ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตประจำปี พ.ศ. 2559

ประเด็นฮอตประจำปี พ.ศ. 2559

2 มกราคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำปี พ.ศ. 2559

  • พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สู่สวรรคาลัย
  • คุก 13 ปี “สรยุทธ” ยักยอกเงินโฆษณา
  • จากคลองจั่นสู่ธรรมกาย อัยการสั่งฟ้อง “ธัมมชโย” ฟอกเงิน-รับของโจร
  • ปลดสุขุมพันธุ์พ้นผู้ว่าฯ กทม.
  • ต่างประเทศ: “Brexit-การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร” และ “โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ”
  • พระบาทสมเด็จพระปริมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สู่สวรรคาลัย

    screen-shot-2017-01-01-at-5-22-36-am

    13 ต.ค. 2559 ได้เปลี่ยนปี พ.ศ. 2559 ให้กลายเป็นปีแห่งการสูญเสียครั้งใหญ่ของปวงพสกนิกรแห่งราชวงศ์จักรี เมื่อสำนักพระราชวังมีแถลงการณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร หรือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตในเวลา 15.52 น. ของวันดังกล่าว สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 และทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี

    สำหรับพระราชประวัติโดยสังเขปนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชสมภพ (เกิด) ในวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ที่โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกรมหลวงสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ตะละภัฎ, สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) พระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังศึกษาวิชาการอยู่ที่นั่น

    เมื่อเสด็จพระราชสมภพ ทรงมีพระนามแรกในสูติบัตรว่า “เบบี สงขลา” (Baby Songkla) ต่อมาได้รับพระราชทานพระนามทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ซึ่งในระยะแรกมีการสะกดพระนามเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิพลอดุลเดช” ก่อนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จะทรงเขียนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” สลับกันไป และทรงนิยมใช้การสะกดแบบมีตัว “ย” มาจนถึงวันสวรรคต

    ทั้งนี้ พระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีความหมายดังนี้

    ภูมิพล – ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน”
    อดุลยเดช – อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า “อำนาจ” รวมกันแล้วหมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้”

    ทรงขึ้นครองราชย์ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ตามคำทูลเชิญของรัฐสภาหลังพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรในวันที่ 28 เมษายน 2493 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2493 และพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

    พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จฯ ออกผนวชเป็นเวลา 15 วัน ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม–5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า ภูมิพโลภิกขุ โดยระหว่างที่ผนวชนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ของปีเดียวกัน

    ตลอดเวลา 70 ปีที่ทรงครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานพระราชดำริและโครงการพัฒนาไว้มากกว่า 4,350 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานในด้านต่างๆ ของพสกนิกรชาวไทยให้ได้อยู่ดีกินดี มีชีวิตที่มั่นคง โดยทรงมีหลักในการทรงงานต่างๆ ว่า “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” ซึ่งกล่าวสรุปโยรวมได้ว่า ในการทรงงานนั้น จะทรงเริ่มต้นด้วยการพยายามทำความเข้าใจปัญหาหรืองานนั้นๆ อย่างถูกต้อง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จึงมักเสด็จฯ พระราชดำเนินไปยังพื้นที่ทรงงานต่างๆ ด้วยพระองค์เอง และทรงพยายามเข้าถึงชุมชนที่ทรงงานเพื่อให้การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นไปโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้การนำทรัพยากรต่างๆ มาใช้เพื่อการพัฒนาเป็นไปอย่างตรงจุด สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงหรือแก้ปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน เพื่อการพัฒนานั้นได้เป็นไปโดยเกิดประโยชน์สูงสุด

    นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ยังทรงเผยแพร่พระราชดำรัสเรื่องแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหัวใจสำคัญคือการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาท รู้ระดับความสามารถของตน เพื่อให้พสกนิกรผู้น้อมนำแนวพระราชดำรัสนี้ไปใช้ได้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีภูมิคุ้มกันทั้งภายนอกและภายในตัวเอง ไม่ทำอะไรเกิดขีดจำกัดอย่างไร้ความพินิจพิจารณา จนอาจกลายมาเป็นผลร้ายในภายหลังได้

    และนั่นทำให้ในตลอด 70 ปีของการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาผู้เป็นพลังแผ่นดินอันไม่อาจมีอำนาจใดทัดเทียมได้อย่างแท้จริง

