ThaiPublica > คอลัมน์ > คู่มือการประชุม World Economic Forum 2017 ผู้นำโลก 1% กับเงามืดที่มากับยุคสมัยของทรัมป์

คู่มือการประชุม World Economic Forum 2017 ผู้นำโลก 1% กับเงามืดที่มากับยุคสมัยของทรัมป์

17 มกราคม 2017


ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : http://si.wsj.net/public/resources/images/BN-RQ521_2UNYZ_G_20170116102252.jpg
ที่มาภาพ : http://si.wsj.net/public/resources/images/BN-RQ521_2UNYZ_G_20170116102252.jpg

แม้ว่าในปี 2016 เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายลงไปมาก ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในขาขึ้น ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ไม่เกิดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว แต่การประชุมประจำปี 2017 ของบรรดาผู้นำโลก ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ นายธนาคาร และคนที่มีชื่อเสียง ที่เรียกว่า World Economic Forum (WEF) ณ เมืองดาวอส (Davos) สวิตเซอร์แลนด์ ที่มีขึ้นระหว่าง 17-20 มกราคมนี้ กลับไม่มีบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง

การถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรป และชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดบรรยากาศความไม่แน่นอนทางการเมือง และเงามืดที่กำลังก่อตัวขึ้นมา เพราะท่าทีของทรัมป์ขัดแย้งกับหลักการที่ยึดถือมาตลอดของชนชั้นนำเหล่านี้ที่เรียกกันว่า “ชาวดาวอส” (Davos Man) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ การค้าเสรี และการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน หรือการควบคุมระบบการเงิน โดยผ่านองค์กรระหว่างประเทศหรือการประชุมนานาชาติ แต่ผู้นำการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากกระแสประชานิยมล้วนปฏิเสธแนวคิดแบบนี้

ความเป็นมาของ WEF

ในแต่ละปี บรรดาผู้นำการเมืองและเศรษฐกิจของโลกกว่า 2,500 คน จาก 90 ประเทศ มาร่วมประชุม WEF ที่ดาวอส เมืองเล็กๆ ในสวิสที่เป็นแหล่งเล่นสกีของเทือกเขาแอลป์ ดาวอสมีพลเมืองราวๆ 11,000 คน แต่ช่วงการประชุม WEF จำนวนเพิ่มเป็น 30,000 คน การประชุมในปีนี้ คนที่จะเป็นดาวเด่นของที่ประชุม คือ นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ที่เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก แต่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ไม่ได้เข้าประชุม ทั้งๆ ที่หัวข้อหลักการประชุมปีนี้คือ “ภาวะผู้นำที่ตอบสนองและรับผิดชอบ” สอดคล้องอย่างมากกับความเป็นผู้นำของเธอ ส่วนนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง คือ แจ็ก หม่า เจ้าของอาลีบาบา

ช่วงการประชุม WEF ประชากรของดาวอสเพิ่มเป็นเท่าตัว  ที่มาภาพ : cnn
ช่วงการประชุม WEF ประชากรของดาวอสเพิ่มเป็นเท่าตัว
ที่มาภาพ : cnn

ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ทรัมป์จะไม่ส่งตัวแทนเป็นทางการของเขาเข้าร่วมประชุม WEF เพราะทรัมป์เห็นว่า การประชุม WEF เป็นที่รวมของบรรดามหาเศรษฐี ผู้นำการเมือง และคนที่ชื่อเสียง คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจที่สร้างความไม่พอใจกับกระแสประชานิยม ที่เป็นฝ่ายเลือกทรัมป์ขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ

CNN เคยรายงานว่า ในการประชุมปีที่แล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมระดับชั้นนำ หรือที่มักเรียกกันว่า คน 1% เดินทางมาร่วมประชุมด้วยเครื่องบินส่วนตัว ช่วงประชุม WEF จะมีเครื่องบินส่วนตัวมากถึง 1,700 ลำ ที่บินมาลงสนามบินต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ 2 ใน 3 ของเครื่องบินส่วนตัวเหล่านี้จะบินไปลงจอดที่สนามบินซูริก หลังจากนั้นก็ใช้บริการของเฮลิคอปเตอร์บินต่อไปยังดาวอส ในวันที่แออัดคับคั่ง มีการบริการด้วยเฮลิคอปเตอร์มากถึง 54 เที่ยวต่อวัน

การประชุม WEC มีขึ้นครั้งแรกในปี 1971 ในสมัยนั้นเรียกว่าการประชุม European Management Forum โดยเป็นการริเริ่มของนักเศรษฐศาสตร์เยอรมันชื่อ Klaus Schwab ที่ต้องการส่งเสริมให้ธุรกิจในยุโรปได้เรียนรู้วิธีการบริหารธุรกิจของอเมริกา ผู้นำการเมืองถูกเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งแรกในปี 1974 เพราะเป็นปีที่ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้นสูงเป็นครั้งแรก ในปี 1987 การประชุมเปลี่ยนชื่อเป็น World Economic Forum รวมทั้งเป็นชื่อขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่เป็นผู้จัดการประชุมนี้ เนื่องจากเป็นการประชุมประจำปีที่มีชื่อเสียงของโลก คนจึงมักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า การประชุมดาวอส หรือเรียกคนที่เข้าร่วมประชุมว่า ชาวดาวอส

