ThaiPublica > คอลัมน์ > Life, Animated ปีเตอร์ แพน นายโตเป็นหนุ่มแล้ว!

Life, Animated ปีเตอร์ แพน นายโตเป็นหนุ่มแล้ว!

18 ธันวาคม 2016


1721955

documetary-open-1

เงือกน้อย แอเรียล ใน The Little Mermaid ปรารถนาจะมีขาเพื่ออยู่ร่วมกับมนุษย์เดินดิน, ลูกสิงโต ซิมบาใน The Lion King ต้องฝ่าภยันตรายมากมายก่อนจะกลายเป็นราชาแห่งป่า, ควอซีโมโด คนค่อมผู้อ้างว้างแห่ง The Hunchback of Nortre Dame ไม่ต้องการเป็นที่รังเกียจของสังคม, ปีเตอร์ แพน ใน Peter Pan ผู้ไม่รู้จักโตต้องข้ามพ้นตัวตนเพื่อจะกลายเป็นผู้ใหญ่ การ์ตูนดิสนีย์เหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโลกสำหรับเด็ก เป็นโลกของพวกไม่รู้จักโต แต่สารคดี Life, Animated (2016) กลับยืนยันให้เห็นว่า การ์ตูนเป็นสื่อที่ทำให้เด็กคนหนึ่งรู้จักการเติบโต มันพาเขาโลดแล่นผจญภัยสู่โลกแห่งจินตนาการ เพื่อจะช่วยให้เขาเผชิญโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างกล้าแกร่ง

“การ์ตูนทำให้ผมรู้จักผู้คนรอบข้างมากขึ้น” คือคำยืนยันของ โอเวน ซัสคายด์ ที่เขาบอกกับเพื่อนๆร่วมชั้นเรียน ขณะกำลังจะฉาย The Lion King ซึ่งทั้งชั้นเรียนล้วนเป็นเด็กพิเศษออทิสติกเหมือนๆกับโอเวน รอน พ่อของโอเวนเล่าว่า “เขาใช้โลกจินตนาการในการ์ตูนมาเป็นตัวเชื่อมโยงกับโลกของเรา” คอร์เนเลีย แม่ของโอเวนก็เสริมว่า “โลกนี้มันเข้มข้นเกินไปสำหรับสมองของคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเป็นเด็กเล็กๆ พวกเขาจะไวต่อความรู้สึก ทุกสิ่งรอบข้างจะปลุกเร้าพวกเขาให้ตื่นตระหนกอยู่ตลอดเวลา คุณลองนึกดูสิว่าถ้าต้องอยู่ในโลกที่มันอยู่ยากขนาดนั้น ทุกสรรพเสียงที่พวกเขาได้ยินจะสนั่นก้องในหัวไม่หยุดหย่อน” นั่นแหละคือโลกที่โอเวนต้องเผชิญ ไม่ใช่แค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่คือชั่วชีวิตของเขาเลยทีเดียว

documentary1-peter pan

“ตอนสามขวบ จู่ๆเขาก็เริ่มพูดไม่เป็นภาษา ทักเรียกก็ไม่หือไม่อือ แต่หลังจากที่ผมเปิด The Little Mermaid ให้เขาดู พอสักรอบที่สามเขาก็เริ่มพูดตามตัวแม่มดเออร์ซูลาในเรื่องได้อย่างชัดแจ๋ว” รอน เล่าให้ฟังอย่างตื่นเต้น