    คุก 13 ปี “สรยุทธ” ยักยอกเงินโฆษณา

    นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา  ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/crime/382690
    นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ http://www.dailynews.co.th/crime/382690

    หลังจากเป็นคดียืดเยื้อมานาน ในที่สุด เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษา คดีบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สรุปสำนวนชี้มูลความผิด นายสรยุทธ กรรมการผู้จัดการบริษัท และเจ้าหน้าที่ อสมท กับพวก ร่วมกันสนับสนุนยักยอกเงินโฆษณา ทำให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสียหายกว่า 138 ล้านบาท โดยศาลได้สั่งจำคุกนายสรยุทธกับเจ้าหน้าที่บริษัทไร่ส้ม 20 ปี ลดเหลือ 13 ปี 4 เดือน ส่วนอดีตเจ้าหน้าที่ อสมท คุก 30 ปี ลดเหลือ 20 ปี ไม่รออาญา ปรับไร่ส้ม 80,000 บาท

    ทั้งนี้ นายสรยุทธได้รับการประกันตัวไปด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 ล้านบาท และแม้ในช่วงเย็นของวันที่มีคำพิพากษานั้นนายสรยุทธจะไม่ได้ไปจัดรายการ “เจาะข่าวเด่น” ที่สถานีโทรทัศน์ช่องสามตามปรกติ แต่ในวันต่อมา นายสรยุทธก็ได้กลับไปทำหน้าที่เล่าข่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตามปรกติ พร้อมทั้งยังเป็นผู้อ่านข่าวคำพิพากษาที่ตัวเองได้รับด้วยตนเอง ขณะที่บอร์ดช่องสามประชุมได้ข้อสรุป ไปในทิศทางเดียวกันที่จะสนับสนุนให้นายสรยุทธทำงานร่วมกับช่องต่อไป หลังร่วมงานกันมานานกว่า 12 ปี เพราะมั่นใจว่ารู้จักนายสรยุทธดีมากกว่าคนอื่น กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนร่วมงานกัน อีกทั้งคดียังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างการพิสูจน์ในชั้นศาล

    ทว่า การที่นายสรยุทธยังคงทำหน้าที่ต่อไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วนในสังคม จนทำให้ในวันที่ 3 มี.ค. 2559 นายสรยุทธก็ได้โพสต์ข้อความลงในอินสาแกรมส่วนตัว http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1456998653 โดยระบุว่าขอยุติหน้าที่พิธีกรเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่องสามและเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย พร้อมทั้งขอบคุณครอบครัวช่องสาม แฟนข่าว และทุกกำลังใจ โดยลงท้ายว่า “จนกว่าเราจะพบกันใหม่ครับ”

    ทั้งนี้ ในส่วนของคดีดังกล่าว เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มีนายสรยุทธเป็นกรรมการผู้จัดการ ทำสัญญาผลิตรายการกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2549 ร่วมกันผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00-13.00 น. โดย อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้บริษัทไร่ส้มฯ ได้ครั้งละ 5 นาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัทไร่ส้มฯ จะต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท และร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ทุกคืนวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.30-22.00 น. โดย อสมท ตกลงแบ่งเวลาโฆษณาให้บริษัทไร่ส้มฯ ได้ครั้งละ 2 นาที 30 วินาที ถ้ามีโฆษณาเกินกว่ากำหนด บริษัทไร่ส้มฯ ต้องชำระค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท ในอัตรานาทีละไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนบาท

    แต่ในช่วงเวลาแห่งสัญญาดังกล่าว นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ อสมท ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจากบริษัทไร่ส้มฯ เป็นจำนวน 17 ครั้ง ทำให้ อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากบริษัทไร่ส้มฯ เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภาไม่รายงานการโฆษณา

    และจากการไต่สวนปรากฏว่า นายสรยุทธได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คเพื่อจ่ายเงินให้นางพิชชาภา พร้อมทั้งมีการทำเอกสารหักภาษี ณ ที่จ่ายรวม 6 ครั้ง เป็นเงิน 739,770 บาท เพื่อตอบแทนที่นางพิชชาภา มิได้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้มฯ

    จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคดีอันยาวนานที่ให้ผลเป็นการลาจอของสรยุทธ สุทัศนะจินดาในที่สุด!!

    จากคลองจั่นสู่ธรรมกาย อัยการสั่งฟ้อง “ธัมมชโย” ฟอกเงิน-รับของโจร

    screen-shot-2017-01-02-at-3-24-31-pm

    กลายเป็นเรื่องราวบานปลาย นับจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นแจ้งความดำเนินคดีกับนายศุภชัย ศรีศุภอักษร (อดีตประธานสหกรณ์ฯ) และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ คดีดำ 1241/2556 จำนวนเงิน 10,481 ล้านบาท และคดีดำ 1240/2556 จำนวนเงิน 1,921 ล้านบาท รวมทั้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ให้ดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวเพิ่มในความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์จำนวน 12,402 ล้านบาท และสหกรณ์เรียกร้องทางแพ่ง คดีดำ 1260/2556 ให้บุคคลดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 12,696 ล้านบาท ซึ่งมีการฟ้องร้องในวันที่ 29 มีนาคม 2556

    และจากการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ พบว่าในพฤติการณ์อันถูกกล่าวหาว่าเป็นการยักยอกทรัพย์นั้น มีการสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีของสหกรณ์ฯ ไปเข้าบัญชีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโยและเครือข่าย ทำให้คดีบานปลายขยายยอดไปถึงวัดพระธรรมกาย โดยพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย ต้องตกเป็นจำเลยฐานฟอกเงินและรับของโจรในที่สุด

    ต่อมา วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เวลา 18.30 น. ศาลอาญาอนุมัติหมายจับพระเทพญาณมหามุนี หรือ “พระธัมมชโย” เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร ตามที่ดีเอสไอยื่นคำร้องขออนุมัติศาลออกหมายจับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากพระธัมมชโยไม่เดินทราบมารับทราบข้อหาตามหมายเรียกครั้งที่ 3 โดยพระธัมมชโยมอบอำนาจให้นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความวัดพระธรรมกาย เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อดีเอสไอในเวลา 10.00 น. โดยระบุว่าพระธัมมชโยมีอาการอาพาธหนัก และแพทย์เห็นควรให้พักรักษาตัวเป็นเวลา 2 เดือน ทว่า ที่ประชุมดีเอสไอพิจารณาเห็นว่ามีการเลื่อนนัดมาแล้วหลายครั้ง ขณะที่ทนายความของพระธัมมชโยก็นำเอกสารมายื่นให้ดีเอสไอไม่ครบถ้วน จึงส่งเรื่องขอให้ศาลพิจารณาออกหมายจับ และศาลก็ได้พิจารณาออกหมายจับพระธัมมชโยในที่สุด

    แต่อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน พระธัมมชโยก็ยังไม่ได้มารายงานตัวตามหมายจับ โดยทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีความพยายามจะนำกำลังเข้าควบคุมตัวพระธัมมชโยที่วัดพระธรรมกายหลายครั้ง แต่ก็มีอันต้องประสบความล้มเหลวทุกครั้ง เนื่องจากต้องดำเนินการโดยระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะทางวัดและกลุ่มศิษยานุศิษย์ผู้ศรัทธาในวัดธรรมกายได้เตรียมการขัดขวางไว้ตลอดเวลา

    ติดตามซีรีย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นได้ที่นี่

    ปลดสุขุมพันธุ์พ้นผู้ว่าฯ กทม.

    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/708352)
    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/708352)

    แม้จะชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่ตลอดเวลาที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 2 สมัย รวมเกือบ 8 ปี ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องของความไม่โปร่งใสในหลายๆ ด้าน ซึ่งสามารถรวบรวมได้ดังนี้

    สมัยแรก (ระหว่างปี 2552-2556) ของการดำรงตำแหน่ง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มุ่งไปที่ปัญหาการบริหารงานมากกว่า ยังไม่ค่อยมีเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเรื่องติดกล้องวงจรปิด CCTV ครบ 2 หมื่นตัว และทำงานได้จริงหรือไม่ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ หรือการก่อสร้างสนามฟุตบอลบางกอกอารีน่าที่ล่าช้า

    สมัยที่สอง (ระหว่างปี 2556-2560) เริ่มต้นมาก็เจอกับวิกฤติ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลืองกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกรณีที่ผู้สนับสนุนปราศรัยใส่ร้ายคู่แข่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สมัยสอง กระทั่งต้องพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 4-5 เดือน โดยระหว่างนั้นได้มอบหมายให้นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. รักษาการ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำร้องเมื่อไม่ปรากฏว่ามีความผิด

    ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้เผชิญกับวิกฤติจริงๆ หลังเกิดเสียงต่อว่า กรณีที่มีฝนตกลงมาแล้วหลายพื้นที่ใน กทม. ระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหารถติด ทั้งที่อุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ก็เพิ่งสร้างเสร็จ แต่แทนที่ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงไปตามปกติ กลับหลุดวรรคทองออกมาว่า “เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่อยากให้มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ให้ไปอยู่บนดอยครับ” จนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องออกมาขอโทษคนกรุงแทน และมีแรงกดดันจากภายในพรรคเก่าแก่นี้ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ออกมาขอโทษต่อสาธารณชนด้วยเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งเกิดการแตกหักระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับ ปชป.

    และหลังจากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ถูกตรวจสอบอย่างหนักหน่วงในหลายกรณี ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 เป็นต้นมา ทั้งจากประชาชนทั่วไป องค์กรอิสระอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ “คนกันเอง” อย่างสมาชิก ปชป.

    โดยเรื่องที่ถูกตรวจสอบนั้นก็เช่น เรียกรับเงินแต่งตั้ง ขรก.-บินต่างประเทศถี่, ซื้อเครื่องดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด กทม. อย่างไม่จำเป็น, พิรุธประดับอุโมงค์ไฟแอลอีดี 39.5 ล้าน, จ้างตกแต่งห้องทำงาน ทั้งที่ทำเสร็จไปแล้ว, จัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กในราคาแพงเกินจริง (อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่)

    และในที่สุด ก็มีคำสั่งให้ระงับการปฏิบัติงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. เป็นการชั่วคราว ก่อนจะนำไปสู่การมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2559 ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในที่สุด

    ต่างประเทศ: “Brexit-การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร” และ “โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

    พ.ศ. 2559 มีเหตุการณ์ใหญ่ในต่างประเทศแต่ส่งผลให้ทั่วโลกต้องจับตามองถึงผลกระทบที่อาจตามมาอยู่ 2 เหตุการณ์ คือ

    1. การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซี (http://bbc.in/2in3SMj)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซี (http://bbc.in/2in3SMj)

    การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เป็นแนวคิดทางการเมืองที่ได้รับการบ่มเพาะมานานในสหราชอาณาจักร โดยมสาเหตุมาจากการที่ฝ่ายสนับสนุนการแยกตัวในสหราชอาณาจักรนั้นมองเห็นว่าการเป็น 1 ใน 28 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปนั้นทำให้สหราชอาณาจักรต้องสูญเสียหลายสิ่งไป โดยเฉพาะอำนาจอธิปไตยในการกำหนดและทำหรือไม่ทำเรื่องต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศตัวเอง เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎใหญ่ที่สหภาพยุโรปใช้ควบคุมประเทศสมาชิกทั้งหมด

    ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 นายเดวิด คาเมรอน (David Cameron) ได้ชูเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปเป็นนโยบายในการหาเสียง โดยรับปากว่าหากตนชนะการเลือกตั้ง ก็จะจัดทำประชามติเรื่องการแยกตัวออกจากยุโรปนี้เพื่อให้ประชาชนได้ออกเสียงหาข้อสรุปกัน

    เดวิด คาเมรอน ชนะเลือกตั้ง และจัดทำประชามติเรื่องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. 2559 (เวลาท้องถิ่น) ซึ่งผลออกมาว่า ฝ่ายที่ต้องการแยกตัวชนะการทำประชามติไปด้วยสัดส่วน 51.9 ต่อ 48.1 เปอร์เซ็นต์ โดยมีจำนวนผู้ไปใช้สิทธิ 72 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 30 ล้านคน ผู้ใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่ที่ออกเสียงให้ยังคงเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปนั้นมาจากลอนดอนและสกอตแลนด์ ที่เหลือโดยเฉพาะในย่านชนบท ภาคกลาง และเหนือของอังกฤษ ออกเสียงให้แยกตัว

    ทั้งนี้ หลักการประชามติ สหราชอาณาจักรจะไมได้สิ้นสภาพการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในทันที แต่จะใช้เวลาในการถอนตัว 2 ปี หากนายเดวิด คาเมรอน ใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้ว สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถกลับไปรวมตัวกับอียูได้อีกหากประเทศอื่นๆ ไม่ยินยอม

