ThaiPublica > คนในข่าว > “เอกนิติ” ผอ.สคร.กางแผนเมกะโปรเจกต์รัฐบาลประยุทธ์ ด้วยกองทุน “Thailand Future Fund” – สถานะ 7 รัฐวิสาหกิจหลังฟื้นฟู

“เอกนิติ” ผอ.สคร.กางแผนเมกะโปรเจกต์รัฐบาลประยุทธ์ ด้วยกองทุน “Thailand Future Fund” – สถานะ 7 รัฐวิสาหกิจหลังฟื้นฟู

4 มกราคม 2017


ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ปี 2559 ที่ผ่านมานับเป็นปีเร่งการลงทุนของรัฐบาลไทย ภายหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรับเปลี่ยนทีมและแนวนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศหลังจากที่ไม่ได้ลงทุนมาเป็นระยะเวลานาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อหล่อเลี้ยงให้เศรษฐกิจไทยเดินต่อไปได้

แต่ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงมาก อาจจะไปเบียดบังโครงการพัฒนาสังคมด้านอื่นๆที่จำเป็น รัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาขับเคลื่อนเมกะโปรเจกต์

ต่อประเด็นเรื่องการลงทุนที่จะขับเคลื่อนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการใช้รัฐวิสาหกิจเป็นอีกกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนการลงทุน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้เล่าถึงแนวทางรวมไปถึงโจทย์การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งดำเนินการมาตลอด 2 ปีว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตอบโจทย์การลงทุน

ดร.เอกนิติ เริ่มต้นกล่าวถึงแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนของรัฐบาลว่า “โดยหลักการ ประเทศไทยต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกคนรู้ว่าต้องทำ จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นผลจากที่ผ่านมาการลงทุนในไทยอยู่ในระดับต่ำมานาน สัดส่วนการลงทุนประมาณ 4% ของจีดีพี เทียบกับก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อยู่ที่ 11-12% ส่วนหนึ่งอาจจะมีผลจากการเมืองในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่างบลงทุนต้องมีความมั่นคงระดับหนึ่ง

“มารัฐบาลชุดนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นตัวหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แค่เม็ดเงินของกระทรวงคมนาคมอย่างเดียว 20 โครงการเร่งด่วน 1.8 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนจำนวนมาก โจทย์คือจะหาเงินจากไหน ประเทศไทยหนี้สาธารณะไม่ได้สูงมากจนเกินไป ประมาณ 43% ของจีดีพี เกณฑ์ความยั่งยืนทางการคลังอยู่ที่ 60% แต่ว่าไม่ได้แปลว่าช่องว่างนี้จะมีอยู่ตลอดไป”

โดยทั่วไปวิธีหาเงินมาใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทยมี 2 วิธี 1) ใช้งบประมาณ ซึ่งการใช้งบประมาณในที่สุดก็ต้องมากู้เงิน หนี้สาธารณะต้องสูงขึ้น 2) วิ่งไปหาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะโดยตรง หนี้สาธารณะก็สูงขึ้น

ดึงรายได้ในอนาคตมาลงทุน ลดภาระการคลัง

แต่ในความเป็นจริง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีหลายโครงการที่สามารถแปลงหรือนำรายได้ในอนาคตมาทำเป็นสิ่งที่เรียกว่า “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” เหมือนกับที่เอกชนทำ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งที่ผ่านมาต้องกู้เงินจากธนาคาร ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อทุนสูงตาม ดังนั้น เขาเอาสินทรัพย์ของเขาคือรถไฟฟ้าไประดมทุน จากรายได้ 30 ปีในอนาคต ออกไปขายเป็นหน่วยลงทุนเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตรงนี้เขามีรายได้ผลตอบแทนที่แน่นอน เขาได้เงินตรงนี้ไปขยายโครงการ แล้วสัดส่วนหนี้ต่อทุนก็ไม่ได้สูงขึ้น บริษัทมั่นคง

