ThaiPublica > คอลัมน์ > ผักตบชวาเต็มแม่น้ำ…เพราะใคร

ผักตบชวาเต็มแม่น้ำ…เพราะใคร

21 พฤศจิกายน 2016


อรอนงค์ ลาภปริสุทธิ
ธงชัย พรรณสวัสดิ์
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวทั้งทางหน้าสื่อสังคมและสื่อสิ่งพิมพ์ฉายภาพให้เห็นภาวการณ์ผักตบชวาอัดตัวกันแน่นในแม่น้ำหลักสายหนึ่งของประเทศ เดือดร้อนถึงคนระดับนายกรัฐมนตรีต้องลงมาสั่งการให้ทหารและหน่วยงานท้องถิ่นเร่งกำจัดออกไปให้พ้นจากการกีดขวางการสัญจรในลำน้ำ จากนั้นก็มีคนออกมาให้ความเห็นและความรู้แก่สังคมในการเอาผักตบชวาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมไปจนถึงการนำไปปรุงเป็นอาหารให้คนและสัตว์กิน

แต่ไม่มีใครเลยที่จะมองไปถึงต้นทางหรือสาเหตุของปัญหานั้นว่ามาจากที่ใดและมาได้อย่างไร

เร่งกำจัดผักตบชวาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทวันที่ 4 ส.ค. 2559 ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size5/2016/08/01/j69jbheaffhb6cd5bd8jc.jpg
เร่งกำจัดผักตบชวาเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทวันที่ 4 ส.ค. 2559
ที่มาภาพ : http://image.bangkokbiznews.com/media/images/size5/2016/08/01/j69jbheaffhb6cd5bd8jc.jpg

ผักตบโตเพราะปุ๋ยไนโตรเจน

ผักตบชวาเป็นพืชที่อาศัยอยู่ในน้ำ ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่าพืชแล้วย่อมเจริญเติบโตดีในสภาพที่มีธาตุอาหารหรือปุ๋ยอุดมสมบูรณ์ และปุ๋ยที่พืชประเภทใบแบบผักตบชวาชอบมากคือปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งเมื่อมีการระบายไนโตรเจนลงในแหล่งน้ำ ไนโตรเจนที่ระบายลงไปนั้นก็คือปุ๋ยเร่งใบให้แก่พืชในน้ำนั่นเอง แล้วปุ๋ยไนโตรเจนนี้มาจากไหน คำตอบคือ มาได้จากหลายแหล่งกำเนิด ทั้งจาก (1) ปุ๋ยยูเรีย ที่เกษตรกรหว่านลงนาลงสวนแล้วถูกปล่อยระบายลงแหล่งน้ำ (2) จากมูลสัตว์ ซากพืชในการเกษตรกรรม (3) จากอาคารบ้านเรือนที่พักอาศัย และ (4) จากโรงงานอุตสาหกรรม

ไนโตรเจนจากสองแหล่งแรกเป็นแบบที่หาต้นตอแหล่งกำเนิดไม่ได้หรือได้ลำบาก เพราะการปล่อยระบายนั้นกระจายอยู่ไปทั่วและมีการปล่อยตลอดลำน้ำ ทำให้การควบคุมรวมทั้งกำกับดูแลทำได้ยากจึงจะยังขอไม่เอ่ยถึงในคราวนี้ แต่จะขอเอ่ยถึงเฉพาะส่วนที่ 3 และส่วนที่ 4 สำหรับส่วนที่ 3 นั้นภาครัฐได้มีการออกกฎหมายควบคุมแล้วโดยมีมาตรฐานอยู่ 2 ประเภท คือ มาตรฐานน้ำทิ้งจากอาคารและมาตรฐานน้ำทิ้งชุมชนของระบบบำบัดรวม โดยในส่วนของน้ำทิ้งจากอาคาร ได้มีการกำหนดค่าปริมาณไนโตรเจน (ในรูปของค่า TKN ที่เป็นเพียงหนึ่งรูปแบบของไนโตรเจนในน้ำทั้งหมด) ไว้ที่ 35 และ 40 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามขนาดและชนิดของอาคาร (อ้างอิงมาตรฐานการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด พ.ศ. 2537) ส่วนกรณีน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน ภาครัฐได้กำหนดมาตรฐานสำหรับปริมาณไนโตรเจน (ในรูปของไนโตรเจนทั้งหมด Total Nitrogen) มีค่าไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร (อ้างอิงมาตรฐานน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน พ.ศ. 2553)

