ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ธ.ค. 2559: “สามแสนชื่อค้านต้านไม่อยู่-พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ผ่านฉลุย แก้บางจุด” และ “กบฏซีเรียถอยทัพ จบศึก 4 ปี อเลปโป”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ธ.ค. 2559: “สามแสนชื่อค้านต้านไม่อยู่-พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ผ่านฉลุย แก้บางจุด” และ “กบฏซีเรียถอยทัพ จบศึก 4 ปี อเลปโป”

17 ธันวาคม 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 10-16 ธ.ค. 2559

  • สามแสนชื่อค้านต้านไม่อยู่-พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ผ่านฉลุย แก้บางจุด
  • กรมธุรกิจการค้าเผย ยอดจดทะเบียนเลิกกิจการเดือน พ.ย. พุ่ง 51%
  • บิ๊กป้อมเดือด นสพ. พาดหัว ถูกปรับออกจาก ครม. – ยัน ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ออก
  • ชูวิทย์ได้เฮ เตรียมตัวพ้นโทษ
  • กบฏซีเรียถอยทัพ จบศึก 4 ปี อเลปโป
  • สามแสนชื่อค้านต้านไม่อยู่-พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ผ่านฉลุย แก้บางจุด

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ change.org (https://goo.gl/jbG6s1)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ change.org (https://goo.gl/jbG6s1)

    วันที่ 15 ธ.ค. 2559 ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เอไอ) เดินทางเข้ายื่นรายชื่อประชาชนกว่า 300,000 รายชื่อ ต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้มีการทบทวนและแก้ไขเนื้อหาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไข โดยรายชื่อดังกล่าว รวบรวมจากแคมเปญ “หยุด #พรบคอม หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” ซึ่งตั้งขึ้นในเว็บไซต์ change.org และปัจจุบัน ณ เวลา 11.50 น. ของวันที่ 16 ธ.ค. 2559 มีจำนวนผู้สนับสนุนการรณรงค์คัดค้านนี้อยู่ที่ 364,399 คน

    ทั้งนี้ จากรายงานของเว็บไซต์บีบีซีไทย นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ระบุว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ตเสนอให้ทบทวนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในหลายประเด็น แต่มาตราที่น่ากังวลมากที่สุด ได้แก่ มาตรา 14 (1) ซึ่งใกล้เคียงกับเนื้อหาใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมามักจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องหมิ่นประมาท และมาตรา 20 (3) ซึ่งนายอาทิตย์ระบุว่าอาจส่งผลกระทบมากที่สุดต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป เพราะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาความผิดที่เข้าข่ายการเผยแพร่ “ข้อมูลบิดเบือน” นอกเหนือไปจาก “ข้อมูลเท็จ” ที่ระบุไว้แต่เดิม ถือเป็นคำที่มีความหมายกว้าง อาจนำไปสู่การตีความที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น

    อนึ่ง ตามรายละเอียดที่อยู่ในแคมเปญ “หยุด #พรบคอม หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล” บนเว็บไซต์ chamge.org นั้น ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขดังกล่าวมีข้อน่ากังวลหลายประการดังนี้ คือ

    1. อาจถูกนำไปใช้เพื่อจำกัดการตรวจสอบผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและเอกชน
    2. อาจทำให้เกิดการสั่งปิดเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียวโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล
    3. อาจทำให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว
    4. เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการระงับและลบข้อมูลของฝั่งผู้ให้บริการได้ทันที ทำให้การตรวจสอบโดยศาล (ก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจ) อาจถูกข้ามไปก่อนได้ในทางปฏิบัติ
    5. เจ้าหน้าที่สามารถปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาของเว็บไซต์ต่างๆ ได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” แม้จะไม่ผิดกฎหมายก็ตาม

    นอกจากนี้ จากรายงานของเว็บไซต์ Brand Inside ธุรกิจคิดใหม่ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับแก้ไขนี้ ธุรกิจธนาคาร ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต รวมทั้งโทรคมนาคม ก็จะต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างสูง และจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานระบบเศรษฐกิจไหลไปต่างประเทศด้วย

    อย่างไรก็ดี จากการรายงานของเว็บไซต์บล็อกนัน พล.ต.อ. ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธาน กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการต่อต้านว่า ไม่สามารถชะลอหรือทบทวนใหม่ได้ แต่จะเลื่อนวันพิจารณาไปเป็นวันที่ 16 ธันวาคม 2559 แทน และยังกล่าวด้วยว่า ข้อกังวลเรื่องการปิดเว็บไซต์จะใช้กฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล คุ้มครองความมั่นคงทั้งเศรษฐกิจและสังคม ถ้าปล่อยให้นำเข้าข้อมูลที่ปลอมแปลงเข้าสู่ระบบมันจะกระจายอย่างรวดเร็ว จึงแก้ไขปรับปรุงให้กฎหมายมีความชัดเจน

    และในที่สุด หลังการประชุมเสร็จสิ้น ร่างฯ ดังกล่าวก็ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยคะแนนเห็นชอบ 167 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง และไม่เห็นชอบ 0 เสียง แต่จากการรายงานของเฟซบุ๊กไอลอว์ หรือ “โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน” พบว่าในการพิจารณา วาระที่ 2 หรือก็คือการพิจารณารายมาตรานั้น มีการเสนอประเด็นที่ต้องแก้ไขอยู่ 2 ประการ ดังนี้

    1. คณะกรรมการปิดเว็บไซต์ แม้เนื้อหาไม่ผิดกฎหมายยังคงอยู่ แต่เพิ่มจำนวนและที่มา
    2. จากการอภิปรายในสภา ได้ข้อสรุปว่า ประเด็นการตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองเนื้อหา” ที่มีอำนาจขอศาลปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีได้ แม้เว็บไซต์ดังกล่าวจะไม่ผิดกฎหมาย ให้ย้ายจากที่อยู่ในมาตรา 20/1 ไปรวบกับมาตรา 20 โดยสาระสำคัญไม่ได้เปลี่ยน ยังคงมีคณะกรรมการชุดนี้อยู่ แต่เพิ่มจำนวนคณะกรรมการจาก 5 คนเป็น 9 คน และให้มี 3 คนในนั้นมาจากองค์กรด้านสิทธิ ด้านสื่อ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นๆ

    3. คำว่า “บริการสาธารณะ” ที่ขยายความผิดให้กว้างขวางถูกตัดออกไป
    4. จากการอภิปรายในสภา มีสมาชิกหลายคนที่เห็นว่าคำว่า “บริการสาธารณะ” ที่อยู่ในมาตรา 12 และ 14(2) เป็นคำที่มีความหมายกว้างเกินไป กินความถึงการทำงานทุกอย่างของรัฐ จึงเสนอให้ตัดออก คณะกรรมาธิการเห็นว่า เนื่องจากยังมีถ้อยคำอื่นๆ เช่น “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” “ความมั่นคงของรัฐ” เหลืออยู่แล้ว จึงยินยอมให้ตัดคำว่า “บริการสาธารณะ” ออกได้

    กรมธุรกิจการค้าเผย ยอดจดทะเบียนเลิกกิจการเดือน พ.ย. พุ่ง 51%

     น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/bF2Zmy)

    น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (https://goo.gl/bF2Zmy)

    วันที่ 15 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เดือนพฤศจิกายน 2559 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศเดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวน 5,799 ราย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวน 5,092 ราย เพิ่มขึ้น 707 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวน 4,520 ราย เพิ่มขึ้น 1,279 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกเดือนพฤศจิกายน 2559 มีจำนวน 2,397 ราย เมื่อเทียบกับตุลาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,588 ราย เพิ่มขึ้น 809 ราย คิดเป็นร้อยละ 51

    ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เดือนพฤศจิกายน 2559 จำนวน 16,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,284 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 14,720 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 280 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 15,724 ล้านบาท ส่วนธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ 803 ราย รองลงมาธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 649 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 351ราย ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร 120 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 115 ราย ตามลำดับ ส่วนห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2559) 1,355,900 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.42 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการทั่วประเทศ 646,460 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.77 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 466,230 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,152 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,078 ราย

