ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เคาะจำนำยุ้งฉาง 13,000 บาท/ตัน – 14 พ.ย. จัดกิจกรรมรื่นเริงได้ตามปกติ – ใช้ภาษีหนุน e-Payment

นายกฯ เคาะจำนำยุ้งฉาง 13,000 บาท/ตัน – 14 พ.ย. จัดกิจกรรมรื่นเริงได้ตามปกติ – ใช้ภาษีหนุน e-Payment

1 พฤศจิกายน 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักโฆษกได้แจ้งกับผู้สื่อข่าวทุกคนทราบก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะแถลงว่า “วันนี้เหมือนเดิม ไม่มีการถามนะครับ” เนื่องด้วยอยู่ในช่วงถวายอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ

เคาะจำนำยุ้งฉางสูงสุด 13,000 บาท/ตัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อ 09.00 น. วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2559) มีประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) นัดพิเศษ ปีการผลิต 2559/2560 มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี 13,000 บาทต่อตัน ที่เพิ่มจากมติ นบข. ประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ที่ราคา 11,525 บาทต่อตันประกอบด้วยค่าข้าวเปลือก เงินช่วยเหลือ ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงข้าว และค่าเก็บรักษาข้าวไว้ในยุ้งฉาง ส่วนเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉาง ไม่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถขายได้ในราคาตลาด รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวข้าวปรับปรุงคุณภาพโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชี 2,000 บาทต่อตัน

พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวได้มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ เพราะไม่ได้เป็นการจำนำข้าวทุกเมล็ดและไม่ใช่การนำข้าวที่ได้จากโครงการไปเก็บในคลังของรัฐ ตนหวังว่ามาตรการนี้จะทำให้ชาวนาพอใจในระดับหนึ่งและทำให้ราคาข้าวในตลาดปรับดีขึ้น แต่อยากให้เห็นใจรัฐบาลที่มีงบประมาณจำกัดและขณะนี้ก็มีผลกระทบหลายด้าน ทั้งจากปัญหาน้ำท่วมและความต้องการข้าวลดลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมสนับสนุนเครื่องมือและจัดหาโรงสีขนาดกลางลงไปในแต่ละพื้นที่

“ได้สั่งให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และ คสช. ลงไปสำรวจโรงสีว่ามีสิ่งใดแทรกซ้อนหรือไม่ และขอให้ชาวนาอย่าหลงเชื่อข้อมูลที่บิดเบือน เพราะราคาข้าวที่ตกต่ำในขณะนี้เป็นเพียงข้าวที่เก็บเกี่ยวหนีน้ำ มีความชื้นสูง และไวต่อแสง ซึ่งจะออกผลผลิตในช่วงตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2559 ประมาณ 2 ล้านตันเท่านั้น และขอให้ติดตามข้อมูลต่างๆ จากรัฐบาล” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมถึงมติของที่ประชุม นบข. นัดพิเศษในวันนี้ ดังนี้

  1. การกำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกร้อยละ 90 ของราคาตลาด ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 โดยพิจารณาจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ 36 กรัมขึ้นไป ในตลาดปัจจุบันที่ประมาณตันละ 11,000 บาท กำหนดวงเงินสินเชื่อไม่เกินร้อยละ 90 ซึ่งในชั้นนี้ กำหนดวงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกหอมมะลิ 9,500 บาท วงเงินสินเชื่อต่อตันข้าวเปลือกหอมมะลิเป็นวงเงินที่จ่ายสินเชื่อสำหรับข้าวเปลือกหอม
  2. วิธีดำเนินการ สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวหอมมะลิตามกลุ่มเป้าหมาย 2,000 บาทต่อวัน (กำหนด ไร่ละ 800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่) ทั้งรายที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปีการผลิต 2559/60 และไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกร
  3. กรอบระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

สำหรับกระแสข่าวที่ว่ามีกลุ่มนักการเมืองอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของชาวนานั้น กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล และกรณีที่มีการขายข้าวกันเองของชาวนานั้น รัฐบาลไม่ได้ห้ามและไม่มีการจับกุม เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือตัวเองไปก่อน แต่หากมีการขายเป็นจำนวนมาก ต้องมีการจดทะเบียนให้ถูกต้อง

14 พ.ย. จัดกิจกรรมรื่นเริงได้ตามปกติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีการขอความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยในวันที่ 30 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการและเลขานุการศูนย์บัญชาการติดตามสถานการณ์ (ศตส.) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางกิจกรรมบันเทิงเมื่อครบ 30 วัน (14 พฤศจิกายน 2559) ว่า สามารถจัดได้ตามปกติ โดยยังต้องเน้นความเหมาะสม เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินตามปกติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนการจัดรายการทางวิทยุโทรทัศน์สามารดำเนินการตามปกติ โดยขอความร่วมมือผู้รับผิดชอบพิจารณาตามความเหมาะสม และควรสอดแทรกรายการที่ให้ความรู้เป็นการพัฒนาประเทศไทยไปด้วย ทั้งนี้ หากสงสัยประการใดสามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายเลขานุการ ศตส. เบอร์ 02-288-6464

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ออกมาตรการภาษี หนุน e-Payment จูงใจเอกชนตั้งเครื่อง EDC

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อลดการใช้เงินสดและอำนวยความสะดวกในชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

“ที่ผ่านมาประชาชนส่วนมากยังใช้บัตรเดบิตไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยมักใช้บัตรเดบิตสำหรับเพียงแค่ถอนเงินสดจากตู้ ATM เท่านั้น ขณะเดียวกันร้านที่รับบัตรก็มีไม่มาก หลายร้านมีการกำหนดยอดการใช้จ่ายขั้นต่ำ และกระจุกตัวอยู่เฉพาะตามเมืองใหญ่ รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ให้ระบบการชำระเงินของประเทศ จึงมีมาตรการจะส่งเสริมให้กระจายจุดการรับชำระเงิน และกระจายอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ให้ทั่วถึงครอบคลุมทั่วประเทศ และที่สำคัญ ตั้งใจจะไม่ลงไปแค่เฉพาะบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น แต่จะลงไปยังบริษัทรายเล็กหรือ SME โดยให้มีการรองรับ National Debit Card และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการวางอุปกรณ์นี้ โดยอนาคตจะไม่ได้ให้มีแค่เพียงธนาคารเท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินการ แต่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ในการวางเครื่องชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ด้วย” นายกอบศักดิ์กล่าว

โดยเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่อง EDC ประกอบด้วย

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่อง EDC ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิตผ่านเครื่อง EDC ทั้งนี้ ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

เห็นชอบรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง 5.5 หมื่นล้าน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. กรอบวงเงินลงทุน 24,722.28 ล้านบาท, ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. กรอบวงเงินลงทุน 20,046.41 ล้านบาท, ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. กรอบวงเงินลงทุน 10,239.58 ล้านบาท รวมมูลค่า 55,008.27 ล้านบาท

“เดิมไทยมีระบบรถไฟทางคู่อยู่ 256 กิโลเมตร คิดเป็น 2% ของเส้นทางทั้งหมด ดังนั้น โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะทำให้ระบบทางคู่มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยจะดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดรวม 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 995 กิโลเมตร เม็ดเงินลงทุนรวมทั้งหมด 139,103 ล้านบาท ภายใต้โครงการดังกล่าวจะมีการสร้างสถานีใหม่เพิ่มเติมอีก 61 สถานี ยกเลิกจุดตัดทางรถไฟโดยการก่อสร้างทางต่างระดับเพิ่มเติมและทางข้าม พร้อมทั้งสร้างรั้วตลอดเส้นทาง ให้รถไฟสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น จัดทำย่านขนส่งสินค้า (คอนเทนเนอร์ยาร์ด) ในสถานีที่เหมาะสม เช่น ปากน้ำโพ สามร้อยยอด และทุ่งมะเมา เป็นต้น” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะมีการเวนคืนที่ดิน 24 ไร่ในเส้นทางนครปฐม-หัวหินเพื่อปรับรัศมีโค้งของรถไฟ เวนคืนที่ดินเพื่อสร้างสะพานข้ามรถไฟเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนเส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพจะต้องเวนคืนที่ดิน 371 ไร่เพื่อสร้างเส้นทางเลี่ยงเมือง ไม่ให้กระทบกับพระปรางค์สามยอด ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางจะทำให้สามารถบริการผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว และขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 2 เท่าตัว

