ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีมโฆษกฯ ตั้งโต๊ะแจงประเด็นบัตรสื่อทำเนียบฯ – กลับลำไม่เกี่ยวภัยมั่นคง

ทีมโฆษกฯ ตั้งโต๊ะแจงประเด็นบัตรสื่อทำเนียบฯ – กลับลำไม่เกี่ยวภัยมั่นคง

5 พฤศจิกายน 2016


ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/

“ณ ช่วงเวลาสถานการณ์เช่นนี้ สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ จนรัฐบาลได้ตั้งศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) ขึ้นมาเฉพาะกิจ และด้วยความที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดิน มีคนเข้าออกจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบใหม่เพื่อให้เกิดความปลอดภัย”

นี่คือคำอธิบายของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนเมื่อมีการปรับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ยืนยันว่าตนนั้นเป็นฝ่ายบริหาร ได้สั่งการและติดตามงานตามนโยบายที่ได้รับมาทั้งหมดแล้ว แต่ปัญหาเกิดจากฝ่ายปฏิบัติงาน ต้องให้เขามารับทราบด้วยตนเองและนำไปแก้ไขได้เชิญ นางนันทิกาญจน์ สวัสดิ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนัก สำนักโฆษกฯ มาชี้แจงรายละเอียด พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการปฏิบัติงาน ซึ่งนางนันทิกาญจน์ ได้ระบุเพียงว่าตนทำตามคำสั่งของหนังสือเวียนจากกองสถานที่ยานพาหนะและรักษาความปลอดภัย

การตอบข้อซักถามดังกล่าวเป็นไปแบบไม่เป็นทางการ เนื่องจากการจัดระเบียบดังกล่าวคนที่ถูกจัดระเบียบเพิ่งทราบเรื่องเพียง 4 วัน ว่าบัตรระบุตัวตนเพื่อผ่านเข้าออกทำเนียบรัฐบาลของตนจะเปลี่ยนเวลาสิ้นอายุจากวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ขณะที่บางรายไม่ทราบเรื่องมาก่อน

ต่อมาในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ทีมโฆษกฯ นำโดยพล.ท.สรรเสริญ และพล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายธีรวุฒิ กลั่นเลี้ยง ผู้อำนวยการกองสถานที่ยานพาหนะและรักษาความปลอดภัย พ.ต.อ.เกียรติ กาบบัว ผู้กำกับการตำรวจสันติบาล 3 และนายอภิรัตน์ ใยศิริ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ระดับ 8 สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการชี้แจงทำความเข้าใจข้อสงสัยของสื่อมวลชน ในการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในทำเนียบฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งในครั้งนี้ พล.ท.วีรชน ให้เหตุผลชัดเจนเช่นกันว่า

“การจัดระเบียบการรักษาความปลอดภัยครั้งนี้ไม่มีเรื่องภัยคุกคามใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นการจัดการของระบบบริหารจัดการภายใน เป็นเรื่องของ logic ที่ต้องการให้ระบบในทำเนียบฯ เป็นแบบแผน”

พล.ท.วีรชน กล่าวต่อไปว่า ตนเข้าใจการทำงานทั้งหน่วยงานและสื่อมวลชน ซึ่งสื่ออาจเคยอยู่แบบสบายๆ มานาน พอมีระเบียบก็อาจมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้น เนื่องจากทางสำนักโฆษกฯ ได้รับการเน้นย้ำให้มีมาตรการที่เป็นระบบ ส่วนการให้สัมภาษณ์ของแหล่งข่าวนั้น เราจะการประสานกับแหล่งข่าวที่จะให้สัมภาษณ์ว่าต้องมีขั้นตอน มีระบบ ยืนยันมาตรการดังกล่าวไม่ใช่เพื่อให้มีอุปสรรคกับการทำงานของสื่อมวลชน แต่อยากให้มองว่าทำเนียบรัฐบาลเป็นที่บริหารราชการแผ่นดิน ต้องมีการรักษาความปลอดภัยในระดับสูง

