ThaiPublica > คนในข่าว > “ไผท ผดุงถิ่น” ถอดกลยุทธ์ “รู้ทันโลกเทคโนโลยี พลิกธุรกิจรับโอกาสใหม่” ด้วยสมการ “dream team 3 H”

“ไผท ผดุงถิ่น” ถอดกลยุทธ์ “รู้ทันโลกเทคโนโลยี พลิกธุรกิจรับโอกาสใหม่” ด้วยสมการ “dream team 3 H”

14 ธันวาคม 2016


ไผท ผดุงถิ่น ผู้ร่วมก่อตั้ง Builk.com และอดีตนายกสมาคม Tech Startup
ไผท ผดุงถิ่น ผู้ร่วมก่อตั้ง Builk.com และอดีตนายกสมาคม Tech Startup

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2559 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดงานมหกรรมความรู้ครั้งที่ 5 “มันส์สมอง” พื้นที่แห่งความรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นงานเกี่ยวกับความคิดและบทเรียนเบื้องหลังความสำเร็จ โดยตระหนักถึงทรัพยากรมนุษย์เป็นสำคัญ มีวิทยากร ดังนี้ Dr.Pasi Sahlberg นักการศึกษา ที่ปรึกษาด้านการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์, ไผท ผดุงถิ่น ผู้ร่วมก่อตั้ง Builk.com และอดีตนายกสมาคม Tech Startup, สุรชัย พุฒิกุลางกูร กรรมการผู้จัดการบริษัท อิลลูชั่น จำกัด สตูดิโอสัญชาติไทย และนักสร้างสรรค์โฆษณาภาพนิ่งอันดับหนึ่งของโลก และพงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย หรือเชฟเอียน Executive Chef ประจำโรงแรม 5 ดาว

“ไผท ผดุงถิ่น” ผู้ร่วมก่อตั้ง Builk.com และอดีตนายกสมาคม Tech Startup พูดในหัวข้อ “ICT Literacy to Hold the World in Your Hand: รู้ทันโลกเทคโนโลยี พลิกธุรกิจรับโอกาสใหม่” โดยเล่าประสบการณ์ของตัวเอง และเสนอแนวคิดว่า ในโลกที่มีเทคโนโลยีหลักเป็นดิจิทัล คนทำธุรกิจจะใช้ประโยชน์ตรงนี้สร้างรายได้และพัฒนาตัวเองอย่างไร การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไผทให้ความสำคัญ ซึ่งธุรกิจที่เขาทำอยู่นั้นก็เกิดจากการเรียนรู้ข้ามสายงาน รวมตัวกับพาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญในสายอื่น สำหรับไผทนั้นไม่ได้มีพื้นฐานจากด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง เขียนโปรแกรมไม่ได้ เป็นวิศวกรโยธาและอดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง

ไผทกล่าวว่า เทคโนโลยี่เป็นคำที่อยู้ในชีวิตประจำของเราอยู่แล้ว มนุษย์กับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว พัฒนาการของเทคโนโลยีมีหลากหลาย เช่น วิธีสื่อสาร ตัวหนังสือ มาเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

“วันนี้เราอยู่ในโลกไอที สังคมไทยเข้าสู่สังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบหรือยัง ผมคิดว่ารอบตัวผม เกือบ 100% ใช้สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต”

“สถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทย วันนี้ 60% ของคนไทย คิดเป็น 41 ล้านคน เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ แปลว่าเกินครึ่งของประชากรไทย ถือเป็นประเทศอันดับ 4 ของอาเซียน ที่มีสัดส่วนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ต อันดับ 1 สิงคโปร์ อันดับ 2 บรูไน อันดับ 3 มาเลเซีย อัตราการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยขณะนี้มี 17% ต่อปี สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเป็น 80-90% ของประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต”

ไผทเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเขากับโซเชียลเน็ตเวิร์กในความทรงจำว่า “ผมเริ่มใช้เฟซบุ๊กตอนปี 2547 เพราะผมไปส่องนักธุรกิจชาวสเปนคนนึงที่จะมาประชุมกับผม เพื่อเตรียมตัวไปคุยกับเขา กูเกิลชื่อเขา ปรากฏว่าชื่อเขามีตัวตนในเฟซบุ๊ก

