ThaiPublica > คอลัมน์ > ลดการขาดดุลการคลังซ่อนเร้นโดยส่งเสริมความโปร่งใสแก่ SFI

ลดการขาดดุลการคลังซ่อนเร้นโดยส่งเสริมความโปร่งใสแก่ SFI

25 ธันวาคม 2016


ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ
และดร.กนต์ธีร์ นุชสุวรรณ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

จากบทความเดิมในครั้งที่แล้ว เราได้กล่าวถึงความสำคัญของการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ในบทความนี้ เราจะนำเสนอรายละเอียดของ 3 มิติสำคัญเกี่ยวกับการประเมินความโปร่งใสทางการคลังภายใต้บริบทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของไทย ซึ่งได้ประยุกต์จากแนวทางทั่วไปสำหรับประเมินความโปร่งใสทางการคลังของ IMF ได้แก่ 1) นิยาม (Definitions) 2) ความครอบคลุม (Coverage) และ 3) การเข้าถึง (Accessibility)

มิติที่ 1) นิยาม: การจำแนกโครงการ PSA ออกจากกิจกรรมอื่นๆของ SFI มีความชัดเจนเพียงไร

จุดเริ่มต้นในเรื่องความโปร่งใสของการดำเนินนโยบายกิจกรรมกึ่งการคลัง เริ่มจากการที่รัฐบาลสามารถจำแนกกิจกรรมกึ่งการคลังตามนโยบายของตนออกจากกิจกรรมอื่นๆของ SFI ได้อย่างชัดเจน ในปัจจุบันรัฐบาลได้สร้างบัญชี Public Service Account (PSA) เพื่อรวบรวมมาตรการกึ่งการคลังต่างๆ โดยโครงการที่อยู่ภายใต้บัญชี PSA นี้ อยู่ในข่ายที่จะได้รับการชดเชยโดยตรงจากรัฐบาล

ความชัดเจนในการกำหนดเงื่อนไขของโครงการ PSA นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการสร้างกลไกความรับผิดชอบ (Accountability) ต่อการดำเนินมาตรการกึ่งการคลังให้แก่รัฐบาล เนื่องจาก การกำหนดเงื่อนไขโครงการ PSA ดังกล่าวที่ไม่ชัดเจน จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลผลักภาระค่าใช้จ่ายออกไปให้ SFI ซึ่งจะส่งผลให้ SFI ต้องเร่งทำกิจกรรมแสวงหาผลกำไรมาใช้จ่ายในโครงการ หรือลดการนำส่งรายได้เข้ารัฐ และหากยังมีผลขาดทุนก็มีแนวโน้มจะผลักภาระออกไปในอนาคตผ่านการเพิ่มทุน ซึ่งอาจจะเป็นภาระของรัฐบาลถัดไป

กลไกการรับรู้ภาระการคลังที่ไม่ชัดเจนนี้สร้างแรงจูงใจให้รัฐบาลเลือกใช้มาตรการกึ่งการคลัง ทำให้เกิดการขาดดุลการคลังที่มองไม่เห็น และเป็นจุดอ่อนเชิงโครงสร้างที่สำคัญของภาคการคลังไทย

มิติที่ 2) ความครอบคลุม: การเปิดเผยข้อมูลมีความครอบคลุมต้นทุนเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังมากน้อยเพียงไร

ความครอบคลุมของการเปิดเผยข้อมูลต้นทุนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบโดยภาคสาธารณะ ซึ่งการตรวจสอบอย่างเป็นระบบจะก่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงาน และยังส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประเมินความเสี่ยงทางการคลังที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย

ผู้วิจัยได้จำแนกความครอบคลุมในการเปิดเผยข้อมูลออกเป็น 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1)ความครอบคลุมของข้อเสนอโครงการ โดยแนวปฏิบัติในปัจจุบันนั้น การจัดทำโครงการ PSA และการเพิ่มทุนที่ไม่ผ่านกองทุนจะต้องผ่านมติครม. ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น การจัดทำข้อเสนอได้รับการพัฒนาให้มีความครอบคลุมมากขึ้นเป็นลำดับ และ
2)ความครอบคลุมของการรายงานผลการดำเนินมาตรการกึ่งการคลัง ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการเปิดผลการดำเนินงานรายโครงการให้สาธารณชนรับทราบ มีเพียงรายงานความเสี่ยงทางการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งมีการเปิดเผยภาพรวมผลการดำเนินมาตรการกึ่งการคลังประจำปี

มิติที่ 3) การเข้าถึง: สาธารณชนสามารถเข้าถึง และเข้าใจข้อมูลกิจกรรมกึ่งการคลังได้ยากง่ายเพียงไร

ความยากง่ายของการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินมาตรการกึ่งการคลังนี้ มีความหมายไม่เพียงแค่ความยากง่ายในการได้รับข้อมูลการดำเนินมาตรการต่างๆ แต่ยังหมายรวมถึงความสามารถในการทำให้สาธารณชนสามารถเข้าใจประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

1)ความสามารถในการประเมินขนาดของการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังผ่าน SFIs ในแต่ละปี
2)ความสามารถในการรับรู้ความเสี่ยงต่อภาระการคลังของแต่ละกิจกรรมกึ่งการคลัง ทั้งในลักษณะชัดแจ้งและแอบแฝง
3)ความสามารถรับรู้ว่าใครเป็นกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการดำเนินกิจกรรมกึ่งการคลังต่างๆ

งานวิจัยนี้ได้ประเมินความโปร่งใสทางการคลังของ SFIs ใน 3 มิติข้างต้น โดยได้ทำการศึกษาข้อกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และได้สร้างข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมกึ่งการคลังของ SFIs ผู้สนใจสามารถติดตามผลการวิจัยได้จากการเผยแพร่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยในช่วงต้นปี 2560