ThaiPublica > คอลัมน์ > โดนัลด์ ทรัมป์กับอวสานของ “โลกที่อเมริกาเคยเป็นคนสร้าง”

โดนัลด์ ทรัมป์กับอวสานของ “โลกที่อเมริกาเคยเป็นคนสร้าง”

17 พฤศจิกายน 2016


ปรีดี บุญซื่อ

โดนัลด์ ทรัมป์
โดนัลด์ ทรัมป์

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นับเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่สั่นสะเทือนโลกอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังลงในปลายปี 1989 กล่าวกันว่า ประวัติศาสตร์ในอดีตที่ผ่านมา ได้มาถึงจุดจบแล้ว สงครามทางอุดมการณ์ระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง อุดมการณ์ประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีนิยม เป็นฝ่ายมีชัยชนะทั่วโลก โลกได้มาถึงจุดที่ไม่มีอุดมการณ์อื่นใดที่จะท้าทายความคิดด้านประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรี

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน เมื่อทั่วโลกรู้ข่าวว่า ทรัมป์ได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งในสหรัฐฯเกิน 270 เสียง และกลายเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 45 ความฝันที่เคยเชื่อมั่นในความเป็นเลิศของอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก ก็แตกสะลายลงทันที เกิดเสียงวิจารณ์จากนานาประเทศต่อชัยชนะของทรัมป์อย่างกว้างขวาง

ในเวลาเดียวกัน ประเทศต่างๆต้องหันมาขบคิดพิจารณาว่า ตัวเองจะมีท่าทีและทางเลือกอย่างไรต่อนโยบายสหรัฐฯในยุคของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็น จีน เยอรมนี อิหร่าน หรือประเทศเล็กๆอย่าง คิวบา และปาเลสไตน์ เป็นต้น แต่การเมืองอเมริกามีข้อดีอย่าง ที่ทำให้ประเทศต่างๆมีเวลาพิเศษราวๆ 2 เดือน ที่จะคิดในเรื่องนี้ ก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

“โลกที่อเมริกาเป็นคนสร้าง”

หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น คนในประเทศต่างๆทั่วโลกมีความหวังและยึดมั่นใน “ค่านิยมร่วมกัน” อยู่หลายอย่าง เช่น การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชานมีส่วนร่วม เศรษฐกิจระบบทุนนิยมและการค้าของโลกที่เสรี ที่จะเกื้อกูลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศต่างๆดีขึ้น และการเมืองระหว่างประเทศที่ยึดหลักข้อตกลงนานาชาติ ทำให้ไม่เกิดสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจ อุดมการณ์ดังกล่าว ทำให้โลกในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา มีความรุ่งเรืองและสงบสันติ

คนทั่วไปอาจมองข้ามภาพใหญ่ไปว่า โลกในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคทองของประวัติศาสตร์ ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เกิดสงครามโลก 2 ครั้ง แต่ในระยะ 60 ปีหลังจากนั้นมา ไม่มีสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจ ปี 1941 มีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสิบกว่าประเทศ ปัจจุบัน มีร้อยกว่าประเทศ ช่วงเวลา 400 ปีก่อนหน้าปี 1950 เศรษฐกิจโลกเติบโตปีหนึ่งไม่ถึง 1% แต่นับจาก 1950 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกเติบโตเฉลี่ยปีหนึ่ง 4% ทำให้หลายๆประเทศพัฒนาจนกลายเป็นประเทศรายได้ปานกลาง และประชาชนหลายพันล้านคนที่เคยมีรายได้วันหนึ่งน้อยกว่า 1 ดอลลาร์ หลุดพ้นจากความยากจน

ความก้าวหน้าของนานาประเทศที่ผ่านมา อาจเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การที่เศรษฐกิจการค้าโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ความเข้มแข็งขององค์กรระหว่างประเทศ และการแพร่หลายของความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่อิสรเสรี แต่ความก้าวหน้าดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นเองอัตโนมัติ แบบเดียวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ความก้าวหน้าของโลกในสมัยปัจจุบันยังต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศมหาอำนาจในยุคปัจจุบัน ยึดถือในความคิดและอุดมการณ์ ที่ส่งเสริมความก้าวหน้าดังกล่าวด้วย ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราที่ผ่านมา สะท้อนความจริงอย่างหนึ่ง คือ “ระเบียบโลก” ในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์ ล้วนสะท้อนความเชื่อและผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจที่เข้มแข็งที่สุด หากประเทศมหาอำนาจเปลี่ยนแนวคิด หรือเปลี่ยนจากประเทศไปสู่อีกประเทศหนึ่ง ที่มีความเชื่ออุดมการณ์อีกแบบหนึ่ง ระเบียบโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย

ในหนังสือชื่อ The World America Made ผู้เขียนคือ Robert Kagan นักคิดด้านยุทธศาสตร์ต่างประเทศของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ กล่าวว่า ความก้าวหน้าของโลกเราในเรื่องประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าเสรี เป็นสิ่งที่อาจจะเกิดการถดถอยเมื่อใดก็ได้ ประชาธิปไตยของกรีซโบราณ ล้มพังลง เพราะเผชิญกับรัฐที่มีอำนาจทางทหารที่แข็งแรงกว่า ดังนั้น ความคิดที่ก้าวหน้าด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จะพัฒนารุ่งเรืองได้ในโลก จำเป็นต้องมีประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุน

Kagan กล่าวว่า สหรัฐฯมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดกระแสประชาธิปไตยไปทั่วโลก แม้สหรัฐฯจะไม่มีนโยบายเสมอต้นเสมอปลายในเรื่องนี้ บางช่วงในสมัยสงครามเย็น ก็สนับสนุนระบอบเผด็จการ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ บางสมัย การสนับสนุนประชาธิปไตย ก็มาจากเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เพราะเห็นว่ารัฐบาลประชาธิปไตยอาจเป็นระบบการเมืองที่ดีกว่าในการต่อสู้กับขบวนการปฏิวัติ บางครั้งก็เลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายประชาชน ที่ลุกขึ้นมาขับไล่ผู้นำเผด็จการ ทั้งๆที่สหรัฐฯเองก็ไม่รู้ว่าจะเกิดผลอย่างไรติดตามมา เช่น กรณีอาหรับสปริง

แต่โดยรวมแล้ว สหรัฐฯเห็นว่า การเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศต่างๆในโลก จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีภาวะสงบสันติ และมีระบบเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น เพราะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมักไม่จะทำสงครามระหว่างกันและกัน และประเทศที่มีระบอบการเมืองที่เสรี จะสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี และการเปิดประเทศต่อการค้าโลก

ระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการค้าโลกที่เสรีก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการตามธรรมชาติ ระบบที่ว่านี้ดำรงอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดให้การสนับสนุน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอาจจะเป็นปัจจัยช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย แต่ทว่า ก็ไม่มีประเทศไหนทำอะไรที่ขัดผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้น ประเทศมหาอำนาจจึงต้องเชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่เสรีนั้น เป็นวิธีการดีที่สุดที่จะสร้างความมั่งคั่งและอำนาจของตัวเอง

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ใช่มหาอำนาจทุกประเทศจะสนับสนุนการค้าโลกที่เสรี เช่น เยอรมันสมัยนาซีและอดีตสหภาพโซเวียต ก็ไม่ได้สนใจในเรื่องการค้าโลกที่เสรี ระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เสรี จึงเป็นสิ่งที่สถาปนาโดยมหาอำนาจในอดีตอย่างเช่น อังกฤษในศตวรรษที่ 19 และสหรัฐอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่ทั้งอังกฤษและสหรัฐฯก็เคยใช้นโยบายกีดกันการค้ามาอย่างยาวนาน เมื่อเศรษฐกิจของตัวเองพัฒนาถึงจุดสูงสุด จึงหันมาสนับสนุนเรื่องการค้าเสรี เพราะเศรษฐกิจตัวเองจะได้ประโยชน์จากระบบดังกล่าว ในเรื่องการส่งออกสินค้าและเงินทุน

การพึ่งพิงทางเศรษฐกิจระหว่างกันของประเทศต่างๆในโลกปัจจุบัน ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจ ลดน้อยลงไป เพราะความรุ่งเรื่องทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ต้องอาศัยเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในอดีต สงครามเกิดขึ้น เพราะต้องการจะครอบครองดินแดนที่เป็นแหล่งทรัพยากร แต่ปัจจุบัน การครองครองตลาดและเทคโนโลยี สำคัญมากกว่า เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ประชาชนประเทศต่างๆสามารถเรียนรู้กันและกัน ทัศนะคติแบบสากล (cosmopolitanism) จึงค่อยๆเข้ามาแทนที่ความคิดแบบชาตินิยมที่คับแคบ

เพราะเหตุนี้ โลกในปัจจุบัน โอกาสจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างมหาอำนาจ กลายเป็นเรื่องไม่อาจคาดคิดได้เลย เพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความมั่งคั่งของประเทศหนึ่งต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจการค้ากับประเทศอื่นๆ ระบอบประชาธิปไตย ทำให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล ตลอดจนอำนาจการทำลายสร้างของสงครามในยุคอาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของทรัมป์ อาจเป็นการสิ้นสุดของ “ระเบียบโลกที่เสรี” ที่สหรัฐฯเป็นคนสร้างขึ้นมาในระยะ 60 ปีที่ผ่านมา หรือ 27 ปีหลังจากการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน สัญลักษณ์การสิ้นสุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป ระเบียบโลกที่ว่านี้คือการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจการค้าโลกที่เสรี และภาวะสันติภาพในโลกที่มี “ระบบความมั่นคงทางทหาร” ของสหรัฐฯเป็นตัวค้ำประกัน

