ThaiPublica > เกาะกระแส > ถอดบทเรียน “พลังปัญญา” ปลดล็อคงานพัฒนาชุมชน “แก้ปัญหาสังคมที่ต้องเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดคือตัวเอง”

ถอดบทเรียน “พลังปัญญา” ปลดล็อคงานพัฒนาชุมชน “แก้ปัญหาสังคมที่ต้องเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุดคือตัวเอง”

16 ธันวาคม 2016


%e0%b8%9b%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%adresize
ที่มาภาพ : http://www.palangpanya.com/

กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการ “พลังปัญญา” โครงการที่ให้คำจัดความตัวเองไว้ว่า เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างปัญญาให้ผู้นำชุมชน เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดที่ทันสมัย คิดนอกกรอบ มีความคิดที่สอดคล้องกับหลักเหตุและผล หลักการวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น นำความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาได้จริง เป็นรูปธรรม ต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนในการสร้างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่สมดุล ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนให้กับชีวิต

โครงการนี้มีผู้นำชุมชน เข้าร่วมไปแล้วเกือบ 600 คนใน 48 จังหวัด และถือเป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับอย่างมาก จนทำให้อัตราส่วนในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการในปีที่ 3 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการเปิดรับสมัครนี้พุ่งทะยานไปถึง 5:1 และอาจจะถึง 7:1 โดยมีผู้สมัครทั่วประเทศนับหมื่นคน ขณะที่โครงการอาจจะสามารถรับได้เพียงหลัก 100 ต่อปี

ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้  รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าโครงการ “พลังปัญญา” เล่าถึงเหตุผลที่ทำให้โครงการได้รับการตอบรับจากผู้นำในชุมชนในระดับปรากฎการณ์ว่า “เราเริ่มจากผู้นำชุมชนในกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่เพราะเราสอนในสิ่งที่เขาไม่เคยเรียน เราออกแบบกระบวนการบ่มเพาะจนทำให้คนที่มาเรียนรู้สึกว่าเรียนแล้วได้ประโยชน์ เรียนแล้วชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เรียนแล้วจึงเกิดการบอกต่อ”

ช่วงเวลาที่ผ่านมาของโครงการพลังปัญญา คือความพยายามสร้างจุดคานงัดด้วยการเปลี่ยนแปลงสังคมจากจุดที่เล็กที่สุดคือการพัฒนาผู้นำชุมชนที่ตื่นรู้ คิดใหม่อย่างเป็นเหตุเป็นผลและสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตใหม่อย่างสมดุล และเป็นการปลดล็อควิธีการพัฒนาชุมชนในแบบเดิมที่มักใส่แต่เงินลงไปให้โดยไม่ให้วิธีการ

“ ปัญหาจริงๆของชาวบ้านคือการเรียนรู้มากมายในระบบของการพัฒนาแต่สิ่งที่ไม่เคยเรียนรู้เลยคือไม่เคยเรียนรู้ตัวเองเลยว่าอยากทำอะไร ไม่เคยตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดของชีวิต หรือการวางคุณค่าที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ ”

กระบวนการที่ถูกจะสร้างผลลัพธ์ที่ดี

กระบวนการบ่มเพาะที่หลักสูตรพลังปัญญาจึงออกแบบ โดยมีเป้าหมายที่ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมค้นพบตัวเอง ค้นพบปัญหาของตัวเองและสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ โดยพัฒนามาจาก 3 ศาสตร์ได้แก่ 1.ศาสตร์พระราชา2.ศาสตร์ชาวบ้าน 3.ศาสตร์สากล มาผสมผสานเข้าด้วยกัน

“ การที่ 3 ศาสตร์นี้มารวมกันได้เพราะมาจากหลักอันเดียวกันเป็นความจริงของธรรมชาติ โดยยืนอยู่บนฐานของคุณธรรม นวัตกรรมและการบริหารจัดการ และยืนอยูบนฐานเดิม โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบที่ใช้สมอง(Head) ใจ(heart)และการลงมือทำ(hand) พร้อมกันเพื่อให้เกิดการปฏิบัติ ที่สร้างสังคมที่มีความสุข”

