ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ฉีกข้อตกลงคุณธรรม “ผู้นำเข้ารถเมล์ NGV” แจ้ง Form-D เท็จ สวมสิทธิเว้นอากร กรมศุลฯย้ำจ่ายภาษี-ค่าปรับครบ-ออกรถใน 2 วัน

ฉีกข้อตกลงคุณธรรม “ผู้นำเข้ารถเมล์ NGV” แจ้ง Form-D เท็จ สวมสิทธิเว้นอากร กรมศุลฯย้ำจ่ายภาษี-ค่าปรับครบ-ออกรถใน 2 วัน

21 ธันวาคม 2016


ตามที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้บรรจุโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ จำนวน 489 คัน (รถเมล์เอ็นจีวี) เป็นโครงการนำร่องตามข้อเสนอของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) โดยให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำหนดไว้ใน TOR ผู้ยื่นซองประกวดราคาต้องลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) กับ ขสมก. ว่า “จะปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่มีการเรียกรับสินบน หรือประโยชน์อื่นใด และต้องเปิดเผยข้อมูลของโครงการที่สำคัญในทุกกระบวนการให้โปร่งใส โดยมีบุคคลที่ 3 จากภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ตั้งแต่เริ่มเขียน TOR จนสิ้นสุดโครงการ”

หลังจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ระหว่างที่กำลังจัดหารถเมล์เอ็นจีวีมาส่งมอบให้ ขสมก. ปรากฏว่า โครงการนำร่องของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นโครงการที่มีปัญหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ เพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ในฐานะผู้นำเข้าของบริษัทเบสท์ริน แจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่ารถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน เป็นรถที่ผลิตในประเทศมาเลเซีย โดยมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากทางการมาเลเซียเป็นหลักฐานยืนยัน แต่เจ้าหน้าที่ศุลกากรยังมีข้อสงสัย จึงอายัดรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้เอาไว้ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเดินทางไปมาเลเซียเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

ข้อตกลงคุณธรรม

ขณะที่กรมศุลกากรกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ วันที่ 8 ธันวาคม 2559 โดยนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานกรรมการบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด แถลงข่าวยืนยันรถเมล์เอ็นจีวีลอตนี้เป็นรถเมล์ที่ประกอบที่ประเทศมาเลเซีย ตรงตามสเป็กที่ ขสมก. กำหนดไว้ใน TOR ส่วนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) เพื่อขอใช้สิทธิยกเว้นอากรขาเข้า เป็นเอกสารที่ออกโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซียถูกต้อง จึงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินให้บริษัทเบสท์ริน 3,389 ล้านบาท เพื่อนำไปวางเป็นหลักประกันแก่กรมศุลกากรในการนำรถเมล์ออกจากท่าเรือ

วันที่ 9 ธันวาคม 2559 องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT” นำโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน หนึ่งในโครงการที่ร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ เสมือนเป็นการตอกย้ำถึงสัญญาที่ผู้ชนะการประมูลเคยลงนามในข้อตกลงคุณธรรม

วันที่ 13 ธันวาคม 2559 นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปว่า รถเมล์เอ็นจีวีลอตแรก 100 คัน ไม่ได้ประกอบในมาเลเซีย จึงเป็นการแจ้งถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ เพื่อขอยกเว้นภาษี บริษัทซุปเปอร์ซาร่าต้องชำระค่าภาษีและค่าปรับให้กรมศุลกากร 370 ล้านบาท หรือวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเต็มจำนวน ก่อนที่จะนำรถเมล์ออกจากอารักขาของกรมศุลกากร ส่วนรถเมล์เอ็นจีวีลอตที่ 2 จำนวน 389 คัน ไม่ได้ยื่นใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยทางการมาเลเซีย จึงต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ของราคานำเข้า คิดเป็นมูลค่า 572 ล้านบาท หากบริษัทเบสท์รินนำเงินหรือหลักทรัพย์มาชำระค่าภาษีและค่าปรับ 942 ล้านบาท กรมศุลกากรก็พร้อมที่จะตรวจปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีให้บริษัทเบสท์รินนำไปส่งมอบให้ ขสมก. ได้ภายใน 2 วัน

วันที่ 19 ธันวาคม 2559 บริษัทเบสท์รินกรุ๊ปไม่ได้ส่งแผนการส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้กับ ขสมก. ตามที่กำหนดในสัญญา ทาง ขสมก. จึงทำหนังสือแจ้งเตือนบริษัทเบสท์รินแล้ว 1 ครั้ง หากทำหนังสือเตือนครบ 3 ครั้ง บริษัทเบสท์รินยังไม่ส่งแผนดังกล่าวรวมทั้งส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ขสมก. จะแจ้งบอกเลิกสัญญา รวมทั้งยึดเงินประกัน 330 ล้านบาท

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ว่า ทางบริษัทซุปเปอร์ซาร่าจะนำเงินมาชำระค่าภาษีและค่าปรับให้กรมศุลกากรเมื่อไหร่ นายกุลิศตอบว่า ยังไม่ทราบ แต่ได้รับแจ้งจากบริษัทอย่างไม่เป็นทางการว่ากำลังเร่งหาเงินหรือหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันกับกรมศุลกากร หากนำเงินมาชำระค่าภาษีและค่าปรับครบถ้วนเมื่อไหร่ กรมศุลกากรก็พร้อมที่จะตรวจปล่อยรถเมล์เอ็นจีวีให้กับบริษัทซุปเปอร์ซาร่าได้ภายใน 2 วัน

tor-5-1

แต่อย่างไรก็ตาม ใน TOR ข้อ 5.1 กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลงานต้องระบุคุณสมบัติและรายละเอียดด้านเทคนิคของรถเมล์เอ็นจีวีทั้งคันอย่างละเอียด และชิ้นส่วนต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศใด กรณีนายคณิสสร์แถลงข่าวยืนยัน รถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน เป็นรถที่ประกอบในมาเลเซีย มีการใช้อะไหล่ชิ้นส่วนและแรงงานในมาเลเซียเกิน 40% ตามที่ระบุไว้ใน Form D ขณะที่ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าไม่ได้ประกอบในประเทศมาเลเซีย หากบริษัทซุปเปอร์ซาร่านำเงินค่าภาษีไปจ่ายให้กรมศุลกากรครบถ้วน ปัญหาที่ตามมาคือ คณะกรรมการตรวจรับรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. จะกล้าลงนามตรวจรับงานหรือไม่ เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป

thaipublica-รถเมล์เอ็นจีวี