ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ม.ค. 2560: “แก้ไข รธน. ชั่วคราว รับสนองข้อสังเกตพระราชทาน” และ “ปิดปากเงียบ ‘ทายาทซัมซุง’ ลุ้นหมายจับ”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ม.ค. 2560: “แก้ไข รธน. ชั่วคราว รับสนองข้อสังเกตพระราชทาน” และ “ปิดปากเงียบ ‘ทายาทซัมซุง’ ลุ้นหมายจับ”

14 มกราคม 2017


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 7-13 ม.ค. 2560

  • แก้ไข รธน. ชั่วคราว รับสนองข้อสังเกตพระราชทาน
  • แพะคุกฟรีปีหกเดือน ครูสาวแพ้คดีขับรถชนคนตาย
  • แพทย์โต้ “บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95%” ไม่จริง-ไม่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ
  • จริงหรือหลอก โฆษกศิษย์ธรรมกายโผล่ฝรั่งเศส
  • ปิดปากเงียบ “ทายาทซัมซุง” ลุ้นหมายจับ
  • แก้ไข รธน. ชั่วคราว รับสนองข้อสังเกตพระราชทาน

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (http://bbc.in/2iQIgp1)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์บีบีซีไทย (http://bbc.in/2iQIgp1)

    จากรายงานของบีบีซีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ปัจจุบันทูลเกล้าฯ ถวายแล้วว่า ภายหลังทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ องคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา 3-4 รายการ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจพระองค์ท่าน สำนักราชเลขาธิการจึงทำเรื่องมาที่รัฐบาล รัฐบาลจึงรับสนองพระบรมราชโองการฯ โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เปิดช่องให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เมื่อแก้เสร็จแล้ว จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ โดยใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ถึงจะทูลเกล้าฯ อีกครั้ง

    ในการนี้ นายกรัฐมนตรีจึงส่งหนังสือด่วนถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ตามมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ฉบับปี 2557 วิป สนช. จึงมีมติ บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ในวันที่ 13 ม.ค. 2560 โดยจะเป็นการพิจารณา 3 วาระรวดเพื่อความรวดเร็ว และให้เป็นไปตามโรดแมป

    และต่อมา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 13 ม.ค. 2560 เว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์รายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเข้าชี้แจงและร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ ได้กล่าวชี้แจงว่า แก้ไขใน 2 ประเด็น คือ

    ประเด็นแรก เพิ่มข้อความในมาตรา 2 ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี และประเด็นที่ 2 แก้ มาตรา 39/1 เพื่อให้เกิดอำนาจและความชอบธรรมในการขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญกลับคืนมาแก้ไข เนื่องจากสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมาว่ามีข้อสังเกตบางประการที่ต้องรับไปดำเนินการ และรัฐบาลได้พิจารณาร่วมกับ คสช. แล้วเห็นควรว่าจะต้องดำเนินการในขณะนี้ เพราะหากปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ แล้วค่อยแก้ไข แม้โดยกลไกทางกฎหมายจะทำได้ แต่การจะแก้ไขบางข้อความในบางหมวดจำเป็นจะต้องนำไปทำประชามติ ซึ่งจะใช้เวลายืดยาวและกระทบกระเทือน เรื่องอื่นๆ และปัญหามีอยู่ว่าเมื่อทูลเกล้าฯ แล้วตกอยู่ในพระราชอำนาจแล้วรัฐบาลจะนำกลับมาแก้โดยพลการไม่ได้ จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ให้เกิดความกระจ่างแจ้ง

    ทั้งนี้ ในวาระ 2 ที่ประชุมได้ปรับแก้ไข มาตรา 3 เพิ่มเติมความว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารราชภาระไม่ได้ด้วยประการใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้สนองพระราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้วมิให้นำความในมาตรา 18/19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

    ส่วนมาตรา 4 ที่ ยกเลิกความวรรค11 ของ มาตรา39/1 และให้เพิ่มข้อความ เป็น เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเกล้าทูลกระหม่อมถวาย หากกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความภายใน 90 วัน ให้นายกรัฐมนตรีขอพระราชทานคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกต และประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภให้สอดคล้องกัน และให้นายกรับมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระม่อมภายใน 30 วันตั้งแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนตามที่ขอ

    และเมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรับธรรมนํญที่มีการแก้ไขขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมและทรงลงพระปรมาธิไธยให้ประกาศใช้ในการราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างที่แก้ไขเพิ่มเติมและไม่พระราชทานคืนกลับมา หรือพ้น 90 วันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างขึ้นทูลเกล้าแล้วมิได้พระราชทานคืนให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมเป็นอันตกไป

