ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 ม.ค. 2560: “โต้กันวันต่อวัน คดี ‘ครูจอมทรัพย์’ ตกลง ‘แพะ’ หรือ ‘แกะ’ และ “ลดสั่งลา โอบามายัน แมนนิงได้รับโทนเพียงพอแล้ว”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 ม.ค. 2560: “โต้กันวันต่อวัน คดี ‘ครูจอมทรัพย์’ ตกลง ‘แพะ’ หรือ ‘แกะ’ และ “ลดสั่งลา โอบามายัน แมนนิงได้รับโทนเพียงพอแล้ว”

21 มกราคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 ม.ค. 2560

  • โต้กันวันต่อวัน คดี “ครูจอมทรัพย์” ตกลง “แพะ” หรือ “แกะ”
  • รวมตัวฟ้อง “กทม.” ลิฟต์รถไฟฟ้าไม่เสร็จตามคำสั่งศาลปกครอง
  • โรลส์-รอยซ์ รับ “จ่ายสินบนในไทย” การบินไทย-ปตท.แถลง จะรีบจัดการ
  • บังคับเอกชนรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน
  • ลดสั่งลา โอบามายัน แมนนิงได้รับโทนเพียงพอแล้ว
  • โต้กันวันต่อวัน คดี “ครูจอมทรัพย์” ตกลง “แพะ” หรือ “แกะ”

    นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร (กลาง) ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/?p=184785)
    นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร (กลาง)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ข่าวสด (https://www.khaosod.co.th/?p=184785)

    กลายเป็นเรื่องให้ต้องติดตามอย่างวันต่อวัน กับกรณีของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตข้าราชการครูผู้ต้องโทษจำคุก 3 ปี 2 เดือน จากคดีขับรถชนคนตายที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครพนมเมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่แม้ต่อมานางจอมทรัพย์จะได้รับการอภัยโทษในปี พ.ศ. 2558 แต่โดยรวมแล้วก็ต้องติดคุกไปเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน และหลังจากพ้นโทษออกมา ปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) นางจอมทรัพย์ก็กำลังเดินหน้าเรียกร้องให้รื้อฟื้นคดีเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับตัวเอง เนื่องจากยืนยันว่าตนเป็น “แพะ” ในคดีดังกล่าว รวมทั้งมีการเปิดเผยตัวตนของ “คนร้าย” ตัวจริง นายสับ วาปี ที่เพื่อนๆ ของนางจอมทรัพย์ตามสืบด้วยตัวเองจนพบ และนายสับได้ยอมรับสารภาพรวมทั้งยินดีจ่ายเงินชดเชยหลังจากทราบว่านางจอมทรัพย์ต้องมาติดคุกแทนตน

    ทั้งนี้ ในการรื้อฟื้นคดีนั้น แม้ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะกำชับว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมไปถึงญาติของผู้เสียชีวิต แต่ก็ยังกล่าวด้วยว่า หากผลสรุปออกมาว่าพนักงานสอบสวนทำสำนวนผิดจริง ก็จะมีการเยียวยาตามกฎหมายแก่ผู้เสียหาย แต่หากผลสอบออกมา นางจอมทรัพย์แจ้งความเท็จและเป็นผู้ที่ทำผิดจริง ก็อาจจะต้องฟ้องกลับ ฐานทำให้ตำรวจเสื่อมเสียชื่อเสียง

    วันที่ 16 ม.ค. 2560 ท่ามกลางกระแสสังคมที่ดูจะชี้ชัดตัดสินไปในทางที่ว่าเป็นการจับแพะ รายงานจากเว็บไซต์ไทยพีบีเอสอ้างว่า จากข้อมูลที่ได้รับจากตำรวจชุดสอบสวน นางจอมทรัพย์ได้ทำการว่าจ้างบุคคลให้มารับสารภาพแทนเพื่อเรียกเงินเยียวยา โดยตำรวจมีพยานปากสำคัญคือ ผู้ชายคนหนึ่งที่นางจอมทรัพย์ต้องการว่าจ้างให้รับสารภาพแทน แต่เมื่อนางจอมทรัพย์ทราบภายหลังว่าพยานคนนี้ขับรถไม่เป็น จึงไม่ได้ว่าจ้าง

    วันที่ 17 ม.ค. 2560 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า บุตรสาวของผู้เสียชีวิตในคดีนี้เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2556 (หลังเกิดเหตุ 8 ปี) มีบุคคลที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของนางจอมทรัพย์มาเจรจาไกล่เกลี่ยขอชดใช้ค่าเสียหาย โดยระบุว่าจะมีคนก่อเหตุมารับผิด แต่อยากให้ไม่ติดใจเอาความ และได้มีการลงชื่อทำสัญญากันไว้แต่ก็เงียบหายไปจนกระทั่งคดีถึงที่สุด

    วันเดียวกัน พล.ต.อ. ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ซึ้งรับหน้าที่เข้าไปตรวจสอบจ้อเท็จจริงในเรื่องนี้เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบได้พบความผิดปกติหลายอย่าง ซึ่งในชั้นนี้จะให้ บช.ภ.4 ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ รับเลขคดี คาดว่าทำได้ภายในวันนี้ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องการกระทำผิด เชื่อว่าภายใน 2 วัน ทุกอย่างจะกระจ่างขึ้น ซึ่งการร้องทุกข์กล่าวโทษนี้ จะมีทั้งในส่วนที่ให้การไม่ตรงกับความจริง การได้พยานหลักฐานบางส่วนที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง และยังตรวจสอบพบขบวนการรับจ้างรับผิด โดยผู้เสียหายในชั้นนี้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ได้รับฟังข้อมูลและลงบันทึกประจำวัน

    แต่อย่างไรก็ดี พล.ต.อ. ปัญญา ระบุว่าในเบื้องต้นนี้ยังไม่ยืนยันว่านางจอมทรัพย์เข้าไปเกี่ยวพันกับการว่าจ้างขบวนการนี้หรือไม่

    นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ อดีต ส.ว. จังหวัดมุกดาหาร พ.ต.ท. จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพง อ้างว่าเคยได้รับการทาบทามเข้าร่วมกระบวนการรื้อคดีของนางจอมทรัพย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ว่า ตนไม่รู้ว่านายสับ วาปี เป็นคนขับรถวันนั้นจริงหรือไม่ ตนถามกลุ่มบุคคลที่มาพบกว่า 10 คน หลังนั่งรถตู้มาขอคำปรึกษา เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2556 ว่า ขอให้ช่วยครูจอมทรัพย์ด้วย ญาติบอกว่าครูถูกจำคุกตอนนี้ ตอนนี้เขาตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ออกจากราชการ อาจจะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญให้หาทางช่วยหน่อยเพราะว่าครูน่าสงสาร ซึ่ง พ.ต.ท. จิตต์ ได้ตอบไปว่าไม่รู้จะช่วยอย่างไรเพราะคดีถึงฎีกาแล้ว และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ตำรวจได้กันอดีต ส.ว.มุกดาหารไว้เป็นพยานหรือไม่ พ.ต.ท. จิตต์ กล่าวว่า ญาติครูจอมทรัพย์มาปรึกษาก็ให้คำแนะนำไปธรรมดา เหมือนคนทั่วไปมาปรึกษา ญาติมาปรึกษาตนแค่นิดเดียวเอง แล้วพวกเขาก็กลับไป

    อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กระบวนการต่างๆ ในเรื่องของการฟื้นคดีก็ได้ไปถึงศาลแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ได้นัดไต่สวนในวันที่ 8-10 ก.พ. 2560

    รวมตัวฟ้อง “กทม.” ลิฟต์รถไฟฟ้าไม่เสร็จตามคำสั่งศาลปกครอง

    วันที่ 20 ม.ค. 2560 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายสุพรธรรม มงคลสวัสดิ์ อายุ 50 ปี ผู้พิการเหลือร่างกายท่อนบน ครูและเลขานุการโรงเรียนวัดมหาไถ่ พร้อมด้วยกลุ่มพิการรวม 98 คนได้เดินทางมาโดยรถวีลแชร์จากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ลาดพร้าว มายังศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เพื่อยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยเรื่องกระทำละเมิด เรียกค่าเสียหายจากกรณีที่กรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการในการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS โดยเร็วตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะที่ยื่นฟ้องครั้งนี้ กลุ่มผู้พิการยังยื่นคำร้องขอยกเว้นการวางเงินค่าธรรมเนียมศาลด้วย โดยอ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.คนพิการ
           
    โดยคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์ความเสียหายสรุปว่า นายสุพรชัย โจทก์ พิการเป็นโปลิโอ ขาอ่อนแรงต้องตัดขาทั้งสองออก เป็นคนพิการตามนัยของ พ.ร.บ.คนพิการฯ ที่มีข้อจำกัดไม่อาจใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนทั่วไป
           
    ส่วนกรุงเทพมหานคร จำเลย มีอำนาจหน้าที่ในการจัดวิศวกรรมจราจร การขนส่ง การควบคุมอาคาร สาธารณูปโภค มี พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าการฯ ซึ่งจำเลยได้จัดให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริการสาธารณะ คือรถไฟฟ้า BTS โดยโจทก์เรียกร้องให้จัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ เช่น ลิฟต์ เพื่อเป็นหลักประกันในสิทธิ เสรีภาพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะได้ใช้ชีวิตเท่าเทียมคนทั่วไปเพราะโจทก์เดือดร้อน ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีการทำลิฟต์รับส่งคนพิการให้ครบ 23 สถานี และไม่จัดทำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ความพิการ
           
    โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาให้จัดทำลิฟต์และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ภายใน 1 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษา ซึ่งครบกำหนด 21 ม.ค. 2559 ทั้งนี้ เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้ว ทำให้เกิดการรับรองสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย แต่จำเลยก็ยังไม่ปฏิบัติ ซึ่งมีลิฟต์ที่ใช้ได้เพียง 3 สถานี ที่เหลือไม่มีและไม่ครบถ้วน อีกทั้งยังไม่จัดให้มีจุดจอดรถคนพิการ โดยจำเลยเพิกเฉยไม่เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหา ทั้งที่เป็นหน่วยงานรัฐมีอำนาจบังคับแก่หน่วยสาธารณูปโภคต่างให้ปฏิบัติกลับละเลย ถือว่าเป็นการจงใจละเมิดโจทก์ ที่ต้องเสียหายจากการมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การไม่ได้รับความสะดวกต่างๆ ที่คำนวณเป็นเงินวันละ 1,000 บาท รวม 361,000 บาทต่อ 1 คน โจทก์จึงมาฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลบังคับจำเลยตามฟ้องด้วย
           
    ภายหลังนายวรกร ไหลหรั่ง ทนายความโจทก์เปิดเผยว่า ตนป่วยเป็นโรคขาอ่อนแรง ต้องใช้ชีวิตบนรถเข็น จึงรวมตัวกันมาได้ 98 คน จาก 200 คน เดินทางมาศาลแพ่งเพื่อยื่นฟ้องคดี

    ด้านนายสนธิพงศ์ มงคลสวัสดิ์ ทีมทนายความ กล่าวว่า คดีนี้ยื่นฟ้อง เป็นคดีแบบกลุ่มหรือคลาสแอ็กชัน เป็นวิธีการใหม่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ ไม่ต้องฟ้องทั้ง 98 คน หรือ 200 คน แต่ยื่นฟ้องไปคนเดียวก่อน ถ้าศาลรับฟ้องแล้วค่อยร่วมเป็นโจทก์ต่อไปเพราะมูลความแห่งคดีเหมือนกัน
           
    โดยศาลแพ่งรับไว้เป็นคดีดำ ที่ พ.246/2560 และนัดไต่สวนการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลวันเดียวกับวันนัดสืบพยานวันที่ 30 มี.ค. 2560 เวลา 09.00 น. ซึ่งการไต่สวนขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล เราจะอ้างเหตุตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมสุขภาพคนพิการ ทั้งนี้ปัจจุบันมีคนพิการทั่วประเทศ 2 ล้านคนที่รอรับการดำเนินการจากรัฐในเรื่องความสะดวกในการใช้ชีวิตทัดเทียมคนทั่วไป
           
    ด้านนายธีรยุทธ สุคนธวิท ประธานเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (Transport for All) เปิดเผยว่า เครือข่ายคนพิการรวมตัวฟ้อง กทม. ต่อศาลแพ่ง กรณีที่กรุงเทพมหานาคร ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ระบุให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการ โดยเฉพาะการสร้างลิฟต์จำนวน 23 สถานีภายในเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2558 ซึ่งจากระยะเวลาตอนนี้ครบ 2 ปีแล้ว แต่สิ่งที่เห็นคือ โครงร่างการก่อสร้างเท่านั้น โดยเมื่อปีที่แล้วหลังครบเวลาคำสั่งศาล เครือข่ายฯ ได้สอบถามไปยัง กทม.เคยประกาศว่าจะสร้างให้เสร็จภายในเดือน ก.ย. 2559 แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก และ กทม.กลับไม่เร่งดำเนินการ จึงรวมตัวมาทวงถามอีกครั้ง เพราะมันคือความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน
           
    อย่างไรก็ตาม เครือข่ายฯ ต้องการสื่อไปถึงผู้บริหาร กทม. ว่า ลิฟต์เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคนพิการหรือคนที่ต้องใช้รถเข็นไม่สามารถนำรถเข็นขึ้นบันไดได้ จึงอยากให้ กทม. เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเป็นปัญหาที่ค้างคามานานมากตั้งแต่ปี 2538 ที่มีการสร้างรถไฟฟ้า (BTS) และในวันนี้ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยังศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายวันละ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน หากชนะคดีจะนำเงินที่ได้ไปไว้เพื่อใช้สร้างสาธารณูปโภคเพื่อคนพิการต่อไป

    โรลส์-รอยซ์ รับ “จ่ายสินบนในไทย” การบินไทย-ปตท.แถลง จะรีบจัดการ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://goo.gl/rslTcG)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ (https://goo.gl/rslTcG)

    เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานโดยอ้างสำนักข่าวเอพีว่า เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม ผู้พิพากษาศาลฎีกาของอังกฤษ ไบรอัน ลีเวสสัน อนุมัติข้อตกลงยุติการดำเนินคดีบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินในประเทศอังกฤษ ต่อกรณีโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนเพื่อให้ได้ขายเครื่องยนต์อากาศยานในอังกฤษ สหรัฐฯ และบราซิล

    ในการนี้ โรลส์-รอยซ์ตกลงที่จะจ่ายเงินรวม 808 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 28,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ศาลจะยังคงไต่สวนพฤติการณ์ของคนที่เกี่ยวข้องเป็นรายบุคคลต่อไป

    โรลส์-รอยซ์ยอมรับว่า ทางบริษัทจ่ายสินบนในลักษณะเดียวกันในประเทศไทยด้วย แต่เนื่องจากไม่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในไทย จึงจะยังไม่ปรากฎรายละเอียดเรื่องการจ่ายเงินใต้โต๊ะในไทยในอนาคตอันใกล้

    ต่อเรื่องดังกล่าว เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่ากรณี บริษัท โรลส์รอยซ์ ยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (Serious Fraud Office: SFO) ว่าได้มีการจ่ายสินบนในหลายประเทศที่ได้ทำการซื้อขายเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์รวมถึงประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2534-2548 นั้น

    การบินไทยขอยืนยันว่า การบินไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจ ด้วยความโปร่งใส โดยไม่มีข้อยกเว้นต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ ดังนั้น การบินไทยจะเร่งขอข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาตรวจสอบโดยละเอียด เมื่อได้รับข้อเท็จจริง การบินไทยจะพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสมในการจัดการเรื่องทุจริตครั้งนี้โดยเร็ว เพื่อจะดำรงเจตนารมณ์ของการบินไทยในด้านความโปร่งใสไว้ตลอดไป

    ส่วนปตท.นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งในเบื้องต้นประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงที่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ที่มีการใช้เครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ มาก่อน เพื่อให้กระบวนการสืบสวนดำเนินไปด้วยความโปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล

    คณะกรรมการฯกำลังเร่งรวบรวมข้อมูลการดำเนินการ กระบวนการ และผู้รับผิดชอบ การจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวในช่วงปี 2543-2556 รวมทั้งจะเชิญผู้แทนของบริษัท ซีเมนส์ ซึ่งได้ซื้อกิจการของบริษัท โรลส์-รอยซ์ เมื่อปลายปี 2557 เพื่อมาสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเอกสารของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมด้วย

    “ปตท. จะตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อสงสัยอย่างจริงจังและรอบคอบ โดยจะสรุปรายงานเบื้องต้น เสนอต่อคณะกรรมการบริษัทภายในสัปดาห์หน้า หากพบการกระทำผิด ก็จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายเทวินทร์ กล่าว

    บังคับเอกชนรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน

    ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/9kj3cl)
    ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/9kj3cl)

    วันที่ 17 ม.ค. 2560 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ ซึ่งประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนอกสิทธิ์ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บจากต้นสังกัดสิทธิรักษาพยาบาลแทนว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้การรักษาฉุกเฉินของสถานพยาบาลด้วย

    จึงได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานพยาบาลตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2559 พิจารณาในรายละเอียดของ พ.ร.บ. ว่าอะไรที่บังคับให้สถานพยาบาลเอกชนต้องดำเนินการ หรือไม่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบาย ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ก่อนนำมาพิจารณาต่อไป

    “ส่วนตารางราคาและอัตราจ่าย (Fee Schedule) ให้กับสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมให้การรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการส่งให้ 3 กองทุนที่ดูแลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง พิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนสถานพยาบาลเอกชนนั้น เท่าที่ทราบให้ความเห็นชอบในอัตราดังกล่าวแล้ว และมีสถานพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งพร้อมที่จะเข้าร่วมตามนโยบายนี้ แม้จะไม่ได้กำไรแต่เป็นการช่วยชีวิตคนไข้ได้” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

    ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. กล่าวว่า มาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2559 กำหนดให้สถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาวะอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ เท่ากับว่าสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งจะต้องให้บริการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินตามที่กฎหมายบังคับ

    “ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น สบส. จะต้องจัดทำกฎหมายลูก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการ ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการรักษาฉุกเฉินจะเป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์ฯนี้ โดยจะต้องมีการแต่งตั้งอนุกรรมการจัดทำกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2559 มีรองอธิบดี สบส. เป็นประธาน ทั้งนี้ จะมีการนำค่าใช้จ่ายที่ สพฉ. ทำเสร็จแล้วมาใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอนุกรรมการฯ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.จึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเมื่อหลักเกณฑ์ฯนี้ของสบส.ประกาศใช้แล้ว สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นเชิงควบคุม ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่ สพฉ.จะเป็นเชิงขอความร่วมมือ ” ทพ.อาคมกล่าว

    ลดสั่งลา โอบามายัน แมนนิงได้รับโทนเพียงพอแล้ว

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (https://goo.gl/MvGGnT)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐ (https://goo.gl/MvGGnT)

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานโดยอ้างสำนักข่าวต่างประเทศ ว่าเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แถลงปกป้องการตัดสินใจของตัวเองในการลดโทษให้แก่นายเชลซี แมนนิง หรืออดีตพลทหารแบรดลีย์ แมนนิง วัย 29 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างรับโทษจำคุกเป็นเวลา 35 ปี ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2556 ในข้อหาจารกรรมข้อมูลทางราชการมากกว่า 700,000 ฉบับ ให้แก่เว็บไซต์วิกิลีกส์ ให้ได้รับอิสรภาพจากเรือนจำทหารฟอร์ต ลีเวนเวิร์ธ ที่ในรัฐแคนซัส ในวันที่ 19 พ.ค. 2560 นี้ ซึ่งเร็วขึ้นจากกำหนดการปล่อยตัวเดิมคือในปี 2588 ว่า “แมนนิงได้รับโทษสถานหนักเพียงพอแล้ว”

    นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 20 ม.ค. 2560 ได้กล่าวด้วยว่า โลกในยุคไซเบอร์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันหาทางรักษาความสมดุลระหว่าง “การเปิดเผย” กับ “ความโปร่งใส” ตามกรอบของประชาธิปไตยได้ ทั้งนี้ แมนนิงเป็นหนึ่งในนักโทษ 209 คนซึ่งได้รับการลดโทษ  และมีนักโทษอีก 64 คนได้รับการอภัยโทษด้วย 

    ขณะที่วิกิลีกส์เผยว่านายจูเลียน อาสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ซึ่งลี้ภัยอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ประจำกรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 2555 ยินดีเดินทางไปยังสหรัฐเพื่อเข้ารับการไต่สวนตามกฎหมาย หลังอาสซานจ์ประกาศด้วยตัวเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่าพร้อมยุติการลี้ภัยในสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ หากรัฐบาลวอชิงตันมอบอิสรภาพให้แก่แมนนิง 

    อย่างไรก็ตาม นายแบร์รี พอลแล็ก ทนายความของอาสซานจ์ กล่าวว่าการตัดสินใจของโอบามายังไม่ตรงตามการเรียกร้องของอาสซานจ์ ซึ่งต้องการให้แมนนิงได้รับการปล่อยตัว “ทันที” ไม่ใช่ต้องรอถึงเดือน พ.ค. และตั้งเงื่อนไขว่าสิทธิและเสรีภาพของอาสซานจ์ต้องได้รับการ “รับรอง” ระหว่างอยู่ในสหรัฐฯ