ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่า ธปท. แนะเกาะติดบริบทใหม่ของโลก VUCA “ต้องทำความคิดให้ถูก – มองให้ออก – ตามให้ทัน”

ผู้ว่า ธปท. แนะเกาะติดบริบทใหม่ของโลก VUCA “ต้องทำความคิดให้ถูก – มองให้ออก – ตามให้ทัน”

21 มกราคม 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0” งานทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกับการขับเคลื่อนสู่แนวโน้มสำคัญของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย - Bank of Thailand
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0” งานทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกับการขับเคลื่อนสู่แนวโน้มสำคัญของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจการเงินไทยท่ามกลางความท้าทายในยุค 4.0” งานทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกับการขับเคลื่อนสู่แนวโน้มสำคัญของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 มีรายละเอียดดังนี้

“ผมขอขอบคุณศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้เกียรติผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่านในประเด็นที่มีความสำคัญเร่งด่วน และจะส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย ผมขอชื่นชมคณะผู้จัดงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4.0 ที่จะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลกระทบต่อเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ วิถีชีวิต และสังคม ไปจนถึงมิติทางกฎหมายและการเมือง ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั้งโลกจะต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยต้องเปิดใจเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และปรับตัว ไม่ใช่เพียงเพื่อให้อยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ได้ แต่ต้องไม่เสียโอกาสที่จะใช้การเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

ผมขอแบ่งประเด็นที่จะพูดในวันนี้เป็น 3 ส่วน

  • ส่วนแรก จะพูดถึงการก้าวเข้าสู่โลกใหม่ เพื่อฉายภาพของสภาพแวดล้อมใหม่ที่เราต้องเผชิญซึ่งเป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับเราทุกคน
  • ส่วนที่สอง ขอพูดถึงการพัฒนาของไทยในช่วงที่ผ่านมาและสถานะในปัจจุบัน เพื่อย้อนกลับมามองปัญหาสำคัญของประเทศที่เราต้องหาทางก้าวข้ามให้ได้เพื่อเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และ
  • ส่วนสุดท้าย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินไทยในยุค 4.0 เพื่อเสนอประเด็นที่จะมีผลต่ออนาคตของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ปัจจุบัน เรากำลังก้าวเข้าสู่ “โลกใหม่” ซึ่งเป็นโลกที่มิติความสัมพันธ์และปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มีความซับซ้อนมากขึ้น มีการเชื่อมต่อระหว่างกันย้อนกลับไปมาจนเกือบจะเรียกได้ว่าไร้เส้นแบ่ง และขับเคลื่อนอยู่บนพลังของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว ทำให้สภาพแวดล้อมที่เราต้องเผชิญเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป็นไปในทิศทางที่คาดเดาได้ยาก และมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้น ผมมีโอกาสพูดถึงเรื่องนี้หลายครั้ง เพราะเชื่อว่านี่คือบริบทใหม่ของโลกที่เราต้องมองให้ออกและตามให้ทัน บางอย่างที่เราคุ้นชิน การดำเนินชีวิตแบบเดิมจะไม่เหมือนเดิม จะยากมากขึ้น โลกแบบนี้เรียกสั้นๆ ว่า โลก VUCA ซึ่งย่อมาจาก Volatile, Uncertain, Complex และ Ambiguous

ตัวอย่างที่สะท้อนอาการโลก VUCA คือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกในหลายมิติ ตั้งแต่ตลาดการเงินโลกที่ผันผวนมากขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตลาดพันธบัตร ราคาหุ้น หรืออัตราแลกเปลี่ยน การเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี Donald Trump ในค่ำวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำนโยบายที่ใช้หาเสียงไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีความไม่แน่นอนสูง และหลายนโยบายถ้าถูกนำไปปฏิบัติจริงจะมีนัยต่อเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของโลกอย่างรุนแรง และคาดเดาได้ยาก เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายกีดกันทางการค้า นโยบายกีดกันคนต่างเชื้อชาติศาสนา หรือนโยบายไม่ยอมรับจีนเดียว

นอกจากการก้าวสู่โลก VUCA แล้วเรายังเห็น “Megatrends” หรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของโลกในหลายด้านที่มีนัยต่อสภาวะโลกใหม่ ผมขอยกตัวอย่างในวันนี้ 4 ด้านสำคัญ คือ

ด้านแรก คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับหัวข้อของการสัมมนาในวันนี้

ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นแล้วว่าศักยภาพ ประสิทธิภาพ และพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถขยายผลได้เหนือความคาดหมาย และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรามีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราตั้งแต่วิธีการสื่อสาร การสั่งซื้อสินค้า การเรียกรถโดยสารสาธารณะ การรักษาผู้ป่วย หรือการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนในกระบวนการผลิตอย่างกว้างขวาง

“โลกแห่งการแบ่งปัน” หรือ sharing economy กำลังจะเป็นรูปแบบหนึ่งของโลกใหม่ที่เกิดขึ้นจากพลังของเทคโนโลยี หลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นบริการของ UBER, AirBNB, cloud computing หรือเทคโนโลยี blockchain จะตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดของการแบ่งปันโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของเพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในวันนี้ UBER เป็นบริษัทรถโดยสารสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของรถยนต์ หรือ AirBNB เป็นเครือข่ายการจองห้องพักที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่ต้องลงทุนสร้างห้องพักเอง

นอกจากพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเปิดโอกาสให้เราเข้าสู่โลกแห่งการแบ่งปัน หรือ sharing economy มากขึ้นแล้ว ยังจะทำให้บริการข้ามพรมแดนสะดวกขึ้นด้วย การค้าบริการข้ามประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ digital footprint หรือข้อมูลจากการใช้บริการดิจิทัล จะเป็นพลังมหาศาลที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตลาด การบริหารความเสี่ยง หรือ การวางแผนสำหรับอนาคต ทั้งในภาครัฐและเอกชน

เทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงเหล่านี้จะสร้างโอกาสให้คนจำนวนมากยกระดับคุณภาพชีวิตได้ สร้างอาชีพใหม่ๆ สร้างวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ ในทางกลับกัน เทคโนโลยีจะสร้างความท้าทายและสามารถเบียดให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมตกขบวนรถไฟได้อย่างรวดเร็ว เช่น เครื่องโทรสาร ฟิล์มถ่ายภาพ บริการโทรศัพท์ทางไกล หรือสื่อสิ่งพิมพ์

megatrend ที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะคนเกิดน้อยลงมากและเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ทำให้คนมีอายุยืนขึ้น ในปี 2040 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า โลกจะมีสัดส่วนประชากรที่อายุสูงกว่า 60 ปี ถึงร้อยละ 20 เทียบกับเพียงร้อยละ 12 ในปี 2015 สังคมผู้สูงอายุจะเป็นความท้าทายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาดแรงงาน โครงสร้างการบริโภคการออม ภาระด้านการคลังและรายจ่ายด้านสวัสดิการ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ต้องดูแลตัวเองในวัยชรา

ที่สำคัญ สังคมผู้สูงอายุจะทำให้บริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปด้วย เนื่องจากฐานเสียงผู้สูงอายุจะสำคัญมากขึ้น และจะเน้นเรื่องการรักษาสิทธิประโยชน์และสวัสดิการของตนเองเป็นหลัก คำนึงถึงอนาคตของคนรุ่นต่อไปน้อยลง การดำเนินนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมจะทำได้ยากขึ้น วันนี้เราเริ่มเห็นตัวอย่างในหลายประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและติดกับดักทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง

megatrend ด้านที่สาม การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ (urbanization) ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกชี้ให้เห็นว่า ในช่วงที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง การเกิดขึ้นของเมืองเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป ถ้าเรามองไปข้างหน้า จะเห็นการเกิดขึ้นของเมืองขนาดใหญ่ในหลายมุมโลก เมืองระดับรองๆ ในวันนี้ที่เราอาจจะไม่คุ้นชื่อจะก้าวขึ้นเป็นเมืองใหญ่ของโลก เป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แรงกดดันทางด้านสังคม วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ การเกิดขึ้นของเมืองจะมาพร้อมกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง สถานศึกษา โรงพยาบาล ตลอดจนศูนย์การค้า อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของเมืองจะมีผลข้างเคียงหลายมิติ เช่น การหลั่งไหลเข้ามาของแรงงาน ชุมชนแออัด การขยายตัวของคนชั้นกลาง วัฒนธรรมต่างคนต่างอยู่ หรือวิถีชีวิตที่เร่งรีบจนไม่มีเวลาที่จะสนใจความเป็นไปรอบตัว หรือไม่มีเวลาที่จะดูแลลูกหลานตามสมควร

megatrend ด้านที่สี่ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ กติกา และมาตรฐานของโลก ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่เส้นแบ่งพรมแดนจะสำคัญน้อยลง จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว กฎเกณฑ์ กติกา และมาตรฐานของประเทศใหญ่จะกลายเป็นกฎเกณฑ์ กติกา และมาตรฐานของทั้งโลก ซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กฎเกณฑ์ กติกา มาตรฐานหลายเรื่องจะก้าวข้ามพรมแดนประเทศเข้ามาทั้งแบบที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว

หลายเรื่องจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศถ้าเราไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน เช่น การดูแลถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กฎเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาล กฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงิน แม้กระทั่งการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่กว่า 170 ประเทศตกลงร่วมกัน ก็สะท้อน Megatrends ในด้านนี้ได้ดี

การเปลี่ยนแปลงสำคัญเหล่านี้ เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดต่อไป การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของทุกฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในส่วนที่ 2 ผมขอใช้เวลาทบทวนแนวทางการพัฒนาประเทศไทย และสำรวจสถานะของประเทศไทยในปัจจุบันในบางมิติสำคัญ

การพัฒนาประเทศของไทยในช่วงที่ผ่านมาและสถานะของประเทศไทยในปัจจุบัน

ในช่วงกว่า 60 ปี ตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 อาจจะกล่าวได้ว่า การพัฒนาของประเทศไทยโดยรวมสามารถยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นมาก ความยากจนลดลง ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาลและการศึกษา ได้ดีขึ้น ขณะที่พื้นฐานด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข็ง อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ

ภาระหนี้ของภาครัฐอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ ซึ่งเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินเป็นเสมือนกันชนที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถรับแรงปะทะจากความผันผวนของทั้งปัจจัยภายในและภายนอกได้ดีในระดับหนึ่ง

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างหลายมิติ ซึ่งทำให้เราติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap) ปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ได้แก่

ประการแรก ศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี ก่อนเกิดวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย 2540 เหลือร้อยละ 5 ต่อปีก่อนวิกฤตการณ์การเงินโลก 2550 จนกระทั่งเหลือเพียงร้อยละ 3 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาประการที่สอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งมิติด้านรายได้และโอกาส ที่ผ่านมาปัญหานี้เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม ตัวอย่างเช่น คนเพียงร้อยละ 10 ของประเทศถือครองที่ดินมากกว่าร้อยละ 60 และสัดส่วนประชากรที่อยู่ในเมืองของประเทศไทยที่อยู่ระดับประมาณร้อยละ 50 เพราะการพัฒนาเมืองกระจุกตัวอยู่รอบกรุงเทพฯ ไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง ขณะที่สัดส่วนประชากรที่อยู่ในเมืองของมาเลเซียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนว่า ผลประโยชน์จากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมากระจุกตัวสูง

ปัญหาประการที่สาม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าประชากรในวัยแรงงานของเราได้เริ่มลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2557 อีกเพียงไม่เกิน 15 ปี เราจะมีสัดส่วนประชากรที่อายุสูงกว่า 60 ปี สูงถึงร้อยละ 27 ของประชากร การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะหมายถึงกำลังแรงงานในการผลิตสินค้าและบริการของไทยจะลดลง รูปแบบการบริโภคและการออมของประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ภาระของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัญหาประการที่สี่ คุณภาพการศึกษา ความสามารถในการรับรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของเด็กไทยและผู้ใหญ่ไทยยังมีจำกัด ถ้ามองในด้านดี เราเห็นทัศนคติเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดียหรือการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อพิจารณาความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเด็กไทยจะพบว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ยากที่เราจะต่อยอดและหาประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกอยู่ทุกวันนี้ได้ถ้าเราไม่ยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพคนไทยอย่างจริงจัง

ปัญหาประการที่ห้า โครงสร้างกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปกฎหมายประเมินว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายและกฎระเบียบรวมกันประมาณ 1 แสนฉบับ และมีใบอนุญาตกว่า 1,500 ใบ ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD และกฎหมายเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้ถูกปรับปรุงให้ทันสมัย หลายเรื่องมีผลฉุดรั้งความสามารถในการแข่งขันและปิดโอกาสของคนไทยและธุรกิจไทย โดยเฉพาะคนที่ไม่มีฐานทางสังคมและธุรกิจ SME หลายเรื่องทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจและการใช้ชีวิตในประเทศไทยสูงเกินควร นอกจากนี้ จำนวนกฎหมายและกฎระเบียบที่มากมายกว่าหนึ่งแสนฉบับนี้ยังมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดประสิทธิภาพและเปิดโอกาสในการใช้ดุลยพินิจเพื่อหาประโยชน์แบบไม่ตรงไปตรงมา