    ทั้งนี้ ที่ประชุม สนช. ได้มีมติเอกฉันท์เห็นชอบแก้ไขทั้ง 2 มาตรา ตามที่เสนอ และภายหลังใช้เวลานานเกือบ 3 ชั่วโมง ที่ประชุม สนช. ได้ทำการลงมติในวาระ 3 ด้วยการขานชื่อสมัครรายบุคคล ก่อนจะมีมติเป็นเอกฉันท์ 228:0 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป

    แพะคุกฟรีปีหกเดือน ครูสาวแพ้คดีขับรถชนคนตาย

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/FkSJjP)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/FkSJjP)

    กลายเป็นเรื่องสะเทือนวงการยุติธรรมไทยอีกครั้ง จากกรณีนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูที่ตกเป็นผู้ต้องคดีถูกศาลพิพากษาตัดสินให้จำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เมื่อปี 2548 และได้รับอภัยโทษเมื่อปี 2558 รวมติดคุก 1 ปี 6 เดือน

    นางจอมทรัพย์เล่าว่า ระหว่างที่ตนถูกจองจำ เพื่อนๆ ต่างจังหวัดและญาติได้ทำการสืบทะเบียนสานต่อไว้แต่ต้นก่อนจะติดคุก และสืบต่อไปจนพบผู้ก่อเหตุตัวจริงซึ่งยอมรับสารภาพว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของรถคันก่อเหตุ โดยยืนยันว่าแซงขวาแล้วเฉี่ยวชนจริงก่อนจะจอดรถลงไปดู เมื่อเห็นผู้ตายแน่นิ่งจึงขับหนีไป แต่ไม่คิดว่าจะมีคนติดคุกแทน ทั้งนี้ ผู้ก่อเหตุรายนี้ได้ชำระค่าเสียหายให้กับครอบครัวของนางจอมทรัพย์เป็นเงิน 170,000 บาท 

    อย่างไรก็ดี นางจอมทรัพย์และญาติได้ร้องไปยังกระทรวงยุติธรรมและดีเอสไอให้รื้อคดีขึ้นมาไต่สวนใหม่ ในวันที่ 16 มกราคม 2560 เนื่องจากยืนยันว่าตนเป็นแพะรับบาปของคดีนี้ และเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมและชื่อเสียงของตระกูล ที่แม้จะพ้นโทษมาแล้วแต่สังคมรอบข้างและเพื่อนร่วมงานยังตราหน้าว่าเป็นฆาตกร 

    เรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ข่าวสด

    แพทย์โต้ “บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95%” ไม่จริง-ไม่เป็นที่ยอมรับทางวิชาการ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/SJCMMm)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เดลินิวส์ (https://goo.gl/SJCMMm)

    วันที่ 13 ม.ค. 2560 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า จากกรณีที่มีการตั้งคำถามหรือกระทั่งโจมตีรัฐบาลที่ห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการอ้างอิงรายงานจากประเทศอังกฤษว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังบอกว่าเป็นรายงานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษให้การยอมรับ

    ต่อเรื่องดังกล่าว ศ. นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า Lancet วารสารทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือที่สุดของประเทศอังกฤษ ฉบับเดือน ส.ค. 2558 ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่วิจารณ์หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษว่า รีบด่วนยอมรับข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่ง ภายหลังจากการประชุมปฏิบัติการเพียง 2 วัน เมื่อเดือน ก.ค. 2556 ซึ่งสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% โดยไม่มีการระบุที่มาที่ไปของคณะผู้เชี่ยวชาญที่สรุปความเห็นดังกล่าว อีกทั้งหนึ่งในผู้รายงานผลการวิจัยรายหนึ่งยังเป็นผู้แทนจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

    ทั้งนี้บรรณาธิการวารสาร European Addiction Research ที่ตีพิมพ์รายงานดังกล่าว ได้ระบุในท้ายบทความด้วยการเตือนผู้อ่านว่า บทความดังกล่าวมีประเด็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

    “นิโคตินเป็นอันตราย โดยเฉพาะต่อการพัฒนาสมองของเด็ก และบุหรี่ไฟฟ้ามีการเติมสารเคมีหลายๆ ชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่ยังไม่ทราบผลกระทบในระยะยาว ที่สำคัญมีการส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยการเติมสารเคมี ปรุงแต่งกลิ่นรสที่เย้ายวน” ศ. นพ.ประกิต กล่าว

    ศ. นพ.ประกิต เปิดเผยต่อไปว่า ข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการของประเทศอังกฤษและในประเทศอื่นใดอีกเลย ขณะที่รายงานของนายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกา กรณีปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน ที่เสนอต่อสภาคองเกรสเปิดเผยเมื่อ ธ.ค. 2559 สรุปว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เข้าข่ายเป็น “ยาหรือสิ่งเสพติดเริ่มต้น” (Gateway drug) อย่างไรก็ตามข้อมูลการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขและองค์การอนามัยโลกในปี 2558 พบว่าเด็กไทยอายุ 13-15 ปี มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้า 3.3% เป็นเพศชาย 4.9% และเพศหญิง 1.8% ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะได้จำนวนเด็กอายุ 13-15 ปี ประมาณหนึ่งแสนคนใช้บุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นหากเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรี จำนวนเด็กจะยิ่งเพิ่มขึ้นกว่านี้ จึงขอให้รัฐบาลยืนหยัดในนโยบายที่ห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรีต่อไป

    จริงหรือหลอก โฆษกศิษย์ธรรมกายโผล่ฝรั่งเศส

    ภาพนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย ในร้านอาหารที่ฝรั่งเศส ที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/bsIi2j)
    ภาพนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย ในร้านอาหารที่ฝรั่งเศส ที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/bsIi2j)

    จากกรณีที่มีการแชร์รูปภาพของนายองงอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์ วัดพระธรรมกาย นั่งกินอาหารญี่ปุ่นในฝรั่งเศสกับพระลูกวัด ทั้งที่เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหายุยง ปลุกปั่น ตามความผิดมาตรา 116 (2) ซึ่งศาลอาญาได้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุมนายองอาจที่บ้านพักใน จ.ปทุมธานี แต่ไม่พบตัว และมีกระแสข่าวว่านายองอาจหนีออกนอกประเทศไปแล้ว จนกระทั่งมีการแชร์รูปของนายองอาจในโลกออนไลน์ดังกล่าว

    พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอทำการตรวจสอบ และ พ.ต.อ. ไพสิฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการส่งหมายจับนายองอาจไปยังด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ แต่ไม่มีรายงานเข้ามาว่านายองอาจเดินทางออกนอกประเทศไปด้วยช่องทางใด แต่หากมีหลักฐานชัดเจนว่าหลบหนีหมายจับออกนอกประเทศ ก็จะต้องมีการทำเรื่องขอส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน

    ปิดปากเงียบ “ทายาทซัมซุง” ลุ้นหมายจับคดีสินบน

    ลี แจยอง ทายาทรุ่นที่สามของซัมซุง ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/Tx57zF)
    ลี แจยอง ทายาทรุ่นที่สามของซัมซุง
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/Tx57zF)

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อ 13 ม.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายลี แจยอง รองประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของบริษัทซัมซุง และทายาทผู้สืบทอดธุรกิจยักษ์ใหญ่ซัมซุง ได้ออกมาจากสำนักงานอัยการพิเศษ ในกรุงโซล เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 13 ธ.ค. 2559 หลังโดนคณะอัยการสอบสวนเครียดนานถึง 22 ชั่วโมง กรณีตกเป็นผู้ต้องสงสัยมอบเงินการกุศลนับ 30,000 ล้านวอน หรือราว 891 ล้านบาท เข้ามูลนิธิของนางชเว ซุนซิล เพื่อนสนิทของประธานาธิบดีปาร์ก กึนเฮ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับการสนับสนุนจากการควบรวมกิจการของบริษัทในเครือซัมซุง 2 บริษัท

    ข่าวแจ้งว่า นายลี แจยอง หรือรู้จักกันในชื่อ เจ วายลี ไม่ยอมตอบคำถามของบรรดาผู้สื่อข่าวขณะเดินออกมาจากสำนักงานอัยการพิเศษ และเดินตรงไปขึ้นรถยนต์ที่จอดรออยู่ ขณะที่สำนักงานอัยการพิเศษระบุว่า ทางคณะอัยการจะตัดสินใจในวันอาทิตย์ที่ 15 ม.ค. 2560 ว่าจะขอออกหมายจับกุมนายลี แจยอง วัย 48 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของบริษัทซัมซุง หรือไม่ และขณะนี้ยังไม่มีแผนจะเรียกนายลีมาสอบสวนเพิ่มเติมแต่อย่างใด

    ขณะที่โฆษกของบริษัทซัมซุงเพียงแต่บอกกับนักข่าวว่า นายลีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาบางข้อและยอมรับในบางเรื่อง แต่ขอปฏิเสธที่จะอธิบายรายละเอียดใดๆ ในเรื่องนี้ ทั้งนี้ คณะอัยการเกาหลีใต้กำลังพยายามสืบหาความจริงว่านายลีได้ให้การเท็จหรือไม่ ระหว่างถูกเรียกให้ไปชี้แจงในเรื่องนี้ต่อสภาเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และปฏิเสธว่าไม่ได้สินบนแก่นางชเวตามข้อกล่าวหา