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%872
รศ.ดร.เฉลิมพล เกิดมณี หัวหน้าโครงการ “พลังปัญญา” บรรยาย ที่มาภาพ http://www.palangpanya.com/

การขับเคลื่อนโครงการ “พลังปัญญา” นับเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการสร้างชุมชนไปสู่ชุมชนที่มีความสุข ให้สังคมไทยสามารถนำไปใช้ และนำไปปฏิบัติอย่างมีความสุขร่วมกัน โดย“พลังปัญญา”ไม่ได้เน้นที่ผลลัพธ์ (result) แต่เน้นที่กระบวนการ (process) เพราะเป็นฐานสำหรับโลกปัจจุบันถ้าอยู่ในฐานกระบวนการแบบเดียวกันไม่ว่าจะทำอะไร ถ้ากระบวนการถูกต้อง ผลลัพธ์จะดีเสมอ

“เราจึงไม่ใช่โครงการแบบ OTOP เราไม่ได้สนใจว่าผลลัพธ์จะเป็นอะไร จะต้องทำสินค้าอะไร แต่เน้นที่กระบวนการมากกว่า การมีคุณค่า (value) รับและได้ประโยชน์เติบโตร่วมกันอย่างมีคุณธรรมร่วมกัน จึงเป็นกระบวนการ (process) ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอะไรอย่างไร ไม่สำคัญอยู่ที่คนจะเอาไปใช้ต่อ” รศ.ดร.เฉลิมพลกล่าว

สำหรับการอบรมหลักสูตรพลังปัญญาต่อผู้นำชุมชนที่จะเข้าอบรม 1 รุ่น จะมีระยะเวลาในการอบรม 7 เดือนรวมการปฏิบัติและการรวบรวมผลอีก 4 เดือน แบ่งเป็นภาควิชาการ การบรรยายและอภิปราย การสัมมนาเสนอผลงาน ตลอดจนการศึกษาดูงานและการลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติ  นอกจากนี้ยังมีการอบรมขยายผลตลอดจนศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศด้วย

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%873
ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ หนึ่งในทีมผู้บริหารโครงการ ให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาโครงการของผู้เข้าร่วมอบรม ที่มาภาพ: http://www.palangpanya.com/

ดร.พีระพงษ์ กลิ่นละออ หนึ่งในทีมผู้บริหารโครงการ “พลังปัญญา” กล่าวถึงวิธีคิดและรายละเอียดของหลักสูตรและว่า บางครั้งความรู้เดิมที่เคยรู้มากลายเป็นกรอบที่กักความคิด เพราะในการแก้ปัญหาต้องใช้ความเข้าใจมากมายจึงจะเข้าถึงและพัฒนาได้ การมาเรียนในหลักสูตรจึงไม่ได้เรียนเฉพาะด้านความรู้ แต่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งกายและใจ ที่ในท้าทายที่สุดคนที่เข้ามาเรียนจะเข้าใจว่า เขาต้องการอะไร กระบวนการจะทำให้คนค้นพบสาเหตุและแก้ปัญหาของตัวเอง โดยมีเราเป็นผู้ให้เครื่องมือทางปัญญา นั่นเป็นวิธีเดียวกับการแก้ปัญหา

“เวลาถูกชวนให้ตั้งคำถามว่า ถ้ายังทำข้าวอยู่รอดหรือไม่รอด ชีวิตจะเสี่ยง จากนี้จะไปต่อได้มั้ย คำถามแบบนี้จะทำให้เราค้นหาความจริงเป็นความรู้ที่ทำให้เปลี่ยนได้ ทำให้เปลี่ยนได้”

