ThaiPublica > คอลัมน์ > มาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

8 ธันวาคม 2016


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ช่วงนี้เราคงได้ยินเรื่องมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า มาตรการช็อปเพื่อชาติ เที่ยวเพื่อชาติ และกินเพื่อชาติ กันค่อนข้างบ่อย ทั้งจากความคาดหวังและข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการที่ต้องการให้มีการกระตุ้นกันบ่อย ๆ จากฝ่ายรัฐบาลที่ออกมาสร้างความหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันอยู่เนือง ๆ และจากผู้เสียภาษีเองที่คาดหวังและรอมาตรการเหล่านี้อย่างใจจดใจจ่อ บางคนถึงกับรอไม่ใช่เงินกันเลยทีเดียว

ทำให้น่าคิดนะครับว่า มาตรการพวกนี้ช่างแสนดีเสียจริงๆ มีแต่คนได้ประโยชน์ ไม่มีคนเสียประโยชน์เลย จึงไม่มีคนออกมาวิจารณ์กันเลย

แต่ทุกคนได้ประโยชน์กันหมดจริงๆหรือ? มาตรการเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่? เราควรคิดถึงมาตรการพวกนี้อย่างไร? ลองมาคิดกันนิดนึงดีไหมครับ

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำมาตรการแบบนี้มาใช้ ปีที่แล้วเราก็มีช็อปเพื่อชาติ และเที่ยวเพื่อชาติ ปีนี้มีการประกาศมาตรการแบบนี้มาแล้วถึงสี่ครั้ง คือ เที่ยวเพื่อชาติคนละ 15,000 บาท ระหว่าง มกราคม ถึงธันวาคม, กินเที่ยว 15,000 บาท ช่วงสงกรานต์, ช็อป OTOP 15,000 บาท ช่วงเดือนสิงหาคม, และมาตรการเที่ยวเพื่อชาติอีก 15,000 ช่วงเดือนธันวาคมที่เพิ่งประกาศไป และตอนนี้หลายคนกำลังรออย่างใจจดใจจ่อว่า จะมีช็อปเพื่อชาติออกมาอีกหรือไม่ หลายคนนั่งลุ้นจนชะลอการใช้เงินกันไปเลยทีเดียว

นึกถึงแบบฟอร์มภาษีปีนี้คงยาวพิลึกเลยทีเดียว

ที่มาภาพ : http://www.tatnewsthai.org/images/news/pics/
ที่มาภาพ : http://www.tatnewsthai.org/images/news/pics/

แต่เรากลับไม่ค่อยได้รับฟังการวิเคราะห์จากทางการว่ามาตรการเหล่านี้คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจหรือไม่ นอกจากผู้ประกอบการที่ออกมาบอกว่าทำให้มียอดขายเท่านั้นเท่านี้ในช่วงนั้น และอาจจะค่อยไม่มีความชัดเจนว่ามาตรการเหล่านี้ทำให้เกิดภาระทางการคลัง เป็นเงินเท่าไร? ทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างไร และผลของนโยบายมีความครอบคลุมและเป็นธรรมหรือไม่?

โดยหลักการประชาชนทุกคนมีหน้าที่เสียภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีทางตรง (เช่น ภาษีรายได้ ภาษีที่ดิน หรือภาษีจากผลกำไร) หรือภาษีทางอ้อม ที่เก็บจากราคาสินค้าและบริการ (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพามิต) แล้วรัฐนำเงินภาษีเหล่านี้ นำไปใช้ประโยชน์ตามบทบาทและหน้าที่ของรัฐ

มาตรการทางภาษี ที่มีผลทำให้รายได้ของรัฐลดลง (ขาดดุล และต้องไปกู้ชดเชยเพิ่มขึ้น) จึงควรได้รับการตรวจสอบ วิเคราะห์ และทบทวน ไม่ต่างจากมาตรการด้านการใช้จ่าย และเงินนี้ของประชาชนทุกคนที่ควรร่วมกันคิดและตั้งคำถามกันอยู่เสมอ ๆ ว่า:

1. มาตรการเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ ที่สอดคล้องกับบทบาทและหน้าที่ที่รัฐควรทำหรือไม่

รัฐมีหน้าที่จัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน และการดูแลความสงบเรียบร้อย ที่อาจจะมีไม่เพียงพอถ้ารัฐไม่ทำ

รัฐมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจแย่เกินไป หรือดีเกินไป รัฐก็อาจจะเข้ามาแทรกแซงโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น หรือชะลอเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินไป

รัฐมีบทบาทในการดูแลการกระจายรายได้และโอกาสทางสังคม รัฐมีหน้าที่ดูแลให้เกิดการแข่งขัน ให้กลไกทางเศรษฐกิจสามารถทำงานได้ และมีหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิด market failure

