ThaiPublica > เกาะกระแส > Digital Economy โอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย

Digital Economy โอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย

11 ธันวาคม 2016


English Version

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เรื่อง “Digital Economy โอกาสที่มาพร้อมความท้าทาย” โดยรายงานว่า Digital Economy ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ภาครัฐเร่งผลักดันเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าวผ่านการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การจัดทำแผนงาน Digital Thailand ตลอดจนการเร่งผลักดันโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ที่ล่าสุด วันที่ 7 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติมอบหมายให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการใน 24,700 หมู่บ้าน และ สำนักงานกสทช. ดำเนินการในหมู่บ้านที่เหลืออีก 15,732 หมู่บ้าน

อีไอซีมองว่านโยบาย Digital Economy ถือเป็นการสร้างโอกาสให้แก่หลายๆ ธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน การก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลกลับสร้างความท้าทายให้แก่ธุรกิจแบบดั้งเดิม ตลอดจนแรงงานทั่วไปที่ขาดทักษะด้านดิจิทัล ที่จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

1

“เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ “Digital Economy” ถือเป็นนโยบายที่รัฐบาลหลายประเทศให้ความสนใจ และหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวชูโรงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยกว่า 80% ของประเทศที่เป็นสมาชิก OECD หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ต่างมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้าน Digital Economy ทั้งสิ้น

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซียนั้น ก็ได้จัดทำแผนพัฒนาประเทศสู่สังคมดิจิทัลที่เรียกว่า Digital Malaysia ตั้งแต่ปี 2012 โดยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตควบคู่ไปกับการสร้างระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ตลอดจนยกระดับรัฐบาลสู่รัฐบาลดิจิทัล (e-Gov) ทั้งนี้ หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียได้ดำเนินการตามแผนดังกล่าวเพียง 2 ปี ก็สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ อันจะเห็นได้จากรายได้ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ICT) ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10% ต่อปี หรือเติบโตได้ดีกว่าช่วง 2 ปีก่อนหน้าถึงเกือบ 3 เท่า

2

ส่วนไทยนั้น ภาครัฐได้ประกาศแผน “Digital Thailand” ที่มุ่งเน้นการวางรากฐานด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร ซึ่งจะสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรม ICT ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกให้ไทยก้าวเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” หรือ “ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ได้ในเร็ววัน โดยโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการเพื่อยกระดับคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะต่อยอดให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรม อาทิ โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน 40,432 แห่ง และโครงการเคเบิลใต้น้ำ รวมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าโครงการที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเหล่านี้ย่อมส่งผลบวกโดยตรงต่อทั้งผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตัวแทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISPs) และผู้ออกแบบและรับติดตั้งระบบ (system integrator)

นอกจากนี้ แผน Digital Thailand ยังเป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้แก่ธุรกิจประเภทอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Startup และ SMEs ที่จะได้รับองค์ความรู้ผ่านการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการและการให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ หรือแม้กระทั่งธุรกิจแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะได้รับประโยชน์ตามมาจากความต้องการใช้เทคโนโลยีและความต้องการในการขนส่งสินค้าเพื่อรองรับตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ยิ่งไปกว่านั้น แผน Digital Thailand ยังเป็นตัวเร่งเครื่องให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจากกรณีศึกษาในอังกฤษและแคนาดาพบว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตจะเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนภาคเอกชน (crowding in effect) ตามมาอีกกว่า 10 เท่า อีกทั้งยังมีบทบาทในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ได้ถึง 15 เท่าของเงินลงทุนตั้งต้น ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมายังโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านของไทยที่มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาทแล้ว ย่อมถือเป็นโอกาสที่จะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนตามมากว่า 1.5 แสนล้านบาท และมีส่วนช่วยเพิ่ม GDP ของไทยได้มากถึง 2.25 แสนล้านบาท หรือราว 2% ของ GDP เลยทีเดียว

แต่ในอีกมุมหนึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลกลับทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ เนื่องจากเทคโนโลยีจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากภาคธุรกิจยังคงทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับกับบริษัท Startup หน้าใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีได้ ยกตัวอย่างเช่น การก้าวเข้ามาของ Uber ที่กำลังกลายมาเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อธุรกิจรถแท็กซี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนสู่โลกยุคดิจิทัลไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่สามารถทำได้เพียงชั่วข้ามคืน โดยจากการสำรวจของ IDC บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นนำพบว่าองค์กรราว 30% ที่จะสามารถก้าวข้ามสู่องค์กรดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องอาศัยความมุ่งมั่นของผู้บริการ การวางแผนอย่างรอบคอบ และความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการแบบดั้งเดิมสามารถยกระดับตนเองสู่องค์กรดิจิทัลได้ แน่นอนว่าจะช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนจากภาระงานที่ไม่จำเป็น และทำให้ประสิทธิภาพและผลผลิตในการทำงานดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยเพิ่มผลกำไรให้แก่องค์กรได้อีกทาง โดยจากการศึกษาของมหาวิทยาลัย MIT พบว่าบริษัทที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสำเร็จจะมีผลกำไรที่เหนือกว่าบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันถึง 26% ซึ่งผลตอบแทนดังกล่าวนับว่ามีความคุ้มค่าในระยะยาว เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนด้าน ICT ที่โดยเฉลี่ยจะอยู่เพียงราว 3-5% ของรายได้ทั้งปีเท่านั้น

3

นอกจากนี้ ยังต้องจับตามองรูปแบบการจ้างงานที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจากกรณีศึกษาของกลุ่มประเทศ OECD พบว่า แม้ว่าการก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลจะไม่ได้ลดปริมาณการจ้างงานทั้งในภาพรวมและภาค ICT แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดคืองานในยุคดิจิทัลจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือสูงมากขึ้น ชี้ให้เห็นจากสัดส่วนการจ้างงานของผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ต่อการจ้างงานทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 4% ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี สวนทางกับแรงงานไร้ฝีมือที่จะค่อยๆ ลดบทบาทลง โดย OECD คาดการณ์ว่างานกว่า 9% มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรในอนาคต

อีไอซีแนะผู้ประกอบการในทุกอุตสาหกรรมปรับตัวให้สอดรับกับยุคดิจิทัล เพื่อให้ได้รับอานิสงส์สูงสุดจากนโยบายของภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการควรศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ การเชื่อมโยงอุปกรณ์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) หรือการระดมข้อมูลจากมวลชน (crowdsourcing) และเตรียมพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่ชำนาญด้านเทคโนโลยีอาจร่วมมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทด้านICTให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด

ภาครัฐควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แรงงานไทยเพื่อรองรับความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคตไม่ว่าจะเป็นภาวะการแข่งขันกับคอมพิวเตอร์และเครื่องจักร และการแข่งขันกับแรงงานต่างชาติที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีจะมีบทบาททำให้การทำงานไร้พรมแดนมากขึ้น โดยภาครัฐอาจร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อจัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มทักษะแก่แรงงานไทย ทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและไม่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น ทักษะด้านภาษา ตลอดจนการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่คอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรส่งเสริมให้เอกชนหันมาลงทุนผลิตอุปกรณ์ด้าน ICT ให้มากขึ้น เพื่อลดภาระการนำเข้าสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา ไทยนำเข้าเครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์โทรคมนาคมจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยมีมูลค่านำเข้ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตกว่า 15-20% ต่อปี ทั้งนี้ ภาครัฐอาจเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษี รวมถึงลดข้อจำกัดด้านการถือหุ้นของต่างชาติเพื่อให้เกิดการลงทุนในไทยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากขึ้น