ผมใช้ทวิตเตอร์ในปี 2552 ผมทวีตว่า “มีคนไทยใช้เฟสบุ๊ก 760,000 คน” ปีนี้ 2559 เพียง 7 ปีให้หลัง ผมมีเพื่อน 40 ล้านคน ปรากฏการณ์นี้มันไม่เคยมีมาก่อน การที่คนค่อนประเทศเข้าถึงเทคโนโลยีได้เร็วขนาดนี้

ไผทกล่าวถึงเส้นทางชีวิตของเขาว่า “ผมไม่ใช่คนไฮเทค มันพาชีวิตผมมาไกล จากหน้างานก่อสร้าง มันพาผมไปซิลิคอนวัลเลย์ ไปพรีเซนต์ธุรกิจสตาร์ทอัปของผมให้นักธุรกิจซิลิคอนวัลเลย์ฟัง”

ผมตั้งคำถามมาตลอดว่าไอทีช่วยสร้างโอกาสให้ผม ให้ทุกๆ คนเท่ากันหรือเปล่า ชีวิตที่ใช้ไอทีนั้นมีประสิทธิภาพขึ้น ได้คุยกับเพื่อน ญาติ ต่างประเทศ ง่ายขึ้น รับรู้ข่าวสารเร็ว ไอทีคือโอกาสที่ทุกคนได้ แต่บางคนคว้าโอกาสนั้นแล้วไปได้ไกลขึ้น

ทำไมบางประเทศสร้างชาติได้ด้วยเทคโนโลยีในเวลาไม่กี่ปี บางบริษัทเกิดมาไม่กี่ปี อย่างไลน์ ให้ใช้บริการ กรกฎาคม 2011 ใน 5 ปีที่ผ่านมา ไลน์เข้าตลาดหลักทรัพย์ที่อเมริกา มูลค่า 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจที่อายุ 5 ปี

thaipublica2-ไผท ผดุงถิ่น

ทำไมบางคนใช้โอกาสทางเทคโนโลยีแล้วสร้างพลังมหาศาลขนาดนี้ มาหาคำตอบด้วยกัน

เทคโนโลยีทำให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ เราเจอเด็กยุคใหม่ใส่หูฟัง ถือแมคบุ๊กแอร์ ในโคเวิร์กกิงสเปซ

เราเจอคอนเทนต์ใหม่ๆ อาชีพใหม่ๆ นักรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจใหม่ๆ เทคโนโลยีพาเราไปเจอธุรกิจที่เมื่อทศวรรษที่แล้วยังคิดไม่ถึง เกิดคำใหม่ๆ ดิจิทัลโนแมด (digital nomads) คือกลุ่มคนที่ทำงานจากที่ไหนในโลกก็ได้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายของดิจิทัลโนแมด เชียงใหม่ กรุงเทพฯ สมุย ภูเก็ต คือเมืองที่คนอยากมาทำงาน เพราะหาดทรายสวย คนน่ารัก วัฒนธรรมน่าสนใจ อินเทอร์เน็ตเข้าถึงเร็วใช้ได้ สตาร์ทอัปกลายเป็นกลุ่มคนพันธุ์ใหม่ คำพวกนี้คืออะไร ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมที่เปิดมา 40-50 ปี เริ่มสั่นคลอน มีวัฒนธรรมใหม่ๆ เช่น ฟังเพลงฟรี สรุปคือ เทคโนโลยีสร้างโอกาส อยู่ที่ใครจะคว้าได้

สำหรับผม มีสมการที่เกี่ยวกับโอกาส 2 ตัว คือ ความรู้กับความเร็ว เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้ แต่ทำไมฉันไม่ได้ทำเร็ว ช้ากว่านิดเดียว ก็พลาดโอกาสไป ความเร็วมาพร้อมกับเทคโนโลยี

ความคิดสร้างสรรค์กับเทคโนโลยี ถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ผลิตหนัง คาแรกเตอร์ แต่เก็บในหมู่บ้านเล็กๆ พาไปให้ไกลไม่ได้ เอาขึ้นมาไว้ในโลกโซเชียลไม่ได้ ก็เข้าไม่ถึงโอกาสอยู่ดี

