ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงทำ EHIA โรงไฟฟ้าฯ กระบี่ใหม่ – ยัน ไม่ยกเลิก ม.44 คุมพื้นที่วัดธรรมกาย – ยกเครื่องกม.การบินใหม่ ปลดธงแดง ICAO

นายกฯ แจงทำ EHIA โรงไฟฟ้าฯ กระบี่ใหม่ – ยัน ไม่ยกเลิก ม.44 คุมพื้นที่วัดธรรมกาย – ยกเครื่องกม.การบินใหม่ ปลดธงแดง ICAO

21 กุมภาพันธ์ 2017


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทีมาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ซึ่งประเด็นหลักในการตอบคำถามสื่อมวลชนวันนี้อยู่ที่เรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยนายกรัฐมนตรีได้ชูเอกสารข้อมูลโรงไฟฟ้าถ่านหินนับสิบฉบับพร้อมกล่าวว่า เรื่องทั้งหมดมีหลักการที่ศึกษามา อยากให้กลับไปดูข้อมูลทุกอย่างแล้วพิจารณาให้ดี

แจงทำ EHIA โรงไฟฟ้าฯ ใหม่ – ผลไม่ได้คือไม่ได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินฯ ว่า เรื่องการชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าได้ดำเนินการไปแล้วตามขั้นตอน ที่ผ่านมามีการชะลอเรื่องของการทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) วันนี้ตนได้มอบหมายให้ไปศึกษา ทำความเข้าใจ พร้อมทำ EHIA ใหม่ หากผลออกมาว่าไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้น

“รัฐบาลเองได้มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการระดับสูงเข้ามาดูแลนโยบายและยุทธศาสตร์ เพื่อเข้ามาดูว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศจะเป็นอย่างไร ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม อะไรก็ตามแต่ แล้วจึงมีแผนงานไปยังข้างล่าง แล้วจึงไปทำ EIA หรือ EHIA อีกทีหนึ่ง ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวลว่ารัฐบาลถอยหลัง แต่รัฐบาลชะลอเรื่องไว้มานานแล้ว เพื่อให้มีคณะกรรมการไตรภาคี ที่ผ่านมาหากบอกว่าไม่มีส่วนร่วม วันนี้ก็ไปร่วม หากผลออกมาว่าทำได้ก็ทำได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ก็ต้องไปหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการหาแหล่งพลังงานให้ประเทศ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ในอนาคต แล้วใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลนี้ต้องรับผิดชอบหรือเปล่า เพราะโครงการนี้มีมาตั้งแต่ปี 2550” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า หากเป็นไปตามกระบวนการ โรงไฟฟ้าถ่านหินจะสามารถใช้งานได้ในปี 2565 ซึ่งหากทำใหม่ก็ต้องขยายเวลาออกไปอีก อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ฝั่งอันดามัน  แล้วจะต้องสร้างพื้นที่ไหน จะคุ้มค่าต่อการลงทุนไหม พร้อมมอบเอกสารเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ทีมโฆษกมามอบให้แก่สื่อมวลชน

เอกสารโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นายกรัฐมนตรีมอบให้สื่อมวลชน
เอกสารโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นายกรัฐมนตรีมอบให้สื่อมวลชน

“ผมยินดีที่จะตอบทุกคำตอบ แต่ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าทำได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ขาดไฟฟ้าไป เมื่อมันไม่ได้ก็ไม่ได้ จะไปดันทุรังทำไม แต่ก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผมขอถามง่ายๆ ต้นทุนแก๊สถ้าซื้อไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น ประเทศไทยมีแก๊สเยอะหรือไม่ น้ำมันมีเยอะหรือไม่ วันหน้าถ้าต้องซื้อทั้งแก๊สทั้งน้ำมันจะมีปัญหาไหม เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง ราคาแก๊สสูงขึ้น พลังงานจะเดือดร้อนหรือไม่ รัฐบาลต้องคิดเผื่ออนาคต เช่น รถยนต์ จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าหรือไม่ ต้องพัฒนากันตั้งแต่วันนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไปล้มเลิกรถแก๊ส รถน้ำมันในวันนี้ มันไม่ใช่ แต่เอาไปพันกันหมด วันข้างหน้าถ้าค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ก็ต้องไปบวกค่าไฟฟ้ามาอีก เพราะต้นทุนมันสูงขึ้น เพราะคงไม่มีอะไรได้มาฟรี วันนี้ต้องคิดว่าจะเอาอะไรมาเผาโดยที่ต้นทุนถูก ต้องฟังหลักการของทางราชการด้วย ถ้าคิดเองเออเองมันก็ผิด แล้วทำไม่ได้ใครจะรับ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยกมาเลเซียทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7 แห่งไร้ปัญหา

