ThaiPublica > คอลัมน์ > ชาวบ้านจะอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไรดี

ชาวบ้านจะอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไรดี

13 มกราคม 2017


ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/
ที่มาภาพ : http://www.thairath.co.th/media/

ความจริงผมได้เขียนเรื่องทำนองนี้มาตั้งแต่ปี 2554 ตอนอภิมหาน้ำท่วมภาคกลางของประเทศโน่นแล้ว แต่มาปีนี้ก็ยังมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ของเราอีก จึงอยากจะเอาข้อคิดของการดำรงชีวิตในสภาวะน้ำท่วมนี้ขึ้นมาบอกกล่าวให้ฟังอีกครั้ง ซึ่งคิดว่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยากในเหตุการณ์นี้ วิธีการอยู่กับน้ำท่วมแบบที่ชาวบ้านเอาไปปฏิบัติได้ง่ายว่าควรต้องทำอะไรบ้าง สรุปแบบเร็วๆ มีดังนี้ครับ

1. เมื่อน้ำท่วมแล้ว เวลาเราเดินในน้ำเราจะไม่สามารถมองเห็นพื้นที่เรากำลังจะเหยียบ การลื่นหกล้มหรือไปเหยียบของมีคมจึงเกิดขึ้นได้ง่าย สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ทำกันในยามนี้คือใช้รองเท้าแตะหรือรองเท้าฟองน้ำ จึงขอแนะนำว่าไม่ควรใช้เพราะรองเท้าพวกนี้ไม่ตรึงอยู่กับเท้าและลื่นได้มาก อยากจะแนะนำให้ใช้รองเท้าสาน คือรองเท้าแตะแบบที่มีสายรัดกับข้อเท้า ซึ่งจะทำให้เดินได้สะดวกและมั่นใจได้มากขึ้น

2. รองเท้าบูทถ้ามีก็ดี แต่รองเท้าแบบนี้ใช้ได้เฉพาะกรณีน้ำท่วมไม่มาก หากท่วมสูงเป็นเมตรก็ไร้ประโยชน์เพราะน้ำจะเข้าไปในรองเท้าบูทอยู่ดี นอกจากนี้จะใช้ได้ดีก็เฉพาะสำหรับการเดินลุยน้ำในทางราบ (ซึ่งก็ไม่ดีเท่ารองเท้าสานอย่างที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 1) และไม่สะดวกรวมทั้งอันตรายด้วยซ้ำหากต้องปีนข้ามกำแพงกระสอบทราย ส่วนรองเท้าผ้าใบขอไม่แนะนำเพราะจะอมน้ำและทำให้ติดเชื้อราที่เท้าได้

3. ในช่วงน้ำท่วมอย่าไปกังวลเรื่องไม่ให้เท้าหรือขาเปียกตลอดเวลา เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อเดินลุยน้ำมาแล้วและกลับมาบ้านหรือไปถึงพื้นที่ที่แห้งแล้วก็ควรล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและโรยแป้งให้ทั่วให้เท้าแห้ง

4. ในช่วงน้ำท่วม การไฟฟ้าฯ อาจตัดไฟ เราจึงจำเป็นต้องมีไฟฉายพร้อมถ่านไว้เตรียมพร้อม และถ้าเราสามารถจัดหาไฟฉายแบบใช้ในน้ำได้ก็ดีเพราะตกน้ำแล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าเราไม่สามารถหาไฟฉายแบบนี้ได้ก็ต้องหาแบบที่มีสายร้อยหรือคล้องข้อมือเพื่อจะได้ไม่พลัดหล่นลงน้ำ หรือเอาเชือกร้อยรูที่ก้นไฟฉาย (ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูนี้ไว้ให้) และทำเป็นสายคล้องข้อมือเอาเอง นี่ก็ใช้ได้ดีเหมือนกัน

5. ถ้ายังมีเวลาและพอหาช่างประปาได้ ก็ควรตัดต่อเอาปั๊มออกและต่อท่อประปาในบ้านเสียใหม่ ให้สามารถใช้น้ำตรงจากท่อประปาได้

6. ในช่วงน้ำท่วมนานแบบนี้ เราต้องใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด น้ำอาบถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้ให้ใช้วิธีเช็ดตัวเอา หากสถานการณ์เลวร้ายสุดๆ น้ำกินแทบจะไม่มีแล้ว เราก็ไม่ควรแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันเพราะจะเปลืองน้ำบ้วนปาก ให้ใช้แปรงสีฟันมาแปรงสดๆ โดยไม่ใช้ยาสีฟัน แบบนี้เราก็จะประหยัดน้ำไปได้ครั้งละเท่ากับน้ำกินหนึ่งมื้อ

7. เมื่อพูดถึงการถ่ายของเสีย น้ำจะท่วมบ่อเกรอะบ่อซึมด้วย เราควรชั่งใจว่าจะใช้กระดาษชำระหรือน้ำชำระดี (ล้างก้นแบบวิธีเดิมๆ ที่คนไทยใช้กัน) เพราะถ้าใช้กระดาษจะเกิดโอกาสท่อตันได้มากเนื่องจากท่อส้วมจะมีน้ำไปอยู่เต็ม แต่ถ้าใช้น้ำชำระก็จะเปลืองน้ำ อันนี้ต้องพิจารณาดูเอาเอง

8. ถ้าจะให้ดี ก็ควรใช้ส้วมเฉพาะกิจแบบถุงดำครอบเก้าอี้เจาะรู และโรยปูนขาวเข้าไปสักครึ่งกำมือต่อการถ่ายหนึ่งครั้ง ซึ่งเมื่อพอเต็มแล้วก็มัดปากถุงให้แน่น และหาที่เก็บให้ไกลตัว (จะได้ไกลกลิ่น) แต่อย่าทิ้งลงน้ำนะครับ

