ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > จับตา ธปท. คงดอกเบี้ย 21 ธ.ค. นี้ มุ่งเน้นเสถียรภาพและการพัฒนาเป็นธีมหลัก – เผชิญความกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า

จับตา ธปท. คงดอกเบี้ย 21 ธ.ค. นี้ มุ่งเน้นเสถียรภาพและการพัฒนาเป็นธีมหลัก – เผชิญความกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า

20 ธันวาคม 2016


thaipublica-cover_191259-2

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ได้คาดการณ์แนวโน้มการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ว่า

• ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 21 ธันวาคม ส่วนการเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เศรษฐกิจอื่นๆ น่าจะไม่มีนัยสำคัญสำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน
• HSBC ปรับลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับปี 2017 และ 2018 ลงจากการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่ช้ากว่าที่คาดไว้หลายเดือนก่อนและการฟื้นตัวที่อ่อนแอของอุปสงค์
• เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจลดลง ธปท. มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโฟกัสไปสู่เสถียรภาพการเงินและการพัฒนาระบบการเงินมากขึ้น

แนวนโยบายการเงินไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอีกสักพักใหญ่

HSBC คาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.5 ในวันที่ 21 ธันวาคม และคงมุมมองในภาพรวมเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินจากช่วงที่ผ่านมา การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจรายไตรมาสของ ธปท. ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ธนาคารกลางรอดูพัฒนาการของปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายการค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และข้อมูลอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทย เพื่อคาดการณ์ระดับของการชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้

รายงานการประชุมนโยบายการเงินของวันที่ 9 พฤศจิกายน แสดงให้เห็นว่า ธปท. มองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจใหญ่และความผันผวนในตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งบางมาตรการเป็นการต่ออายุจากมาตรการที่เคยใช้ก่อนหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปมากกว่านี้

HSBC ปรับลดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2560 และ ปี 2561 ลงสู่ร้อยละ 1.7 และ 2.0 จากเดิมที่ร้อยละ 2.0 และ 2.1 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อได้ปรับเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจยังสะท้อนว่าอำนาจการกำหนดราคายังอยู่ในระดับต่ำจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ ทั้งนี้ ผลจากฐานราคาน้ำมันที่ต่ำในปีนี้อาจจะส่งผลทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นบ้าง แต่รัฐบาลสามารถช่วยชะลอผลกระทบต่อราคาขายปลีกโดยอาศัยกองทุนน้ำมันส่วนหนึ่ง ดังนั้น คาดว่า ธปท. ไม่น่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อไปอีกระยะ

นอกจากนี้ เนื่องจากว่าเสถียรภาพภายนอกของไทย (external stability) อยู่ในเกณฑ์ดีและค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับคู่ค้า จึงคาดว่าการดำเนินการด้านอัตราแลกเปลี่ยนใดของ ธปท. จะมีเพียงเพื่อลดความผันผวนในระยะสั้นเพื่อให้ภาคเอกชนมีเวลาปรับตัวและป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ธปท. มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพการเงินและการพัฒนาทางการเงินต่อไป ในแถลงข่าวเรื่อง การประชุมร่วมของคณะกรรมการนโยบายการเงินและคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ในวันที่ 9 ธันวาคม ธปท. ระบุว่า เสถียรภาพทางการเงินยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เว้นเพียงแต่คุณภาพสินเชื่อที่ลดลงและพฤติกรรม “การหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น” ในตลาดการเงินที่ยังต้องคอยติดตาม

ดังนั้น HSBC คาดว่าความน่าจะเป็นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต่อไปนั้นมีน้อย และคาดว่า ธปท. จะยังคงมุ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างระบบการเงินในช่วงต่อไป ซึ่งมีนัยสำคัญว่า แม้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายการเงินด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน แต่ยังมีการดำเนินการ “เบื้องหลัง” เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการเงินและโครงสร้างโดยรวมของภาคการเงิน ซึ่งผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นมีหลายประการ เช่น การเข้าถึงทางการเงินที่มากขึ้น การลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการเงิน กฎระเบียบด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น การติดตามความเสี่ยงภาคการเงินอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันการเงินไทย และการเชื่อมโยงด้านการเงินภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ

คาด ธปท. คงดอกเบี้ย แต่ต้องเผชิญความกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB มองว่าการดำเนินนโยบายการเงินในปีหน้าจะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่เพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว จึงคาดว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ยาวจนถึงสิ้นปี 2017 ถึงแม้ว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% จากการประชุม 13 ครั้งที่ผ่านมา แต่เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้องจับตาดูว่าการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในวันพุธที่ 21 ธันวาคมนี้ ธปท. จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่

ทั้งนี้ 2 ปัจจัยหลักที่ ธปท. ใช้ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้แก่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่าถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้น 10% จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้น 0.3% โดย โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในช่วงปี 2005 ถึงกลางปี 2006 ที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจาก 45 ไปแตะระดับ 70 USD/barrel ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงถึง 5% ซึ่งส่งผลให้ธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2% ไป 5%

สำหรับมุมมองในปีหน้า หากเพียงแค่ราคาน้ำมันทรงตัวที่ระดับปัจจุบันที่ 55 USD/barrel อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงแตะระดับ 3.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 เข้าใกล้ขอบบนของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 4% ซึ่งหมายถึงแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นบนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาปัจจัยด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในรอบปีที่ผ่านมา ถึงแม้ภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายและการลงทุนเต็มที่แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้เพียง 3% และเป็นการขยายตัวที่ค่อนข้างกระจุกตัว โดยอาศัยการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่การลงทุนภาคเอกชนกลับหดตัวติดต่อกันตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งแตกต่างจากในช่วงปี 2005 ถึงกลางปี 2006 ที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้เฉลี่ย 4.5% และขับเคลื่อนโดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้เฉลี่ยถึง 4.2 และ 11.3% ตามลำดับ

ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำนี้จนถึงสิ้นปี 2017 ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำยังจำเป็นต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการและนักลงทุนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจและเตรียมตัวรับมือกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต