ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ สูงสุด 310 บ./วัน – อนุมัติจ่ายผู้มีรายได้น้อย 5.4 ล้านคน 1.2 หมื่นล้าน

ครม. เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ สูงสุด 310 บ./วัน – อนุมัติจ่ายผู้มีรายได้น้อย 5.4 ล้านคน 1.2 หมื่นล้าน

22 พฤศจิกายน 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

วันนี้ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวถามได้ วิธีการคือ ให้ส่งคำถามไปล่วงหน้า แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามตาม “คำถามที่สื่อมวลชนส่งมาถาม”

นายกฯ วอน อย่าใช้คำว่า “แจกเงิน” – เตรียมมาตรการกระตุ้น ศก. ช่วงปีใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ใช้คำว่าแจกเงิน แต่เป็นมาตรการที่ดำเนินการตามที่เคยประกาศให้มาขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังดูแลประชาชนในอาชีพอื่นนอกเหนือจากการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจากการลงทะเบียนมีประมาณ 8 ล้านคน ตอนนี้ช่วยเกษตรกรไปแล้ว 3 ล้านคน ยังเหลือ 5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ได้มีการตรวจสอบทางข้อกฎหมายแล้ว สามารถดำเนินการได้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น แน่นอนว่าเมื่อมีเงินลงไปก็จะมีการใช้เงินกันมากขึ้น จะเกิดกระบวนการตั้งแต่ผู้บริโภคถึงผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ก็จะเกิดการใช้จ่ายเงินในระบบมากขึ้น ในส่วนของมาตรการวันขึ้นปีใหม่ก็จะมีการกำหนดในหลายๆ มาตรการ ซึ่งต้องรอฟังอีกครั้งว่าในช่วงนั้นจะมีอะไรออกมา ทั้งเรื่องการจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว

เร่งออก กม. ใช้บริหารประเทศ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย หลังมีการประกาศใช้กฎหมายไปหลายฉบับ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า กฎหมายปิโตรเลียม อันมีผลต่อประเด็นอื่นๆ ว่า วันนี้ถือว่าทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ไม่ต้องมีการประชุมอะไรพิเศษ ขณะที่เรื่องกฎหมายลูกยังที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ตนได้เห็นจากสื่อ ยังมีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกัน ซึ่งได้บอกไปแล้วว่าให้หาทางหาข้อยุติให้ได้ ตรงนี้มีกรอบเวลาอยู่ สักพักคณะทำงานก็จะสรุปกันได้ ฉะนั้น อย่าไปขยายความให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

แค่ “ชะลอ” ไม่ได้ “ระงับ” สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ ที่ขอให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ว่า ขณะนี้ได้ชะลอเรื่องไว้อยู่แล้ว อย่าต้องให้ใช้คำว่า “ระงับ” ชะลอก็คือชะลอ ขอให้เป็นข้อสรุปมาว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร เพราะถ้าบอกอะไรมาแล้วให้ทำตามทุกอันมันคงไม่ใช่ รัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบกับความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงกรณีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งเตรียมฟ้องกระทรวงพาณิชย์ หลังนำเข้าข้าวสาลีจนทำให้ราคาข้าวโพดตก ว่า ต้องดูกันให้ดีว่าฟ้องร้องแล้วได้อะไรขึ้นมาหรือไม่ ขณะนี้ได้มีการกำหนดสัดส่วนอัตรานำเข้าข้าวสาลีและการรับซื้อข้าวโพดแล้ว แต่ก็ต้องไปดูว่าข้าวโพดของไทยมาจากไหน หากมาจากการปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมายเป็นส่วนใหญ่ก็ยกเลิก รัฐบาลไม่ส่งเสริมให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่าในการปลูกข้าวโพด

สั่งคมนาคมดูแลค่าเดินทาง หลังจัดคิวรถตู้อนุสาวรีย์ชัยฯ

เมื่อถามถึงความพึงพอใจหลังจากจัดระเบียบคิวรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครบ 1 เดือน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ยังไม่พอใจถ้ายังมีปัญหาอยู่ ขณะนี้ต้องแก้ปัญหาที่ตามมาจากการจัดระเบียบ เช่น ค่าเดินทางที่สูงขึ้น รายได้ของผู้ค้า และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รายได้ลดลง จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของประชาชนและระบบการจราจรให้สะดวกขึ้น ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มหลังจากการจัดระเบียบ