และย้ำว่า “ธุรกิจยุคนี้ต่างจากธุรกิจเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่มีใครถือสมาร์ทโฟน อย่างกดสมาร์ทโฟนเรียกแท็กซี่ เรื่องนี้จะไม่เกิดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว 10 ปีที่แล้วก็ไม่เกิด ธุรกิจกับเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ผสมผสานกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้บริโภคมีเทคโนโลยี การนำเสนอคุณค่า ส่งมอบสินค้า และบริการยุคใหม่ ทำอยู่บนเทคโนโลยีแพลตฟอร์มทั้งนั้น”

คนทุกคนสามารถสร้างเรื่องราว ตัวตน ในโซเชียลได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะรักษาตัวตนให้ธุรกิจอยู่รอด วันนี้ร้านดัง แต่อีก 3 ปี จะเอาอะไรมาขายใหม่ เกิดธุรกิจออนไลน์ง่าย แต่ทำยังไงให้โต วันนี้เราผลิตคอนเทนต์ได้ บางคนก็หยุดอยู่แค่ผลิตตอนเทนต์ คนบางคนก็คิดว่าจะเหนือไปกว่าการผลิตอย่างไร เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับวงการผม วงการก่อสร้าง แพลตฟอร์มแปลว่านั่งร้าน เป็นที่ให้คนมาเหยียบ เพื่อให้ไปได้ไกลขึ้น

คนบางคนจึงเริ่มคิดอยากสร้างแพลตฟอร์มสักอย่าง ให้เฉพาะคนในวงการตัวเอง หรือเป็นประโยชน์กับคนที่มาทีหลัง เช่น แพลตฟอร์มของคนรีวิวเครื่องสำอาง ของคนรีวิวร้านอาหาร ท่องเที่ยว และอีกหลายเรื่องที่เรายังทำได้ เช่น การศึกษา การก่อสร้าง

ยกตัวอย่าง 3 ธุรกิจที่ใช้ประโยชน์ของโลกออนไลน์

1. คริสตี้ อึ้ง อายุ 20 ปีกว่า ๆ เมื่ออายุ 18 ปี เป็นแม่ค้าขายรองเท้าในตลาดนัด นำของเข้าจากหาดใหญ่ สักพักเธอเริ่มคิดว่าบางวันขายได้ บางวันขายไม่ได้ ขายออนไลน์ดีไหม ก็เหมือนกับเหตุผลทั่วไป ขายออนไลน์ดีที่ไม่ต้องเช่าแผง ไม่ต้องลุ้นว่าจะมีลูกค้าไหม แล้วก็ขายได้ดี แต่ไม่ได้หยุดแค่นี้ เธอเริ่มเปิดบล็อกของตัวเองขึ้นมา จากเฟซบุ๊ก ไอจี มาเปิดเว็บไซต์ของตัวเอง คริสตี้อึ้งดอทคอม ธุรกิจนี้เกิดเมื่อปี 2010 เมื่อปี 2013 ก็เปิดเว็บอื่นๆ ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้ภาพหมุน 3 มิติออนไลน์ ให้การเลือกซื้อรองเท้า สามารถเลือกสี ชนิดหนัง ตกแต่งรองเท้า คือเป็น customized shoes เคสนี้เป็นกรณีศึกษาของอาเซียน เพราะตอนนี้ส่งได้ทั่วโลก

“มันเริ่มจากการตั้งคำถาม ทำไมเฟซบุ๊กต้องเรียงภาพอย่างนี้ ไอจีเป็นอย่างนี้ พอตั้งคำถามเสร็จ ก็ผลิตเว็บไซต์มาเอง เพื่อกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ขยายธุรกิจของตัวเองต่อไป”

2. มิสฟิต (Misfit) เป็น activity tracker เครื่องวัดก้าวเดิน วันนี้นอนหลับอย่างไร เกิดเมื่อปี 2011 เป็นไอเดียของกลุ่ม นำโดยไซมอน วู ชาวเวียดนามโพ้นทะเล โตที่แคลิฟอร์เนีย ซิลิคอนวัลเลย์ เขาคิดว่าอยากทำ activity tracker ที่มันง่ายๆ แต่มีไอเดียเฉยๆ ไม่ได้หยุดแค่นี้ เขาเอาไอเดียไปวางไว้ที่ cloud funding platform ชื่อว่า indy go go เป็นวิธีการหาทุนในโลกยุคนี้ คนทั่วโลกที่สนใจ อยากสนับสนุนก็ระดมทุนทีละเล็กทีละน้อย หรือบางคนก็อาจจะพรีออเดอร์ไว้ก่อน วางเงินรอไว้เลย มิสฟิสต้องการเงินแค่ 1 แสนเหรียญ ปี 2011 มาทำโปรโตไทป์ของฮาร์ดแวร์นี้ ปรากฏว่าได้เงิน 8 แสนเหรียญ ได้ผลิตสิ่งนี้มอบให้ปลายปี 2012

ฮาร์ดแวร์นี้ออกแบบที่แคลิฟอร์เนีย ผลิตที่เกาหลี แต่แอปพลิเคชันเขียนโดยชาวเวียดนาม ทีมวิศวกร ดีไซเนอร์ เป็นคนเวียดนาม บริษัทนี้เพิ่งขายให้แบรนด์นาฬิกา fossil 260 ล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจอายุ 5 ปี

3. ธุรกิจของผมเอง คุณคงเคยเห็นเจ๊จู คือ ตัวแทนของธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ที่ดูอยู่คนละโลกกับดิจิทัล จริงๆ แล้วเจ๊จูเป็นเบื้องหลังของธุรกิจที่ผมทำมา 6 ปี

Builk ผมอยากให้ธุรกิจผมไปในเอเชีย ที่มาที่ไป ผมทำธุรกิจก่อสร้าง แล้วผมบริหารธุรกิจเฮงซวย ผมอยากหาซอฟต์แวร์มาช่วยแก้ปัญหา ใช้เวลาเกือบ 10 ปี หาคำตอบว่าผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องทำงานอย่างไรให้ชีวิตดี กลายเป็นที่มาของ Builk ผมคิดโปรแกรมง่ายๆ ขึ้นมา ผมเลือกโมเดลธุรกิจที่ตอนนั้นคนมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ ผมให้คนใช้โปรแกรมฟรี แต่อย่างที่ผมบอกไป ถ้าเฟซบุ๊ก ไลน์ ไม่ฟรี มันคงไม่เกิดปรากฏการณ์อย่างปัจจุบัน ฟรีมันเปลี่ยนโลกไปเยอะ และอีกคำถามหนึ่งคือ ผู้รับเหมาที่ไหนจะใช้อินเทอร์เน็ต ไปไซต์ไกลนอกอำเภอเมืองก็ไม่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ มันเลยเป็นโอกาสให้ผมทำโปรแกรมฟรีให้จริงได้ โปรแกรมธุรกิจปกติไม่มีใครให้ใช้ฟรี แต่ผมเข้าใจว่าคนในวงการนี้ยังไม่พร้อมซื้อซอฟต์แวร์มาใช้ ทำให้ชีวิตผู้รับเหมาติดตามต้นทุนได้ดีขึ้น

ผมได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว ผมเอาโซเชียลมีเดียมาผสมกับการคุมต้นทุน เอาเรื่องที่อ่านเจอมาลองทำ โปรแกรมของเราช่วยลดต้นทุน เพิ่มกำไร และทำให้ผู้รับเหมามีชีวิตที่ดี ตอนนี้มีคนใช้โปรแกรมมากกว่า 16,000 บริษัททั่วประเทศ และอื่นๆ ในอาเซียน