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทุกภาคส่วนมีเวลาทบทวนตัวเอง ในห้วงเวลาที่ไม่มีความขัดแย้งในขณะนี้ โดยเฉพาะพี่น้องที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับจากคนรอบข้างนั้นถูกต้องแล้วหรือไม่ ในพื้นที่ จ.กระบี่ เคยมีโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในช่วงปี พ.ศ. 2507-2538 หรือไม่ และหากมีจริง โรงไฟฟ้าดังกล่าวมีผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งและแหล่งท่องเที่ยวตามที่เป็นกังวลหรือไม่ พร้อมยกกรณีของประเทศมาเลเซียที่มีโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหิน 7 แห่งตั้งอยู่ติดบริเวณพื้นที่ชายฝั่งตลอดแหลมมลายู ไม่เคยมีการคัดค้าน

“เรื่องนี้ไม่ได้มีใครแพ้หรือชนะ คำพูดอาจต่างกันในบางคำพูด อย่างรัฐบาลใช้คำว่า ให้กลับไปดำเนินการในขั้นตอนที่ยังขาดความชัดเจนให้เกิดความชัดเจนในทุกประเด็น โดยนำเอามติของคณะผู้ชำนาญการทั้งเรื่องโรงไฟฟ้า ท่าเรือ กว่า 400 ประเด็น มติของคณะกรรมการไตรภาคี และความเห็นจากภาคประชาชน ไปพิจารณาร่วมด้วย ขณะที่ทางฝั่งผู้ชุมนุมใช้คำว่าเซตซีโร่ นั่นคือ การเริ่มกระบวนการใหม่ ซึ่งแม้คำจะแตกต่างกัน แต่โดยวิธีการปฏิบัตินั้นเหมือนกัน หากวันข้างหน้าเราไม่สามารถสร้างอะไรได้เลย ทุกคนเป็นกังวลไปหมด ท่านก็ต้องประหยัดไฟ เพราะไม่มีวิธีการอย่างอื่นอีกแล้ว ทั้งภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ยันไม่ยกเลิก ม.44 คุมพื้นที่วัดธรรมกาย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการใช้กฎหมาย มาตรา 44 ให้พื้นที่วัดธรรมกายเป็น “พื้นที่ควบคุมพิเศษ” โดยยืนยันว่า การใช้มาตรา 44 ในการดำเนินการต่างๆ ไม่ได้เพื่อให้กลัว ขอสื่ออย่ายุยงปลุกปั่นว่ารัฐบาลไม่มีน้ำยาหรือวัดธรรมกายไม่มีน้ำยา เพราะไม่ว่ามาตราใดหากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ใช้ไม่ได้ผล กลายเป็นการเชียร์มวยทุกวันว่าใครจะชนะหรือแพ้ วัดหรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร มีแต่บ้านเมืองที่จะแพ้

“ที่ตำรวจกล่าวว่าจะดำเนินการใน 7 วัน เขาต้องได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป วันนี้ได้ตั้งคณะทำงานร่วม มีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มหาเถรสมาคม (มส.) เข้ามาเพื่อจะดูว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปที่จะทำให้วัดธรรมกายเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนสามารถเข้าไปได้โดยทั่วไป ไม่ใช่จะต้องมีความแตกต่างไปจากวัดอื่น ส่วนคดีความก็เป็นเรื่องของบุคคล ใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีที่วัดพระธรรมกายมีการต่อเติมอาคารและใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้รับอนุญาตว่า ขออย่าเพิ่งถามว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อจะมีความผิดหรือไม่ เพราะคนที่ทำผิดกฎหมายจริงๆ ยังไม่ได้ถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม พร้อมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการที่พระในวัดธรรมกายปกปิดใบหน้า และยืนยันจะไม่ยกเลิกมาตรา 44