    สำหรับ ภาพรวมการจดทะเบียนการจัดตั้งนิติบุคคลช่วง 11 เดือนแรก 2559 (ม.ค.-พ.ย.) 59,878 ราย สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 5 เป็นผลมาจากการจดทะเบียนธุรกิจร้านขายทองที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลสูงถึง 1,341 ราย ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษีมากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา

    นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวยังส่งผลดีต่อธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ให้มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นปีนี้และคาดว่าภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งปีจะสูงประมาณ 63,000 ราย

    บิ๊กป้อมเดือด นสพ. พาดหัว ถูกปรับออกจาก ครม. – ยัน ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ออก

    พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ที่มาภาพ: เว็บไซต์มนติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/?p=396247)
    พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงและ รมว.กลาโหม
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์มนติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/?p=396247)

    เว็บไซต์มติชนรายงานว่า จากกรณีที่หนังสือพิมพ์ฉับบหนึ่งพาดหัวว่า “บิ๊กตู่ ปรับ ครม. สะพัดประวิตรปิ๋ว” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวด้วยน้ำเสียงโมโหว่า ข่าวมั่ว เขียนได้อย่างไรว่า นายกฯ ปรับ ครม. และ พล.อ. ประวิตร ปิ๋ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการตัดขาตนและจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ อยากให้ตนออก เล่นกันแบบนี้ได้อย่างไร ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ตนยังทำงานได้แม้อายุมากแล้วก็ตาม

    “เพราะผมแข็งใช่ไหม ถึงเกิดเรื่องแบบนี้ ถ้าผมอ่อน สื่อจะมาสนใจผมไหม สิ่งที่เกิดขึ้น เอาผมไปขายข่าวกัน ตอนนี้ลือกันทั่วประเทศ ผมอยากถามใครเขียนและพาดหัวข่าวนี้ ใช้ไม่ได้ ผมอยากพูดบ้าง สื่อบางสำนักใช้ไม่ได้ หาข่าวกันไม่ได้ ก็มาเล่นผม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการขายข่าว ทำอย่างนี้ได้ไง ผมทำงาน ครั้งก่อนก็ลือว่า ผมป่วยเข้าโรงพยาบาล เอาผมทุกเรื่อง มีผมคนเดียวโดน คนอื่นไม่โดน เล่นผมกับนายกฯ 2 คน” พล.อ. ประวิตร กล่าว

    เมื่อถามถึงกระแสข่าวปรับ ครม. พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ปรับ ครม. ไม่กี่คน ก็ว่ากันไป ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีผู้พิจารณา ตอนนี้ทำงานเหลืออีก 1 ปี เมื่อถามว่า จะฟ้องหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่ฟ้อง ตนจะดูเองทั้งหมด ใครเขียนข่าวโจมตีตน เบื้องต้นทราบแล้วว่าข่าวออกมาจากไหน แล้วมาประโคมข่าวว่าตนจะลาออกจาก ครม.

    เมื่อถามย้ำ จะอยู่ในตำแหน่งครบตามโรดแมป คสช. ใช่หรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า

    “ผมไม่ยืนยัน เรื่องของผม ไม่ต้องยืนยันกับใคร ผมทำงานของผม ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ออก เท่านั้นเอง แต่ผมยังทำได้และทำได้เยอะมาก ผมทำงานเยอะ จึงทำให้คนไปเขียนว่า ผมกับนายกฯขัดกัน เป็นวิธีการของสื่อในการขายข่าว ครั้งก่อนทีหนึ่งลือว่าผมป่วยเข้าโรงพยาบาล แล้วผมเป็นอะไร ก็ไม่เป็นอะไรเลย สิ่งที่เกิดขึ้น ผมมองว่าอยากให้รัฐบาลพัง ถ้าผมออกสักคน ก็หลุดไปเยอะ เพราะผมดูแลทั้งทหารและตำรวจ” พล.อ. ประวิตร กล่าว