ถ้าการใช้เงินของรัฐไม่เข้าในบทบาทหรือหน้าที่ที่รัฐควรทำ คงต้องคิดกันหนักหน่อย

2. มาตรการพวกนี้เป็นวิธีที่ดีสุดในการใช้จ่ายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่? เงินนั้นเอาไปใช้อย่างอื่นให้ผลดีกว่าหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่ ฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่? เช่น ถ้าวัตถุประสงค์คือกระตุ้นเศรษฐกิจ มีวิธีอื่นที่ให้ผลดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนกว่าหรือไม่

3. ประชาชนได้รับประโยชน์จากมาตรการนั้นๆ อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ตรงกับบทบาทและหน้าที่ของรัฐหรือไม่

เราลองมาดูกันทีละข้อกันนะครับ

วัตถุประสงค์ของมาตรการ

ถ้าเรายอมรับตรงกันว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว และต้องการกระตุ้น และรัฐต้องการใช้มาตรการเหล่านี้เพื่อกระตุ้น “เศรษฐกิจ” ถ้าแปลตรงตัวก็คือเมื่อใช้ไปแล้ว “เศรษฐกิจ” ซึ่งแปลได้ว่ามูลค่าเพิ่มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ควรจะดีขึ้น ไม่ใช่ไปช่วยผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้มีผลกำไรดีขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นคงเกิดข้อครหาได้ว่า ทำไมจึงช่วยกลุ่มหนึ่งแต่ไม่ช่วยอีกกลุ่มหนึ่ง

มาตรการเหล่านั้นมีคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์หรือไม่?

เพราะรัฐมีทรัพยากรอย่างจำกัดการใช้เงินของรัฐจึงควรเป็นการใช้เงินที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ เช่น ถ้าวัตถุประสงค์คือกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการภาษีเหล่านี้ก็ควรก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าการใช้เงินด้านรายจ่าย ซึ่งเราอาจวัดกันได้ว่า เงินที่ใช้จ่ายหนึ่งบาทนั้น สร้าง GDP ใหม่ขึ้นมาเท่าไร มาตรการทางภาษีก็อาจจะใช้ตัวชี้วัดคล้าย ๆ กันได้ เช่น ภาษีที่เสียไป สร้าง “GDP ใหม่” ได้เท่าไร

ถ้าคิดดูเร็วๆ อาจมีเงื่อนไขสักสามข้อที่จะทำให้มาตรการทางภาษีเหล่านี้เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

1.มาตรการนี้ควรจะกระตุ้นให้คนที่ไม่ได้คิดว่าจะใช้เงินหันมาใช้เงิน เพราะได้รับแรงจูงใจทางภาษี เพื่อสร้างธุรกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น คนที่ตั้งใจจะใช้เงินอยู่แล้วแม้ไม่มีแรงจูงใจ แต่มาขอผลประโยชน์ ถือเป็นการสิ้นเปลืองเงินภาษีโดยใช่เหตุ (เพราะถึงไม่ได้แรงจูงใจทางภาษี ก็คิดว่าจะใช้อยู่แล้ว การให้ผลประโยชน์ทางภาษีจึงเป็นการเสียเงินภาษีไปโดยไม่จำเป็น)

2.การใช้จ่ายเงินนั้น เป็นการชะลอการใช้จ่ายเพื่อมารอมาตรการ หรือการเลื่อนการใช้จ่ายที่วางแผนไว้แล้วในอนาคต เข้ามาให้เร็วขึ้น (ยืมอนาคตมาใช้) อาจจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีมาตรการ แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำให้การเพิ่มขึ้นนั้นมีความยั่งยืน เพราะความต้องการอาจปรับลดลงในอนาคต (รถยนต์คันแรกเป็นตัวอย่างที่ดี)

3.มาตรการนี้สร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ในประเทศ ที่จะนับอยู่ใน “GDP” หรือไม่? หากมาตรการทางภาษีเป็นการส่งเสริมให้คนใช้ซื้อสินค้าที่มีสัดส่วนสินค้านำเข้าค่อนข้างมาก แม้มาตรการนั้นจะกระตุ้นให้เกิดยอดขาย (หรือกำไรกับผู้ประกอบการ) แต่หากการใช้จ่ายนั้นไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ หรืออาจจะไม่คุ้มกับเงินรายได้ภาษีที่เสียไปก็ได้

เมื่อมีข่าวว่าจะมีมาตรการช็อปช่วยชาติ อาจจะไม่แปลกใจที่ได้ยินเพื่อนฝูงจะพูดกันว่า “ดีจังเลย กำลังว่าจะซื้อโทรศัพท์ใหม่อยู่พอดีเลย เท่ากับได้ลดไป 30% ตามอัตราภาษีของเราเลยนะเนี่ย” แม้บางคนบอกว่าเราได้ VAT กลับมา เราก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่ามาตรการนี้คุ้มค่าหรือไม่ ตามเหตุผลสามข้อข้างต้น

สังเกตได้ว่า มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ หรือการส่งเสริมการกินตามร้านอาหาร อาจจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ ได้มากกว่าการส่งเสริมการใช้จ่ายสินค้าที่มีส่วนของการนำเข้าสูง

เสมอภาคและเป็นธรรมหรือไม่?