“ที่ขอให้ยกเลิกมาตรา 44 ยืนยันว่าผมไม่ยกเลิก เพราะยังไม่จบเรื่อง จะยกเลิกได้อย่างไร กฎหมายเลิกได้ที่ไหน ในเมื่อยังนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีไม่ได้ ก็เป็นพื้นที่ที่ต้องควบคุมไปจนกว่ามอบตัวหรือดำเนินคดีได้ และบริหารจัดการใหม่ ที่บอกว่าผมจะไปยึดพระทองคำ ผมไม่รู้หรอกว่าอยู่ที่ไหน มีจริงหรือเปล่า และแน่ใจอย่างไรว่าเป็นพระแท้ เป็นไปได้หรือที่นำทองคำไปหล่อพระขนาดนั้น เพราะขนาดสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่นยังรั่วเลย คิดแบบนี้ก็จะรู้คำตอบเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ขอหลักฐานติดสินบน จนท. – เล็งใช้ ม.44 คุมจัดซื้อฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่สื่อต่างประเทศรายงานเรื่องการติดสินบนของบริษัทต่างชาติกับหน่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐว่า หากมีข้อมูลให้มาบอกตนว่าบริษัทไหนที่ทำ ติดที่ไหน ติดที่ใคร แต่หากไม่มีข้อมูลแล้วนำเสอนข่าวออกไปจะทำให้ประเทศเสียหาย  ส่วนกรณีที่แก้ไขแล้วภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศจะดีขึ้นหรือไม่ ต้องถามคนให้คะแนนเพราะตนทำเต็มที่สุดแล้ว

“วันนี้ได้ตั้งคณะกรรมการทางเทคนิคขึ้นมาเพื่อควบคุมการลงทุนภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการใดก็ตามที่มีมูลค่าสูง สอบใหม่ทั้งหมด เพราะกฎหมายเดิมเขียนไว้เพียงว่า หน่วยงานใดที่มีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่จัดทำแผนงานของตนขึ้นมา มีคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของเขา แต่วันนี้รัฐบาลกำลังจะออกมาตรา 44 เพื่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาครอบคลุม ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีราคาสูง เพราะที่ผ่านมามักตรวจสอบอะไรได้ไม่มากนัก เพราะเขาทำตามขั้นตอนทุกประการ แต่ที่เขาทำเป็นเป็นการทำนอกวงนี้ เป็นการรับเงินใต้โต๊ะ ให้หาหลักฐานมาให้ผมหน่อย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทำ EIA-EHIA เขื่อนท่าแซะ – ตรวจเหมืองทอง จ.เลย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามต่อกรณีการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ว่า ตนได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และ EHIA ถ้าผลการทำ EIA และ EHIA ผ่านความเห็นชอบของประชาชนในพื้นที่ก็สามารถดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่สามารถดำเนินได้

ส่วนกรณีของเหมืองทองคำ จ.เลย เบื้องต้นได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบแล้วเช่นกัน ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องดังกล่าวให้

“เมืองหลวงเซ็กส์โลก”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเว็บไซต์มิร์เรอร์สื่ออังกฤษรายงานข่าวถึงเมืองพัทยา ที่ถูกยกให้เป็นเมืองหลวงแห่งเซ็กส์ของโลก เนื่องจากมีผู้หญิงขายบริการมากกว่า 27,000 คน ทางรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรนั้น ว่าที่ผ่านมาก็มีการจับกุมอยู่ตลอด เดี๋ยวตนจะให้ตำรวจไปรื้อทั้งหมดและดูว่าจะเดือดร้อนกันไหม ตนไม่ส่งเสริมการค้าประเวณีอยู่แล้ว กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น อยากให้สื่อช่วยแก้ต่างให้ประเทศมากกว่าจะมาไล่เบี้ยกับรัฐบาล

ส่วนปัญหาแรงงานนอกระบบ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ที่ผ่านมามีการชี้แจงและดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว ทำการขึ้นทะเบียนแรงงาน สร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน พัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงาน การผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด มีการดำเนินการมาแล้วทั้งหมด

