ThaiPublica > คอลัมน์ > ทรัมป์ vs. ศาล

ทรัมป์ vs. ศาล

14 กุมภาพันธ์ 2017


อาร์ม ตั้งนิรันดร
คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การ์ตูนผลงานของ Sam Machado ที่มาภาพ :  https://www.instagram.com/samscenarist/
การ์ตูนผลงานของ Sam Machado ที่มาภาพ: https://www.instagram.com/samscenarist/

ประธานาธิบดีทรัมป์นี่นักเลงของจริงนะครับ ตั้งแต่รับตำแหน่งมาพี่แกเที่ยวประกาศสร้างศัตรูไปทั่วทุกทิศ ใครกล้าหือหน่อยเป็นต้องถูกพี่แก “ทวีต” ด่า ไม่ว่าจะเป็น “วุฒิสมาชิกกระจอก” “นักวิทยาศาสตร์หลอกลวง” “ข้าราชการห่วยแตก” “พรรคเดโมแครตที่แพ้แล้วไม่เจียม” “สื่อมวลชนที่กุข่าวป้ายสีฉัน”

แถมยังกล้าประกาศเป็นศัตรูกับผู้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมหาศาล เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา ทรัมป์ออกคำสั่งประธานาธิบดีห้ามบุคคลจากประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมจำนวน 7 ประเทศ เดินทางเข้าสหรัฐฯ และหยุดการรับผู้ลี้ภัยเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมด

ปรากฏว่าคำสั่งนี้ยังใช้งานได้ไม่เท่าไร เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ผู้พิพากษาศาลสหพันธรัฐชั้นต้น ก็ได้สั่งยับยั้งคำสั่งประธานาธิบดีไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว

คราวนี้ทรัมป์เลยได้ประกาศศัตรูเพิ่มอีกหนึ่ง พี่แกมือไวใจเร็ว “ทวีต” ด่า “ตัวผู้พิพากษา” ว่าเป็นเหมือนผู้พิพากษาปลอม (“so-called” judge) และบอกว่าที่กล้ายับยั้งฉันนี่มัน “โคตรงี่เง่า” (“ridiculous”)

เมื่อตัวแทนรัฐบาลของทรัมป์ขออุทธรณ์ฉุกเฉินต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีการถ่ายทอดสดการต่อสู้คดีและให้เหตุผลทางกฎหมายทางโทรทัศน์ ทรัมป์ก็ทวีตด่าต่ออีกชุดหนึ่ง บอกว่า ข้อโต้แย้งของฝ่ายโจทก์แสน “อัปยศ” (disgraceful) ขนาด “นักเรียนมัธยมปลายแถว” ยังเข้าใจความจำเป็นของคำสั่งของเขาดีกว่าศาลเลย

สุดท้าย ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ของสหรัฐฯ ได้ตัดสินยืนยันให้คงยับยั้งคำสั่งของประธานาธิบดีเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาตัวคดีโดยละเอียดต่อไป

ทรัมป์จะด่าใครก็ไม่น่ากังวลเท่ากับทรัมป์ด่าศาล ไม่ใช่เพราะศาลสหรัฐฯ จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นหิ้งแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นะครับ เอาเข้าจริง คนสหรัฐฯ วิจารณ์คำพิพากษาของศาลกันเป็นเรื่องปกติ และนักวิชาการกฎหมายในสหรัฐฯ ก็วิจารณ์คำพิพากษาของศาลกันเป็นอาชีพ (มีข้าวกินก็เพราะเขียนบทความวิจารณ์ศาลนี่แหละ) เพียงแต่ที่เขาวิจารณ์กันคือ “ตัวคำพิพากษา” แต่ไม่ใช่เหมือนกับทรัมป์ที่ด่า “ผู้พิพากษา” อย่างสาดเสียเทเสียในทำนองว่าไม่ควรแก่การเชื่อถือ

ในสมัยก่อร่างสร้างประเทศใหม่ๆ ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับองค์กรศาลเองเคยร้อนแรงถึงขั้นปรอทเกือบแตก, ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน เคยพยายามจะดำเนินการถอดถอนผู้พิพากษาศาลสูง (ค.ศ. 1801), ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน เคยไล่ให้ศาลสูงไปบังคับตามคำพิพากษาเอาเองถ้าคิดว่าทำได้ (ประโยคโด่งดัง: “John Marshall has made his decision. Now let him enforce it.”) (ค.ศ. 1832), ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอร์น เคยปฏิเสธไม่ยอมทำตามที่ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ถูกคุมขังคนหนึ่งมาศาลในช่วงสงคราม (ค.ศ. 1861), ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เคยไม่พอใจคำพิพากษาจนพยายามจะออกกฎหมายเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาศาลสูง เพื่อจะได้ตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก (ช่วงทศวรรษ 1930)

