ThaiPublica > คอลัมน์ > การตัดสินใจเร็วๆ เเต่ดีมีวิธียังไง: Take-the-best heuristic

การตัดสินใจเร็วๆ เเต่ดีมีวิธียังไง: Take-the-best heuristic

14 ธันวาคม 2016


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

วันนี้มีอะไรที่ค่อนข้าง practical (พูดง่ายๆ คือประยุกต์ใช้ได้เลยทันที) ในวิธีการตัดสินใจมาเล่าให้ฟังกัน

เคยมี dilemma หรือภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการตัดสินใจระหว่างตัวเลือกสองตัวเลือกกันบ้างไหมครับ ยกตัวอย่างเช่น จะไปเรียนอังกฤษหรืออเมริกาดี หรือเรียนหมอหรือเรียนวิศวะดี หรือเเต่งงานหรือว่าเลิกกันดี

หรือเเม้เเต่การตัดสินใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับความชอบที่ตัวเรามีเลยก็ได้ อย่างเช่นการตัดสินใจตอบคำถามว่า ระหว่างเบลเยียมกับฮอลแลนด์ ประเทศไหนมีพลเมืองมากกว่ากัน บ้านหลังไหนในหมู่บ้านมีโอกาสที่ขโมยจะขึ้นมากกว่ากัน เป็นต้น

ปกติเเล้วการตัดสินใจระหว่างตัวเลือกสองตัวเลือกของเรานั้น เรามักจะใช้ระบบการตัดสินใจที่ค่อนข้าง linear หรือเป็นเส้นตรง ซึ่งก็คือการยกข้อบวกข้อลบต่างๆ นานาของทั้งสองตัวเลือกเเล้วก็นำมาบวกกัน (pros versus cons) ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่มีข้อบวกมากกว่าข้อลบ

ปัญหาก็คือ การตัดสินใจที่เป็น linear อย่างนี้มักจำเป็นต้องใช้เวลาในการตัดสินใจมากพอสมควร เเละถ้าสมมติข้อบวกเเละข้อลบของทั้งสองตัวเลือกนั้นมีเยอะมากมายจนนับไม่ถ้วน โอกาสที่เราจะตัดสินใจไปข้อใดข้อหนึ่งก็จะยิ่งยากมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ผมขอเเนะนำวิธีการที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ถูกเเละรวดเร็วกว่านี้เยอะ วิธีนี้ก็คือการ take-the-best heuristic ของ Gerd Gigerenzer และ Daniel Goldstein

วิธีของ take-the-best heuristics ก็คือ เเทนที่คุณจะทำรายการของข้อบวกเเละข้อลบของเเต่ละตัวเลือกออกมาเยอะๆ สิ่งที่คุณควรจะทำก็คือคิดถึงข้อบวกที่สำคัญที่สุดสำหรับตัวคุณออกมา หลังจากนั้นก็นำข้อนั้นมาเป็นตัวตัดสินใจระหว่างตัวเลือกทั้งสองข้อ

ยกตัวอย่างนะครับ ถ้าสิ่งที่สำคัญที่สุดของคนที่กำลังอยากจะไปเรียนต่อก็คือการจบเร็ว (พูดง่ายๆ ก็คือการจบเร็วมีอันดับความสำคัญที่สูงที่สุดสำหรับคนคนนั้น) เเล้วเขาคนนั้นต้องเลือกระหว่างการไปเรียนต่อที่อเมริกาหรือที่อังกฤษ เพราะการเรียนต่อที่อังกฤษ (ปริญญาโท) ใช้เวลาเเค่ปีเดียวเมื่อเทียบกับสองปีที่อเมริกา การ take-the-best ก็คือการเลือกไปเรียนที่อังกฤษโดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เเตกต่างอื่นๆ ของทั้งสองที่อีกเลย

เเต่ถ้าสิ่งที่คุณให้คุณค่าที่สุดก็คือเเค่การที่จะได้ไปเรียนต่อเมืองนอก เเต่การได้ไปเรียนอเมริกาหรืออังกฤษก็คือการได้ไปเรียนเมืองนอกทั้งสองที่ซึ่งก็ทำให้คุณไม่สามารถใช้ “การได้ไปต่อเมืองนอก” มาช่วยในการตัดสินใจได้ วิธีการ take-the-best ก็คือการให้คุณเลื่อนไปยังสิ่งที่สองที่คุณให้ความสำคัญรองลงมาจากข้อเเรกเเละดูว่าสิ่งนี้สามารถช่วยให้คุณเเยกเเยะระหว่างอังกฤษเเละอเมริกาได้ไหม (อย่างเช่น ถ้าสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างที่สองก็คือการ “ได้กินของอร่อยๆ ทั้งปี” งั้นคุณก็ไปอเมริกาดีกว่าไปอังกฤษ)

วิธีการ take-the-best นี้ได้รับการพิสูจน์มาเเล้วว่าสามารถช่วยให้คนตัดสินใจถูกต้องได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องเหนื่อยอะไรมากนะครับ เเถมโอกาสที่จะให้ผลที่เราถูกใจที่สุดก็ค่อนข้างสูงอีกด้วย

(ก่อนจบ ผมขอยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ เวลาที่นักวิจัยไปถามนักโทษในห้องขังว่า เวลาเขาย่องเบานั้นเขาใช้ตัวอะไรมาเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ วิธี take-the-best heuristic ของนักโทษส่วนใหญ่ก็คือ “ที่บ้านติดสัญญาณป้องกันขโมยหรือเปล่า” ถ้าบ้านหนึ่งติดเเต่อีกบ้านไม่ติด เขาก็จะเลือกบ้านที่ไม่ติดสัญญาณโดยที่ไม่จำเป็นต้องดูปัจจัยอะไรอย่างอื่นอีกเลย)

ป.ล. เเต่ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งก็คือ ถ้าสิ่งที่สำคัญที่สุดของเราในตอนนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของเราในภายหลัง อันนี้ก็ตัวใครตัวมันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม
Gigerenzer, G. and Goldstein, D.G., 1999. Betting on one good reason: The take the best heuristic. In Simple heuristics that make us smart (pp. 75-95). Oxford University Press.