ส่วนนายธีรวุฒิ ชี้แจงถึงสถานที่ เช่น ตึกบัญชาการ 1 ที่เป็นที่แถลงข่าวทุกวันอังคารของนายกรัฐมนตรี ว่าตามระเบียบรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาลมีแผนแม่บทฉบับปรับปรุงเมื่อปี 2556 กำหนดให้พื้นที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 1 เป็นเขตหวงห้ามเฉพาะ จะเข้าได้เฉพาะผู้มีภารกิจเท่านั้น ส่วนชั้น 2 เป็นต้นไปเป็นเขตหวงห้ามเด็ดขาด สามารถเข้าได้เฉพาะผู้ที่มาติดต่อกับทางราชการที่มีการแลกบัตรจากชั้น 1 มาแล้ว

สื่อมวลชนจะสามารถเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้ภายในตึกบัญชาการ 1 ได้เมื่อมีการประสานกับสำนักโฆษกฯ แล้วเท่านั้น ว่าสามารถมารอทำข่าวในจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น การมาดักรอสัมภาษณ์แหล่งข่าว ให้รอภายนอกตึกบัญชาการ 1 เท่านั้น ส่วนกรณีที่แหล่งข่าวเชิญนักข่าวมาทำข่าวเองนั้น ทางแหล่งข่าวต้องมีการประสานกับสำนักโฆษกฯ เพื่อให้มีการตรวจสอบก่อน

ขณะที่นายอภิรัตน์ ชี้แจงว่า การทำงานของสื่อมวลชนอิสระ หรือฟรีแลนซ์ที่ไม่ได้เข้ามาทำข่าวในทำเนียบฯ เป็นประจำหากทำข่าวส่งให้กับต้นสังกัดใด ต้องให้ต้นสังกัดออกใบรับรอง ถึงจะมีการออกบัตรผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลให้ได้ หากในกรณีเร่งด่วนที่ต้นสังกัดไม่ทันได้ออกใบรับรองจะต้องให้ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งใดที่ประจำการอยู่ในทำเนียบออกไปเซ็นยืนยันตัวตนให้จึงจะสามารถแลกบัตรเข้ามาปฏิบัติงานได้ และสำหรับผู้ที่มาทำข่าวเพียงเดือนละ 1-2 ครั้ง การแลกบัตรเพื่อเข้ามาทำข่าวในทำเนียบฯ จะเป็นวิธีที่สะดวกมากกว่า โดยนำบัตรประจำตัวที่ออกโดยต้นสังกัดของตนมาแลกบัตรชั่วคราว จะใช้บัตรประชาชนแลกเช่นเดิมไม่ได้แล้ว

ด้านพ.ต.อ.เกียรติ กล่าวว่า สำหรับผู้สื่อข่าวที่จะผ่านเข้า-ออกทำเนียบฯ ไม่สามารถใช้เส้นทางด้านที่ติดกับสะพานชมัยมรุเชฐได้ เนื่องจากถือเป็นเส้นทางเข้า-ออกของนายกฯ คณะทูตานุทูต และแขกสำคัญระดับสูงทั้งในและต่างประเทศ ส่วนผู้สื่อข่าวที่ไม่มีบัตรประจำตัวทำข่าวภายในทำเนียบฯ หากต้องการเข้ามาทำข่าวจะต้องแลกบัตรเฉพาะที่ประตู 1 ทำเนียบฯ ซึ่งต้องใช้เส้นทางเข้า-ออกเฉพาะประตูฝั่งสะพานอรทัยเท่านั้น