น้ำทิ้งจากโรงงาน

ในส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับมาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานนั้น ปรากฏว่าขณะนี้ภาครัฐกำลังดำเนินการที่จะประกาศบังคับค่าไนโตรเจน (ในรูปของ TKN) ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมากกว่ามาตรฐานน้ำทิ้งอาคารประมาณ 2.5-3 เท่าและมากกว่ามาตรฐานน้ำทิ้งชุมชนถึง 5 เท่า ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่ได้มีโอกาสร่วมร่างกฎเกณฑ์นี้ด้วยได้อธิบายว่า โรงงานบางประเภทมิอาจทำให้ต่ำกว่าค่า 100 นั้นได้ และหากต้องการทำให้ได้ต่ำเท่ามาตรฐานน้ำทิ้งชุมชน (หรือไนโตรเจน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร) ก็อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายมากจนอุตสาหกรรมประเภทนั้นดำรงอยู่ไม่ได้ เรื่องนี้ หากมองในมุมการรักษาสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายที่ว่าสูงนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นและต้องนับรวมเป็นส่วนของการลงทุน มิใช่เป็นค่าใช้จ่ายอย่างที่ผู้ประกอบการหลายรายคิดว่าเป็น นอกจากนี้ อุตสาหกรรมมีหลายประเภทด้วยกัน ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาใดๆ เลยในการบำบัดน้ำเสียของตนและลดปริมาณไนโตรเจนให้เหลือต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามมาตรฐานน้ำทิ้งชุมชน ดังนั้น การที่รัฐไปกำหนดให้ค่ามาตรฐานน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมสูงกว่าของชุมชนถึง 5 เท่านั้น จึงกล่าวได้ว่าไม่เป็นการยุติธรรมต่อภาคประชาชนและไม่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง เพราะสามารถไปก่อให้เกิดสภาวการณ์ผักตบเต็มแม่น้ำอย่างที่ได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนต้น

ทั้งนี้ หากมีอุตสาหกรรมบางประเภทที่ไม่สามารถลดค่าไนโตรเจนให้ได้ต่ำกว่า 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ได้จริง เราก็ยังสามารถมีทางออกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดมาตรฐานอะลุ่มอล่วยให้โรงงานบางประเภทนี้เป็นการเฉพาะ และไม่จำเป็นต้องออกประกาศให้อะลุ่มอล่วยต่อภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทหรือทั้งกระดาน (across the board) ดังที่กำลังทำกันอยู่นี้

ค่าบีโอดี

มีค่าสารมลพิษอีกตัวหนึ่งที่ใช้พิจารณาในการอนุรักษ์ลำน้ำหรือใช้วัดความเน่าของลำน้ำได้โดยตรง ค่านี้มีชื่อเรียกว่า BOD (ย่อมาจาก Biochemical Oxygen Demand หมายถึงปริมาณออกซิเจนที่ต้องใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ต่างๆ ที่ทำให้น้ำเน่าได้) ถ้าค่า BOD ในน้ำสูงหมายถึงน้ำนั้นมีความต้องการออกซิเจนมาก ในขณะที่ค่าออกซิเจนที่ละลายอยู่ในลำน้ำมีจำกัดที่ค่าหนึ่ง ดังนั้น เมื่อมี BOD หรือความต้องการออกซิเจนมากเกินไป ออกซิเจนในลำน้ำก็จะถูกใช้ไปจนหมด เกิดสภาพที่ออกซิเจนในลำน้ำเป็นศูนย์และเกิดสภาวะน้ำเน่าเหม็นขึ้นได้ และเพื่อป้องกันปัญหานี้ ภาครัฐจึงกำหนดให้ค่า BOD ในน้ำทิ้งจากชุมชนมีค่าไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ ในทางระบบนิเวศค่า TKN หรือไนโตรเจน (N) ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นสามารถเปลี่ยนรูปไปเป็นไนเตรต (NO3-) ได้โดยกระบวนการที่เรียกว่าออกซิเดชัน (oxidation) ด้วยแบคทีเรียในลำน้ำ ซึ่งในขั้นตอนนี้แบคทีเรียจะต้องใช้ออกซิเจนจากลำน้ำไปถึงประมาณ 3.4 เท่าของค่าไนโตรเจน ดังนั้น หากรัฐกำหนดค่า TKN ของน้ำทิ้งอุตสาหกรรมเป็น 100 มิลลิกรัมต่อลิตร นั่นหมายความว่าจะมีความต้องการออกซิเจนสูงถึง 100 × 3.4 = 340 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือเทียบเท่า (อย่างง่ายๆ) เป็นค่า BOD สูงถึง 340 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่านี้จะสูงกว่าค่า BOD ในมาตรฐานน้ำทิ้งชุมชนถึง 17 เท่า ค่า TKN 100 มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับอุตสาหกรรมนี้จึงสูงมากเกินไปกว่าที่จะยอมรับได้ในทางนิเวศ

