ThaiPublica > คอลัมน์ > เยอรมนีกับ “ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊ก

เยอรมนีกับ “ข่าวปลอม” บนเฟซบุ๊ก

2 มกราคม 2017


สฤณี อาชวานันทกุล

สองตอนที่ผ่านมาผู้เขียนพูดถึงปัญหา “ฟองสบู่ตัวกรอง” (filter bubble) กับ “ข่าวปลอม” ในโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก และพูดถึงวิธีล่าสุดในการจัดการกับ “ข่าวปลอม” ของเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้ส่วนผสมระหว่าง “โค้ดคอมพิวเตอร์” “มาตรการทางสังคม” และ “กลไกตลาด”

วิธีแก้ปัญหาของเฟซบุ๊กโดยสรุปคือ ปรับฟีเจอร์ให้คนรายงานข่าวที่คิดว่า “ปลอม” ง่ายขึ้น (โค้ด+สังคม), ทำงานร่วมกับองค์กรที่มีชื่อเสียงในด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น Snopes.com, Factcheck.org และ Politifact ให้ “ติดธง” ว่าข่าวชิ้นใดมีปัญหา อัลกอริธึมจะ “ลดคะแนน” ข่าวชิ้นนั้นให้แสดงผลในนิวส์ฟีดต่ำกว่าข่าวชิ้นอื่นๆ (โค้ด+สังคม), และแบนไม่ให้เว็บข่าวปลอมได้รับเงินค่าโฆษณา (กลไกตลาด) เพื่อลดแรงจูงใจของเจ้าของเว็บที่จะเขียนและปล่อยข่าวปลอมหากิน

น่าสังเกตว่า วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวไปนั้นล้วนแต่ไม่มี “กฏหมาย” อยู่ในนั้นเลย

อาจเป็นเรื่องที่ฟังดูแปลกประหลาดสำหรับสังคมไทย ประเทศที่คนมักจะเรียกร้องให้ “รัฐ” เข้ามาจัดการกับปัญหาต่างๆ นานา หรือเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับคนกลุ่มเดียว ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนอื่น

ในอเมริกา เราไม่เห็นกระแสเรียกร้องให้สภาคองเกรสอเมริกันออกกฎหมายมาเอาผิดกับคนที่นำเข้า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ/ปลอม/บิดเบือน” เพื่อจัดการกับ “ข่าวปลอม”

ไม่เหมือนกับ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) ฉบับปรับปรุงใหม่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบถล่มทลาย 168 เสียง ไม่เห็นชอบ 0 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา

พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แก้ฐานความผิดตามมาตรา 14(1) และ 14(2) ให้กว้างขวางคลุมเครือยิ่งกว่าเดิม ไม่เพียงแต่ครอบคลุม “ข่าวปลอม” เท่านั้น แต่ยังรวมถึง “ข้อมูลเท็จ/ปลอม/บิดเบือน” ที่ “น่าจะก่อความเสียหายแก่ประชาชน” (ยังไม่ต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว แปลว่าใครจะตีความอย่างไรก็ย่อมได้) ฉะนั้นมันจึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งหรือปิดปากสื่อมวลชน นักสิทธิมนุษยชน และคนทั่วไปที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานราชการหรือเอกชนต่อไป ไม่ต่างจากที่เคยเป็นมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้ในปี พ.ศ. 2550 ก่อนการปรับปรุงครั้งล่าสุด

บางท่านฟังแล้วอาจแย้งว่า ช้าก่อน สหรัฐอเมริกาน่ะหลายคนมองว่าเป็นพวก “เสรีสุดโต่ง” เอะอะอะไรก็ยก “เสรีภาพการแสดงออก” เป็นที่ตั้ง ทำไมไม่ไปดูฝั่งยุโรปบ้าง อย่างเยอรมนีนั่นเป็นไร มีบทเรียนหฤโหดจากยุคนาซีครองเมืองมามากมาย กฎหมาย “เฮทสปีช” (hate speech ข้อความยั่วยุปลุกปั่นกระพือความเกลียดชัง) เข้มงวดเป็นอันดับต้นๆ ในโลก

เยอรมนีวันนี้น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากมีกระแสเรียกร้องไม่แพ้ในอเมริกาให้จัดการกับปัญหาข่าวปลอมระบาดออนไลน์ นักการเมืองเยอรมันให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากปีหน้าหรือ 2017 จะมีการเลือกตั้ง นักการเมืองหลายคนกลัวว่าข่าวปลอมจะท่วมทับไทม์ไลน์ในเฟซบุ๊กและส่งอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง ดังที่มันสร้างอิทธิพลต่อการเลือกตั้งอเมริกันในปี 2016 มาแล้ว

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2016 รัฐบาลเยอรมันประกาศว่า จะนำเสนอกฎหมายใหม่เข้าสู่สภาในปีหน้า (2017) เพื่อจัดการกับ “ข่าวปลอม”