หนังสารคดีเรื่องนี้มีที่มาจาก Life, Animated: A Story of Sidekicks, Heroes, and Autism (2014) หนังสือติดอันดับขายดีที่ รอน ซัสคายด์ เขียนเล่าชีวิตของตัวเองและลูกชายออทิสติก อันที่จริง รอน เป็นนักข่าวรางวัลพูลิเซอร์ เป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสารหัวดังระดับโลกอย่าง วอลล์ สตรีท เจอร์นัล, นิวยอร์ค ไทมส์ และ เอสไควร์ ซึ่งล้วนเขียนประเด็นทางการเมืองทั้งสิ้น ยกเว้นก็แต่เล่มนี้ที่เขาเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่โอเวนแรกเกิด จนมารู้ว่าเป็นเด็กพิเศษ ก่อนจะค้นพบว่าโลกในการ์ตูนดิสนีย์ช่วยให้โอเวนกลับมาพูดจาสื่อสารได้รู้เรื่องอีกครั้ง

ถ้าจะอธิบายวิธีเจื้อยแจ้วของ โอเวน ให้เห็นภาพ ลองนึกถึงเสียงตัวการ์ตูนที่พูดจาเสียงเล็กเสียงน้อย บางทีเสียงก็สูงปรี๊ด หรือแสดงอารมณ์พลุ่งพล่านคาดเดาอารมณ์ยาก บางทีก็พูดจาซ้ำๆวกวน นั่นแหละวิธีพูดของโอเวน แต่แค่เท่านี้ก็นับเป็นพรวิเศษเหลือหลายแล้ว เมื่อเทียบกับแต่ก่อนที่เขาไม่เอ่ยอะไรสักแอะ ตาลอยเหม่อไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้ “เขาเหมือนถูกลักพาตัว เหมือนถูกใครบางคนลักพาลูกของเราหายไปเลย” รอนเล่า

documentary2-peter pan

ตัวสารคดีเล่าเหตุการณ์ในวัยหนุ่มของโอเวน สลับกับการย้อนเล่าเหตุการณ์ตอนเด็กจากบทส่งท้ายของหนังสือที่ถูกวาดขึ้นเป็นแอนิเมชัน บวกกับคลิปจากการ์ตูนดิสนีย์ดังๆหลายเรื่อง ผสมกับคลิปโฮมวิดีโอในวัยเด็กของโอเวน กำกับสารคดีโดย โรเจอร์ รอสส์ วิลเลียม เจ้าของหนังสั้นรางวัลออสการ์ Music by Prudence (2010) และสารคดีกวาดรางวัลเรื่อง God Loves Uganda (2013) รวมถึงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมในเทศกาลหนังซันแดนซ์จาก Life, Animated นี้ด้วย

รอสส์ วิลเลียม เล่าว่า “ผมกับรอนเป็นเพื่อนสนิทกันมาสิบห้าปี ตั้งแต่สมัยที่เราเคยตระเวนทำข่าวทีวีภาคค่ำด้วยกัน ตอนเขาเริ่มจะเขียนหนังสือเล่มนี้ก็แวะมาคุยให้ผมฟัง แล้วผมก็โดดเข้ามาถ่ายทำเป็นสารคดี ตั้งแต่ตอนที่หนังสือยังเขียนไม่เสร็จเลยด้วยซ้ำ หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนตอนต่อเนื่องจากตอนจบของในหนังสือ พาคนดูไปตามติดชีวิตของโอเวนที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่มันไม่ใช่สารคดีเด็กออทิสติกสู้ชีวิต สำหรับผมมันเป็นหนังคัมมิง ออฟ เอจแท้ๆที่ให้บทเรียนสำคัญแก่ทุกชีวิต ไม่ว่าคุณจะเป็นออทิสติกหรือไม่ก็ตาม เพราะชีวิตเป็นเหมือนการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการค้นหาที่อยู่ที่ยืนของตัวเองบนโลกอันโหดเหี้ยมใบนี้

documentary3-peter pan

การจะทำหนังเรื่องนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคลิปจากการ์ตูนดิสนีย์ ซึ่งทั้งวงการต่างรู้ดีว่าดิสนีย์จุกจิกมากเรื่องลิขสิทธิ์ ตรงนี้รอสส์ วิลเลียมบอกว่า “จูลี โกลด์แมน โปรดิวเซอร์ของผมเข้าไปเจรจาขอสิทธิ์การใช้ฟุตเทจพวกนี้กับดิสนีย์มาตั้งแต่เริ่มถ่ายทำ ซึ่งดิสนียก็เอื้อเฟื้อกับเรามาก ไม่เข้ามาก้าวก่ายหรือตัดทอนเนื้อหาของหนังแต่อย่างใด อาจเพราะดิสนีย์ชอบความคิดของผมมั้ง พวกเขาเลยไม่เข้ามาขวางเราเลย”