มติ ครม.มีดังนี้

thaipublica-ทีมเศรษฐกิจ2

ยกเครื่องกฎหมายการบินใหม่ ปลดธงแดง ICAO

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายก กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการบินพลเรือน พ.ศ. …. จำนวน 6 หมวด 338 มาตรา โดยอาศัยต้นแบบจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยจะให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป คาดว่าจะประกาศบังคับใช้เดือนกันยายน 2560 โดยช่วงเดือนมิถุนายน กระทรวงคมนาคมจะทำเรื่องชี้แจงไปยัง ICAO ในช่วงเดือนมิถุนายน 2560 ให้เข้ามาตรวจมาตรฐานการบินของไทยอีกครั้ง

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 ในส่วนกิจการการเดินอากาศและกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบินพลเรือนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยกำหนดให้ครอบคลุมถึงกิจการการบินพลเรือนทุกด้านที่รัฐต้องกำกับดูแลตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ กำหนดฐานอำนาจของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน รวมถึงฐานอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้ตรวจสอบด้านการบิน (Aviation Inspector) ในการกำกับดูแลกิจการการบินพลเรือน และกำหนดบทบัญญัติให้เป็นไปตามที่ ICAO ใช้ในการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Programme: USOAP) และโครงการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยสากล (Universal Security Audit Programme: USAP)

“หลักการของกฎหมายนี้ จะเป็นการกำหนดอำนาจในระดับนโยบาย ขณะที่รายละเอียดการปฏิบัติจะถูกเขียนอยู่ในกฎหมายลำดับรองลงไป เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายในอนาคตทำได้รวดเร็วและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลมาตรฐานของการบินโลก ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน โดยกฎหมายนี้จะยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีมากว่า 60 ปีทั้งหมด และให้ยึดกฎหมายฉบับนี้เป็นหลักแทน ซึ่งหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาธงแดงที่มีมาก่อนหน้านี้ได้ เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมการบินของไทย เป็นรัฐธรรมนูญด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะจัดตั้งคณะกรรมการการบินพลเรือน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นรองประธาน กรรมการที่ ครม. แต่งตั้ง 7 คน และมีผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเป็นเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจการบินพลเรือนและติดตามการปฏิบัติการต่างๆ ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้

สำหรับขอบเขตหน้าที่การกำกับดูแลของสำนักงานการบินพลเรือนและแนวทางการใช้อำนาจ แบ่งเป็น 1) ความปลอดภัยของเครื่องบิน การบินและอุปกรณ์การบิน 2) ด้านรักษาความปลอดภัย 3) อำนวยความสะดวกในการบินของพลเรือน และยังมีอำนาจกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ เช่น กำหนดราคาค่าโดยสาร

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ต่างๆ ให้สอดคล้องตามอนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ รวมไปถึงการตั้งศูนย์ประสานงาน ค้นหา และช่วยชีวิต ที่กระทรวงคมนาคม

ปล่อยกู้ใช้จ่ายฉุกเฉิน 10,000 ล้านบาท แก้หนี้นอกระบบ

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน สืบเนื่องจากที่ ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่เพื่อรับผิดชอบภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแยกออกมาโดยเฉพาะ และออกแบบผลิตภัณฑ์การเงินให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่ผ่อนปรนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉิน เช่น รักษาพยาบาลหรือค่าเล่าเรียน ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. จึงได้เสนอโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าว วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยขอรับการชดเชยความเสียหายจากโครงการดังกล่าวจากรัฐบาลส่วนหนึ่งด้วย

ทั้งนี้ สินเชื่อแบ่งเป็นของ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินแห่งละ 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อรายย่อย 50,000 บาทต่อราย ระยะเวลากู้ 5 ปี ดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน หรือประมาณ 10% ต่อปี และต้องมีหลักประกันค้ำประกันอย่างน้อย 1 คนหรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยสามารถขอสินเชื่อตั้งแต่วันนี้จนถึง 1 ปี

ขณะที่เงื่อนไขการชดเชยของรัฐบาล หากสินเชื่อดังกล่าวกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล ไม่เกิน 25% ของวงเงินแรก รัฐบาลชดเชย 100% หรือ 2,500 ล้านบาท และกรณีมากกว่า 25% แต่ไม่เกิน 37.5% ถัดไป รัฐบาลชดเชย 70% ของวงเงิน หรือ 875 ล้านบาท และสำหรับกรณีมากกว่า 37.5% แต่ไม่เกิน 50% รัฐบาลชดเชย 50% ของวงเงิน หรือ 625 ล้านบาท รวมแล้วรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายสูงสุดได้ 40% หรือ 4,000 ล้านบาทจากวงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท และแบ่งจ่าย 5 ปี โดย 2 ปีแรกจ่ายปีละ 500 ล้านบาท และที่เหลือ 3 ปีจ่ายปีละ 1,000 ล้านบาท