ฉันใดฉันนั้น ประเทศไทยทำไมต้องไปกู้เงินอย่างเดียว ทำไมต้องใช้งบประมาณอย่างเดียว ทำไมต้องใช้ภาษีของประชาชนอย่างเดียว สินทรัพย์บางอย่างมีคุณภาพไม่ด้อยกว่าของเอกชนเลย เช่น ทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์มีรายได้ที่แน่นอน ทำไมไม่เอารายได้ในอนาคตมาทำแบบบีทีเอส คือทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ที่เห็นชัดคือการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ไม่ต้องกู้เงิน หนี้สาธารณะของประเทศก็ไม่สูงขึ้น กรมทางหลวงไม่ต้องของบประมาณ ไม่ต้องแย่งเงินงบประมาณกับภาคที่ดูแลสังคมอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล ฯลฯ

ดังนั้น ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว ตัวแรก คือ 1)ลดภาระการคลังในระดับประเทศ 2)หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่สูงเกินไป 3)มีเงินเหลือไปลงทุนโครงการทางสังคมอื่นๆ ที่จำเป็นอีกมากมาย

ตัวที่สอง คือ สภาพคล่องส่วนเกินทั้งโลกยังมีจำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทย แค่สภาพคล่องในสถาบันการเงินไทยมี 1.4 ล้านล้านบาท  แปลว่าคนไม่รู้จะเอาเงินไปลงทุนอะไร ฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยน้อย บริษัทประกันที่มีการลงทุนระยะยาวก็อยากเอาเงินมาลงทุน แต่พันธบัตรรัฐบาลก็ได้ไม่มากและมีจำกัด ดังนั้นจึงอยากจะหาการลงทุนระยะยาว กองทุนนี้จึงเชื่อมโยงระหว่างคนที่มีเงินเหลือกับคนที่ขาดเงินคือรัฐบาล มาลงทุนในประเทศ ทำไมบีทีเอสออกมาคนจึงแย่งกันซื้อ เพราะว่าเป็นการลงทุนระยะยาวและมีรายได้ที่แน่นอน

ตัวที่สาม คือ ช่วยส่งเสริมตลาดทุน ตลาดทุนจะมีสินทรัพย์อีกตัวหนึ่งที่มีคุณภาพ เพราะว่าเราจะนำกองทุนนี้ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ความยากลำบากหรืออุปสรรคคือความเป็นรัฐกับเอกชน จะมีคนคอยคัดค้าน เพราะว่าถ้ามองในระดับประเทศมันช่วยลดภาระหนี้ แต่ถ้ามองระดับโครงการ กรมทางหลวงทำไมต้องมาทำ ไปของบประมาณไม่ง่ายกว่าหรือ หรือไปขอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กู้เงินก็ง่ายกว่า แต่ถ้ามองในระดับประเทศจะช่วยลดภาระ คำถามคือ ทำไมเราต้องเอาเงินงบประมาณ 100,000 ล้านบาทไปทำมอเตอร์เวย์ ทำไมเราไม่เอาสินทรัพย์ที่มีคุณภาพอยู่แล้วของกรมทางหลวงมาทำเป็นกองทุนใหม่ แต่ในเชิงกฎหมายอาจจะต้องดูว่าอนุญาตให้ทำหรือไม่ จากการศึกษากรณีต่างประเทศ เกาหลีใต้ก็ทำ ออสเตรเลียก็ทำ ต่างประสบความสำเร็จ

รัฐลงขัน Thailand Future Fund 1,000 ล้านบาท

สำหรับสถานะปัจจุบันและขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund กระทรวงการคลังจัดตั้งขึ้นมาแล้วเป็นเงินเริ่มต้น 1,000 ล้านบาท ต่อไปกำลังอยู่ในขั้นตอนดึงโครงการเข้ามาจึงจะออกขายหน่วยลงทุนได้ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังร่างเกณฑ์กำกับเฉพาะ เพราะรัฐบาลเชื่อในมาตรฐานเรื่องธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. ทั้งที่มีแนวทางที่อาจง่ายกว่าสำหรับรัฐบาล เช่น ออกกฎหมายใหม่ไปเลย แต่คิดว่าใช้มาตรฐานและเข้าไปอาศัยตลาดรองของ ก.ล.ต. ดีกว่า

“เรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางการคลังที่จะช่วยลดภาระหนี้ของประเทศ ขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน นี่คือจุดประสงค์หลักๆ ถือว่าเป็นจุดยากของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่คิดว่าใกล้ทำสำเร็จแล้ว”

หันกลับมาดูโครงการว่าจะทำอะไรที่มีลักษณะแบบนี้บ้าง ข้อแรก คือ ไม่ใช่ว่าทุกโครงการจะทำแบบนี้ได้ โครงการที่เป็นสร้างพื้นฐานที่ทำได้ต้องมีรายได้พอสมควรและเป็นรายได้ที่แน่นอน ไม่ใช่นำโครงการอะไรก็ได้มาทำกองทุน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีประชาชนหรือสถาบันการเงินมาซื้อหน่วยลงทุน ต้องวิเคราะห์เหมือนการนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีการทำ due diligence ต้องมีผู้ประเมินอิสระมาประเมินรายได้ที่เป็นกลาง

ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไปดูโครงการและประเมินโครงการ ปัจจุบันมีของ กทพ. ที่น่าจะเป็นอันแรก แต่ต้องรอระดับนโยบายก่อนว่าจะใช้เส้นทางไหนบ้าง ที่ประเมินแล้วจะมีเส้นทางที่มีศักยภาพ ไม่มีภาระผูกพันใดๆ ของ กทพ. คือเส้นทางบูรพาวิถีไปชลบุรี เส้นทางเอกมัย-รามอินทรา และเส้นทางพระราม 2 ซึ่งประโยชน์ที่ชัดเจนของโครงการของ กทพ. คือ รัฐจะมีรายได้พอให้ กทพ. สร้างเส้นทางใหม่พระราม 3-ดาวคะนองได้ ส่วนการขายกองทุนต้องดูจังหวะเวลา ตอนนี้มีที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) เข้ามาดู อาจจะขายได้ไตรมาสแรก

หน่วยงานต่อไปที่ดูคือโครงการของกรมทางหลวง อาจจะยังติดข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไขก่อน คือ พระราชบัญญัติค่าผ่านทาง ซึ่งอันนี้จะเห็นทางเลือกชัดเจนเลย ถ้าไม่มีกองทุน กรมทางหลวงจะต้องไปของบประมาณหรือกู้เงินอีกเป็น 100,000 ล้านบาท ถามว่ามีประโยชน์หรือไม่ มีประโยชน์ แต่ประเทศไทยอาจจะไม่ได้มีช่องว่างให้ใช้จ่ายเหลือแบบไม่จำกัดขนาดนั้น

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ดึงเอกชนร่วมลงทุน ลดเวลาเหลือครึ่งเดียว

นอกจากการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่จะช่วยภาครัฐในการลงทุนคือการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปรับกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมากลับไม่มีโครงการออกมาเลย ตอนที่เข้ามาดูมาศึกษาจึงพบว่ากฎหมายที่ออกมาใหม่กำหนดขั้นตอนไว้ละเอียดมาก เรียกว่าไม่ส่งเสริมการร่วมทุนเท่าไหร่ ประเด็นนี้เหมือนกับกรณีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐไม่มีเงินลงทุน รวมไปถึงว่าการลงทุนเอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่า

“นอกจากกฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้มากแล้ว ภาครัฐยังทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไม่ประสานงานกัน สคร. จึงขออำนาจ ครม. ให้ สคร. เป็นหน่วยงานกลางบูรณาการการทำงาน ของเดิมการทำงานต้องใช้เวลา 20 กว่าเดือน เริ่มต้นจากต้นน้ำ หากเจ้าของโครงการทำไม่ถูกต้อง พอส่งมาที่ สคร. ที่เป็นกลางน้ำก็ต้องส่งกลับไปใหม่ จึงขอว่าก่อนที่จะส่งมาให้ สคร. ให้สภาพัฒน์ให้สำนักงบประมาณเข้าไปช่วยดูตั้งแต่ต้นว่าทำถูกต้องหรือไม่ และแก้ไขให้ถูกต้อง”