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความมั่นคงแข็งแรงของสถาบันการเมืองและวัฒนธรรมของการแบ่งแยกและถ่วงดุลอำนาจก็ค่อยๆ ฝังรากขึ้น จนไม่มีประธานาธิบดีคนใดในช่วง 50 ปี ที่ผ่านมา ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล ส่วนที่แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับ “ตัวคำพิพากษา” นั้นยังมีแน่ เช่น ในการแถลงผลงานประจำปีเมื่อ ค.ศ. 2010 ประธานาธิบดีโอบามาเองก็แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลสูงที่ตีตกกฎหมายควบคุมการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง แต่ไม่เคยมีว่าจะไม่เคารพหรือไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน

ทรัมป์จึงนอกคอกของจริง เพราะตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา ไม่ว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและศาลจะร้อนแรงเพียงใด ยังไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดเลยครับที่โจมตี “ผู้พิพากษา” หรือ “สถาบันศาล” ออกสื่อสาธารณะในทำนองว่าไม่น่าเคารพ ไม่น่าเชื่อถือ หรือมองว่าศาลเป็นศัตรูโดยเฉพาะเมื่อผลการตัดสินไม่เป็นคุณต่อตัวเอง แบบที่ทรัมป์กำลัง “ทวีต” ด่าวันละสามบรรทัด

ณ เวลานี้ รัฐบาลของทรัมป์ยังคงปฏิบัติตามคำพิพากษาอยู่ แต่ใครว่า “คำพูด” ไม่สำคัญล่ะครับ โดยเฉพาะคำพูดของผู้นำที่มีผู้สนับสนุนอยู่ครึ่งค่อนประเทศ คำพูดของทรัมป์แสดงว่าทรัมป์ไม่มีความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการปกครองสหรัฐฯ และถ้าหากคนที่สนับสนุนเขาเกิดสุมไฟโกรธและบ้าคลั่งไปกับทรัมป์ สุดท้ายทรัมป์ก็อาจจะชนะโดยไม่ต้องเชื่อฟังศาลก็ได้ แต่ก็คงจะเป็นชัยชนะบนซากปรักหักพังที่ล้มครืนลงพร้อมกับหลักการพื้นฐานที่เคยค้ำจุนชาติสหรัฐฯ

หลักการพื้นฐานของสหรัฐฯ ก็คือ ความศรัทธามั่นคงใน “ประชาธิปไตย” (การเลือกตั้งโดยยึดเสียงข้างมาก) แต่ก็ศรัทธามั่นคงใน “การปกครองที่ถูกจำกัดโดยกรอบของกฎหมาย” (Rule of Law) ด้วยเช่นกัน ความหมายของ “Rule of Law” ก็คือ ศาลสามารถตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย (ที่ออกโดยสภาคองเกรส) หรือคำสั่งของฝ่ายบริหาร (ที่ออกโดยประธานาธิบดี) ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงข้างมากรังแกเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และหลักการที่รัฐธรรมนูญคุ้มครอง

วิธีการของทรัมป์ที่ออกมาโจมตีและเห็นคนที่ต่อต้านตนเป็นศัตรู ทำให้ผมนึกถึงคาร์ล ชมิดต์ นักทฤษฎีการเมืองชื่อดังในสมัยรัฐบาลนาซีของเยอรมัน คาร์ล ชมิดต์ เคยอธิบายว่า “การเมือง” คือ การต่อสู้เพื่อทำลายล้าง “ศัตรู” เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องแบ่งมิตรและศัตรูให้ชัดเจน เมื่อเห็นอย่างชัดเจนว่ามีศัตรูร่วมกัน ก็จะได้ปลุกระดมให้ผู้สนับสนุนของตนผนึกกำลังรวมกันเพื่อทำลายล้างศัตรูเหล่านั้นลงให้ราบคาบ

พื้นฐานความคิดของ “ระบบกฎหมาย” นั้น ตรงข้ามกับแนวคิดเรื่อง “การเมือง” ของคาร์ล ชมิดต์ ครับ เพราะภายใต้ระบบกฎหมาย ไม่มีการแบ่งแยก “มิตร” กับ “ศัตรู” ลองคิดดูสิครับ เครื่องหมายความยุติธรรมของฝรั่ง คือ เทพยดาผู้หญิงชื่อทีมิส มือซ้ายถือตราชู มือขวาถือดาบ มีผ้าผูกตาไว้, ตราชูคือการชั่งเหตุผล ดาบคือการได้ข้อยุติ ส่วนผ้าผูกตาสะท้อนว่าระบบกฎหมายไม่สนว่าคุณเป็นใคร ไม่สนว่าคุณเป็นพวกใคร ทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน รัฐบาลหรือหน่วยราชการก็มีสิทธิชนะหรือแพ้คดีในศาลพอๆ กับประชาชน ตัวชี้ขาดคือเหตุผล ศาลเป็นเวทีที่เคารพ “ความเห็นต่าง” และจัดให้มี “กระบวนการ” ที่จะรับฟังการต่อสู้ด้วยหลักฐานพยานและเหตุผลทางกฎหมายของคู่ความทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นธรรม