สหรัฐอเมริกาในสมัยทรัมป์ คือจุดจบของข้อตกลง TPP
สหรัฐอเมริกาในสมัยทรัมป์ คือจุดจบของข้อตกลง TPP

ท่าทีของทรัมป์ที่กล่าวว่า “อเมริกามาก่อน” หรือท่าทีที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ อาจเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามการค้า และความขัดแย้งทางอารยะธรรมระหว่างโลกมุสลิมกับตะวันตก เป็นผลเสียต่อภาวะสันติภาพในยุโรปและคาบสมุทรเกาหลี ทัศนะแบบอำนาจนิยมของทรัมป์ อาจบั่นทอนความเชื่อในเรื่องประชาธิปไตยเสรี รวมทั้งระเบียบโลก ที่อเมริกาในฐานะมหาอำนาจเป็นคนสร้าง คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาและข้อตกลงนานาชาติ

ในระยะที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัตน์และการค้าโลกตกอยู่ในสภาพหยุดชะงักมาระยะหนึ่ง ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์ ยิ่งทำให้กระแสการค้าเสรีของโลกเกิดพลิกกลับ ที่เห็นชัดเจนก็คือ ข้อตกลงการค้าที่รัฐบาลโอบามาได้พยายามเจรจาให้เกิดขึ้น คงจะถูกยกเลิกกันไป เช่น ข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) กับ 11 ประเทศในแถบแปซิฟิก และข้อตกลง Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTTP) กับสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ทรัมป์ยังกล่าวว่า จะเจรจาใหม่กับแคนาดาและเม็กซิโก เรื่อง ข้อตกลงการค้า NAFTA เพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และยังเคยพูดเรื่องการถอนตัวของสหรัฐฯจากองค์การค้าโลก WTO

ชัยชนะของทรัมป์บั่นทอนขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลก
ชัยชนะของทรัมป์บั่นทอนขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลก

ทัศนะและท่าทีของทรัมป์ยังสร้างผลเสียหายต่อพลังของกระแสความคิดด้านประชาธิปไตย ตัวทรัมป์เองแสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่ไม่เคารพศรัทธาต่อประชาธิปไตย โดยเคยพูดว่าจะเคารพผลการเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายชนะเท่านั้น และข่มขู่ที่จะเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง หรือสื่อมวลชน ซึ่งเป็นท่าทีของผู้นำเผด็จการในประเทศแถบลาตินอเมริกาที่เรียกว่า Banana Republic เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลจีนหรือรัสเซีย ก็คิดแบบเดียวกันนี้ ที่เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่สร้างผู้นำที่ไร้ความสามารถ เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น และไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

ท่าทีของทรัมป์สั่นคลอนความมั่นคงในยุโรปและเอเชียเหนือ
ท่าทีของทรัมป์สั่นคลอนความมั่นคงในยุโรปและเอเชียเหนือ

ชัยชนะของทรัมป์ยังกระทบต่อความมั่นคงในเอเชียเหนือและยุโรป การแสดงท่าทีลังเลในเรื่องที่สหรัฐฯจะให้หลักประกันด้านความมั่งคงต่อเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทำให้สองประเทศนี้อาจต้องหาทางที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมา เพื่อรับมือกับเกาหลีเหนือ ท่าทีที่บอกว่าสหรัฐฯมีพันธะในการปกป้องประเทศพันธมิตรของกลุ่มนาโต้ อย่างมีเงื่อนไข ทำให้รัสเซียสามารถขยายเขตอิทธิพลในประเทศยุโรปตะวันออกเดิม ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ท่าทีของทรัมป์จึงเปลี่ยนบทบาทของสหรัฐฯจากเดิมเป็น “ตำรวจโลก” ที่ให้หลักประกันความมั่นคงแก่ประเทศพันธมิตร มาเป็น “บริษัทรักษาความปลอดภัย” ที่ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไหนจะมาจ้าง

การต่อต้านเศรษฐกิจการค้าโลกแบบเสรีของทรัมป์ ส่งผลกระทบระยะยาวอย่างหนึ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา ที่จะอาศัยตลาดสหรัฐฯมาช่วยยกระดับการผลิตทางอุตสาหกรรมให้สูงขึ้น ตลาดสหรัฐฯและประเทศตะวันตกอื่นๆ เท่านั้น ที่จะเป็นตลาดรองรับสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นเรื่องยากที่สหรัฐฯหรือชาติตะวันตกอื่นๆ จะหวนกลับมาฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่อาศัยแรงงานฝีมือต่ำหรือระดับกลาง เพราะคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเหล่านี้ ได้ก้าวพ้นจากจุดนี้ไปแล้ว

ส่วนจีนนั้นไม่สามารถที่จะเป็นตลาดทดแทนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา คงจะเป็นได้แค่ตลาดรับซื้อวัตถุดิบ เพราะจีนเองเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขั้นต่ำ ขั้นกลาง และขั้นสูง

ป้ายคำ :