โครงสร้างภาษีทางตรงโดยทั่วไปมีโครงสร้างแบบอัตราก้าวหน้า คือยิ่งคนมีรายได้มากยิ่งต้องจ่ายอัตราภาษีที่สูงขึ้น เพื่อ สร้างกลไกการกระจายรายได้

มาตรการทางภาษีที่เราเห็นกันบ่อยๆ เป็นมาตรการที่ให้ผู้เสียภาษี สามารถนำเงินใช้จ่ายในแต่ละประเภทที่เข้าข่ายนำมาหักลดออกจากฐานการคำนวณภาษี เท่ากับว่ารัฐบาลช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายนั้นๆ เท่ากับฐานภาษีสูงสุดของผู้เสียภาษีคนนั้น เช่น คนที่มีอัตราภาษีสูงสุด 30% ย่อมได้ประโยชน์จากมาตรการ มากกว่าคนที่มีรายได้ที่เสียภาษีสูงสุด 10% มาตรการเหล่านี้ จึงเท่ากับการคืนภาษีที่ให้ประโยชน์กับคนที่มีรายได้มาก มากกว่าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นการลดความ “ก้าวหน้า” ของอัตราภาษี

ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2557

ตามข้อมูลกรมสรรพากร ในปี 2557 พบว่า จากจำนวนคนไทย 65.7 ล้านคน มีคนยื่นแบบภาษี 10.3 ล้านคน และมีแค่ 4 ล้านคน ที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประมาณสองล้านคน มีฐานรายได้จ่ายภาษีอัตราสูงสุดร้อยละ 5 ประมาณหนึ่งล้านคนมีฐานรายได้จ่ายภาษีอัตราสูงสุดร้อยละ 10

แปลว่า น่าจะมีคนเข้าข่ายได้ประโยชน์จากมาตรการภาษีเหล่านี้ ประมาณไม่เกินสี่ล้านคน กว่าสามล้านคนได้ส่วนลดไม่เกินร้อยละ 10 จากมาตรการภาษีแบบนี้ และคนอีกหนึ่งล้านคนที่เหลือได้ส่วนลดไปเกินร้อยละ 15 และมีคนแค่ประมาณสามหมื่นคนได้ส่วนลดไปถึงร้อยละ 35 ซึ่งก็น่าตั้งคำถามว่ามาตรการเหล่านี้มีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ของประเทศจริงหรือไม่ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด

นอกจากนี้การจำกัดให้เฉพาะการใช้จ่ายกับสถานประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการใช้จ่ายในระบและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาในระบบภาษีเพิ่มมากขึ้น แต่ก็อาจจะถูกตั้งคำถามในแง่ความเสมอภาคได้เช่นกัน ว่าทำไมผู้ประกอบการรายย่อยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเหล่านี้

แต่น่าคิดนะครับ ว่าทำไมไม่ค่อยมีใครออกมาไม่เห็นด้วยหรือรู้สึกเสียดายเงินภาษีที่หายไปเลย หรือจะ เข้าตำรา “ได้กระจุก เสียกระจาย” พอดิบพอดี

มาตรการชั่วคราว?

นอกจากนี้ มาตรการนี้ควรจะเป็นมาตรการที่นำมาใช้แบบเป็นครั้งคราวในยามจำเป็น นำมาใช้แบบไม่ให้มีการคาดคิดมาก่อน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง แต่พอเริ่มเอามาใช้บ่อย ๆ เข้า ก็ทำให้หลายคนคาดหวังในมาตรการอาจมีการชะลอการใช้จ่ายเพื่อรอมาตรการ และถ้าทำกันบ่อยจนเป็นประเพณี มาตรการเหล่านี้อาจจะไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเลยก็เป็นได้ (คนย้ายการใช้จ่ายมารอมาตรการ) และหลายคนยังตั้งคำถามว่า นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายแบบที่เรียกว่า “ประชานิยม” หรือไม่

ที่ชวนคุยมานี้ ผมไม่ได้ต้องการบอกว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ดีหรือไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจนะครับ (เพราะไม่มีข้อมูลและไม่รู้จริงๆ) แต่ต้องยอมรับว่ามาตรการเหล่านี้สร้างความครึกครื้น และสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยได้ค่อนข้างดีทีเดียว

อย่างไรก็ดีอยากให้มีการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และทบทวน ผลกระทบและต้นทุนการใช้มาตรการเหล่านี้อย่างเป็นระบบถูกต้อง เพื่อว่าจะได้แน่ใจได้ว่า เรากำลังใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าที่สุด และมีนโยบายอื่น หรือการใช้จ่ายอื่นๆที่เหมาะสมกว่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

แน่นอนครับ มาตรการเหล่านี้อาจมีผลต่อบัญชีการคลังไม่มากนัก และถ้ารวมทุกอันก็เริ่มจะไม่น้อยแล้วนะครับ และตั้งคำถามว่า เรากำลังทำให้เกิดความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจกระทบ “วินัยทางการคลัง” ที่เราหวงแหนหรือไม่