กฎหมายนี้จะกำหนดให้เฟซบุ๊กและบริษัทโซเชียลมีเดียรายอื่นต้องจ่ายค่าปรับซึ่งอาจสูงถึง 500,000 ยูโร (ประมาณ 18.8 ล้านบาท) โทษฐาน “ตีพิมพ์” ข่าวปลอมบนแพล็ตฟอร์มของตัวเอง ถ้าหากไม่ลบข่าวชิ้นนั้นภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับแจ้ง และหลังจากนั้นก็จะต้องโพสข่าวฉบับแก้ไขให้ถูกต้องลงในพื้นที่เดียวกัน ให้คนเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นกัน จะได้แก้ความเข้าใจผิดของผู้คนเกี่ยวกับข่าวปลอม

gettyimages-628010388

นอกจากนี้ กฎหมายจะกำหนดว่าบริษัทแพล็ตฟอร์มขนาดใหญ่อย่างเฟซบุ๊กจะต้องจัดตั้งฝ่ายพิทักษ์กฎหมายภายในเยอรมนี ซึ่งจะต้องทำงาน 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุดตลอดปี ฝ่ายนี้จะทำหน้าที่ตอบสนองต่อเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ “ข่าวปลอม” ดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น เฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียรายอื่นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าชดเชย ถ้าหากมีการพบว่าโพสของผู้ใช้รายใดก็ตามมีความผิดฐาน “หมิ่นประมาท” คนอื่นตามกฎหมายเยอรมัน

facebook_0

ไฮโก มาสส์ (Heiko Mass) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของเยอรมนี ผู้สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวต่อสื่อท้องถิ่นว่า “เสรีภาพการแสดงออกไม่คุ้มครองการหมิ่นประมาทและการนินทาว่าร้ายอย่างประสงค์ร้าย …หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะต้องเอาผิดสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งบนอินเทอร์เน็ตด้วย” และกล่าวย้ำว่า กฎหมายหมิ่นประมาทในเยอรมนีมีโทษจำคุกสูงสุดห้าปี

มาร์ติน ชุลส์ (Martin Schulz) ประธานสภายุโรป ไปไกลกว่านั้นด้วยการเรียกร้องให้สภายุโรปออกกฎหมายแบบเดียวกัน ไม่เฉพาะแต่เยอรมนีประเทศเดียว เขากล่าวว่า “ข่าวปลอมควรเป็นสิ่งที่มีราคาแพงมากๆ สำหรับบริษัทอย่างเฟซบุ๊ก ถ้าหากพวกเขาหยุดยั้งมันไม่ได้ …เฟซบุ๊กและบริษัทอื่นๆ ทำนองนี้จะต้องเป็นมากกว่าเครื่องผลิตเงิน แต่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

ไฮโก มาสส์
ไฮโก มาสส์

น่าสังเกตว่า ร่างกฎหมายที่กำลังจะเสนอเข้าสภาเยอรมันนั้นไม่ได้มุ่งเอาผิดทางอาญากับ “ผู้โพส” เนื้อหา ไม่เหมือนกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทย และนิยามของ “ข่าวปลอม” ก็แคบกว่า “ข้อมูลเท็จ/ปลอม/บิดเบือน” มากทีเดียว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กเผชิญกับแรงต่อต้านในเยอรมนี ก่อนหน้านี้บริษัทก็ถูกประณามจากผู้ใช้จำนวนมากว่า บริษัทแทบไม่เคยตอบสนองเลยเวลาที่ผู้ใช้กดปุ่ม “รายงาน” (report) ว่าเพจหรือโพสบนเฟซบุ๊กละเมิด “มาตรฐานชุมชน” (community standards) ของเฟซบุ๊กเอง และบางกรณีผิดกฎหมายระดับประเทศด้วยซ้ำ

กรณีอื้อฉาวในปี 2016 ครั้งหนึ่งคือเมื่อเพจฝ่ายขวาจัดเพจหนึ่งในเฟซบุ๊ก โพสแผนที่ของสถาบันและร้านค้าต่างๆ ที่คนยิวเป็นเจ้าของในกรุงเบอร์ลิน ส่งผลให้เจ้าของร้านหลายแห่งได้รับโทรศัพท์ด่าทอ ขู่ฆ่า หรือการแวะเวียนมาป่วนร้านจากคนขวาจัดเกลียดยิวทั้งหลาย

เฟซบุ๊กไม่ยอมลบแผนที่หรือเนื้อหาใดๆ บนเพจนี้แม้หลังจากที่คนรายงานเข้าไปมากมาย อ้างว่ามันไม่ขัดต่อ “มาตรฐานชุมชน” ของเฟซบุ๊ก แต่ไม่ถึง 48 ชั่วโมงให้หลัง หลังจากที่คนเยอรมันจำนวนมากแสดงความไม่พอใจบนโซเชียลมีเดีย ในสื่อท้องถิ่น และหลังจากที่ ส.ส. เริ่มกดดัน เฟซบุ๊กก็ยอมลบเพจขวาจัดนั้นไปทั้งเพจ รวมถึงแผนที่ร้านยิวด้วย.