สารแขวนลอยในน้ำ

นอกจากนี้ ประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมฉบับนี้ยังมีอีกค่าที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมต่อภาคชุมชน คือ ค่า TSS (ย่อมาจาก Total Suspended Solids หรือ “ของแข็งแขวนลอยทั้งหมด”) เพราะภาครัฐได้กำหนดค่ามาตรฐาน TSS ในน้ำทิ้งชุมชนไว้เท่ากับ 30 มิลลิกรัมต่อลิตร ในขณะที่ประกาศใหม่ของภาคอุตสาหกรรมกำหนดให้สามารถปล่อยได้สูงถึง 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งที่ค่า 30 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็นสิ่งที่ระบบบำบัดน้ำเสียธรรมดาๆ สามารถทำได้เป็นปกติ และทั่วโลกก็ใช้ค่านี้เป็นค่ามาตรฐานกันอยู่ทั่วไป การกำหนดค่า TSS เป็น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ให้เป็นพิเศษสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสูงกว่าของน้ำทิ้งชุมชนถึงร้อยละ 67 จึงเป็นที่ครหาได้ว่าภาครัฐของเรากำลังละเว้นและไม่ทำหน้าที่ดูแลสิ่งแวดล้อมของเราให้ดีพอ

แล้วเหตุการณ์ที่ไม่พึงเกิดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในการออกมาตรฐานแต่ละฉบับนั้น เริ่มต้นต้องมีคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อมาร่างประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมนี้ จากนั้น เมื่อคณะทำงานฯ ได้ร่างประกาศเสร็จก็ต้องส่งให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ (กคพ.) ตรวจสอบและให้ความเห็นชอบ ซึ่งเมื่อ กคพ. เห็นชอบแล้วต้องนำเสนอกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อตรวจสอบและให้ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะมอบหมายให้ กคพ. นำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อลงนามในประกาศกระทรวงก่อนที่จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ณ เวลานี้เรื่องนี้ได้ล่วงเลยมาถึงขั้นตอนประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 และจะมีผลบังคับใช้จริงตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2560 จึงเป็นที่น่าสงสัยและเป็นที่สังเกตว่าการนี้ได้ผ่านขั้นตอนตามระเบียบถึง 4 ขั้นตอน แต่มิได้มีการทักท้วงระหว่างทางเพื่อระงับหรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่จะประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ แต่ไม่ได้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมฉบับนี้เลย (หมายเหตุ: ศ. ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ได้ทักท้วงถึงข้อบกพร่องนี้แล้วหลายครั้งในขั้นตอนคณะทำงานฯ) นี่ย่อมแสดงว่า กระบวนการที่ออกแบบไว้ให้มีความรอบคอบรัดกุมถึง 4 ขั้นตอนนี้ไม่ได้รอบคอบหรือรัดกุมดังคาด และสมควรมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งควรกลับไปพิจารณาแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ให้เหมาะสมและสมบูรณ์เพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของเราทุกคนด้วย

สิ่งที่ต้องทำต่อไป

ในการทำงาน ย่อมเป็นเรื่องปกติที่มีความบกพร่องผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ แต่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นแล้วก็สมควรหาทางแก้ไข จึงอยากวิงวอนขอร้องให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรมใหม่นี้ตระหนักถึงผลเสียต่อระบบนิเวศน้ำของไทยโดยรวม และแทนที่จะปล่อยเลยตามเลย ก็ควรต้องเร่งทำเรื่องเสนอกรรมการชุดใหญ่เพื่อนำกลับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความเป็นธรรมต่อภาคชุมชนและต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่รักของเรา ก่อนที่จะสายเกินแก้และเกิดการร้องเรียนว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราไม่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้นต่อข้าราชการน้ำดีของสังคมไทยเหล่านั้นเลย และเราขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานหนักนี้ทุกท่านในการที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องต่อไป