และนายสุรพล ชี้แจงว่า สำหรับรูปแบบบัตรสื่อมวลประจำทำเนียบปี 2560 จะเป็นรูปแบบใหม่เป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีความสวยงามและทนทาน ส่วนสาเหตุที่ต้องให้ไปถ่ายรูปติดบัตรที่สำนักโฆษกฯในครั้งนี้ เพื่อให้รูปติดบัตรมีความสุภาพและเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ ต่อข้อซักถามในกรณีที่ว่าบัตรชั่วคราวมีความปลอดภัยกว่าการให้ใช้บัตรเก่าต่อไปอย่างไรนั้น นายสรุรพล ระบุเพียงว่า บัตรชั่วคราวใหม่นั้นมีตัวเลขระบุตัวตนสื่ออยู่มุมล่างซ้ายอยู่แล้ว แต่หากทำสูญหายสื่อจะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นเอง

บัตรชั่วคราวสื่อทำเนียบฯ “เก่า” เทียบ “ใหม่”

ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน มีการส่งหนังสือไปยังสำนักข่าวทุกสำนักส่งรายชื่อผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบและให้ยืนยันสถานะของผู้สื่อข่าวแล้วส่งกลับมายังทำเนียบฯ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 สำนักงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกประกาศแจ้งผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลขอยกเลิกบัตรแสดงตนของสื่อมวลชน ประจำปี 2559 ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา สำนักโฆษกฯ จะเริ่มดำเนินการจัดทำบัตรใหม่ให้ในระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม แต่ไม่เคยมีการส่งหนังสือไปให้สำนักข่าวยืนยันสถานะผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด และสถานภาพของบัตรนั้นจะสิ้นสถานะในวันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งหากยังไม่ได้บัตรใหม่ผู้สื่อข่าวสามารถใช้บัตรเก่าของปีก่อนหน้าเป็นบัตรชั่วคราวเพื่อผ่านเข้า-ออกทำเนียบฯ ได้จนกว่าจะได้รับบัตรใหม่ ซึ่งเคยมีผู้ใช้บัตรเก่าเป็นบัตรชั่วคราวนาน 6-7 เดือนจึงได้บัตรของปีปัจจุบันมาใช้

ขณะที่ปัจจุบัน เมื่อทำการขอแบบฟอร์มสำหรับทำบัตรใหม่ บัตรใบเดิมจะต้องนำไปแลกเป็นบัตรชั่วคราวที่เป็นเพียงกระดาษเคลือบสีชมพู พิมพ์ตราสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมตัวอักษรระบุว่า “บัตรชั่วคราวสำหรับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล” พร้อมเลขที่บัตร และลายเซ็นของผู้ออกบัตร

ภาพซ้าย : บัตรผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่เคยถูกใช้เป็นบัตรชั่วคราวนานกว่า 6 เดือน ภาพขวา : บัตรชั่วคราวตามมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่
ภาพซ้าย: บัตรผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่เคยถูกใช้เป็นบัตรชั่วคราวนานกว่า 6 เดือน ภาพขวา: บัตรชั่วคราวตามมาตรการรักษาความปลอดภัยใหม่

ผู้สื่อข่าวหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า “บัตรชั่วคราว” ดังกล่าวถือเป็นการปรับมาตรการความปลอดภัยที่สร้างความไม่ปลอดภัยให้เกิดขึ้น สามารถปลอมแปลงได้ง่าย และที่ผ่านมาการใช้บัตรเก่าเป็นบัตรชั่วคราวแบบเดิมนั้นจะมีภาพถ่ายของผู้ถือบัตรชัดเจน มีปี พ.ศ. ที่ออกบัตร และต้นสังกัดระบุชัด สามารถเข้าใจได้ว่าผู้ที่ใช้ใช้เป็นบัตรชั่วคราวหรือบัตรจริง โดยบัตรจริงจะเป็นบัตรที่มีปี พ.ศ. ตรงตามปีที่ปฏิบัติงานอยู่

สำหรับการดำเนินการขอบัตรผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลในที่ผ่านมาในปีก่อนหน้า ผู้สื่อข่าวจะต้องไปรับแบบฟอร์มเพื่อมากรอกข้อมูล ให้ต้นสังกัดเซ็นรับรองยืนยันสถานะของผู้สื่อข่าว พร้อมแนบรูปถ่ายเพื่อนำมาติดบัตร ซึ่งแต่ละสำนักข่าวจะได้รับสิทธิ์ให้มีผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบได้ไม่เกิน 3-4 คน (ไม่รวมช่างภาพ) หากไม่ใช่บุคคลที่มาทำข่าวเป็นประจำ ทางสำนักโฆษกอาจพิจารณาระงับบัตรได้

อาจเรียกได้ว่า ความเข้มงวดของสำนักโฆษกในการคัดกรองเพื่อออกบัตรให้แก่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลนั้นเดิมทีมีอยู่แล้ว ซึ่งสื่อทั้งหลายพร้อมเข้าใจหากการปรับมาตรการมีความชัดเจน สามารถแสดงให้เห็นถึงความรัดกุมในการดำเนินงาน

บิ๊กตู่ – ไก่อู ปัดเล่นงาน “เจ๊ยุ” ยันเคารพเช่นเดิมแต่กฎต้องเป็นกฎ

อนึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานกองสถานที่ยานพาหนะและรักษาความปลอดภัย ได้ส่งหนังสือเวียนถึงทุกหน่วยงานในทำเนียบรัฐบาลถึงการปรับมาตรการรักษาความปลอดภัย ตอบสนองนโยบายฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และตำรวจสันติบาล เป็นหน้าด่านในการคัดกรองผู้ที่จะผ่านเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาล ได้รับทราบมาตรการดังกล่าวและนำมาใช้บังคับอย่างเข้มงวด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559

มาตรการดังกล่าวสร้างความงุนงงให้กับสื่อต่างๆ ที่ประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลพอสมควร เนื่องจากมีการแจ้งผู้สื่อข่าวในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 โดยให้บัตรผู้สื่อข่าวทำเนียบปี 2559 ที่ใช้อยู่สิ้นสถานะในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ในรูปแบบที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลหลายรายไม่ทราบถึงการแจ้งดังกล่าว

ช่วงเย็นของวันที่ 31 ตุลาคม 2559 สื่อมวลชนเริ่มตั้งข้อสังเกตไปถึงการบีบให้ผู้สื่อสื่อข่าวอาวุโสรายหนึ่งที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังได้รับบัตรประจำตัวโดยที่ไม่มีสังกัดแน่ชัดไม่มีสิทธิเข้ามาทำข่าวในทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากไม่มีหนังสือรับรองสถานะจากต้นสังกัด ซึ่งเมื่อไม่สามารถออกบัตรให้ได้ ต่อไปก็ไม่สามารถเข้ามาทำข่าวในทำเนียบฯ ได้อีกต่อไป

โดยในช่วงเช้าของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 นายอภิรัตน์ ใยศิริ นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการระดับ 8 สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาตั้งโต๊ะนั่งรอแลกบัตร ที่บริเวณหน้าห้องผู้สื่อข่าว