ออก ม.44 อีก 2 ฉบับ แก้คอร์รัปชัน “สอบ/ย้าย” ราชการ – จัดระเบียบคลอง

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง ครม. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายกรัฐมนตรีเตรียมให้อำนาจตามมาตรา 44 อีก 2 ฉบับ คือ 1) แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในการสอบเข้าราชการและการย้ายตำแหน่ง โดยกรณีแรกนั้น ปัจจุบันการสอบราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีความซ้ำซ้อน เนื่องจากต้องจัดสอบแยกกันเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ขาดมาตรฐานในบางแห่ง เนื่องจากไม่สามารถหาผู้ทรงคุณวุฒิมาออกข้อสอบได้ รวมไปถึงอาจจะเปิดช่องให้เกิดการคอร์รัปชันได้ เช่น ซื้อขายข้อสอบ จึงเห็นว่าควรใช้อำนาจตามมาตร 44 สั่งให้จัดสอบผ่านคณะกรรมการกลางในกรุงเทพฯ และจัดสอบเพียงครั้งเดียว

ขณะที่กรณีการย้ายข้าราชการ ปัจจุบันจำเป็นต้องมีองค์ประกอบครบ ได้แก่ ข้าราชการสมัครใจ, ต้นสังกัดเดิมอนุญาต และหน่วยงานใหม่ตอบรับ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือต้นสังกัดมักจะไม่อนุญาติให้ข้าราชการไปและเป็นช่องทางการเรียกรับเงินได้ จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการกลางสามารถพิจารณาการย้ายเป็นกรณีๆ ไปได้

2) แก้ไขปัญหาการบุกรุกคลองสาธารณะในคลองลาดพร้าว คลองสอง และคลองเปรมประชากร โดยอาศัยต้นแบบจากคลองปทุมธานี ซึ่งออกพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนพื้นที่จากที่สาธารณะเป็นที่ราชพัสดุ ก่อนจะปรับปรุงพื้นที่และให้ประชาชนในพื้นที่บางส่วนมาเช่าอยู่ต่อ โดยการใช้มาตรา 44 เนื่องจากการจัดการอาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะการก่อสร้าง จึงต้องออกเป็นกรณีเฉพาะเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปโดยสะดวก

ดันเจ้ากระทรวงหาทางเร่งสางงานล่าช้า

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงภารกิจติดตามเรื่องร้องเรียนภายในหน่วยงานที่ตนกำกับดูแลตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ เช่น ปัญหาติดขัดในการดำเนินธุรกิจของประชาชนมีมาก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามา  ซึ่งรัฐบาลได้ทำการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวมุ่งแก้ปัญหาในเรื่องปัจจุบัน แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องในอดีตที่ตกค้างมาเป็นปัญหามานาน 10-20 ปีได้

“นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงไปติดตามการทำงานของข้าราชการ  เพราะเขาอาจจะไม่รู้ว่ามีเรื่องที่เป็นปัญหาซึ่งประชาชนร้องเรียนและค้างคามาเป็นเวลา 10-20 ปี  และเมื่อทราบเรื่องรัฐบาลจึงจะสามารถแก้ปัญหาให้ได้  แต่ถ้าเราไม่รู้ว่ามีเรื่องเกิดขึ้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้  โดยรัฐบาลแก้ไขปัญหาแล้วในหลายเรื่อง ทั้งการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4)  เรื่องของ อย.  การออกสิทธิบัตร หรือเรื่องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ในการตรวจสอบเรื่องทุจริตคอร์รัปชันที่มีเรื่องตกค้างกว่า 10,000 เรื่อง ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการดำเนินการ ดังนั้นจึงกำชับรัฐมนตรีทุกท่านให้ลงไปตรวจสอบเรื่องในกระทรวงของตนเอง แล้วพิจารณาว่ามีเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนอะไรที่ค้างคาอยู่บ้าง จะได้แก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว