ThaiPublica > คอลัมน์ > “เฮทสปีช” ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (2)

“เฮทสปีช” ออนไลน์ กับวิธีกำกับดูแล (2)

30 มกราคม 2017


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วผู้เขียนพูดถึงวิธีกำกับดูแล “เฮทสปีช” ของเฟซบุ๊ก สื่อโซเชียลชื่อดัง และทิ้งท้ายด้วยข้อถกเถียงเชิงหลักการว่า ทำไมเราจึงต้องครุ่นคิด นิยาม และหาวิธีจัดการกับการแสดงออกชนิดนี้ ในเมื่อมันเป็นเพียง “คำพูด” เท่านั้นเอง?

คำตอบมีมากมาย แต่ผู้เขียนเห็นว่าคำตอบที่มีเหตุมีผลที่สุด คือ เฮทสปีชเป็นเพียงคำพูดก็จริง แต่มันก็เป็นการคุกคามข่มขู่คนให้รู้สึกหวาดกลัวเพียงเพราะสังกัดกลุ่มบางกลุ่ม ส่งผลให้ไม่มั่นใจว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสถานะทางสังคมของพวกเขามั่นคงจริงไหม พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นตามกฎหมายจริงหรือไม่

เราควรกังวลเรื่อง “เฮทสปีช” ไม่ใช่เพราะเนื้อหาของมันทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจ เพราะโลกออนไลน์เต็มไปด้วยสิ่งที่เรารังเกียจหรือรู้สึกไม่สบายใจ และเนื้อหาเดียวกันคนอื่นมาอ่านอาจรู้สึกเฉยๆ ก็ได้ แต่เป็นเพราะว่ามันบั่นทอนกลุ่มคนที่ถูกกดขี่มาแล้วมากมายในอดีต

การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอดีตที่ชัดเจนว่าเคยตกเป็น “เหยื่อ” ของความรุนแรงหรือการถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ จึงเป็นเหตุผลอันดีที่เราควรหาวิธีจัดการกับคำพูดที่ปลุกเร้าความเกลียดชังต่อพวกเขา เพราะเราย่อมไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

คำพูดทำนอง “คนยิวทั้งหมดสมควรตาย” จึงน่ากังวล เพราะคนยิวเคยถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างโหดเหี้ยม แต่คำพูดทำนอง “คนเยอรมันผิวขาวทั้งหมดสมควรตาย” ไม่น่ากังวล เพราะพวกเขาในฐานะที่สังกัดกลุ่ม “คนเยอรมันผิวขาว” ไม่เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะรู้สึกหวาดกลัวน้อยกว่ามาก หรือรู้สึกเฉยๆ

hatespeech-W

พูดอีกอย่างคือ ก่อนที่คนในสังคมจะมาถกเถียงอภิปรายกันได้อย่างชัดเจนว่า “เฮทสปีช” แบบไหนที่เราควรเป็นกังวลและเรียกร้องให้ “จัดการ” (ส่วนจะจัดการด้วยกฎหมาย กติกาของบริษัทโซเชียลมีเดีย หรือการดูแลกันเองของคนใช้เน็ต หรือทุกกลไกเหล่านี้ผสมกัน ก็เป็นอีกประเด็น) เราจะต้องมี “ความทรงจำร่วม” ที่ชัดเจนว่า คนกลุ่มไหนในสังคมที่เคยเป็น “ผู้ถูกกระทำ” หรือยังคงมีสถานะนั้นๆ อยู่ในปัจจุบัน

ในสังคมที่ไร้ “สำนึกทางประวัติศาสตร์” อย่างสังคมไทย ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถไปถึงขั้นที่บรรลุ “ข้อตกลงร่วมกัน” ว่า “เฮทสปีช” นิยามไหนที่เราควรจัดการ และควรจัดการกับมันอย่างไร

อย่างไรก็ดี การครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หรือยักไหล่บอกว่าช่างมันฉันไม่แคร์

หลายปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามฉายภาพ “เฮทสปีช” ในสังคมออนไลน์ไทย ตัวอย่างงานที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาก คือ รายงานวิจัยเรื่อง “การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” จัดทำโดยศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย รศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ เผยแพร่ปี พ.ศ. 2556

บรรยากาศการแถลงผลการวิจัยเรื่องเฮทสปีช พ.ศ. 2556
บรรยากาศการแถลงผลการวิจัยเรื่องเฮทสปีช พ.ศ. 2556

งานวิจัยชิ้นนี้เสนอว่า ตัวอย่างของเฮทสปีชในสังคมไทยที่ผ่านมา เช่น การเผยแพร่แนวคิดเรื่อง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือไม่นานนี้คือกรณีของ “ก้านธูป” นักเรียนคนหนึ่งที่ถูกคุกคามและข่มขู่อันเนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต

คณะวิจัยพยายามค้นหานิยามเชิงปฏิบัติการของ “เฮทสปีช” ซึ่งเป็นการโจมตีบุคคลจาก “ลักษณะเฉพาะ” ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย และการทำให้ไม่มีที่ยืนในสังคม โดยนิยาม “ความเกลียดชัง” ว่า หมายถึง การใช้คำพูดหรือการแสดงออกทางความหมายใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อโจมตีกลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคล โดยมุ่งไปที่ฐานของอัตลักษณ์ซึ่งอาจจะติดตัวมาแต่ดั้งเดิม หรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สีผิว สถานที่เกิด/ที่อยู่อาศัย อุดมการณ์ทางการเมือง อาชีพ หรือลักษณะอื่นที่สามารถทำให้ถูกแบ่งแยกได้ การแสดงความเกลียดชังที่ปรากฏอาจเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือยุยงส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชัง ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงด้วยก็ได้

จากนิยามเชิงปฏิบัติการของเฮทสปีชข้างต้น คณะวิจัยสามารถจำแนกวัตถุประสงค์ของการสื่อสารความเกลียดชังได้ 4 ประเภทใหญ่ คือ 1) ไม่สะท้อนวัตถุประสงค์ชัดเจน 2) มีแนวโน้มสร้างความเข้าใจที่ผิดหรือมีอคติต่อกลุ่มเป้าหมาย 3) ยั่วยุหรือทำให้เกิดความเกลียดชังหรือสบประมาทอย่างร้ายแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย และ 4) กำจัดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งการปฏิเสธการอยู่ร่วมในสังคมเดียวกัน และการทำร้าย/ทำลายล้างกลุ่มเป้าหมาย

ระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชัง พบ 4 ประเภทใหญ่ คือ 1) การแบ่งแยกแบบไม่ตั้งใจต่อกลุ่มเป้าหมาย 2) การตั้งใจแบ่งแยก/กีดกัน/สร้างความเป็นเขา-เราต่อกลุ่มเป้าหมาย 3) การยั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย และ 4) การยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มเป้าหมาย

ข่าวกรณี "ก้านธูป"
ข่าวกรณี “ก้านธูป”

จากการวิเคราะห์เนื้อหาในพื้นที่ออนไลน์ไทย 3 รูปแบบ คือ 1) กระดานสนทนา ได้แก่ พันทิป.คอม และ เอ็มไทย 2) เครือข่ายสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก และ 3) เว็บไซต์แบ่งปันคลิปวิดีโอ ยูทูบ คณะวิจัยพบว่า ฐานความเกลียดชังอันดับแรก คือ อุดมการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และพบมากที่สุดในยูทูบ ส่วนฐานความเกลียดชังรองลงมาคือ ศาสนาและชาติพันธุ์

สำหรับ “วิธี” กำกับดูแลเฮทสปีชนั้น ในต่างประเทศพบว่ามีความพยายามที่จะให้ชุมชนหรือคนกลางที่อยู่ในสังคมนั้นๆ มาร่วมกันกำกับดูแลมากขึ้น เพราะการกำกับดูแลโดยรัฐ (เช่น กฎหมาย) ไม่สอดคล้องกันทุกประเทศ เนื่องจากยึดถือคุณค่าที่แตกต่างกัน (ส่วนหนึ่งเพราะมี “อดีต” การกดขี่คุกคามคนบางกลุ่มที่แตกต่างกัน เช่น สังคมเยอรมันย่อมอ่อนไหวต่อเฮทสปีชต่อชาวยิวมากกว่าประเทศอื่น)

ปัจจุบันเราได้เข้าสู่ยุคเว็บ 2.0 หรือเว็บที่ผู้ใช้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาได้เอง (user-generated content หรือ UGC) การกำกับดูแลตนเองจึงซับซ้อนมากขึ้น คณะวิจัยประมวลวิธีกำกับดูแลในยุค 2.0 ได้ 5 วิธี ดังนี้

1. การกำกับดูแลแบบกำกับทีหลัง (ex-post regulation) ซึ่งต้องมีการร้องเรียนก่อน ผู้ดูแลเว็บถึงจะตรวจสอบได้ ยกตัวอย่างเช่น ยูทูบ จะนำคลิปออกก็ต่อเมื่อถูกร้องเรียนและเห็นชัดเจนว่าคลิปนั้นๆ ทำผิดมาตรฐานชุมชน (community guidelines)

2. การกำกับดูแลแบบตอบสนองจริงๆ (really really responsive regulation) คือผู้ดูแลเว็บไซต์ตอบสนองทันทีหลังจากที่มีการร้องเรียน

3. การกำกับดูแลโดยผู้ใช้ที่เป็นมวลชน (mass user self-regulation) ให้ผู้ใช้สอดส่องเฝ้าระวังกันเอง (self-policing) เช่น การให้รายงานการละเมิด (report) การยกธง (flag) เป็นต้น

4. การกำกับดูแลที่อยู่บนฐานของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (self-regulation under national and international law) และ

5. การกำกับดูแลผ่านการกำหนดภาระรับผิดชอบของตัวกลาง (liability of online content intermediaries) ซึ่งมีทั้งแนวทางที่เน้นให้ตัวกลางมีภาระรับผิดอย่างชัดเจน และแนวทางที่จำกัดภาระความรับผิดของตัวกลางหรือช่วยคุ้มครองตัวกลางทางเนื้อหา

โปรดติดตามตอนต่อไป.