ด้านนางยุวดี ธัญญศิริ (เจ๊ยุ) ผู้สื่อข่าวอาวุโส ประจำทำเนียบรัฐบาล ที่เดินทางมาทำข่าวที่ทำเนียบฯ ตามปกติ กลับพบว่าเช้าวันนี้ตนไม่สามารถเข้าทำข่าวในทำเนียบฯ ได้เช่นเดิม เนื่องจากได้เกษียณอายุงาน ปัจจุบันรับจ้างเป็นฟรีแลนซ์ให้กับสำนักข่าวบางกอกโพสต์เท่านั้น จึงไม่มีชื่อเป็นผู้สื่อข่าวประจำ แต่มีหนังสือรับรองการทำงานเพื่อทำบัตรสื่อมวลชนเข้าออกทำเนียบฯ โดยในปีที่ผ่านมาสำนักโฆษกได้ออกบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าวให้นางยุวดีโดยใช้หนังสื่อรับรองดังกล่าว เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ขอให้แลกบัตรผ่านชั่วคราว นางยุวดีได้ตัดสินใจไม่แลกบัตรแล้วเดินทางกลับ พร้อมเปิดใจยอมรับมาตรการดังกล่าว ขณะที่ผู้สื่อข่าวอื่นๆ ที่แม้บัตรเดิมหมดอายุหลายคนยังสามารถเข้ามาทำข่าวในทำเนียบฯ ได้ตามปกติ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีดังกล่าวว่า “คนที่เข้าออกสถานที่ราชการต้องมีบัตรหรือหนังสือรับรอง เพราะสถานที่ราชการมันสำคัญ กรณีที่เป็นนักข่าวต้องมีสังกัด ถ้าไม่มีก็ต้องไปทำมาให้ถูกระเบียบ ถูกกฎ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้ทำเพื่อกลั่นแกล้งใคร และยังเคารพให้เกียรติสื่อเช่นเดิม”

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า มาตรการนี้ไม่ได้ทำเฉพาะสื่อมวลชน แต่รวมถึงข้าราชการที่ปฏิบัติงานในทำเนียบจะต้องดำเนินการทำบัตรใหม่ เพียงแต่เราต้องจัดลำดับความเร่งด่วนเนื่องจากสื่อมวลชนเป็นบุคคลพลเรือนภายนอกที่ไม่ได้มีทะเบียนอยู่ในส่วนราชการ จึงต้องจัดลำดับความเร่งด่วนเป็นลำดับแรก เรื่องนี้เป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล

ในกรณีของนางยุวดี ต่อไปหากต้องการเข้ามาทำข่าวจะต้องทำให้ถูกต้องโดยต้องสังกัดสำนักข่าว แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสำนักข่าวที่ไม่มีใครรู้จักเลย ไม่เคยมาทำข่าว แล้วอยู่ๆ เข้ามา ซึ่งหากมีสังกัดชัดเจนก็สามารถเข้ามาทำข่าวได้ แต่ท่านเข้ามาเยี่ยมใครต่อใครได้ ซึ่งวิธีการนี้ก็จะปฏิบัติกับผู้สื่อข่าวทุกคน

“ไม่เคยคิดกีดกันสื่อคนไหนทั้งสิ้น แม้กระทั่งป้ายุก็ไม่ได้คิด เพราะปกติเขาก็เป็นภรรยารุ่นพี่ ซึ่งก็ไม่ได้สนิทกับท่าน ไม่ได้มีความเกลียดชังอะไรเป็นการส่วนตัว และไม่เคยมีการออกหนังสือไปถึงป้อมตำรวจห้ามผู้สื่อข่าวรายใดเข้าทำเนียบ ยืนยันว่าหลักเกณฑ์ของตนชัดเจน แต่ความผิดพลาดเกิดจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

การจัดระเบียบใหม่ในครั้งนี้ไม่ว่าเป็นไปด้วยเหตุผลความมั่นคง หรือต้องการให้ทุกอย่างเป็นระบบ แต่สื่ออาวุโสที่ประจำอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลมากว่า 40 ปี ตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร อย่างนางยุวดี เป็นผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบผู้เดียวที่ต้องย้ายที่ทำงาน โดยนางยุวดีได้เข้ามาเก็บของที่ทำเนียบฯ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 บอกกล่าวแก่สื่อรุ่นน้องในห้องนักข่าว ว่าตนได้ที่นั่งใหม่แล้วที่สภาการหนังสือพิมพ์ พร้อมทิ้งท้ายว่า “…ตรงไหนที่มืดเราก็ยังไม่ต้องเข้าไป เสรีภาพสื่อ เสรีภาพประชาชน”