นอกจากนี้ จะมีโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,493 กิโลเมตร ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กิโลเมตร, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 กิโลเมตร, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กิโลเมตร, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในขั้นการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 และรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, สายบ้านไผ่-นครพนม จะบรรจุไว้ใน แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2560 ด้วย ซึ่งจะเสนอ ครม. ขออนุมัติโครงการในปี 2560 และจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่มีโครงข่ายรถไฟทางคู่ที่มีประสิทธิภาพครบถ้วนทั่วประเทศ โดยการก่อสร้างทั้งระยะแรกและระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2563-2564

ขยายเวลาจ่ายเงินไร่ละพัน 2 เดือน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่องโคงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/2560 หรือโครงการไร่ละ 1,000 บาท โดยให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการอีก 2 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวามคม 2559 สำหรับกรณีภาคใต้ระยะเวลาสิ้นสุดโครงการเดิม 31 ธันวาคม 2559 เป็นสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2560

“เนื่องจากธ.ก.ส.ยังไม่สามารถโอนเงินให้กับเกษตรกรได้ทันตามกรอบระยะเวลา เพราะเกษตรกรบางส่วนอยู่ระหว่างขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2559/2560 ด้านคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ในระดับอำเภออยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูลเกษตรกรที่ผ่านการประชุมประชาคมกับข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ และเกษตรกรบางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์การเข้าร่วมโครงการฯ” นายณัฐพรกล่าว

ทั้งนี้ ตามข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2559 ธ.ก.ส. สามารถโอนเงินให้กับเกษตรกรตามโครงการฯ ได้จำนวน 2.25 ล้านราย คิดเป็น 62.29% ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/2558 (3.61 ล้านราย) เป็นจำนวนเงิน 19,263.70 ล้านบาท คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะสามารถโอนเงินให้เกษตรกรได้ประมาณ 2.9 ล้านราย เป็นเงินประมาณ 25,000 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของเป้าหมายการดำเนินโครงการฯ

เข้มจ่ายเงินช่วยเกษตรกร สรรพากร-กรมการปกครองต้องยืนยันรายได้

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ยังได้เห็นชอบ การตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและหลักเกณฑ์ในการโอนเงินภายใต้มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย (มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย) เพื่อติดตามความถูกต้องการดำเนินการว่าโครงการดังกล่าวลงไปสู่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง

โดยเกษตรกรที่จะได้รับเงินตามมาตรการดังกล่าวต้องเป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการพื้นฐานแห่งรัฐ ระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ซึ่งต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และเป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ในปี 2558 และต้องได้รับการตรวจสอบสถานะบุคคลและความถูกต้องของข้อมูลจากกรมสรรพากรและกรมการปกครองแล้ว รวมทั้งต้องเป็นผู้มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนเกษตรกร หรือเป็นสมาชิกในครัวเรือนผู้ที่อยู่ในทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร หรือทะเบียนผู้เลี้ยงสัตว์ของกรมปศุสัตว์ หรือทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของกรมประมง หากเป็นหัวหน้าครัวเรือนต้องมีข้อมูลเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าครัวเรือนนี้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

สำหรับอัตราการโอนเงิน แบ่งเป็น 2 อัตรา 1) เกษตรกรที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี โอนเงินให้จำนวน 3,000 บาทต่อคน 2) เกษตรกรที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โอนเงินให้จำนวน 1,500 บาทต่อคน เพียงครั้งเดียวผ่าน ธ.ก.ส. หากเกษตรกรไม่มีบัญชีเงินฝาก ธ.ก.ส. อาจใช้บัญชีเงินฝากของธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย หากไม่มีบัญชีเงินฝาก 3 ธนาคารข้างต้น ให้แจ้งชื่อบัญชี พร้อมเลขที่บัญชี และธนาคารที่ประสงค์ให้โอนเงินได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา

ความคืบหน้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางฯ

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ โดยศูนย์ทดสอบดังกล่าวจะตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา คาดว่าระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จในปี 60 ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563

สำหรับการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับยางพารานั้น ในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 150 มาตรฐาน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศกว่า 95% เช่น กลุ่มนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เช่น มอก. ของเม็ดยางที่ใช้ทำพื้นสังเคราะห์ แผ่นยางปูพื้นสนามฟุตซอล ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอนและที่นอน ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางล้อก็จะมียางล้อตันสำหรับรถโฟล์คลิฟต์ ยางล้อสูบลมสำหรับรถยนต์และส่วนพ่วง ยางล้อรถยนต์สำหรับรถยนต์พาณิชย์และส่วนพ่วง กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น แผ่นยางรองทางรถไฟ ยางรัดของ ยางปัดน้ำฝน

