ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์แจงศก. Q3/2559 ฟื้น โต 3.2% – “ส่งออก” เป็นบวกในรอบ 7 ไตรมาส หนุนเอกชนลงทุนระยะต่อไป

สภาพัฒน์แจงศก. Q3/2559 ฟื้น โต 3.2% – “ส่งออก” เป็นบวกในรอบ 7 ไตรมาส หนุนเอกชนลงทุนระยะต่อไป

21 พฤศจิกายน 2016


ดร.ปรเมธี วิมลศิริ (กลาง) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ (กลาง) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงจีดีพีไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ว่าเติบโต 3.2% จากปีก่อนและฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ที่เติบโตได้ 3.5% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 3.3% เทียบกับ 2.8% ใน 9 เดือนแรกของปี 2558

nesdb-q3-2016_4

ส่งออก “บวก” รอบเกือบ 2 ปี หวังดันเอกชนลงทุน

ในรายละเอียด ภาคส่งออกไทยพลิกกลับมาเติบโตเป็นบวกในรอบ 7 ไตรมาส หรือเกือบ 2 ปีที่ 0.4% โดยดัชนีราคาสินค้าส่งออกปรับกลับมาเป็นบวกในรอบ 14 ไตรมาสที่ 0.8% ขณะที่ดัชนีปริมาณสินค้ายังหดตัวแต่ลดลงจาก -1.7% เป็น -0.3% โดยเฉพาะกลุ่มปริมาณสินค้าเกษตร ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกมาในไตรมาสที่ 4 แต่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและประมง ปริมาณยังเติบโตต่อเนื่อง

สอดคล้องกับการลงทุนของเอกชน เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกมากขึ้นตามการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว โดย 9 เดือนแรกของปีขยายตัว 0.6% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเติบโตได้ที่ 1.5% เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 3 การลงทุนของเอกชนชะลอลงเล็กน้อยที่ -0.5% จาก 0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและการก่อสร้าง ขณะที่ยอดการขอส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 3 อยู่ที่ 65,400 ล้านบาท ลดลง 22.7% โดยมียอดอนุมัติการขอส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 3 มียอดคงค้างอยู่ที่ 380,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.2% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่อนุมัติเพิ่มขึ้นเพียง 4.4%

“การลงทุนของเอกชนยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด แต่ถือว่ากลับมาเป็นบวกจากปีที่ผ่านมาที่หดตัวไป 2% ทิศทางข้างหน้าจากการส่งออกที่ดีขึ้นประกอบกับคำขอส่งเสริมการลงทุนที่ดีขึ้น คาดว่าเอกชนจะเริ่มลงทุนมากขึ้นในระยะต่อไป นักลงทุนอาจจะรอดูว่า ปีหน้า ถ้าการลงทุนการส่งออกดีต่อเนื่องไป คงตัดสินใจไม่นานมาก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แต่ตอนนี้ส่งออกเพิ่งฟื้นมาไม่กี่เดือน” ดร.ปรเมธีกล่าว

nesdb-q3-2016_2

รัฐเดินหน้าลงทุน “เมกะโปรเจกต์” 1.4 ล้านล้านบาท

ขณะที่ด้านการลงทุนภาครัฐ ปัจจุบันมีความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ในปี 2559 และมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นในปี 2560 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง จำนวน 20 โครงการ วงเงิน 1.41 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • โครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้ว จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 45,471.97 ล้านบาท ซึ่งเริ่มมีการเบิกจ่ายแล้วในปี 2559
  • โครงการที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ในช่วงของการประกวดราคาจำนวน 9 โครงการ วงเงิน 487,775.04 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการเริ่มก่อสร้างและเบิกจ่ายในปี 2560
  • โครงการที่อยู่ในช่วงของการเตรียมการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 3 โครงการ วงเงิน 175,881.37 ล้านบาท
  • โครงการที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) 2 โครงการ วงเงิน 247,201.16 ล้านบาท
  • โครงการที่อยู่ระหว่างเจรจาและศึกษาความเหมาะสมอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟไทย-จีน (ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช) และโครงการความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟไทย-ญี่ปุ่น (ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก)

ทั้งนี้ รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของสภาพัฒน์ อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนของภาคเอกชนและของภาครัฐกับการส่งออกว่า การลงทุนภาคเอกชนประกอบด้วยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนหมวดก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็น 80% และ 20% ของการลงทุนรวมของภาคเอกชนตามลำดับ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือและเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในเครื่องมือและเครื่องจักรมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการขยายตัวของการส่งออก ในกรณีที่การส่งออกลดลง กำลังการผลิตส่วนเกินจะเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจไม่มีความจำเป็นที่จะขยายการลงทุน ในทางตรงกันข้าม หากการส่งออกเพิ่มขึ้นจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินลดลงและผู้ประกอบการจะลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ดังนั้น การหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมาจึงมีสาเหตุสำคัญมาจาก 1) การเติบโตในลักษณะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่ององมูลค่าการส่งออกตั้งแต่ปี 2553-2555 ก่อนที่จะเริ่มหดตัวในช่วงปี 2556-2558 เฉลี่ยปีละ -2.2% ตามภาวะเศรษฐกิจโลก และ 2) การหดตัวเฉลี่ย -2.9% ของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐในช่วงปี 2554-2557

อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2558 เป็นต้นมา ภาครัฐให้ความสำคัญกับการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้การลงทุนในภาคก่อสร้างของภาครัฐเริ่มกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2560 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น

บริโภคเอกชนฟื้น-รายได้ภาคเกษตรบวก 2 ไตรมาสติด

ด้านการบริโภคของเอกชน ยังฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 3.5% ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.8% ตามการเร่งตัวของการใช้จ่ายในหมวดโรงแรมและภัตตาคาร เป็นผลจากช่วงวันหยุดยาวช่วง 16-20 กรกฎาคม 2559 และมาตรการภาษีท่องเที่ยว โดยในไตรมาสที่ 3 ผู้บริโภคที่ความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 62.5

นอกจากนี้ การบริโภคของเอกชนยังได้แรงหนุนจากรายได้ภาคเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น 12.5% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส สอดคล้องกับการผลิตภาคการเกษตรที่ปรับตัวเป็นบวกในรอบ 8 ไตรมาสที่ 0.9% โดยเป็นผลทางด้านราคาเป็นหลักตามดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น 13.1% ขณะที่ดัชนีปริมาณสินค้าเกษตรยังคงหดตัวเล็กน้อยที่ -0.5% ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 4 จากการที่ผลผลิตที่เพาะปลูกหลังภัยแล้งเริ่มทยอยออกมา

nesdb-q3-2016_1

ไม่กังวลทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทบชั่วคราว

ดร.ปรเมธีกล่าวต่อไปถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวว่ายังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 อยู่ที่ 8.23 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.1% จากไตรมาสก่อนหน้าและ 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 12.5% โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ 441,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.1% จากไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 คาดว่าการท่องเที่ยวจะชะลอตัวในระยะสั้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวกังวลเรื่องการปฏิบัติตนและกิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงไว้ทุกข์ และผู้ประกอบการบางส่วนกังวลทิศทางการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ โดยในปี 2560 ยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 35.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2559 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากฐานที่สูงในปี 2559 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่ 1.95 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2559

“ผลกระทบของทัวร์ศูนย์เหรียญที่ดำเนินการกับบริษัทที่ผิดกฎหมาย แต่ว่าบริษัททัวร์อื่นๆ อาจจะยังไม่แน่ใจว่าเราจะทำอะไรบ้าง ซึ่งความจริงที่ปราบปรามไปถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับบริษัททัวร์ทั้งหมด แต่ถามหาตัวเลขผลกระทบที่ชัดเจนยังไม่มีและไม่ได้ส่งสัญญาณออกมามาก เข้าใจว่านักท่องเที่ยวผ่านท่าอากาศยานหลักลดลงแต่ไม่มาก หรือเพิ่มขึ้นแต่เพิ่มแบบชะลอตัวลง คงต้องรอดูข้อมูลของเดือนตุลาคม แต่ถ้าไปดูจำนวนบริษัททัวร์ที่นำนักท่องเที่ยวมามีเป็นหลัก 1000 บริษัท ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวด้วย” ดร.ปรเมธีกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาพัฒน์ อ้างถึงข้อมูลของ China National Tourism Administration ระบุว่าในปี 2556 ประเทศจีนมีบริษัทนำเที่ยว 26,650 ราย โดยเป็นการเที่ยวนอกประเทศจีน 2,774 ราย ขณะที่การจัดระเบียบบริษัทนำเที่ยวขอไทยปัจจุบันได้ปราบปรามไปเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ได้แก่ บริษัท ฟูอันทราเวล จำกัด และบริษัท โอเอทรานสปอร์ต จำกัด ขณะที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนระหว่างปี 2556-2557 พบว่า 86.1% เป็นการเดินทางโดยใช้บริษัทนำเที่ยว ส่วนการเดินทางครั้งต่อไป 34% จะเป็นการเดินทางมาด้วยตนเอง

ด้านข้อมูลนักท่องเที่ยว พบว่าในปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามายังประเทศไทยทั้งปี 7.94 ล้านคน และ 9 เดือนแรกของปีที่  6.16 ล้านคน แบ่งเป็นรายไตรมาสที่ 2, 2, 2.11, 1.82 ล้านคนตามลำดับ เทียบกับปี 2559 ที่ 9 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยว  7.32 ล้านคน แบ่งเป็นรายไตรมาสที่ 2.63, 2.27 และ 2.42 ล้านคนตามลำดับ