การประชุม WEF อาศัยเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกราวๆ 1,000 บริษัท ที่จ่ายค่าการเป็นสมาชิกของ WEF ในจำนวนที่สูงมาก สมาชิกระดับบัตรทอง จ่ายค่าสมาชิกปีละ 600,000 ฟรังก์สวิส (21 ล้านบาท) เมื่อเป็นสมาชิกแล้ว การเข้าร่วมประชุม WEF ต้องเสียค่าเข้าประชุมต่างหาก New York Times เคยรายงานว่า ในปี 2011 ค่าบัตรเข้าประชุมราคา 71,000 ดอลลาร์ (2.4 ล้านบาท) ทั้งนี้ไม่รวมค่าที่พักและการเดินทาง

ในช่วงการประชุม WEF เมืองดาวอสกลายเป็นป้อมปราการ เพราะมีการวางระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก มีการตั้งด่านถนนที่จะเข้าเมือง และด่านตรวจตามสถานที่ประชุมต่างๆ รัฐบาลสวิสบอกว่าใช้เงินค่ารักษาความปลอดภัยประมาณ 8 ล้านดอลลาร์ ผู้เข้าร่วมประชุมจะถูกจำแนกด้วยบัตร 2 ประเภท บัตรติดตัวสีขาว หมายถึงเข้าร่วมกิจกรรมการประชุมได้ทั้งหมด ส่วนบัตรติดตัวสีส้ม สำหรับสื่อมวลชน 500 คนที่มาทำข่าว แต่เข้าไม่ได้ทุกงาน

ผู้ร่วมการประชุมประจำปีของ WEF มาจากการรับเชิญเท่านั้น นอกจากผู้บริหารบริษัทชั้นนำ 1,000 บริษัทที่เป็นสมาชิกแล้ว ยังมีการเชิญผู้นำการเมือง นักวิชาการ ผู้นำศาสนา กลุ่ม NGO และสื่อมวลชน เนื่องจากดาวอสเป็นเมืองเล็กๆ ผู้เข้าประชุมจึงสามารถเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การประชุมทางการ แต่จัดโดยบริษัทธุรกิจหรือรัฐบาล ที่สำคัญคือ การพบปะเจรจาไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำวงการต่างๆ WEF จึงเป็นการประชุมแบบสร้างเครือข่าย (Networking) ที่แพงมากที่สุด ที่แล้วมาความขัดแย้งระหว่างประเทศในหลายๆ กรณีก็สามารถตกลงกันได้โดยการเจรจาไม่เป็นทางการของผู้นำการเมืองที่ไปร่วมประชุม WEF

จุดนี้เองที่แสดงให้เห็นว่า WEF กำลังกลายเป็นองค์กรโลกอีกแห่งหนึ่ง ทุกวันนี้ คนทั่วไปยอมรับว่ามีองค์กรระหว่างประเทศไม่กี่แห่งที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น สหประชาชาติ (UN) ธนาคารโลก หรือ IMF องค์กรเหล่านี้มีอำนาจอิทธิพลที่มาจากทรัพยากรการเงิน เศรษฐกิจ และการเมืองของประเทศสมาชิก แต่อิทธิพลของ WEF มาจากการพบปะหารือกันระหว่างผู้นำโลกที่สำคัญๆ ผู้บริหาร WEF คนหนึ่งบอกว่า WEF เป็นองค์กร “หลังสมัยใหม่” (Postmodern Institution) เพราะเราพ้นจากยุคที่เคยอาศัยมหาอำนาจเป็นคนกำหนดชะตากรรมของโลกเรามาสู่การอาศัยเวทีพหุภาคีในการสร้างธรรมาภิบาลของโลก

วาระการประชุม 2017

ที่มาภาพ : https://bsazone1-2m4ngwd4.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2017/01/leadership-theme-small.jpg
ที่มาภาพ : https://bsazone1-2m4ngwd4.netdna-ssl.com/wp-content/uploads/2017/01/leadership-theme-small.jpg

หัวข้อการประชุมดาวอสในปีนี้ สะท้อนความกังวลของบรรดาผู้นำการเมืองและธุรกิจที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2016 ไม่ว่าจะเป็น Brexit หรือชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ หัวข้อหลักการประชุมคือเรื่อง ความเป็นผู้นำที่ตอบสนองและรับผิดชอบ นาย Klaus Schwab ผู้ก่อสร้าง WEF กล่าวว่า ภาวะการเป็นผู้นำในทุกวันนี้ ไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้จากอภิสิทธิ์ แต่มาจากการได้รับความไว้วางใจ เพราะทำงานเพื่อรับใช้สังคม โดยก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว และสร้างผลงานที่จับต้องได้ในสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลหลักๆ ของสังคม

Klaus Schwab กล่าวว่า ความวิตกใหญ่ๆ ของสังคมคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างเข้มแข็ง จะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจกลไกตลาด ได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะต้องคิดใหม่ออกแบบใหม่ เอกสารการประชุมของ WEF เรื่องความเสี่ยงปี 2017 ก็ระบุว่า คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และสังคมเกิดการแยกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย

การประชุมประจำปีของ WEF สะท้อนให้เห็นถึงองค์กรรูปแบบใหม่ในการแก้ไขปัญหาของโลก ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยการนำคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และท้องถิ่น มาปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกของปัญหา มีลักษณะเป็นรูปแบบเวทีการทูตสาธารณะ ความสำเร็จของ WEF ก็อาจจะวัดได้จากการเกิดกิจกรรมเลียนแบบต่อๆ มา อย่างเช่น Forbes CEO Forum หรือ Clinton Global Initiative เป็นต้น