ปัญหาทั้ง 5 เรื่องนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของเรื่องสำคัญที่เราต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ไปพร้อมๆ กับการเตรียมรับโลกใหม่ และ megatrends ที่กำลังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินไทยในยุค 4.0

ในส่วนสุดท้ายของการพูดคุยในวันนี้ ผมจะขอร่วมเสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการเงินไทยในยุค 4.0 เพื่อให้เท่าทันกับสภาวะโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มสำคัญ กล่าวคือ

กลุ่มที่หนึ่ง คือ การปรับโครงสร้างและแนวทางบริหารเศรษฐกิจ

บริบทโลกในยุค 4.0 ที่ซับซ้อน ไม่แน่นอน ผันผวนและคาดเดาได้ยาก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ นักพัฒนาทั่วโลก มุ่งที่จะหารูปแบบการพัฒนาใหม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยของเราโชคดีมากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานหลักคิดและองค์ความรู้ด้านการพัฒนา ซึ่งผมเห็นว่ายังทันสมัยและสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจการเงินไปสู่ยุค 4.0 ได้ดี ถ้าเราได้ศึกษาองค์ความรู้ หลักคิด และหลักการทรงงานของพระองค์แล้วจะพบว่า เป้าหมายของการพัฒนาของพระองค์ไม่ได้เน้นเพียงแค่ให้เศรษฐกิจเติบโตได้สูง แต่เป็นการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงมิติที่สำคัญ 3 เรื่อง

เรื่องแรก ต้องพัฒนาเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ว่า

“ข้อสำคัญในการสร้างตัวและสร้างฐานะนั้น ต้องยึดหลักค่อยเป็นค่อยไป”

“ไม่ทำด้วยอาการเร่งรีบตามความกระหายที่จะสร้างของใหม่ เพื่อความแปลกใหม่ เพราะความจริงสิ่งใหม่แท้นั้นไม่มี”

นอกจากนี้ การพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพจะต้องรู้จักที่จะพอประมาณและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับความผันผวนที่คาดเดาได้ยากด้วย

เมื่อเรามองไปข้างหน้า ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงขึ้น การรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำรงไว้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการสร้างภูมิคุ้มกันและระบบเตือนภัยอย่างเท่าทันเพื่อรองรับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

เรื่องที่สอง การพัฒนาต้องกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง ได้แก่ การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่างๆ ดังพระราชดำรัสองค์หนึ่งที่ว่า

“ความหมายของการพัฒนาประเทศนี้ ก็เท่ากับตั้งใจที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคน มีความปลอดภัย มีความเจริญ มีความสุข”

ซึ่งคำว่า “ชีวิตของแต่ละคน” มีความหมายลึกซึ้งมาก เพราะสะท้อนความมุ่งหวังให้ผลประโยชน์ของการพัฒนากระจายไปถึงคนทุกคน

ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย เหตุการณ์ Brexit หรือการชนะการเลือกตั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มใหญ่ไม่พอใจกับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ เป็นบทเรียนของเราทุกคน ดังนั้น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ยุค 4.0 จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยทิศทางสำคัญสำหรับการดำเนินการส่วนนี้ คือ การกระจายโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงเทคโนโลยี การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การเยียวยาดูแลคนที่ได้รับผลกระทบและต้องปรับตัว การพัฒนาภาคเกษตรและชนบทที่คนกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ ตลอดจนการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้น ที่ผ่านมาอำนาจการตัดสินใจยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางอยู่มาก รูปแบบการพัฒนามักมีสูตรเดียว กำหนดจากบนลงล่าง และยากที่จะตอบโจทย์ของท้องถิ่นที่แตกต่างกัน และการพัฒนาในระยะต่อไปควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นตัดสินใจได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหามีเจ้าภาพที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรื่องที่ (3) การพัฒนาต้องเกิดความยั่งยืน โดยส่วนที่สำคัญ คือ การยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้สูงขึ้น โดยเร่งเพิ่มผลิตภาพในทุกเรื่องที่เราทำ และใช้ประโยชน์จากพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้ารวดเร็ว

นอกจากนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจจะต้องมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว ระบบจะต้องเอื้อให้ประชาชนและธุรกิจปรับตัวได้เร็ว การโอนย้ายทรัพยากรระหว่างภาคเศรษฐกิจเป็นไปได้โดยง่าย ซึ่งหมายถึงกลไกตลาดมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจที่มีปัญหาสามารถพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว และธุรกิจใหญ่และเล็กสามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะมีความเกี่ยวเนื่องกับการปรับระบบกลไกการทำงานและบทบาทของภาครัฐ ที่เป็นด้านสำคัญกลุ่มที่สองของแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในยุค 4.0

กลุ่มที่สอง คือ การปรับระบบกลไกการทำงานและบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ (institution) มีความสำคัญเพราะภาครัฐเป็นผู้คุมกฎเกณฑ์กติกา กำหนดทิศทางนโยบายและเป็นกลไกช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้โดยไม่สะดุด ไปพร้อมๆ กับการผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น โดยมีเรื่องที่สำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่

เรื่องที่หนึ่ง การปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์กติกา ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในวันนี้และในอนาคตทั้งการเปลี่ยนแปลงในประเทศและ megatrends ของโลก รวมทั้งต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของกฎระเบียบและกติกาที่กำลังเป็นมาตรฐานของโลกใหม่ กระบวนการการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรถูกปรับปรุงให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เคยมีพระราชดำรัสในเรื่องนี้ความตอนหนึ่งว่า

“กฎหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับบ้านเมือง …ขอให้ศึกษาว่า กฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างไร และจะทำอย่างไรสำหรับกฎหมายมีประโยชน์ยิ่งขึ้น โดยที่สนใจถึงชีวิตของกฎหมายและของคนในสภาพปัจจุบัน … ในสภาพของบ้านเมืองในปัจจุบัน”

ตัวอย่างกฎหมายที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อก้าวไปสู่ยุค 4.0 และเตรียมรับโลกใหม่ มีหลายเรื่อง เช่น กฎหมายที่จะรองรับเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน หรือ sharing economy กฎหมายที่จะกำกับดูแลบริการข้ามพรมแดนผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ กฎหมายเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องมีความสมดุลระหว่างการรักษาสิทธิส่วนบุคคลกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลธุรกรรมเพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม หรือกฎหมายที่ผลของการปฏิบัติมีลักษณะ regressive คือ ต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายสำหรับคนตัวเล็กมีมากกว่าคนตัวใหญ่มาก ทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม

เรื่องที่สอง ต้องปรับกลไกการทำงานของภาครัฐให้โปร่งใส และ เปิดกว้าง (open government) เพื่อให้เกิดการตรวจสอบจากภาคประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้น การตรวจสอบที่ดีที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ความโปร่งใสจะช่วยให้ประชาชนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ (public trust) และเป็นเกราะป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกแทรกแซงด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม มีหลายเรื่องที่เราจะสามารถสร้างความโปร่งใสเพิ่มเติมให้กับองค์กรของภาครัฐที่จะเปลี่ยนประเทศได้ เช่น นโยบายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ การเปิดเผยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ หรือเรื่องพื้นฐาน เช่น การเปลี่ยนบันทึกประจำวันของตำรวจจากสมุดบันทึกสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

เรื่องที่สาม การปรับบทบาทของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดบทบาทที่ไม่จำเป็น ภาครัฐต้องมีบทบาทชัดเจนในแต่ละเรื่อง ถ้าเรื่องใดที่เอกชนทำได้แล้วโดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ภาครัฐไม่ควรทำแข่ง ภาครัฐยังต้องมีบทบาทเป็น “ผู้ควบคุม” กฎกติกา แต่ต้องปรับสมดุลใหม่และมุ่งเป็น “ผู้สนับสนุน” มากขึ้น รวมทั้งต้องคำนึงถึง ประสิทธิภาพและความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้น ตัวอย่างในเรื่องนี้ ได้แก่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้ถือครองสินทรัพย์ที่สำคัญของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ สนามบิน ท่าเรือ หรือรถไฟ ถ้าการบริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านี้ขาดประสิทธิภาพ เท่ากับเราเสียโอกาสการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และเป็นต้นทุนที่แพงขึ้นของคนไทยทุกคน

กลุ่มที่สามของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค 4.0 คือ การพัฒนาศักยภาพของคนไทย ผมคิดว่าคนไทยต้องมีความพร้อมอย่างน้อยใน 3 ด้านดังนี้