เอ็นพีแอลไม่น่าห่วง เชื่อฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ

ดร.ปรเมธีกล่าวว่า ปัญหาเอ็นพีแอลที่ยังปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกันยังคงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่โดยรวมสัดส่วนถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของระบบ ซึ่งในระยะที่ผ่านมาก็ไม่ได้ขยายตัวสูงมากนัก และคิดว่าไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงในอนาคต เช่นเดียวกันกับเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยคาดว่าทั้งหมดจะเริ่มชะลอตัวลงในปีหน้า ขณะที่ด้านธนาคารพาณิชย์มีเงินกันสำรองที่มั่นคงเพียงพอ

“ถ้าเศรษฐกิจขาลงอาจจะมีผลกระทบเวลาเห็นหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ถ้าเศรษฐกิจขยับฟื้นตัวได้ต่อเนื่องก็คิดว่าไม่น่าจะสร้างปัญหา มันน่าจะค่อยๆ ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นสูง ไม่ได้กังวลในภาพรวม ถ้าเป็นบางธุรกิจเป็นจุดๆ อาจจะต้องคอยดูแล แต่ว่าภาพรวมของเรา บัตรเครดิตมีกันกี่คนในประเทศ แล้วยอดสินเชื่อไม่มากเทียบกับสินเชื่อบริโภครวม รวมไปถึงถ้าเทียบยอดบริโภครวมทั้งหมด ดังนั้น ไม่น่ากระทบกับการบริโภคโดยรวม แล้วด้านความมั่นคง ธนาคารเองก็ดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยอยู่แล้ว” ดร.ปรเมธีกล่าว

จีดีพีทั้งปี 3.2%-ปีหน้า 3-4%

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จาก 3-3.5 เป็น 3.2% ขณะที่ปี 2560 คาดว่าจะเติบโตในกรอบ 3-4% โดยมีปัจจัยหนุนจาก 1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น 2) การขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคการเกษตรซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน 3) การลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และ 4) แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี  อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นทิศทางนโยบายของสหรัฐอเมริกา, ผลการเลือกตั้งในอิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี, การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ, ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และปัญหาภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน

ทั้งนี้ ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2559 และปี 2560 นายปรเมธีระบุว่า ควรให้ความสำคัญในเรื่อง 1) การเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ 2) การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยว 3) การสนับสนุนและเร่งรัดการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัว 4) การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมมาตรการรองรับการขยายตัวของการผลิตทางการเกษตร และ 5) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน

“ครึ่งปีแรกเราขยายตัวได้ 3.3% แต่ว่าทั้งปีให้ 3.2%  เผื่อไว้สำหรับไตรมาสที่ 4 อาจจะชะลอลงเล็กน้อย เพราะว่าไตรมาสที่ 4 ยังไม่แน่ใจส่วนของการท่องเที่ยวที่อาจจะยังไม่มีใครประเมินผลกระทบได้ ที่จริงไตรมาสที่ 4 ผลผลิตการเกษตรจะออกมามากเป็นตัวช่วย ยังมีเรื่องฐานสูงที่ปีที่ผ่านมาฟื้นตัวค่อนข้างดี ดังนั้น ไตรมาสที่ 4 อาจจะไม่แรงเท่าไตรมาสที่ 3 แต่ 3.2% ก็ยังถือว่าดีต่อเนื่องตามแผน ส่วนการใช้นโยบายการเงินการคลังระยะต่อไป คิดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพิเศษอาจจะไม่จำเป็นแล้ว แต่คงจะเน้นไปที่เรื่องพื้นฐาน ปรับโครงสร้าง สร้างโอกาส กระจายรายได้ในระยะยาว ส่วนมาตรการการเงินถือว่าผ่อนคลายอยู่แล้ว ดังนั้น ทั้งสองด้านคงรักษาระดับของนโยบายการเงินการคลังต่อไป ถ้าไม่มีอะไรผิดปกติเข้ามากระทบเป็นพิเศษ” ดร.ปรเมธีกล่าว

nesdb-q3-2016_3

แบงก์ชาติเกาะติด “นโยบายสหรัฐ-ทัวร์ศูนย์เหรียญ-ส่งออกฟื้นต่อเนื่อง-เอกชนลงทุนต่ำ”

ในวันเดียวกัน ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ขยายตัว 3.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับที่ธปท. ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ประกอบกับภาคการส่งออกสินค้าที่มีสัญญาณดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปยังคงต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ความคืบหน้าของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ  รวมถึงความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการส่งออกสินค้า ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