ระบบกฎหมายที่ดีและที่คนเชื่อมั่น จึงทำให้สามารถระงับความขัดแย้งได้ด้วยสันติวิธี และที่สำคัญกว่านั้น คือทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่กลายเป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเชือดเฉือนกันบนท้องถนนระหว่างมิตรและศัตรูระหว่างพวกฉันและพวกเอ็ง อาจารย์ผมคนหนึ่งเคยบอกว่า ประเทศที่ก้าวหน้ากับประเทศที่ล้าหลังมีความแตกต่างกันอยู่สองจุด อย่างแรก ประเทศที่ก้าวหน้ามี “Rule of Law” คำที่สำคัญที่สุดในสามพยางค์นี้ คือ คำว่า “of” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ถูกจำกัดโดย” นั่นหมายความว่า การปกครอง (Rule) ซึ่งถูกจำกัดโดย (of) กรอบของกฎหมาย (Law) ไม่ใช่ว่าผู้มีอำนาจอยากจะทำอะไรก็ทำได้ตามอำเภอใจ

ตรงกันข้ามในประเทศที่ล้าหลัง เราจะพบว่ามี “Law and Order” หรือก็คือความสงบเรียบร้อยภายใต้คำสั่งกฎหมายของผู้มีอำนาจ ดังนั้น จึงไม่ใช่ Rule “of” Law แต่ควรเรียกว่าเป็น Rule “by” Law ต่างหาก คืออยากออกคำสั่งอะไรก็ออกเป็นกฎหมายสั่งได้ตามใจฉัน ไม่ต้องถูกศาลหรือใครที่ไหนมาตรวจสอบ

ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างประเทศที่ก้าวหน้าและประเทศที่ล้าหลัง ก็คือ ในประเทศที่ก้าวหน้า สถาบันทุกสถาบันจะเปิดรับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุด้วยผล ความศักดิ์สิทธิ์ของตัวสถาบันหรือกฎเกณฑ์ไม่ได้อยู่ที่ว่าห้ามใครวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยู่ที่พร้อมเปิดรับความเห็นต่างจากทุกฝ่ายต่างหาก ในขณะเดียวกัน ทุกคนก็เข้าใจดีว่าการวิจารณ์ไม่ใช่การโจมตีตัวบุคคลหรือตัวสถาบันเป็นการส่วนตัว (เหมือนกับที่ผมมีความเห็นไม่ตรงกับคุณในที่ประชุมได้ โดยไม่ได้แปลว่าผมจะต้องเกลียดหรือมุ่งทำลายคุณ)

ขณะที่ในประเทศที่ล้าหลัง คนมักจะยังแยกไม่ออกระหว่างเรื่องสาธารณะกับเรื่องส่วนบุคคล และมองว่าการวิจารณ์อะไรก็ตามเท่ากับเป็นการโจมตีตัวบุคคลหรือตัวสถาบันเป็นการส่วนตัวด้วย เช่น การวิจารณ์คำพิพากษาของศาลก็เท่ากับเป็นการโจมตีศาล และจะลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันตุลาการลง เป็นต้น

พอกลับมาดูพฤติกรรมของประธานาธิบดีทรัมป์ จึงเหมือนทรัมป์จะพาสหรัฐฯ ถอยหลังเข้าคลอง ทรัมป์อยากออกคำสั่งอะไรก็ออก และเน้นความสงบเรียบร้อยเป็นคุณค่าที่สำคัญสูงสุด นอกจากนั้น ทรัมป์เองแยกไม่ออกระหว่างเรื่องสาธารณะกับเรื่องส่วนบุคคล มองว่าทุกคนที่วิจารณ์ตัวเขาเป็นศัตรู และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น คือ เมื่อเห็นต่างจากศาล ทรัมป์ไม่วิจารณ์ที่ตัวเหตุผลของศาล แต่กลับไปโจมตีตัวบุคคลว่าผู้พิพากษาไม่ได้เรื่อง ไม่ควรแก่การเชื่อถือ ตั้งตนเป็นศัตรูกับเขาและกับความมั่นคงเรียบร้อยของประเทศ

ได้ยินใครต่อใครพูดบ่อยๆ ในสมัยก่อนว่า เราต้องดูสหรัฐฯ เป็นตัวอย่าง จริงๆ วันนี้ก็ยังถูกต้องนะครับ — ดูสหรัฐฯ เป็นตัวอย่างสะท้อนปัญหาที่คล้ายคลึงกันของสังคมเราเอง