ในการพัฒนาสินค้า เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราไม่บอกว่าอะไรขายดี กำไรดี ควรทำ แต่เราจะตั้งคำถามกับผู้นำที่เข้าร่วมอบรมกับเราให้ ค้นหาความจริงด้วยตัวเขาเอง เราไม่สอนให้ตามกระแส หรือทำเพราะไปเห็นมาในข่าว หรือเห็นคนอื่นเขาทำกัน แต่เราจะมีกระบวนการให้ผู้นำต้องค้นหาคุณค่าของตัวเอง การที่จะตัดสินใจทำอะไรต้องทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะเราเชื่อว่าความหลงใหล (passion) จะทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำในสิ่งนั้นได้ดี

“การตั้งเป้าจึงไม่ตั้งเป้าจากสังคม แต่เริ่มจากตัวเอง เราเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุด (micro)ไปสู่จุดที่ใหญ่ (macro)โดยต้องก้าวข้ามทุนเวลา ทรัพยากร ให้สามารถทำในสิ่งที่ใหญ่ได้ เราบอกเขาว่าเราทำงานแบบไม่รู้ต้นทุนไม่ได้ และต้องเป็นการคำนวณแบบที่ต้องรู้ค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายลงทุนและค่าใช้จ่ายในการเจ็บป่วย”ดร.พีระพงษ์กล่าว

ดัชนีชี้วัดความสุขของชุมชน

ในกระบวนการที่โครงการทำงานกับผู้นำในชุมชน มีกระบวนการปฏิบัติและมีกระบวนการติดตามเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีเป้าหมาย 3 ระดับ 1.ชีวิตที่พอเพียง 2.ชุมชนแห่งความสุข 3.สังคมแห่งความสุข จะเห็นว่าในกระบวนการแบบเดียวกันสามารถให้ผลลัพธ์เพื่อนำไปสู่เป้าหมายปลายทางที่แตกต่างกันได้ไม่ว่าจะจากเล็กหรือใหญ่

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%8711
ที่มาภาพ : www.tsdf.or.th

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%87-12

สำหรับดัชนีชี้วัดความสุขในชุมชนเรานำมาจากพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในการ “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา” โดยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากหลักคิดนี้ คือ การเข้าถึงความจริง ความเข้าใจที่ถูกต้อง การแบ่งปันและความสม่ำเสมอ โดยข้อสุดท้ายในดัชนีชี้วัดความสุขในแต่ละหัวข้อนั้นเป็นเป้าหมายสูงสุด ในเรื่องความจริง เป้าหมายสูงสุดคือการเข้าใจความจริงตามธรรมชาติ เข้าใจเหตุและผลโดยทำให้เห็นคุณค่าความจริงและอยู่กับความจริง เช่น การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เข้าใจความจริงตามธรรมชาติ จึงเข้าใจเรื่องการทำฝนหลวง ระบบชลประทานทั้งระบบ โดยต้องเห็นแก่คุณค่าสูงสุดคือคุณภาพ

ในเรื่องความเข้าใจถูกต้องหมายถึงการยอมรับ และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ตรงกับคุณค่าของตัวเองและเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน  ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกระบวนการแบ่งปัน โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนและทำให้เห็นว่าความสม่ำเสมอนั้นเป็นเรื่องดีที่สุด

แก้ปัญหาจากจุดเล็กสู่จุดใหญ่

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%875
การลงพื้นที่ในการติดตามความคืบหน้าของโครงการในแต่ละชุมชนอย่างใกล้ชิด หนึ่งในกระบวนการบ่มเพาะที่ทำให้ ผู้นำชุมชนค้นพบคำตอบในการทำงาน ที่มาภาพ : http://www.palangpanya.com/