ไผทเผยว่า ความสำเร็จของเขาอยู่ที่การมองเห็นโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เอาผลพลอยได้จากอินเทอร์เน็ตอย่าง “ข้อมูล” ไปใช้ในการค้าขายของเขา

thaipublica4-ไผท ผดุงถิ่น

“สิ่งที่ผมได้ คือโอกาสทางธุรกิจที่อยู่บน data ธุรกิจของผมคือธุรกิจบิ๊กดาต้า พอโปรแกรมฟรี ข้อมูลในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ไม่เคยมีใครเก็บมาก่อนว่าผู้รับเหมาก่อสร้างไทยซื้ออิฐ ปูน จากที่ไหนบ้าง วันนี้มีกิจกรรมอะไรบ้าง บิ๊กดาต้ากลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผมคาดไม่ถึง

100 ปีที่แล้ว ใครขุดเพชร ขุดทองได้ เป็นเศรษฐี 50 ปีที่แล้ว ใครขุดน้ำมันได้ เป็นเศรษฐี 5 ปีที่แล้ว ใครขุดดาต้าได้ น่าจะรวย แต่ปัจจุบันเป็นยุคหลังบิ๊กดาต้าแล้ว ดาต้าหลายอย่างในชีวิตของเราถูกเก็บไปแล้ว เช่น การเช็กอินที่ไหน บอกความรู้สึก และเกิดเป็นดาต้าพอยต์จำนวนมหาศาล คนที่เอาดาต้าพอยต์ไปวิเคราะห์ได้ เกิดโอกาสทางธุรกิจ

“ผมจึงมีข้อมูลเรื่องวัสดุก่อสร้างเยอะพอที่จะทำธุรกิจได้ ผมกำลังชวนเจ๊จู ร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วไปประเทศ ให้เข้ามาสู่ยุคดิจิทัล ใช้แพลตฟอร์มของผม ไม่ต้องสต็อกของที่ไม่จำเป็น ทั้งหมดกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยและอาเซียน”

มาถึงวิธีการทำธุรกิจของเขา ที่รู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองคืออะไร ไผทบอกกับผู้ฟังเสมอว่าเขาเองเขียนโปรแกรมไม่เป็น ไม่ได้มาจากสายเทคโนโลยี แต่การเขาเป็นอดีตนายกสมาคม Tech Startup และก่อตั้ง Builk.com ได้อย่างไร

ไผทเล่าวว่า “ผมไม่ได้ทำได้ตามลำพัง ผมได้พาร์ทเนอร์ที่ดีในการเริ่มต้นธุรกิจ ในวงการเทคสตาร์ทอัปเขาบอกว่ามีทักษะ 3 อย่าง ที่รวมกันแล้วจะเป็น dream team คือ 3 H ได้แก่ Hustler สายธุรกิจ คนที่คิดอะไรเป็นธุรกิจไปหมด Hacker เขียนโปรแกรมได้ ทำของให้เป็นจริงได้ และ Hipster ชอบงานออกแบบ ดีไซน์

เราเกิดในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต ขอแค่คุณตั้งเป้าเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่ความรู้ที่ฟังมามันอาจจะเป็นเพียงความรู้มือสอง ที่ฟังจากคนอื่น มันจะไม่มีประโยชน์ หากคุณไม่ทำความรู้ที่ฟังผ่านๆ แรงบันดาลใจ ไปลงมือทำจริงๆ มันคือการเอาสมมติฐานไปเป็นความจริง ไม่ถูกก็ผิด แค่ฟังไม่พอ ให้เป็นความรู้มือหนึ่ง เป็นโอกาสของคุณจริงๆ

ขณะนี้เกิดการ disruption ในหลายวงการ อย่าง วงการสื่อ เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงไป วงการธนาคาร คู่แข่งเป็นแชทแอปพลิเคชัน ร้านคอนวีเนียนสโตร์ กระทั่งธุรกิจเทเลคอม มันเกิดผู้เล่นใหม่ข้ามอุตสาหกรรม ธุรกิจโรงแรมก็มีแอร์บีเอ็นบี เราจะเลือกปรับตัวแบบไหน เราต้องปรับตัวตั้งแต่วันนี้ เตรียมตัวเอง เตรียมธุรกิจของคุณ เตรียมบริษัทของคุณเอง เตรียมลูกหลานของคุณ รวมทั้งประเทศ หากปรับตัวช้า หรือไม่ปรับตัว มีคลื่นลูกใหม่แซงไปข้างหน้าได้ตลอด