กลวิธีหนึ่งที่แปลกต่างจากสารคดีทั่วไปคือ ถ้าเป็นการสัมภาษณ์พ่อแม่หรือพี่ชายโอเวน คนเหล่านี้จะคุยกับผู้กำกับที่นั่งอยู่ข้างๆกล้อง แต่รอสส์ วิลเลียมเล่าว่า “ผมอยากให้ โอเวน จ้องตากับคนดูโดยตรง จุดนี้ผมแก้ปัญหาด้วยการใช้อุปกรณ์สัมภาษณ์ที่เรียกว่า “อินเทอร์โรตรอน” (Interrotron) อันเป็นจอภาพขนาดประมาณจอทีวีซึ่งติดกล้องเอาไว้ข้างหลัง โดยบนจอจะฉายภาพของผม เพื่อจะเก็บภาพของโอเวนในมุมแบบประสานตาคนดูได้ในขณะเดียวกัน เหมือนกับเขากำลังคุยอยู่กับผู้ชมในโรงจริงๆ หรือไม่บางทีบนจอนี้ก็จะเป็นภาพคลิปการ์ตูนที่จะถูกตัดแทรกเข้ามาในหนัง เพื่อให้กล้องสามารถจับปฏิกิริยาตอบสนองที่โอเวนมีต่อการ์ตูนเรื่องนั้นๆได้อย่างที่คนดูจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาขวางกั้น เหมือนพาคนดูเข้าไปส่องมองโลกที่อยู่ในหัวของโอเวนไปพร้อมๆกัน”

documentary4-peter pan

วิธีนี้ทำให้สารคดีเรื่องนี้โดดเด่นด้วยการจับอากัปกิริยาต่างๆของโอเวนออกมาได้อย่างน่ารักน่าชัง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีมุมมองใหม่ๆ ความคิดแหวกๆ และไม่รู้สึกว่าเขาจะถูกมองเป็นคนโง่อย่างที่คนส่วนใหญ่มักจะตราหน้ากัน รอสส์ วิลเลียม อธิบายว่า “คนส่วนใหญ่มักจะมองว่ากลุ่มคนออทิสติกมีข้อจำกัดในการสื่อสาร แต่ผมเห็นว่าคนทุกคนล้วนมีรูปแบบการสื่อสารเฉพาะตัว ไม่ซ้ำกัน ทีนี้ถ้าเราเพิกเฉยต่อสัญชาติญานของเขา ก็เท่ากับเราโยนทิ้งตัวตนของพวกเขาออกไป โอเวนสอนมุมมองใหม่ๆในการมองโลกให้แก่ผมอย่างมาก ผมจึงอยากให้คนดูได้เห็นว่าเขาไม่ได้ป่วยไข้ พิการหรือไร้ความสามารถ เพียงแต่วิธีการสื่อสารของเขาเป็นรูปแบบเฉพาะตัวเท่านั้นเอง แถมมีมุมมองแปลกใหม่พิเศษกว่าคนทั่วๆไปด้วยซ้ำ

“คนส่วนใหญ่มักมองว่าคนออทิสติกไม่ชอบอยู่ท่ามกลางผู้คน ผิดถนัด ความจริงคือพวกเราก็มีความต้องการเหมือนๆกับคนอื่นๆนั่นแหละ เพียงแต่บางทีเราก็ไม่รู้วิธีสื่อสารกับคนอื่นๆเท่านั้นเอง” โอเวนบอก

documentary5-peter pan