พอมาถึง สคร. ถูกต้องแล้ว เจอปัญหาต่อไปว่าคณะกรรมการร่วมทุนฯ ที่จะอนุมัติขึ้นไปมีอีก 7 หน่วยงานต้องมาร่วมกันพิจารณา ซึ่งปัญหาคือการขอข้อมูลของ 7 หน่วยงานก็ไม่ตรงกัน เวลาก็ไม่ตรงกัน ให้ข้อเสนอแนะก็ไม่ตรงวันกัน สคร. ขอวันหนึ่ง สำนักงบประมาณขออีกวัน กรมบัญชีกลางขออีกวัน จึงขอวางกรอบใหม่ว่าให้มาร่วมประชุมพร้อมกัน ถามแล้วตอบเลย มีข้อคิดเห็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ส่งจดหมายตอบกันคนละวัน ก็จะใช้เวลาพิจารณาเร็วขึ้น

ส่วนปลายน้ำ การร่างสัญญา เจรจาเอกชน ก็ไปตามกระบวนการเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ แต่เรื่องร่างสัญญาขอไปอีกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะร่างบางส่วนขึ้นมาก่อน เพราะรู้เป้าหมาย รายละเอียดโครงการแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอจนถึงขั้นสุดท้าย

ระยะเวลาจึงลดลงจาก 20 เดือน เหลือ 9 เดือนเท่านั้น และสำเร็จไป 2 โครงการ คือ รถไฟฟ้าสีเหลืองและสีชมพู ถือว่าเริ่มต้นได้แล้ว เกิดขึ้นแล้ว ส่วนโครงการในระยะต่อไปมีเสนอมาอีก 700,000 ล้านบาท ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีม่วง แอร์พอร์ตลิงก์ (ARL) เป็นต้น

ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจคืบหน้า “นโยบาย” ชัดเจน

ดร.เอกนิติกล่าวต่อไปถึงแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจเร่งด่วน 7 แห่ง ซึ่งดำเนินการมาตลอด 2 ปีว่า “ส่วนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเก่า แบ่งเป็นของกระทรวงการคลัง 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์ กระทรวงคมนาคม 3 แห่ง ได้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การบินไทย (กบท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สุดท้าย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท

ความคืบหน้า 7 แห่งต้องแบ่งเป็น 3 ระดับ 1) คืบหน้าดีมาก ทำได้ตามแผนและใกล้ออกจากแผนฟื้นฟู ได้แก่

เอสเอ็มอีแบงก์

พลิกกลับมาจากตอนเริ่มที่ขาดทุนมามีกำไรแล้ว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลลดลงตามที่ตั้งเป้าหมาย สินเชื่อเน้นไปที่สินเชื่อนโยบายเอสเอ็มอี ซึ่งไม่ใช่รายใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล ปล่อยได้ตามเป้าหมาย ซึ่งการประชุมที่ผ่านมาได้เสนอให้ออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว แต่ยังมีข้อสังเกตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า หากอนุมัติให้ออกจากแผนฟื้นฟูกลับไปทำงานโดยปกติ ธนาคารควรจะต้องมีเงินสำรองที่เพียงพอรองรับความเสี่ยง

การบินไทย

การบินไทยถือว่ามีทั้งฝีมือการบริหารและโชคช่วย คือราคาน้ำมันลดลง แต่ส่วนที่เป็นฝีมือบริหารคือพยายามแก้ไขส่วนพื้นฐานของธุรกิจ ไม่ใช่แค่เข้าไปแก้ไขให้มีกำไรแล้วหยุด เพราะอาจจะเกิดจากปัจจัยช่วยคราว เช่น ราคาน้ำมัน หลักๆ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ หยุดเลือด คือ ค่าใช้จ่าย, เพิ่มรายได้ และให้ยั่งยืน ตอนนี้อยู่ในระยะที่ 2 แล้ว