    2. โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

    โดนัล ทรัมป์ ที่มาภาพ: By Michael Vadon - →This file has been extracted from another file: Donald Trump August 19, 2015.jpg, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=42609338
    โดนัล ทรัมป์
    ที่มาภาพ: By Michael Vadon – →This file has been extracted from another file: Donald Trump August 19, 2015.jpg, CC BY-SA 2.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=42609338

    การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 58 กลายเป็นที่จับตามองของโลกเมื่อกลายเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง ฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกัน

    นักพยากรณ์ทางการเมืองและผลโพลต่างๆ ล้วนชี้ไปในทางเดียวกันว่าคลินตันจะต้องเป็นฝ่ายชนะทรัมป์อย่างแน่นอน ทว่า เมื่อผลการเลือกตั้งในวันที่ 8 พ.ย. 2559 ออกมา ก็กลับกลายเป็นว่า ทรัมป์นั้นเป็นฝ่ายชนะคลินตันไปอย่างพลิกความคาดหมาย

    โดยผลการเลือกตั้งนั้น แม้ทรัมป์ได้รับการเลือกจากประชาชน (poppular vote) เป็นคะแนนเสียงที่น้อยกว่าคลินตัน คือ 60,072,551 ต่อ 60,467,601 เสียง แต่เมื่อดูคะแนนเสียงจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college ในระบบ electoral vote) ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนประชาชนในแต่ละรัฐ โดยแต่ละรัฐนั้นจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน และคณะผู้เลือกตั้งจะลงคะแนนให้ผู้สมัครฯ ตามผลว่าผู้สมัครฯ คนใดได้คะแนนเสียงมากกว่าในรัฐของตน ทรัมป์กลับเป็นผู้ชนะไปด้วยคะแนน 290 ต่อ 228 เสียง

    ด้วยลีลาการหาเสียงตลอดมาของทรัมป์ ที่เต็มไปด้วยการเหยียดและกีดกันทุกสิ่งที่ “ไม่อเมริกา” รวมทั้งท่าทีนโยบายทางเศรษฐกิจแบบ “protectionism” ที่จะกีดกันประเทศอื่นอย่างสวนทางกับกระแสการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ซึ่งทุกประเทศจะเปิดเข้าหากัน ก็ทำให้เกิดความผันผวนหลายอย่างขึ้นในสหรัฐอเมริกาทันที ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงในหลายเมืองจากผู้ที่ไม่พอใจในผลการเลือกตั้ง, ความผันผวนในตลาดหุ้น ที่พุ่งขึ้นด้วยแรงหนุนของกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์, การที่ประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนียออกมาเรียกร้องให้เกิด “Calexit” หรือก็คือการแยกรัฐแคลิฟอร์เนียออกจากสหรัฐอเมริกาแบบที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และยังมีสารพัดเหตุการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ติดตามได้จากทวิตเตอร์ “Day 1 In Trump’s America” ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ชวนให้คิดว่า ไม่ว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริงดังที่กล่าวไว้ในตอนหาเสียงหรือไม่ รวมทั้งสุนทรพจน์แรกก็ออกจะมีท่าทีแตกต่างจากลีลาการหาเสียงที่ผ่านมา แต่เขาก็ได้เปิดพื้นที่ให้คนสามารถออกมาแสดงความเกลียดชังและกีดกันกันอย่างเปิดเผยแล้ว

    ทั้งนี้ ต่อผลการชนะอย่างหักปากกาเซียนและตบหน้านักพยากรณ์ที่เกิดขึ้น นักวิเคราะห์หลายรายเห็นตรงกันว่ามีประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ลึกลงไปในถ้อยคำที่เต็มไปด้วยการเหยียดและกีดกันของทรัมป์ คือความหวังของคนอเมริกันจำนวนมากว่าทรัมป์จะนำงานทั้งปวงกลับมาให้คนอเมริกันทำ หลังจากที่ต้องสูญเสียอำนาจไปในกระแสโลกาภิวัตน์ และนั่นหมายความว่า ชัยชนะของทั้งทรัมป์ ได้สะท้อนถึงกระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วย

    แต่อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์กันว่า แท้จริงแล้วท่าทีนโยบายที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเป็นเพียงการสร้างสีสันเพื่อเรียกคะแนนมากกว่าตั้งใจจะนำไปปฏิบัติจริง และเมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว ทรัมป์เองก็มีท่าทีอ่อนลงในหลายๆ เรื่องจริงๆ