดำเนินการตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้ว 4 โครงการ วงเงินรวม 45,472 ล้านบาท มีโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 1 โครงการ วงเงินรวม 131,004 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ในระหว่างการประกวดราคาอีก 11 โครงการ วงเงินรวม 532,651 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างและเบิกจ่ายในปี 2560 นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการนำสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) อีก 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 247,201 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ในช่วงของการเจรจาและเตรียมการอีก 2 โครงการ

2) โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 อีก 36 โครงการ วงเงินรวม 895,757 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 54,800 ล้านบาท และเริ่มประกวดราคาอีก 15 โครงการ วงเงิน 468,565 ล้านบาท

3) การดำเนินการโครงการเร่งด่วน ภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (2560-2564) หรือ EEC 48 โครงการ วงเงินรวม 6,992.67 ล้านบาท

สำหรับภาคการเงินที่มีการเติบโตของสินเชื่อต่ำที่สุดในรอบหลายปี สวนทางการกับฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ดร.ปรเมธีกล่าวว่า ยอดการขอสินเชื่อมักจะตามภาวะเศรษฐกิจอยู่ระยะหนึ่ง ดังนั้น ในปัจจุบันหากสัญญาณเศรษฐกิจดีขึ้น การส่งออก การลงทุนภาครัฐดีขึ้นไปสักพัก และทำให้การใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เอกชนอาจจะเริ่มขอวงเงินสินเชื่อมากขึ้น เพื่อนำไปดำเนินกิจการ รวมไปถึงขยายกำลังการผลิต

สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดร.ปรเมธีกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ นอกจากนโยบายของสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น

    1) แนวโน้มผลการเจรจาและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2560 ภายหลังรัฐสภาอังกฤษมีมติอนุมัติการใช้อำนาจตามมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอนฉบับปี 2552 ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

    2) เงื่อนไขทางการเมืองและการเลือกตั้งของประเทศสำคัญๆ ในสหภาพยุโรป เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งพรรคการเมืองที่ต่อต้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและสนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปจะมีคะแนนนิยมมากขึ้น และผลการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาภาคการเงิน การปฏิรูปเศรษฐกิจ และความเป็นเอกภาพของกลุ่มประเทศยูโรโซน

    3) ความคืบหน้าของการเจรจาในการแก้ไขปัญหาของกรีซ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือ ทางการเงินต่อกรีซในระยะต่อไป ระหว่างยูโรโซน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และรัฐบาลกรีซ

    4) ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป

    5) ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะ การไหลออกของเงินทุนท่ามกลางการคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินหยวนและการลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้สะสมภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

รายละเอียดเพิ่มเติม

EIC_Infographic_THA_GDP4q2016

อีไอซีคาดปี’60 โต 3.3 %

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าแม้การเติบโตในไตรมาส 4/2559 จะต่ำที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา แต่อีไอซียังคงมุมมองการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ไว้ที่ 3.3% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวจากผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว และจะเริ่มขยายตัวดีขึ้นเป็นลำดับจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวและแรงหนุนของการใช้จ่ายในประเทศ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมกลับมาขยายตัวได้ที่ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการบริโภคภาคเอกชนก็มีโอกาสเติบโตต่อจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ส่งออกและเกษตรกรตามการส่งออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ฟื้นตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559

การเติบโตในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยจะมีแรงส่งจากกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น หลังครัวเรือนบางส่วนหมดภาระการผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรกซึ่งจะเห็นผลชัดในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังคงมีแนวโน้มอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยบวกใหม่อย่างงบกลางปี 2560 มูลค่า 1.9 แสนล้านบาทที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจราว 1.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 1.3% ของ GDP ณ ราคาปัจจุบัน ผ่านการลงทุนในโครงการขนาดเล็กในต่างจังหวัดทั่วประเทศ อีไอซีมองว่าการเพิ่มเข้ามาของงบกลางฯ ซึ่งคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง จะช่วยผลักดันอัตราการเติบโตให้สูงกว่าที่คาดได้

ทั้งนี้ยังมองว่าปี 2560 ยังคงเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากภายนอกที่อาจทำให้การส่งออกเติบโตได้ต่ำกว่าคาด ทั้งจากนโยบายกีดกันทางการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หากถูกนำมาใช้จริงกับจีนอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยอาจสะดุดลง เนื่องจากไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของสินค้าส่งออกจากจีนไปสหรัฐฯ โดยสินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปจีนมีสัดส่วนกว่า 43% ของการส่งออกไปจีนทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนเองก็ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวและยังมีปัญหาด้านเสถียรภาพในภาคการเงิน แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่ารัฐบาลจีนจะควบคุมปัญหาไว้ได้ แต่ความเป็นไปได้ของกรณีเลวร้ายยังไม่เป็นศูนย์ นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปที่มีทั้งการเจรจาข้อตกลง Brexit และการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี แม้ที่ผ่านมา Brexit จะยังไม่ส่งผลกับไทยโดยตรง แต่หากความเป็นสหภาพยุโรปแตกร้าวเพิ่มเติมในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงย่อมนำไปสู่การสูญเสียความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาด้วยความผันผวนระดับสูงในตลาดการเงินโลกอย่างฉับพลัน และความสามารถในการเติบโตที่ลดลงของเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 3 ของไทย

ทั้งนี้ หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงรายได้ผู้ส่งออก รายได้เกษตรกร การผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการบริโภคในประเทศที่อาจชะลอลงต่ำกว่าที่คาดได้