ในส่วนของการเพิ่มรายได้ จะเน้นไปที่ระบบการขายและตั้งราคา ในอดีตการบินไทยใช้ระบบแมนนวล เปรียบเทียบกับสายการบินอื่นไม่ได้ ทั้งที่ที่อื่นสามารถเปรียบเทียบได้ เพราะการแข่งขันสูงมากในธุรกิจนี้ ขณะที่ระบบการขายของเดิมจะใช้วิธีตัวแทนขาย ซึ่งมักจะเก็บตั๋วไว้นานเกินไปและมาขายเมื่อใกล้หมดเวลา ผลคือเวลาจองจะไม่มีที่นั่งว่าง แต่ขึ้นไปกลับมีที่ว่าง แต่การแข่งขันในโลกต่างใช้ระบบซื้อขายออนไลน์แล้ว ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าและจัดการได้ดีกว่า ปัจจุบันการบินไทยจึงปรับระบบแบบใหม่เข้ามาแทน ผลคือทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เส้นทางออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รายได้เพิ่มขึ้น 40-50% ทันที

สำหรับเรื่องรายจ่ายที่ผ่านไปแล้ว ในอดีตจะมีรายจ่ายจากสินทรัพย์ที่ไม่ใช้ประโยชน์จำนวนมาก เช่นเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้ เราจึงพยายามจะหาประโยชน์จากสินทรัพย์ให้มากที่สุด เช่น ถ้าไม่ได้ใช้งานหรือไม่คุ้มค่าก็ขายออกไป ซึ่งจะมีเครื่องบินพิสัยไกลที่ไม่มีใครใช้แล้ว อาจจะไม่สามารถขายได้ คงทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากนี้ มีการลดรายจ่ายที่ไม่สำคัญ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลาที่อาจจะไม่จำเป็นมาก ซึ่งค่อนข้างมาก  ส่วนสวัสดิการของคณะกรรมการบริหารถูกตัดจนไม่เหลืออีกแล้ว เช่น ตั๋วฟรี ฯลฯ คาดว่าปีนี้จะกลับมามีกำไรจากการดำเนินงานได้แล้ว เป็นเป้าหมายสำคัญของการบินไทย

2) คืบหน้าปานกลาง มีความชัดเจนเชิงแผนนโยบายและเริ่มเดินตามแผนฟื้นฟูในทางปฏิบัติ ได้แก่

ไอแบงก์

ปัจจุบันมีความชัดเจนว่าจะต้องตั้งบริษัทบริหารหนี้แยกหนี้ดีและหนี้เสีย ซึ่งปัญหาหนี้เสียส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ไม่ใช่มุสลิมด้วย กลับกันมุสลิมแทบไม่มีปัญหาเลย ดังนั้น ถ้าให้ไอแบงก์อุ้มหนี้เสียที่ไม่ใช่พันธกิจด้วยคงเดินต่อไปไม่ได้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ตั้งบริษัทมาบริหารหนี้เสียส่วนนี้ไป กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโอนหนี้เสียออกมา หลังจากนั้น จะให้ไอแบงก์หาพันธมิตรที่เชี่ยวชาญการบริหารธนาคารอิสลามเข้ามาดูแลและเดินไปคู่กัน

ทีโอทีและแคท

ตอนนี้มีความชัดเจนเชิงแผนนโยบายเช่นกัน แต่เหลือการปฏิบัติ ต้องเล่ากลับถึงปัญหาว่าหลังจากหมดยุคสัมปทานรายได้ก็หายไปจำนวนมาก หลายแห่งต้องเข้าสู่การแข่งขัน รวมไปถึงแข่งกันเองด้วย แต่ข้อดีคือทั้งสองแห่งยังมีสินทรัพย์อีกจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้และเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ของประเทศ