เห็นชอบวงเงิน 2.6 หมื่นล้าน ให้ กฟภ. พัฒนาระบบไฟฟ้า

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 โดยอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการในระยะที่ 1 วงเงินลงทุน 62,678.71 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 47,009 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 15,669.71 ล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ เพิ่มประสิทธิภาพ ความมั่นคง และความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าและลดปัญหาในการปฏิบัติ และบำรุงรักษา รวมทั้งติดตั้งเปลี่ยนแปลงหม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น เพื่อปรับปรุงและเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แหล่งชุมชนต่างๆ ทั้งผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม รายใหม่ และพื้นที่สำคัญ ให้มีความมั่นคงของระบบไฟฟ้าสูงขึ้น

ช่วยเหลือให้เปล่า สร้างสะพานข้ามพรมแดน ไทย-กัมพูชา 170 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการขออนุมัติจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่ที่บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท มูลค่าการก่อสร้าง 170 ล้านบาท ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลกัมพูชา

โครงการดังกล่าวเป็นสะพานข้ามแม่น้ำความยาว 130 เมตร โดยฝั่งไทยมีเชิงลาดสะพานยาว 340 เมตร ฝั่งกัมพูชายาว 150 เมตร นอกจากนี้ ทางฝั่งไทยจะมีถนนเชื่อมต่อ 100 เมตร ฝั่งกัมพูชาจะมีถนนเชื่อมต่อ 50 เมตร เมื่อเปิดใช้บริการจะเชื่อมกับถนนสาย 33 ที่วิ่งเข้ามาสระแก้ว ไปเชื่อมกับถนนหมายเลข 5 ของกัมพูชา คือถนนที่วิ่งไปเสียมเรียบ และลงไปทางพนมเปญ และไปถึงโฮจิมินห์ เวียดนาม

ส่วนภาระหน้าที่และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการนั้น ฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้าง ออกแบบ และรับผิดชอบค่าก่อสร้างทั้งหมด ยกเว้นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาษี และค่าธรรมเนียมของกัมพูชา ส่วนฝ่ายกัมพูชามีหน้าที่หาสถานที่ตั้งสำหรับตั้งสำนักงานและบ้านพักที่ตั้งในฝ่ายของกัมพูชา และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภค เป็นต้น โครงการสร้างสะพานข้ามพรมแดนแห่งใหม่เป็นไปเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และเป็นจุดหลักด้านการขนส่งผ่านแดนระหว่างประเทศ โดยไม่ยกเลิกการขนส่งผ่านแดนในส่วนของจุดผ่านแดน อ.อรัญประเทศ แต่อย่างใด

เห็นชอบ Visa ใหม่ สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม จีน-CLMV

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีมติอนุมัติในหลักการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยรวม 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตาม กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในกลุ่มประเทศ CLMV และสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เนื่องจากข้อมูลจากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า ในปี 2559 มียอดผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศข้างต้นเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยถึง 12.8 ล้านคน

ทั้งนี้ ได้มีการขอยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ป่วย บุคคลในครอบครัว และผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 คน แบบมีเงื่อนไขเฉพาะสำหรับการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลเท่านั้น โดยมีระยะเวลาพำนักครั้งละไม่เกิน 90 วัน สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักรได้หลายครั้ง และสามารถขยายระยะเวลาต่อเนื่องได้รวมแล้วไม่เกิน 1 ปี

โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาดังนี้ 1. ได้รับการรับรองและร้องขอจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษา โดยปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วย ระยะเวลาในการรักษา และความเห็นของแพทย์ผู้รักษาว่าอาการป่วยนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 2. กรณีดูแลผู้ป่วย ต้องได้รับการรับรองและร้องขอจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่ทำการตรวจรักษา หรือสถานทูต หรือสถานกงสุล และ 3. ผู้ดูแลผู้ป่วย นอกจากบิดามารดา คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม หรือบุตรของคู่สมรสแล้ว ให้อนุญาตได้อีกไม่เกิน 1 คน โดยยื่นขออยู่ต่อที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง