ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > เอชเอสบีซีวิเคราะห์แนวค่าค่าเงินเอเชีย มองโดนัลด์ ทรัมป์ และอีก 100 วันข้างหน้า

เอชเอสบีซีวิเคราะห์แนวค่าค่าเงินเอเชีย มองโดนัลด์ ทรัมป์ และอีก 100 วันข้างหน้า

25 มกราคม 2017


นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/
นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/

นายพอล แม็คเคล ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยอัตราแลกเปลี่ยนตลาดเกิดใหม่ ธนาคารเอชเอสบีซี ได้เขียนวิจัย Asian FX: Trump and the next 100 days “โดนัลด์ ทรัมป์ และอีก 100 วันข้างหน้า”ว่า

  • ตามสถิติในอดีต สกุลเงินเอเชียมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐ
  • การมุ่งเน้นเรื่องการกีดกันทางการค้าและเศรษฐกิจในโอกาสเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ สะท้อนว่าครั้งนี้ก็จะไม่ต่างจากอดีต
  • หากมีสัญญาณที่ทรัมป์อาจจะไม่ทำตามที่เคยเสนอไว้อย่างเต็มที่ สกุลเงินเอเชียจะมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น โดยเรายังให้น้ำหนักกับเงินรูปีอินเดีย เงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย เงินบาทไทย และเงินเปโซฟิลิปปินส์

100 วันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นห้วงเวลาสำคัญในการทำความเข้าใจกับนโยบายและลำดับความสำคัญของนโยบายของเขา รวมถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ หากย้อนพิจารณา การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชียเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วง 100 วันภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอดีตที่ผ่านมาอาจจะเป็นประโยชน์กับการคาดการณ์สิ่งที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ในช่วงแรก ภาพรวมของสกุลเงินเอเชียจะไม่ค่อยสดใส ตั้งแต่ปี 2524 ที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เข้าสาบานตนครั้งแรก สกุลเงินเอเชียจะเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วง 100 วันแรกของการปฏิบัติหน้าที่ประธานาธิบดีทุกครั้ง ยกเว้นกรณีของนายจอร์ช เอช ดับเบิลยู บุช ในปี 2532 (แผนภูมิที่ 1) ทั้งนี้ สกุลเงินเอเชียได้อ่อนค่าลงเฉลี่ยราวร้อยละ 1.5

เราคาดว่าครั้งนี้สกุลเงินเอเชียจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับที่เคยเป็นมา โดยมีตลาดมีการคาดหวังค่อนข้างสูงว่านายโดนัลด์ ทรัมป์จะออกมาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ในแนวโน้มที่แข็งแกร่งต่อไป

เป็นที่น่าสนใจว่าขนาดของการอ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียในระยะนี้ มีความพ้องกันกับจำนวนครั้งที่ประธานาธิบดีคนใหม่พูดถึงประเด็นเศรษฐกิจในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่ง (แผนภูมิที่ 2) สุนทรพจน์ครั้งก่อน ๆ เช่น ในสมัยของนายโรนัลด์ เรแกนในปี 2524 และ 2528 และนายบารัค โอบามาในปี 2552 (ช่วงวิกฤติการเงินของโลก) ซึ่งให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเด็นเศรษฐกิจ ได้ส่งผลต่อการแข็งค่าอย่างมากของเงินดอลลาร์สหรัฐ

สุนทรพจน์ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน ซึ่งความกังวลต่อสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่น่าจะมาจากถ้อยแถลงเชิงกีดกันทางการค้าซึ่งทรัมป์แสดงออกอย่างชัดเจน ภายหลังการสาบานตน ทำเนียบขาวยังได้ลงประกาศในเว็บไซต์ทางการถึงความตั้งใจจะถอนตัวจากข้อตกลงการค้า TPP และกล่าวเตือนว่ารัฐบาล “ จะปราบปราม ประเทศคู่ค้าที่ละเมิดข้อตกลงการค้าซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชาวอเมริกันในกระบวนการ”

การที่จีนและเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ส่งออก 6 รายที่สำคัญของสหรัฐฯ การเจรจาการค้ากับประเทศเหล่านี้อาจจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ วาทะจากทีมงานของทรัมป์ต่อนโยบายของจีนเข้มข้นขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และหากสิ่งเหล่านี้ทวีความรุนแรงขึ้น เราเชื่อว่าความผันผวนของค่าเงินเอเชียจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

100วันทรัมป์-1

ขณะที่การให้ความสำคัญต่อการกีดกันทางการค้าอาจจะส่งผลให้เงินวอนเกาหลี และเงินหยวนของจีนเผชิญกับแรงกดดันในการอ่อนค่าลงมากขึ้นในรอบนี้ ในทางตรงกันข้าม เงินบาทไทย และเงินเปโซฟิลิปปินส์โดยส่วนใหญ่แล้วจะยังคงรักษาระดับไว้ได้ดีที่สุดในช่วงที่ประธานาธิบดีคนใหม่เริ่มเข้ารับตำแหน่ง (แผนภูมิที่ 3) ซึ่งอาจเป็นเพราะทั้งสองสกุลไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเอชเอสบีซียังคาดว่าทั้งเงินบาท และเงินเปโซจะรักษาระดับได้ดีกว่าสกุลเงินเอเชียอื่นในภาวะที่ตลาดได้รับแรงกดดันจากนโยบายของทรัมป์

ในขณะเดียวกัน สกุลเงินของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่อ่อนแอกว่า อย่างเช่น เงินริงกิตมาเลเซีย และเงินรูปีอินเดีย และเงินรูเปียะห์อินโดนีเซียโดยปกติจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งเงินรูปีอินเดีย และเงินรูเปียะห์อินโดนีเซียมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน นั่นคือ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลง การพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศลดลง และเงินทุนสำรองต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าสองสกุลเงินดังกล่าวจะมีเสถียรภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ ในปี 2560

อย่างไรก็ดี สถิติในอดีตบ่งบอกว่ายังมีเหตุผลหลายประการสำหรับการคงมุมมองที่ค่อนข้างเป็นบวกต่อสกุลเงินเอเชียในระยะต่อไป นั่นคือ มีแนวโน้มที่อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเอเชียจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนแรกของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก่อนที่โมเมนตัมนี้จะเริ่มผ่อนคลายลง แนวโน้มดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าสู่เศรษฐกิจเอเชียมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี (แผนภูมิที่ 4)

100วันทรัมป์-2

100วันทรัมป์-3

ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับมุมมองในภาพรวมต่อสกุลเงินเอเชียของเอชเอสบีซี คือ เชื่อว่าโดยท้ายที่สุดแล้วทรัมป์จะไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังได้ และทำได้เพียงนโยบายที่ได้ลดความเข้มข้นลงจากเคยนำเสนอไว้ ทั้งนี้ ในขณะที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภามีโอกาสมากขึ้นที่จะผ่านกฎหมายได้สำเร็จในอดีต แต่การออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้อย่างแท้จริงมีจำนวนค่อนข้างน้อย คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6.5 เท่านั้น (แผนภูมิที่ 5)

เมื่อความตื่นเต้นของตลาดเกี่ยวกับประธานาธิบดีคนใหม่เริ่มจางหายไป สกุลเงินเอเชียน่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในครึ่งหลังของปี แม้เชื่อว่าจะมีความเสี่ยงที่การฟื้นตัวดังกล่าวจะกลับมาเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนเสียด้วยซ้ำ