ดังนั้น เพื่อให้มีความชัดเจนของการทำธุรกิจไม่ให้ทับซ้อนกัน ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูว่าจะทำอย่างไร โดยเดิมนโยบายคือให้แยกสินทรัพย์ของแต่ละบริษัทออกมาเป็น 6 ก้อน แต่ของใหม่คิดว่าไม่ควรมาแข่งขันกันเอง จึงตัดสินใจว่าให้ทำงานตามความเชี่ยวชาญดีกว่า โดยให้จัดตั้งบริษัทใหม่ 3 บริษัท

อันแรก Neutral Global Network (NGN) ทำโครงสร้างพื้นฐานต่างประเทศทั้งหมด เช่น เคเบิลใต้น้ำ แบ่งส่วนลงทุนกันไปให้แคทเป็นคนนำ อันที่ 2 คือ National Broadband Network (NBN) ทำโครงสรางพื้นฐานในประเทศ จะให้ทีโอทีเป็นคนนำ เพราะว่ามีลูกค้าภายในประเทศมากกว่า และอันที่ 3 Internet Data Center (IDC) ซึ่งให้แคทเป็นคนนำ แต่ทำร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนงานด้านลูกค้ารายย่อยของแต่ละบริษัท ทั้งสองบริษัทมีความตั้งใจจะหาพันธมิตรมาร่วมธุรกิจอยู่

เป้าหมายของ 2 บริษัทนี้ค่อนข้างท้าทายมาก รัฐบาลยืนยันว่าจะต้องตั้งบริษัทให้เสร็จในเดือนกรกฎาคม 2559 ปัจจุบันกำลังทำงานอย่างเต็มที่ให้ทันตามกรอบเวลา

3) คืบหน้าน้อย คือมีความไม่ชัดเจนในนโยบายและต้องปฏิบัติอีกมาก

ขสมก.

ปัจจุบันในส่วนนโยบายของ คนร. ชัดเจนแล้ว แต่ปัญหาของการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามจะแยกบทบาทระหว่างผู้ดำเนินงาน ผู้กำกับดูแล และเจ้าของ ขสมก. ที่ผ่านมาเป็นทั้งผู้ดำเนินงานและผู้กำกับ ซึ่งตอนนี้ได้แยกออกจากกันแล้ว อีกส่วนที่ต้องทำคือการปรับเส้นทางและจัดหารถใหม่ ซึ่งกำลังพิจารณาแผนฟื้นฟูอยู่ว่าจะทำอย่างไร เช่น จะใช้รถเมล์ไฟฟ้าหรือจะเป็นรถเอ็นจีวีแบบไหนดีกว่ากัน ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่บ้าง รวมไปถึงหนี้สินจะทำอย่างไร

รฟท.

คนร. เห็นว่าสิ่งที่จะฟื้นฟู รฟท. ได้เร็วที่สุดคือที่ดิน เพราะ รฟท. ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความหวังจากสินทรัพย์ที่ดินจำนวนมาก ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเดินรถถึง 39,000 ไร่ และมีที่ดินที่ดีที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น ที่ดินมักกะสัน ที่ดินตรงแม่น้ำที่บางซื่อ ที่ดินตรง กม.11 ตรงหลังสวนจตุจักร และที่ดินที่มีศักยภาพแต่ไม่ได้ทบทวนเรื่องสัญญาต่างๆ อีกจำนวนมาก รวมไปถึงที่ดินบุกรุกอีกเล็กน้อยประมาณ 1,000 ไร่ คนร. จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเต็มที่ แต่ยังต้องติดตามรายละเอียดอีก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง คนร. สั่งให้ใช้การร่วมทุนกับเอกชน  (PPP) ให้เอกชนเดินรถ แต่ รฟท. ผ่านกระทรวงคมนาคมจะขอเดินรถไฟเอง ซึ่งต้องพิจารณาอยู่