เรื่องที่หนึ่ง ความรู้และทักษะสำคัญของชีวิต การที่เราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่ช้า แปลว่าคนไทยในวัยทำงานหนึ่งคนต้องเลี้ยงดูคนแก่มากขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยต้องยกระดับศักยภาพตัวเอง ต้องมีผลิตภาพสูงขึ้น ซึ่งโชคดีที่ยุคนี้เทคโนโลยีช่วยเชื่อมโยงความรู้ ข้อมูล และข่าวสาร ให้พวกเรานำมาใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางรวดเร็ว แต่ในมุมกลับ ความรู้ที่เคยทันสมัยก็อาจจะล้าสมัยได้ในเวลาไม่นาน จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องปลูกฝังให้คนไทยเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้และสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“การดำรงชีวิตที่ดี จะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัว จะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง”

ขณะเดียวกันจำเป็นต้องปลูกฝังทักษะที่จำเป็นในการที่จะอยู่ในโลกยุค 4.0 เช่น ความพร้อมและความสามารถด้านเทคโนโลยี ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการเงิน เป็นต้น

เรื่องที่สอง ทัศนคติ เป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การทำความคิดให้ถูก และแน่วแน่ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย”

ผมคิดว่า “การทำความคิดให้ถูก” มีความลึกซึ้ง เพราะทัศนคติที่ถูกต้องจะเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ที่จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานหลักคิดให้คนไทย รู้จักพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันในตน ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นทัศนคติขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการปลูกฝังและถ่ายทอดไปยังคนรุ่นต่อไปด้วย

นอกจากนี้ ผมคิดว่ามีทัศนคติอีก 3 เรื่องสำคัญที่เราควรส่งเสริมให้มีมากขึ้น ได้แก่

    – การทำงานร่วมกันผู้อื่น เพราะในโลกที่ซับซ้อนจำเป็นต้องประสานองค์ความรู้และพลังของผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหายากๆ ของประเทศ
    – การยอมรับความแตกต่าง พระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “สามัคคีหรือการปรองดองกัน ไม่ได้หมายความว่าคนหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง คนอื่นต้องพูดเหมือนกันหมด ลงท้ายชีวิตก็ไม่มีความหมาย ต้องมีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานให้สอดคล้องกัน แม้จะขัดกันบ้างก็ต้องสอดคล้องกัน” และ
    – ทัศนคติเรื่องที่สามคือทัศนคติของการทำหน้าที่พลเมือง (active citizen) เราต้องตระหนักว่า เราเป็นหนึ่งในเจ้าของประเทศ ดังนั้น เรามีหน้าที่ในการเป็นพลเมือง และพร้อมเข้าแก้ปัญหาตามศักยภาพและในทุกโอกาสที่มี ถ้าทุกคนมีทัศนคติเช่นนี้ พลังเล็กน้อยที่ทุกคนร่วมกันจะสะสมเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ได้

นอกจากความรู้ ทักษะ และทัศนคติแล้ว อีกด้านที่สำคัญสำหรับการพัฒนาคนไทย คือ คุณธรรม ในส่วนนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เคยมีพระราชดำรัสว่า

“ความรู้นั้นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ที่ทำให้ยวดยานเคลื่อนไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์”

ในยุค 4.0 ที่จะมีการเปลี่ยนผ่านในหลายเรื่อง ย่อมจะมีผู้ที่ได้ประโยชน์ และถูกกระทบอย่างรุนแรง ความเมตตา จะช่วยให้พวกเราก้าวข้ามผลกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ ดังพระราชดำรัสที่ว่า

“…สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่…”

การปลูกฝังคุณธรรมคือกุญแจที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างราบรื่น ในหลายประเทศได้พยายามปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ให้เห็นความสำคัญของการเป็นคนดี โดยมุ่งเป้าไปที่การรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเมตตา และบรรจุในหลักสูตรการศึกษาที่ต้องสอนเด็กในเรื่องนี้เป็นประจำ

ผมคิดว่า คนไทยโชคดีที่บรรพบุรุษเราปลูกฝังให้เรามีคุณธรรมดีเป็นพื้นฐาน จึงเป็นมรดกของแผ่นดินที่ต้องรักษาไว้ด้วยความหวงแหนและพัฒนาให้มีมากขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างราบรื่น

ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรภาครัฐ ต้องเผชิญกับ megatrends และการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมไม่น้อยไปกว่าธนาคารกลางอื่นๆ ในโลกหรือหน่วยงานอื่นในประเทศไทย เราได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งส่วนที่จะเป็นโอกาสและปัญหา ซึ่งอาจมาถึงรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ จึงได้ปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเข็มทิศกำหนดแนวทางการทำงานและการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้โลก VUCA นี้ อีกทั้งยังมุ่งหวังให้แผนดังกล่าว

สอดรับกับแนวทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในการก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ข้างต้น ทั้งในด้านการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินให้มั่นคงเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงินโลก และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพอย่างยั่งยืน ผมขอใช้เวลาเล็กน้อยยกตัวอย่างแผนงานสองสามเรื่องดังนี้

ด้านการรักษาเสถียรภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญของการวิเคราะห์และวางแผนเศรษฐกิจ โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ big data ที่เทคโนโลยีในยุค 4.0 ทำให้มีขึ้น เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจ ติดตามการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและติดตามความเสี่ยงในโลกใหม่ได้อย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสี่ยงเฉพาะจุดลามเป็นความเสี่ยงของทั้งระบบการเงินได้

นอกจากนี้ เพื่อลดอุปสรรคของธุรกิจไทย และเอื้อให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีพัฒนาการเข้าสู่ยุคใหม่อย่างราบรื่นและไม่ก่อให้เกิดความผันผวนที่ไม่จำเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ทบทวนกฎเกณฑ์ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ภายใต้แนวทาง regulatory guillotine โดยได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในกระบวนการทบทวนกฎเกณฑ์ให้มีความทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้เหมาะสมและเป็นธรรม

ในด้านการพัฒนาระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบการเงิน สร้างโอกาสให้ภาคธุรกิจ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีราคาถูกและเป็นธรรมให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง และมุ่งให้ความสำคัญกับการก้าวให้ทันกับเทคโนโลยี เพื่อดูแลความเสี่ยงจากนวัตกรรมใหม่ๆ ไปพร้อมกัน โดยการดำเนินการที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ national e-payment ที่เป็นการร่วมมือกับกระทรวงการคลังและสมาคมธนาคารไทย ที่จะพัฒนาระบบรับและโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกกันว่าระบบ PromptPay ตลอดจนการกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ เพื่อให้กฎกติกาพัฒนาไปพร้อมกับพัฒนาการทางเทคโนโลยี ธนาคารแห่งประเทศไทยเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ระบบการชำระเงินฉบับใหม่ ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ด้านการชำระเงินตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ รวมทั้งยังได้จัดตั้ง regulatory sandbox เพื่อเป็นเวทีเปิดโอกาสให้นวัตกรรมทางการเงิน มีโอกาสถูกนำมาทดลองใช้จริงภายใต้การดูแลอย่างเหมาะสม

อีกด้านที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ คือ การมุ่งยกระดับความร่วมมือ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงเร็วและซับซ้อนมากขึ้น เราจำเป็นต้องทำงานร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การเติบโตของระบบเศรษฐกิจการเงินเป็นไปอย่างยั่งยืน

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความหลากหลายสอดคล้องกับการทำงานของธนาคารกลางสมัยใหม่ สร้างทัศนคติที่พร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อสร้างองค์กรของเราเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ และมีความเป็นเลิศด้านการวิจัย ให้สามารถเป็นองค์กร ที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน ของไทย

สุดท้ายนี้ผมคิดว่า เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ที่บริบทหลายด้านกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ยากที่จะคาดเดา มีลักษณะ VUCA และมี megatrends หลายอย่างเกิดขึ้น ดังที่ผมได้กล่าวมาแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องอาจจะรู้สึกหวั่นไหว แต่จำเป็นที่เราต้องมองโลกตามความเป็นจริง ปรับตัว มีสติรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และมองไกล ซึ่งผมเชื่อว่าการร่วมมือร่วมใจอย่างพร้อมเพรียง จะช่วยให้เราก้าวข้ามช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างราบรื่น ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เคยมีพระราชดำรัสไว้ว่า

“ความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น”

“ท่านทั้งหลายจะต้องควบคุมสติให้มั่น ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุวิกฤติ ทำความคิดจิตใจให้หนักแน่น ด้วยความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่จะร่วมกันปฏิบัติ บริหารงานทุกด้าน ได้อย่างเข้มแข็งเหนียวแน่น และประสบความสำเร็จอันงดงามตามเป้าหมาย”