    เมื่อถามว่า เพราะเป็นพี่ใหญ่ด้วยหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ใช่

    อนึ่ง ล่าสุด ในการเผยแพร่ประกาศการปรับ ครม. ผ่านราชกิจจานุเบกษา ก็ไม่ได้มีชื่อของ พล.อ. ประวิตร ถูกโยกย้ายหรือถอดถอนแต่อย่างใด

    ชูวิทย์ได้เฮ เตรียมตัวพ้นโทษ

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากกรมราชทัณฑ์ว่า วันที่ 16 ธ.ค. 2559 นายชูวิทย์ กมลวิศษฎ์ ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ จะได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ

    ทั้งนี้ นายชูวิทย์ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 และถูกจำคุกตามมาตรา 365 จะได้รับการลดวันต้องโทษตามมาตรา 7 ของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษ 2559 จำนวน 1 ใน 4 ของโทษ จึงได้รับการปล่อยตัวดังกล่าว

    สามารถดูรายละเอียดและหลักเกณฑ์ของ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษได้ที่นี่

    กบฏซีเรียถอยทัพ จบศึก 4 ปี อเลปโป

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/DDL1FY)
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://goo.gl/DDL1FY)

    วันที่ 14 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานโดยอ้างสำนักข่าวต่างประเทศว่า นาย วิตาลี เชอร์คิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ในวันอังคารที่ 13 ธ.ค. 2559 ว่า รัฐบาลซีเรียเข้าควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกของเมืองอเลปโปไว้ได้แล้ว หลังจากพื้นที่แห่งนี้ตกอยู่ในมือฝ่ายกบฏต่อต้านรัฐบาลมากว่า 4 ปี

    “กว่าชั่วโมงที่ผ่านมา เราได้รับข้อมูลว่าปฏิบัติการณ์ทางทหารในพื้นที่ทางตะวันออกของเมืองอเลปโปยุติลงแล้ว” นายเชอร์คินกล่าว “ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับการยุติความเป็นศัตรู หรือปฏิบัติการด้านมนุษยธรรม รัฐบาลซีเรียได้เข้าควบคุมภาคตะวันออกของเมืองอเลปโปแล้ว ฉะนั้นในตอนนี้ถึงเวลาเริ่มต้นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแล้ว”

    หากคำพูดของนายเชอร์คินได้รับการยืนยัน จะถือว่าเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ในเมืองอเลปโปที่ดำเนินมานานกว่า 4 ปี ขณะที่ผู้สื่อข่าวหลายคนที่อยู่ในเมืองอเลปโประบุว่า ไม่มีการโจมตีทางอากาศหรือการต่อสู้เกิดขึ้นเลยในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา

    ก่อนหน้านี้นายเชอร์คินออกมาเปิดเผยด้วยว่า ได้มีการทำข้อตกลงให้นักรบฝ่ายกบฏออกจากเมืองแห่งนี้แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ภายในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า “พลเรือนอเลปโป พวกเขาสามารถอยู่หรือไปยังที่ปลอดภัย พวกเขาสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเพื่อมนุษยธรรมที่บังคับใช้ในพื้นที่ได้ ไม่มีใครจะทำร้ายพลเรือนเหล่านี้”

    ขณะที่ฝ่ายกบฏก็ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน และบอกด้วยว่า พลเรือนจะรวมอยู่ในกลุ่มผู้อพยพยออกจากเมืองด้วย

    ทั้งนี้ ก่อนที่นายเชอร์คินจะออกมาประกาศข่าวเรื่องการหยุดต่อสู้ในเมืองอเลปโป ฝ่ายกบฏซึ่งถูกกองทัพรัฐบาลซีเรียโจมตีอย่างหนักมาหลายสัปดาห์จนเสียดินแดนในครอบครองไปมากมาย ถูกบีบให้ล่าถอยไปอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ทางตะวันออกของเมือง ท่ามกลางรายงานว่าเกิดการละเมิดมนุษยธรรมอย่างหนัก รวมทั้งการเข่นฆ่าประชาชน