“แล้วพวกคุณจะเอาอย่างไร ไหนลองตอบมา ว่าวันนี้มีวิธีไหนที่ดีกว่านี้หรือไม่ ขอให้เสนอมาเลย ผมจะทำให้ ถ้าจัดระเบียบไม่ได้ก็เดินหน้าต่อไม่ได้ วันนี้บ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น แล้วยังต้องการอะไรอีก หรือต้องการแบบเดิม เพราะแบบเดิมก็บ่นกันเรื่องความไม่เป็นระเบียบ พอรัฐบาลแก้ปัญหาก็มาบอกว่าเดือดร้อน แล้วจะให้รัฐบาลทำอย่างไร” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สั่งตรวจสอบคนไทยร่วมมือไอเอส

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ตำรวจออสเตรเลียให้ข้อมูลในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารประจำศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคกรุงเทพฯ (บีอาร์ซีที) ระบุว่ามีกลุ่มคนไทยบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องสนับสนุนเงินทุนกลุ่มไอเอส โดยอ้างว่าพบยูสเซอร์เนมเฟซบุ๊กจากประเทศไทยกว่า 1 แสนราย ใช้เว็บไซต์ของกลุ่มไอเอสนานกว่า 1 ปี ว่า นี่เป็นการให้ข้อมูลของตำรวจออสเตรเลีย ทางเราก็ตรวจสอบ อีกทั้งยังเตรียมป้องกัน หรือเตรียมจับกุมต่อไป

“มันเป็นผลกระทบกับคนทั้งโลก ทุกประเทศก็มีปัญหานี้หมด ดังนั้น เราก็ให้เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงดำเนินการ ผู้สื่อข่าวหรือใครถามเรื่องนี้มาก็รู้อยู่แล้ว ถ้ามีวิธีการอื่นก็ให้บอกมา” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ปี 61 พร้อมเดินหน้าประเทศ เน้นเชิงโครงสร้าง

พล.อ. ประยุทธ์ ปิดท้ายว่า วันนี้ต้องการให้ประเทศเดินหน้าให้ได้ โดยระยะที่ 1 ทำไปแล้ว เป็นการรักษาเสถียรภาพประเทศไว้ นำปัญหาที่หยุดชะงักมาเดินหน้าประเทศ ในปี 2557-2558 จากนั้นปี 2559-2560 ต้องสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถ โดยงบประมาณของปี 2560-2561 จะมุ่งเน้นเชิงโครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลได้พยายามทำเกษตรแปลงใหญ่ รัฐวิสาหกิจชุมชน บริษัทประชารัฐ และจะส่งเสริมให้ทำยุ้งฉางขึ้นมาอีก พร้อมกันนี้จะวางแผนเชื่อมโยงสร้างไซโลต่อในอนาคต เพื่อเก็บรักษาในระยะเวลานาน แต่เป็นของประชาชน โดยร่วมกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ ส่วนธุรกิจเอกชนก็ทำของตัวเองไป สิ่งที่รัฐบาลทำนั้นเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก สามารถถ่วงดุลราคาในวันข้างหน้า ตนคิดแบบนี้ไม่ใช่จะให้แต่เงิน เพราะไม่ยั่งยืน แต่วันนี้มันจำเป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจมีปัญหาทั้งโลก

สำหรับมติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

จ่ายผู้มีรายได้น้อย 5.4 ล้านคน 1.2 หมื่นล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท ที่ได้ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2559 มีผู้ลงทะเบียน 5.4 ล้านคน โดยรัฐจะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนเอาไว้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 ธันวาคม 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 12,750 ล้านบาท

โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐใน 2 กรณี 1) ผู้ที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท จะได้รับเงินคนละ 3,000 บาท 2) ผู้ที่มีรายได้เกินปีละ 30,000 บาท แต่ไม่เกินปีละ 100,000 บาท ได้รับเงินคนละ 1,500 บาท ทั้งนี้ บุคคลที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกินปีละ 100,000 บาท ในปี 2558 ที่ไม่ใช่เกษตรกร และได้ไปลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ โดยต้องผ่านการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลจากกรมสรรพากร และกรมการปกครองแล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออมสิน และกรุงไทย จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีผู้มีสิทธิ์ที่เป็นลูกค้าของธนาคาร โดยสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ธนาคารแจ้ง หากบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี ธนาคารจะโอนเงินไปยังบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด สำหรับกรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคาร ก็ให้ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากในธนาคารใดธนาคารหนึ่งจากทั้ง 3 ธนาคาร

“สำหรับวงเงินงบประมาณจำนวน 12,750 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ขณะนี้ให้ 3 ธนาคารสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน จากนั้นรัฐจะชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารต่อไป ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบช่วยเหลือกับกลุ่มเกษตรกรไปแล้ว แต่คราวนี้กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อช่วยเหลือให้ครอบคลุมผู้ที่อยู่นอกภาคเกษตรด้วย ซึ่งการมาตรการนี้รัฐต้องการช่วยเหลือให้คนมีรายได้น้อยอยู่ได้ ส่วนเรื่องเงินจะลงไปหมุนเวียนเศรษฐกิจได้กี่รอบเป็นเรื่องที่รองลงมา”

เพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สูงสุด 310 บ./วัน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการที่ปรึกษารัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตีด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 69 จังหวัด ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพียงพอที่จะสามารถดำรงชีพได้ โดยมีมาตรฐานการครองชีพที่เหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น

ในกรุงเทพมหานคร และปริมลฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) และภูเก็ต จะได้อัตราค่าจ้างเพิ่ม 10 บาทต่อวัน จากเดิม 300 บาทต่อวัน เป็น 310 บาทต่อวัน

ปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น 8 บาทต่อวัน เป็น 308 บาทต่อวัน ใน 13 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา ระยอง สงขลา สระบุรี และสุราษฎร์ธานี

และมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้น 5 บาทต่อวัน เป็น 305 บาทต่อวัน ใน 49 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี

ทั้งนี้ จะมีการคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไว้ที่ 300 บาทต่อวัน จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา ระนอง และสิงห์บุรี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมไม่มาก และทางจังหวัดไม่มีการเสนอขึ้นอัตราค่าจ้างเข้ามา

“การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เป็นการปรับครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า ขออย่าให้การปรับอัตราค่าจ้างในครั้งนี้ส่งผลต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพเท่านั้น” นายกอบศักดิ์กล่าว

ต่อโครงการ “สินเชื่อทวีทุน” ครั้งที่ 6 ช่วย SMEs

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อทวีทุน (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินไม่เกิน 5,750 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 และปีต่อๆ ไป

เนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 5 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้เต็มวงเงินไปในวันที่ 17 ตุลาคม 2559 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รัฐบาลจึงต่ออายุโครงการเป็นระยะที่ 6 โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ทั้งด้านเกษตร ท่องเที่ยว และบริการ

สำหรับภาคธุรกิจที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินต่ำกว่า 200 ล้านบาท ไม่นำสินเชื่อใหม่ไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ เป็น SMEs ที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ โดยมีระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อสถาบัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2561

“คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ประมาณ 33,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินจำนวน 168,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 458,000 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 132,000 คน” นายกอบศักดิ์กล่าว

อัด 4 หมื่นล้าน ช่วยชาวนา ขยายรอบ 3 คลุมข้าวเหนียว

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการทบทวนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 โดยในครั้งนี้เป็นการขยายมาตรการให้ครอบคลุมไปถึงข้าวเปลือกเหนียว จากเดิมที่เห็นชอบช้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 มีวงเงินงบประมาณที่ใช้ใน 2 โครงการและค่าบริหารจัดการรวม 41,090 ล้านบาท

โดยกำหนดเป้าหมายไว้ร่วมกับข้าวเปลือกหอมมะลิที่จำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก กำหนดวงเงินสินเชื่อ 90% ของราคาตลาด ให้วงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกเหนียวที่ความชื้นไม่เกิน 15% ไว้ที่ 9,500 บาท (ราคาตลาดอยู่ที่ 15,060 บาท) และให้ค่าเก็บรักษา 1,500 บาทต่อตัน กรอบระยะเวลาการให้สินเชื่อตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 สำหรับภาคใต้ขยายไปสิ้นสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560

สำหรับมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือกเหนียวครั้งนี้จะใช้วงเงินงบประมาณรวมกับการดำเนินมาตรการชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ ในวงเงินสินเชื่อ 23,734 ล้านบาท และวงเงินค่าใช้จ่าย 3,978 ล้านบาท

ด้านมาตรการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพสำหรับข้าวเปลือกเหนียวเป็นเช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวชนิดอื่นที่ 2,000 บาทต่อตัน (กำหนด 800 บาทต่อไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่) โดยเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวไม่เกิน 12,000 บาทต่อครัวเรือน ไม่ว่าจะปลูกข้าวชนิดใด รวมวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าว 12,471 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายไปก่อน

อนุมัติปรับมาตรการช่วยเกษตรแปลงใหญ่

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ปี 2559/2560 และโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ปรับโครงการเป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแปลงใหญ่ จำนวน 2,000 แปลง กรอบวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 – ธันวาคม 2564)

“เนื่องจากทั้ง 2 โครงการมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนยังไม่มากพอ ประกอบกับเป็นสินเชื่อระยะสั้นเพียง 1 ปี และมีข้อกำหนดในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่ยังไม่จูงใจเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เสนอโครงการใหม่ คือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่” นายณัฐพรกล่าว

โดยรายละเอียดนั้น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร โดยจะได้รับเงินแปลงละไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย ค่าลงทุน ในการพัฒนาเกษตรแบบแปลงใหญ่ เช่น การจัดหาปัจจัยการผลิต เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรวบรวมผลผลิต การจัดหาและพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรจะต้องจ่ายดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี แบ่งเงินกู้เป็น 2 ประเภท คือ ถ้ากู้ไปเพื่อใช้จ่ายหมุนเวียน จะต้องคืนภายใน 1 ปี แต่ถ้ากู้เพื่อลงทุนสามารถกู้ได้นานถึง 5 ปี โดยเริ่มกู้ได้ตั้งแต่ ธ.ค. 2559 – ธ.ค. 2564 ทั้งนี้ รัฐบาลจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาทเพื่อชดเชยดอกเบี้ย

เว้น-ลด ค่าวีซ่า กระตุ้นท่องเที่ยว

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ยังมีมติเห็นชอบ เรื่องการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ สถานทูตหรือสถานกงสุลไทย และปรับลดค่าธรรมเนียม ณ ช่องทางอนุญาตตรวจคนเข้าเมืองเป็นการชั่วคราว (Visa on Arrival: VOA) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ณ สถานทูตหรือสถานกงสุลไทย จำนวน 1,000 บาท เป็นการชั่วคราว และปรับลดค่าธรรมเนียม ณ ช่องทางอนุญาตตรวจคนเข้าเมือง โดยสามารถใช้ได้ครั้งเดียว ทั้งหมด 19 ประเทศ เช่น อันดอร์รา บัลแกเรีย จีน ไซปรัส เอธิโอเปีย อินเดีย คาซักสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย มัลดีฟส์ มอลตา มอริเชียส โรมาเนีย ซานมาริโน ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น จากเดิม 2,000 บาท เหลือ 1,000 บาทต่อคนเป็นการชั่วคราว

ทั้ง 2 มาตรการนั้นจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ครอบคลุมระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 357,362 คน มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 28,703 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปีใหม่และตรุษจีน สร้างโอกาสการจ้างงานเพิ่มขึ้น 62,429 คน รัฐบาลมีรายได้จากภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น 1,247 ล้านบาท และมีรายได้จากค่าธรรมเนียม VOA จำนวน 1,920 ล้านบาท

ปรับเกณฑ์วีซ่าเอื้อผู้ป่วย ชูประเทศศูนย์กลางสุขภาพ

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบอนุมัติขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทย สำหรับกลุ่มพำนักในระยะยาว (Long Stay Visa) ซึ่งเป็นไปตามมาตรการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ

สำหรับผู้สมัครเข้ารับหลักเกณฑ์ต้องเป็นชาวต่างชาติที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่จะยื่นขอประเภทวีซ่าอยู่ชั่วคราวจากสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศหรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ไทยด้วยวีซ่าประเภทอื่น และเมื่อพำนักอยู่ในระยะหนึ่งมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนประเภทการขอรับการตรวจลงตราเป็นแบบพำนักระยะยาว จากเดิมอนุญาตให้พำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ครั้งนี้จะอนุมัติ 10 ปี โดยครั้งที่ 1 ไม่เกิน 5 ปี และสามารถต่ออายุครั้งที่ 2 ได้อีก 5 ปี โดยมีค่าธรรมเนียม 10,000 บาท

โดยผู้ที่จะขอวีซ่าประเภทดังกล่าวจะต้องมีเงินฝากในบัญชี 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือมีรายได้ต่อเดือน 1 แสนบาทขึ้นไป และต้องคงบัญชีเงินฝากตามที่แสดงไว้ในธนาคารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี นับแต่วันได้รับการตรวจลงตรา นอกจากนั้น ต้องมีเอกสารประกันสุขภาพระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ในวงเงินคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 1 พันดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรณีผู้ป่วยในไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กรมธรรม์ต่อ 1 ปี ซึ่งผู้ขอวีซ่าประเภทนี้ต้องรายงานตัวทุก 90 วัน ผ่านช่องทางที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด

“คนที่จะขอวีซ่าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นอร์เวย์ จีน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ อินเดีย อิตาลี แคนาดา ไต้หวัน เพราะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและนิยมพำนักอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ชลบุรี และชายทะเลที่มีชื่อเสียง” พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าว

กำหนดเรียก 5 ธ.ค.ใหม่ – เพิ่มหยุดปีใหม่ 4 วัน

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้ตกลงกำหนดเบื้องต้นว่า วันที่ 5 ธันวาคม 2559 นี้ ให้ใช้คำว่า “วันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ” โดยจะมีหนังสือแจ้งเป็นให้ทราบทางการอีกครั้ง ซึ่งยังคงกำหนดให้เป็นหยุด และมีกิจกรรมสำคัญของทางสำนักพระราชวัง ทั้งการบำเพ็ญพระราชกุศล และการพระราชทานสมณศักดิ์ของพระภิกษุสงฆ์

ทั้งนี้ ในส่วนวันสำคัญประจำปี 2560 คาดว่าจะพิจารณากันในการประชุม ครม. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 หรือไม่เกินสัปดาห์ถัดไปในเดือนธันวาคม 2559

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มวันหยุดชดเชยวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2 วัน คือวันที่ 2-3 มกราคม จากเดิมวันที่ 31 ธันวาคม และ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น วันหยุดเทศกาลปีใหม่จะมีทั้งสิ้น 4 วัน

นายกฯ ปิ๊ง ออกกำลังกายทุกพุธ ให้ ขรก. กระฉับกระเฉง

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ในที่ประชุม พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกฯ ได้รายงานผลการประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายว่า เด็กและผู้สูงอายุของคนไทยมีกิจกรรมเนือยนิ่ง เช่น นั่งเล่นไอแพดหรือดูโทรทัศน์เป็นระยะเวลานานในหนึ่งวัน ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จึงกำหนดว่า ตั้งแต่วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน 2559 นี้เป็นต้นไป ทุกๆ วันพุธ ที่ทำเนียบรัฐบาลและส่วนราชการต่างๆ ในช่วงเวลา 15.00 – 16.30 น. ให้เป็นช่วงเวลาการออกกำลังกายของข้าราชการ

โดยในส่วนของทำเนียบรัฐบาลจะใช้บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าเป็นที่ออกกำลังกาย และหากสัปดาห์ใดที่ พล.อ. ประยุทธ์ มีเวลาว่างก็จะมาร่วมออกกำลังกายด้วย โดยในช่วงเวลาดังกล่าวขอให้ข้าราชการทุกคนเปลี่ยนเป็นชุดที่พร้อมออกกำลังกาย แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อหาชุดออกกำลังกายใหม่ ทั้งนี้ การออกกำลังกายจะช่วยให้ข้าราชการมีความตื่นตัวในการทำงาน และเมื่อออกกำลังกายร่วมกันเสร็จแล้ว สามารถไปประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น การรับส่งลูก ได้ต่อไปตามปกติ

อนุญาต ขรก. บวชถวาย ร.9 ไม่คิดเป็นวันลา

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ครม. ได้มีมติให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อครบกำหนดปัญญาสมวาร (50 วัน) หรือสัตตมวาร (100 วัน) คราวละ 9 วัน จำนวน 2 คราว โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนปกติ ดังนี้

  • เตรียมการจนถึงวันลาสิกขา ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 – 6 ธันวาคม 2559 (วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นวันครบกำหนดปัญญาสมวาร)
  • เตรียมการจนถึงวันลาสิกขา ระหว่างวันที่ 16-25 มกราคม 2560 (วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นวันครบกำหนดสัตตมวาร)