ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > แผน 3 ปีก.ล.ต. ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนตลาดทุน รับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่ม”โอกาส” ช่องทางลงทุน-การเข้าถึงข้อมูล

แผน 3 ปีก.ล.ต. ชูนวัตกรรมขับเคลื่อนตลาดทุน รับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เพิ่ม”โอกาส” ช่องทางลงทุน-การเข้าถึงข้อมูล

10 มกราคม 2017


นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. 3 ปี จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดทุน เพิ่มคุณภาพและช่องทางของผู้ระดมทุน สร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้แข่งขันในระดับสากล ที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินโลกมากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสแก่ธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทางการเงิน และพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

นอกจากนี้ ยังสอดรับกับการที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ หลักประกันทางรายได้ยังไม่เพียงพอ ตลาดทุนจึงควรสนับสนุนให้เห็นความจำเป็นของการออมและการลงทุน โดยเป็นช่องทางในการลงทุนที่เหมาะกับความต้องการของตน

แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของ ก.ล.ต. เน้น 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1) การใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงตลาดทุน 2) การส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่น่าสนใจสำหรับกิจการในประเทศและภูมิภาค 3) สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้สถาบันการเงินและกิจการเสนอสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นที่ตั้ง และ 4) พัฒนาเครื่องมือสำหรับให้ผู้ลงทุนสามารถเป็นพลังสำคัญในตลาดทุน

นายรพีกล่าวว่า ยุทธศาสตร์แรก เป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงตลาดทุน เป็นยุทธศาสตร์ที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับการก้าวไปสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค โดยการเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูล มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม มีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยลดต้นทุนการกำกับดูแลให้แก่ภาคธุรกิจ การใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล และการมีระบบที่มั่นคงเพื่อรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์

สำหรับ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นเรื่องการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่น่าสนใจสำหรับกิจการทั้งในประเทศและภูมิภาค โดยสร้างความชัดเจนในงานการกำกับดูแลผู้ระดมทุน ครอบคลุมการคัดกรองก่อนระดมทุน การติดตามการซื้อขายและการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีแผนงานที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเพื่อการยอมรับในระดับสากล เพิ่มความน่าสนใจให้แก่สินค้าในตลาดทุนไทย ขจัดอุปสรรคด้านกฎเกณฑ์ให้ตลาดทุนไทยพร้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและตลาดทุนของประเทศเพื่อนบ้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้สถาบันการเงินและกิจการเสนอสินค้าและบริการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นที่ตั้ง ยกระดับการทำหน้าที่อย่างมืออาชีพ เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์ของการมีธรรมาภิบาลในธุรกิจตน และปฏิบัติตามด้วยตัวเองมากกว่าที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ รวมถึงการปรับปรุงวิธีการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัทแม่

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาเครื่องมือสำหรับให้ผู้ลงทุนสามารถเป็นพลังสำคัญในตลาดทุน โดยการให้ความรู้ผู้ลงทุนผ่านเครื่องมือและตัวช่วยในการตัดสินใจ ไม่ถูกหลอก และรู้จักเรียกร้องสิทธิที่พึงได้ มีตัวกลางที่ให้ความเห็นอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนการพัฒนากลไกการระงับข้อพิพาทและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

“เรื่องสุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพองค์กร ก.ล.ต. เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของสำนักงาน โดยการพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรภายในองค์กร ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานให้สามารถวิเคราะห์ จัดการปัญหาได้ฉับไว และร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนอื่น ๆ ในตลาดทุนเพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด” นายรพีกล่าว (อ่านเพิ่มเติม)