%e0%b8%9e%e0%b8%a5%e0%b8%b1%e0%b8%876

ปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมไปแล้ว เกือบ 600 คนแบ่งเป็นระดับ 1 จำนวน  400 คนและระดับ 2 จำนวน 160 คน และกำลังอยู่ในการผลักดันไปสู่หลักสูตรการสร้างผู้นำระดับจังหวัดโดยเน้นคุณภาพ เพราะจากการอบรมผู้นำที่ผ่านมาเราพบว่า มีกรณีศึกษาที่ผู้นำในท้องถิ่นจากโครงการ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้จากสิ่งที่เขาทำ เช่น กรณีผู้ใหญ่บ้านที่กาญจนบุรี ที่ทำเรื่องการจัดการขยะ โดยเริ่มจากคนแค่ 15 ครอบครัวจนปัจจุบันขยายไปทั่วทั้งจังหวัด โดยใช้วิธีคิดในการบริหารจัดการและวิธีทำแบบเข้าใจชาวบ้านในการจัดการ โดยระบบการจัดการนั้นใช้ความโปร่งใสในการจัดการทางการเงินโดยวิธีให้เงินเข้าบัญชีแต่ละครอบครัวตรงจาการขายขยะ โดยไม่ผ่านคนกลาง แค่มีเงื่อนไขว่าห้ามใช้ เป็นเงินที่ใช้ในงานณาปนกิจศพเท่านั้น

สำหรับเป้าหมายของโครงการถูกแบ่งเป็น 3 ระดับ คือระดับท้องถิ่นให้สามารถแบ่งปันเกื้อกูลกัน ระดับภูมิภาคให้เกิดเครือข่ายและระดับสุดท้ายเราจะมองภาพประเทศนี้ร่วมกัน โดยปัจจุบันโครงการพลังปัญญากำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการอบรมหลักสูตรเข้มข้นเพื่อสร้างผู้นำชุมชนที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัด โดยพัฒนาจากการเรียนรู้และลงมือทำโครงการในเวลาที่ผ่านมา โดยพบว่าผู้นำชุมชน 1 คนนั้นสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้ถึงในระดับจังหวัด นั่นคือสิ่งที่โครงการดำเนินไป

“เราเริ่มทำโมเดลขนาดเล็กให้สำเร็จ  ทำให้เขาภูมิใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง ทำให้คนที่ไม่ประสบความสำเร็จมีที่ยืน ด้วยการเสริมพลัง (Empower) ที่ในที่สุดนอกจากจะกลับมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจากภายในตัวเองแล้ว พลังนั้นจะกลับมาช่วยเสริมพลังเครือข่าย”

โดยในการวัดและประเมินผลเราไม่ได้ใช้ระบบ KPI แต่ใช้วิธีวัดด้วยขีดความสามารถ(competency) และ How-to สร้างความไว้วางใจและพาเขาเดินไปบนวิธีที่ถูกต้อง และใช้การติดตามความคืบหน้าในการทำงานของแต่ละโครงการของผู้นำผ่านระบบเครือข่ายทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับภาค

ทั้งนี้โครงการพลังปัญญาเกิดถูกริเริ่มขึ้นมาโดย 5 ภาคี ได้แก่ มูลนิธิมั่นพัฒนา กองทัพบก เอสซีจี สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหอการค้าไทย ตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิมั่นพัฒนาและดำเนินงานร่วมกับภาคีร่วมทั้งภาครัฐและเอกชนตามรายภารกิจ โดยตั้งเป้าหมายจะเป็นสถาบันที่พัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อหนุนเสริมกลไกปกติของภาครัฐในการพัฒนาชุมชน

ดร.พีระพงษ์ กล่าวย้ำว่า “ พลังปัญญาเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนการดำรงชีวิตเชื่อในตัวเองและมั่นใจในชุมชนให้อยู่ได้โดยตัวเองเป็นหลัก และไม่ได้อยู่กับความรู้เดิม เป็นกรอบ เป็นอวิชชา การอยู่ในภาวะปัจจุบันทำให้อยู่ได้บนความเชื่อที่ดีของสังคม

จุดที่คนไขว่คว้าคือความพอใจและความสมดุลในตัวเอง แต่ความสมดุลอยู่ตรงไหนในชีวิตไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวเราเอง เมื่อจุดเล็กๆตอบได้ สังคมใหญ่มันก็จะตอบได้เอง