9. เตรียมเชือก (ใหญ่ขนาดนิ้วก้อย) ไว้สัก 2-3 ขด ขดละ 10-20 เมตร เอาไว้ใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ที่คาดไม่ถึง หรืออาจเอาไว้ใช้โยนมารับของเวลามีคนเอาของมาช่วย หรือเอาไว้ขึงตากผ้า หรือเอาไว้ผูกโยงกับเสาหรือรั้ว เอาไว้จับพยุงตัวเวลาเดินลุยน้ำ ฯลฯ

10. ในกรณีน้ำท่วมเป็นเมตร และเราจำเป็นต้องขึ้นไปอยู่บนชั้นสอง การรับของที่ส่งไปช่วยอาจไม่สะดวกทั้งสำหรับคนรับและคนให้เพราะเอื้อมกันไม่ถึง จึงควรหาตะขอหรือภาชนะบางชนิด เช่น ตะกร้อสอยมะม่วง (หาซื้อได้ตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง) มาผูกปลายเชือกและหย่อนลงมารับของ

11. ในกรณีมีกำแพงกระสอบทรายหรือกำแพงก่ออิฐกันน้ำเข้าบริเวณบ้าน ก็อย่าลืมว่าน้ำจะไหลเข้าบ้านได้โดยไหลย้อนเข้ามาตามท่อระบาย ซึ่งในเวลาปกติท่อนี้จะใช้ระบายน้ำออกจากบ้านแต่ในช่วงน้ำท่วมน้ำจะไหลย้อนเข้ามา จึงต้องอุดท่อนี้ โดยใช้กระสอบทรายอุดไว้

12. ตัดไฟทั้งบ้าน วิธีการทดสอบว่าเบรกเกอร์ (ตัวตัดไฟ) ตัวไหนใช้คุมบริเวณใดก็ทำได้ง่ายๆ โดยเอาโคมไฟหรือวิทยุตัวเล็กๆ ไปเสียบที่เต้าหรือปลั๊กไฟ แล้วสับเบรกเกอร์ขึ้นลงดูว่าไฟติดหรือวิทยุดังหรือไม่ หากไฟไม่ติดหรือวิทยุไม่ดังก็แสดงว่าไม่มีไฟเข้า หมายความว่าเบรกเกอร์ตัวนั้นใช้ควบคุมบริเวณนั้น

13. จดเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นไว้ในที่ที่จะหาดูได้ง่ายๆ เบอร์ที่จำเป็นก็คือเบอร์ของเขตหรืออำเภอของเรา เบอร์หน่วยกู้ภัยในบริเวณ ฯลฯ

14. เป้เป็นอุปกรณ์ที่สะดวกใช้ในยามฉุกเฉินแบบนี้ เพราะเราอาจต้องออกไปข้างนอกบ้าน ไปซื้อสิ่งของ ฯลฯ ซึ่งถ้ามีเป้สะพายหลังเราก็ไม่ต้องใช้มือถือของ เราก็จะมีมือทำนั่นทำนี่ได้ รวมทั้งทำให้เราเดินลุยน้ำได้มั่นคงขึ้น คือหกล้มยากขึ้น

15. ในช่วงน้ำท่วมเข้าใจว่าอาจมีงูหรือสัตว์อื่นๆ หนีน้ำขึ้นมาบนบ้านเรา เพราะฉะนั้นควรเตรียมไม้ด้ามยาวๆ เอาไว้ไล่มันออกจากบ้าน และสิ่งที่ไล่มันได้ชงัดคือกระป๋องสเปรย์พวกยากันยุง และยาฆ่าแมลง

16. ควรจัดเตรียมกล่องกระดาษและถุงขนาดใหญ่ไว้หลายๆ ใบ เพราะอาจจำเป็นต้องใช้สำหรับเก็บของจุกจิกให้เรียบร้อย เพราะเราอาจต้องอยู่หลายวัน ถ้าอะไรๆ มันเกะกะก็อาจเกิดอันตรายได้ เช่น สะดุดหกล้ม ฯลฯ

17. แนะนำให้จัดหาถังแช่ใบย่อมๆ มาเก็บไว้สักใบ เอาไว้ใส่น้ำแข็งไว้แช่ของสดตอนไฟดับ ซึ่งอาจช่วยประทังชีวิตเราไปได้อีกหลายวัน และเมื่อน้ำลดเราก็เอาไว้แช่ของอื่นตอนไปปิกนิกหรือมีงานเลี้ยงได้ เรียกว่าไม่เสียของเสียทีเดียว

18. โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในวิกฤติการณ์น้ำท่วม เพราะหากขาดมือถือ การช่วยเหลือก็จะทำได้ไม่เต็มที่หรืออาจไม่ได้เลย ดังนั้นต้องชาร์จไฟไว้ให้เต็มตลอดเวลา และไม่ควรพูดพร่ำเพรื่อเพราะระบบไฟฟ้าอาจถูกตัดได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ เวลาลุยน้ำหรือเดินบนสะพานชั่วคราวก็ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือเพราะอาจหลุดมือหล่นลงน้ำ

ก็ขอเอาเกร็ดเล็กๆ น้อยนี้มากฝากครับ หวังว่าคงพอจะช่วยอะไรได้บ้าง แต่ถ้ามันยังมีปัญหาอยู่อีก ก็ให้คิดเสียว่ายังมีอีกมากคนที่เดือดร้อนกว่าเรา และมีคนไทยทั่วประเทศอีกมากมายที่พร้อมจะส่งกำลังบำรุงทั้งทางทุนทรัพย์และกำลังใจมาให้ ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

คนไทยไม่ทิ้งกันอยู่แล้วครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกนสพ.มติชน ฉบับวันที่ 13 ม.ค.2560