ThaiPublica > คอลัมน์ > จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย: ส่งออกยุคผลัดใบ เลือดใหม่เร่งขับเคลื่อน

จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย: ส่งออกยุคผลัดใบ เลือดใหม่เร่งขับเคลื่อน

25 มกราคม 2017


ปิติ ดิษยทัต [email protected] ทศพล อภัยทาน [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ [email protected] University of California, San Diego

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “จุลทรรศน์ภาคส่งออกไทย: จับชีพจรภาคส่งออกจากการหมุนเวียนผู้ประกอบการ” เผยแพร่ใน website ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=3598
ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=3598

บทความเศรษฐศาสตร์เข้า“ท่า”ของผู้เขียนฉบับก่อนได้สรุปข้อเท็จจริงสำคัญ 5 ประการเกี่ยวกับภาคส่งออกไทย หนึ่งในข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า ภาคส่งออกเป็นธุรกิจที่มีการหมุนเวียนของผู้เล่นสูง โดยในแต่ละปีจะมีผู้ส่งออกประมาณ 1 ใน 3 ที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาด และมีผู้เล่นจำนวนใกล้เคียงกันต้องออกจากสนามส่งออกไปในเวลาเดียวกัน ภาคส่งออกจึงปะปนไปด้วยผู้เล่นหน้าเก่าและใหม่อยู่ตลอดเวลา ผู้เล่นทั้ง 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งในแง่ขนาด ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ การทำความเข้าใจปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเติบโต (หรือไม่เติบโตในระยะหลัง) ของภาคส่งออกไทยคงไม่ครอบคลุมเพียงพอหากเราละเลยการวิเคราะห์การหมุนเวียนของผู้ประกอบการ

งานวิจัยของผู้เขียนได้ศึกษาการส่งออกของไทยในช่วงปี 2001 ถึง 2015 โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 2001-2007, 2007-2011 และ 2011-2015 ในแต่ละช่วงเวลา เราสามารถจำแนกกลุ่มผู้ส่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เล่นเดิมที่มีกิจกรรมส่งออกในปีฐาน (Incumbents) และ กลุ่มผู้ส่งออกที่เข้าสู่ตลาด (Entrants) หรือกล่าวง่าย ๆ คือ ผู้เล่นหน้าเก่ากับผู้เล่นหน้าใหม่ การเปลี่ยนแปลงของการส่งออกโดยรวมจะมีที่มาจากทั้ง 2 กลุ่ม คือ เกิดจากการขยาย หดตัว หรือการจากไปของผู้เล่นหน้าเก่า และการขยายตัวอันเกิดจากการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นหน้าใหม่

รูปที่ 1 สรุปภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าการส่งออกและจำนวนผู้ส่งออกในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การเติบโตในช่วงแรกถูกขับเคลื่อนโดยผู้ส่งออกหน้าเก่า (Incumbents) ที่อยู่ในตลาดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ามาในตลาดเป็นส่วนเสริม ถัดมาในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการเงินโลกระหว่าง 2007-2011 อัตราเติบโตเฉลี่ยลดลงกว่าครึ่งของช่วงก่อนหน้า การเติบโตที่มาจากผู้เล่นหน้าเก่าและใหม่ลดลงในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ทว่าในช่วงหลัง ผู้เล่นเดิมในตลาดอ่อนแรงลงค่อนข้างมาก จนเราจะเห็นได้ว่าช่วงปี 2011-2015 การเติบโตหลักมากจากผู้เล่นหน้าใหม่ (Entrants = 2.4%) ในขณะที่ผู้ส่งออกหน้าเก่ากลับฉุดรั้งมูลค่าส่งออกโดยรวม (Incumbents = -0.5%) สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนถึงความยากลำบากในการปรับตัวของผู้เล่นหน้าเก่า ซึ่งอาจเผชิญการถดถอยจากการส่งออกสินค้าเดิม ๆ ในตลาดเดิม ๆ อย่างไรก็ตาม ภาคส่งออกไทยยังคงมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่สามารถหาโอกาสในการเข้าสู่ตลาด ที่อาจมาพร้อมกับช่องทางหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งช่วยประคับประคองการส่งออกไม่ให้หดตัวในระยะหลัง

รูปที่ 1 (6)

จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนผลัดของผู้เล่นเป็นมิติสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการ “วัดชีพจร” ของการส่งออกนอกเหนือจากการวิเคราะห์ในแบบเดิม ๆ ที่พิจารณาการเปลี่ยนแปลงเชิงมูลค่าในภาพรวมเท่านั้น ถึงแม้ฐานการส่งออกของประเทศไทยจะประกอบด้วยผู้ส่งออกไม่กี่รายที่มีขนาดใหญ่และดำเนินกิจการมานาน (ตามที่เรียบเรียงในบทความฉบับก่อน) แต่การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกกลับมาจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

ตารางที่ 1

ในมิติของคู่ค้า จากตาราง ตลาดที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงนี้ ได้แก่ Australia และ US ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากกลุ่มผู้เล่นเดิมที่อยู่รอด อย่างไรก็ตาม หากมองไปยังตลาดอื่น ๆ จะพบว่ากลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาด China และ Japan ที่ดูเหมือนว่าผู้เล่นเก่ากำลังเผชิญการหดตัว แต่ตลาดโดยรวมกลับเติบโตหรือถูกพยุงไว้ไม่ให้หดตัวมากด้วยพลังของผู้เล่นใหม่ และลักษณะเช่นเดียวกันสามารถเห็นได้ในตลาด East Asia, EU และ Rest of the World อีกด้วย

ในมิติของกลุ่มสินค้า สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วง 2011-2015 ได้แก่ Transportation และ Miscellaneous โดยมีกำลังหลักเป็นกลุ่ม Stay แต่สำหรับสินค้าประเภทอื่น สามารถกล่าวได้ว่า พึ่งพาการส่งออกของผู้เล่นหน้าใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้า Agricultural Products, Wood & Leather Products และ Metals & Other Materials

ในสนามที่เต็มไปด้วยผู้เล่นหน้าใหม่ คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ มีความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างผู้เล่นหน้าใหม่กับผู้เล่นหน้าเก่า และผู้เล่นที่กระโจนเข้ามาในตลาดมีพัฒนาการไปอย่างไรหากสามารถอยู่รอดในสนามการส่งออก ในงานวิจัยของผู้เขียน พบว่าผู้เล่นหน้าใหม่และผู้เล่นเดิมที่ออกจากตลาดมักมีขนาดโดยเฉลี่ยที่เล็กกว่าผู้เล่นเดิมที่อยู่รอด ไม่ว่าจะวัดจากมูลค่าการส่งออกหรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวร และมีประสิทธิภาพที่ด้อยกว่าเมื่อวัดจากอัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เล่นหน้าใหม่และผู้เล่นเดิมที่ออกจากตลาดจะมีจำนวนสินค้าและจำนวนตลาดส่งออกโดยเฉลี่ยที่น้อยกว่าผู้เล่นเดิมที่อยู่รอดอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามพัฒนาการของผู้ส่งออกที่เข้ามาในตลาด ผู้ส่งออกที่สามารถอยู่รอดได้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวทั้งในแง่ของมูลค่า จำนวนตลาด และประเภทสินค้า ดังนั้น การอยู่รอดของผู้เล่นหน้าใหม่และพัฒนาการของผู้ประกอบการเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญของการเติบโตของการส่งออกในอนาคต

เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ท่ามกลางการชะลอตัวของการส่งออกในระยะหลังนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก แต่หากมองให้ละเอียด ข้อเท็จจริงชี้ว่า ผู้ประกอบการเดิมที่เคยเป็นกำลังหลักไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเติบโตได้อย่างในอดีต และภาคการส่งออกไทยกำลังฝากอนาคตไว้ในมือผู้เล่นหน้าใหม่อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจเรียกได้ว่าอยู่ในยุคผลัดใบ

ดังนั้น นโยบายที่เกี่ยวข้องต้องเอื้อให้กับผู้เล่นหน้าใหม่อย่างเหมาะสม แม้จะเป็นในตลาดหรือสินค้าที่อยู่ตัวแล้วก็ตาม บทเรียนที่สำคัญ คือ หากไทยยังคงพะวงอยู่กับฐานการส่งออกเดิม ๆ ก็คงไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเป็นแน่