ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 5-11 พ.ย. 2559: “อเมริกาป่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำพญาอินทรีคนที่ 45” และ “อินเดียส่อวุ่น รัฐบาลสั่งยกเลิกแบงก์ 500 และ 1,000 รูปี”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 5-11 พ.ย. 2559: “อเมริกาป่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำพญาอินทรีคนที่ 45” และ “อินเดียส่อวุ่น รัฐบาลสั่งยกเลิกแบงก์ 500 และ 1,000 รูปี”

12 พฤศจิกายน 2016


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 5-11 พ.ย. 2559

  • อเมริกาป่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำพญาอินทรีคนที่ 45
  • ชง ยุบ “อบต.” ปี 2561
  • ปิดล้อม กทม. 40 จุด จับ “ปืน-อาวุธสงคราม”
  • สองตระกูลไทยรวยติด 50 อันดับมหาเศรษฐีเอเชีย
  • อินเดียส่อวุ่น รัฐบาลสั่งยกเลิกแบงก์ 500 และ 1,000 รูปี
  • อเมริกาป่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำพญาอินทรีคนที่ 45

    โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ที่มาภาพ: เว็บไซต์วิกิพีเดีย (https://goo.gl/Bq5Vkp)
    โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์วิกิพีเดีย (https://goo.gl/Bq5Vkp)

    รู้ผลกันไปแล้วกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 58 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ผลออกมาอย่าง “หักปากกาเซียน” เพราะทั้งนักพยากรณ์และผลโพลทั้งหลายต่างเก็งกันว่า ฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคเดโมแครต จะชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกัน

    ผลเลือกตั้งแม้ทรัมป์ได้รับการเลือกจากประชาชน (poppular vote) เป็นคะแนนเสียงที่น้อยกว่าคลินตัน คือ 60,072,551 ต่อ 60,467,601 เสียง แต่เมื่อดูคะแนนเสียงจากการเลือกของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college ในระบบ electoral vote) ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนประชาชนในแต่ละรัฐ โดยแต่ละรัฐนั้นจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน และคณะผู้เลือกตั้งจะลงคะแนนให้ผู้สมัครฯ ตามผลว่าผู้สมัครฯ คนใดได้คะแนนเสียงมากกว่าในรัฐของตน ทรัมป์กลับเป็นผู้ชนะไปด้วยคะแนน 290 ต่อ 228 เสียง ส่งผลให้โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของประเทศสหรัฐอเมริกา (ดูผลการเลือกตั้งโดยละเอียดได้ที่เว็บไซต์เอ็นบีซี)

    ทว่า ด้วยลีลาการหาเสียงก่อนหน้านี้ของทรัมป์ ที่เต็มไปด้วยการเหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์ เหยียดศาสนา เรียกได้ว่าสารพัดจะเหยียดและกีดกันทุกสิ่งที่ “ไม่อเมริกา” รวมทั้งท่าทีนโยบายทางเศรษฐกิจแบบ “protectionism” ที่จะกีดกันประเทศอื่นอย่างสวนทางกับกระแสการค้าเสรีและโลกาภิวัตน์ซึ่งทุกประเทศจะเปิดเข้าหากัน ก็ทำให้เกิดความผันผวนหลายอย่างขึ้นในสหรัฐอเมริกาทันที ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงในหลายเมืองจากผู้ที่ไม่พอใจในผลการเลือกตั้ง, ความผันผวนในตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นด้วยแรงหนุนของกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์, การที่ประชาชนในรัฐแคลิฟอร์เนียออกมาเรียกร้องให้เกิด “Calexit” หรือก็คือการแยกรัฐแคลิฟอร์เนียออกจากสหรัฐอเมริกาแบบที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และยังมีสารพัดเหตุการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่ติดตามได้จากทวิตเตอร์ “Day 1 In Trump’s America” ซึ่งล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ชวนให้คิดว่า ไม่ว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายต่างๆ ให้เกิดขึ้นจริงดังที่กล่าวไว้ในตอนหาเสียงหรือไม่ รวมทั้งสุนทรพจน์แรกก็ออกจะมีท่าทีแตกต่างจากลีลาการหาเสียงที่ผ่านมา แต่เขาก็ได้เปิดพื้นที่ให้คนสามารถออกมาแสดงความเกลียดชังและกีดกันกันอย่างเปิดเผยแล้ว

    จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดว่า สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีที่ชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีหน้าตาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเป็นอย่างไร และจะส่งผลกระทบใดๆ กับโลกบ้าง

    หมายเหตุ: สามารถอ่านบทวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งได้ตามบทความดังต่อไปนี้

    8 ข้อผิดพลาดของนางฮิลลารี คลินตันและพรรคเดโมแครต กับการปราชัยช็อกโลก โดย ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ
    ประธานาธิบดีทรัมป์! โดย พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
    ความพิศวงของการตัดสินใจร่วมกันของมนุษย์ โดย ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

    ชง ยุบ “อบต.” ปี 2561

    ไทม์ไลน์ 15 ขั้นสู่เลือกตั้งท้องถิ่น “โฉมใหม่” ที่มาภาพ: เว็บไซต์สปริงนิวส์ (http://www.springnews.co.th/?p=327778)
    ไทม์ไลน์ 15 ขั้นสู่เลือกตั้งท้องถิ่น “โฉมใหม่”
    ที่มาภาพ: เว็บไซต์สปริงนิวส์ (http://www.springnews.co.th/?p=327778)

    วันที่ 11 พ.ย. 2559 เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานถึงความชัดเจนที่มากขึ้นในการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่ายคือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบรายงานร่างกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบทั่วไป 2 ฉบับแล้ว เมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา

    รวมทั้งมติวิป สนช. และ สปท. เมื่อวันที่ 26 ต.ค. นี้ ที่มอบให้กรรมาธิการ (กมธ.) ของ สนช. และ สปท. ที่เกี่ยวข้องติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปในด้านนี้เป็นผลสำเร็จต่อไป หลังจากนั้นจะนำเสนอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ชาติ (คสช.) พิจารณา หากเห็นชอบจะได้เริ่มขั้นตอนเพื่อผลักดันเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

    วิป 3 ฝ่ายยังได้จัดทำปฏิทินงาน หรือไทม์ไลน์ 15 ขั้น เพื่อเป็นตัวกำกับการดำเนินการแต่ละช่วง เพื่อไปสู่เป้าหมาย “การเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (อปท.) รูปแบบใหม่พร้อมกันทั่วประเทศ ในเดือน มี.ค. 2561  โดยจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ตามโรดแมป คสช. ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2560

    การยกเครื่อง อปท. ใหญ่ครั้งนี้ เริ่มจากที่ประชุมใหญ่ สปท. เห็นชอบรายงานโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ อปท. รูปแบบทั่วไป ตามที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่นไปศึกษา จนมีข้อสรุปเป็นรายงานดังกล่าว พร้อมทั้งยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับเสนอ ประกอบด้วย “ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น”

    เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายเกี่ยวกับท้องถิ่นมีหลายฉบับ ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้ เพื่อจะปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นครั้งใหญ่ จึงเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 โดยรวบรวมมาจัดทำเป็นประมวลกฎหมาย อปท. เพื่อให้เป็นฉบับเดียวมีมาตรฐาน

    ทั้งนี้ได้กำหนดให้ อปท. ใหม่มีโครงสร้างเป็น 2 รูปแบบ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ซึ่ง อบจ. จะเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยงานอำนวยการสนับสนุน บูรณาการ ประสานการดำเนินงานให้กับเทศบาล เป็นการทำงานในภาพรวมของจังหวัด หรือภารกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับเทศบาล

    สำหรับเทศบาล กำหนดให้ปรับปรุงเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เป็นรูปแบบเดียวทั่วประเทศ โดยยกฐานะ อบต. ให้เป็นเทศบาล และจัดลำดับชั้นเทศบาลเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามจำนวนประชากรในพื้นที่ มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น มีความเป็นอิสระ มีหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะของตนเอง

    รวมทั้งกำหนดให้มีการควบรวมเทศบาลขนาดเล็ก มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20 ล้านบาท หรือมีจำนวนประชากรต่ำกว่า 7,000 คน เข้าด้วยกัน หรือควบรวมกับเทศบาลอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันในอำเภอเดียวกัน ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ประมวลกฎหมาย อปท. มีผลบังคับใช้ จะทำให้เทศบาลมีขนาดใหญ่ขึ้น แก้ไขปัญหางบประมาณไม่พอต่อการพัฒนาพื้นที่

    เป็นเหตุให้ผู้บริหาร อปท.ขนาดเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อบต. ต่างๆ ร้องว่าจะเป็นการยุบทิ้ง อบต. ขณะที่ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามกลบเกลื่อนว่า ยังเป็นเพียงข้อเสนอหรือแนวคิด อีกทั้งใครที่ราษฎรศรัทธาก็ต้องได้รับการสนับสนุน

    หาก พล.อ. ประยุทธ์ เห็นชอบแนวทางปฏิรูปท้องถิ่น โดยเลือกแนวทางการควบรวม อปท.อย่างที่ สปท.เสนอ และเดินหน้าตามไทม์ไลน์ 15 ขั้นตอน ก็จะมอบให้นายวิษณุ เครืองามรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ภายในสิ้นปีนี้ ก่อนจะให้กระทรวงมหาดไทยไปพิจารณา และเสนอเข้า ครม. ในต้นปี 2560

    เมื่อ ครม. เห็นชอบในหลักการ จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นเพื่อปรับแก้อีกครั้ง หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว ให้ ครม. เห็นชอบอีกครั้งภายในเดือน มิ.ย. 2560 ก่อนส่งให้ สนช. บรรจุเข้าวาระพิจารณา ตามขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติคาดว่า สนช. ใช้เวลา 3 เดือนพิจารณาเสร็จ (ส.ค. 2560) แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย กฎหมายน่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน ต.ค. 2560 จากนั้นเข้าสู่กระบวนการควบรวม อปท.ทั่วประเทศ ที่กระทรวงมหาดไทยต้องเป็นเจ้าภาพดำเนินการ จนแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2561 และจัดการเลือกตั้งผู้บริหาร อปท.โฉมใหม่ทั่วประเทศได้ในเดือนมีนาคม 2561

    หากเทียบเคียงโรดแมปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ที่ พล.อ. ประยุทธ์ และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ย้ำความมั่นใจว่ายังเป็นตามกำหนดเดิม  โดยจะทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในวันที่ 10 พ.ย. นี้ และเชื่อมั่นว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ในราวเดือนธันวาคม 2559

    ระหว่างนี้ กรธ. ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ควบคู่กันไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และ สนช. พิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ปีหน้า

    ช่วงการจัดตั้งรัฐบาล และจัดองคาพยพรัฐบาลชุดใหม่ จะมีการจัดเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศในราวเดือนมีนาคม 2561 ตามเป้าหมายที่ปักธงในไทม์ไลน์ดังกล่าว ท่ามกลางการเฝ้าลุ้นความชัดเจนของผู้บริหาร อปท. และนักการเมืองท้องถิ่น ที่นับแต่มี คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ผ่านมา ได้สั่งงดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ครบวาระไว้ทั้งหมด แล้วใช้วิธีคัดสรรบุคคลที่มีความสามารถตั้งเข้าไปทำหน้าที่แทน แต่ต่อมาได้คลายแรงกดดันโดยยอมให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่หมดวาระ ยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

    หากสามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นไปตามไทม์ไลน์ที่ว่า ต้นปี 2561 หลังการเลือกตั้งระดับชาติเสร็จก่อนแล้ว ก็จะถึงเวลาเปิดเวทีให้นักการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศลงสนามต่อ อาศัยจังหวะที่การเมืองระดับชาติยังชุลมุนไม่พร้อมจะทุ่มวางฐานในการเมืองท้องถิ่น หวังปรุงโฉมใหม่ของทั้งการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นรับรัฐธรรมนูญใหม่

    ปิดล้อม กทม. 40 จุด จับ “ปืน-อาวุธสงคราม”

    เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่า วันที่ 11 พ.ย. 2559 ตำรวจกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 แถลงผลการปิดล้อมระดมกวาดล้างอาวุธปืนและอาวุธสงครามในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 40 จุด ซึ่งขยายผลมาจากการจับกุมนายมนัส ศรศรีชัย เเละนายปิยชัย เรืองสาท ผู้ต้องหาที่ลักลอบทำอาวุธปืนดัดแปลงจากบีบีกันมาจำหน่ายทางเฟซบุ๊ก เเละส่งทางไปรษณีย์ให้กับลูกค้า ซึ่งทั้งสองคนถูกจับกุมไปแล้วเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา

    จากตรวจค้นบ้านเป้าหมาย 40 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จับกุมผู้ต้องหาได้ 15 คน ซึ่งล้วนเป็นลูกค้าที่ซื้ออาวุธปืนหรืออะไหลล่ปืนจากนายมนัสทั้งสิ้น และยังตรวจยึดของกลางที่ซื้อมา เเบ่งเป็น ระเบิดแสวงเครื่องประดิษฐ์เอง 2 ลูก  อาวุธปืนไทยประดิษฐ์, ปืนลูกซอง, ปืนพกหลายกระบอก ซึ่งบางส่วนดัดแปลงมาจากปืนบีบีกัน  รวมทั้งชิ้นส่วนดัดแปลงปืนอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบยาเสพติด ไอซ์ ยาบ้า กระท่อม และกัญชาอีกจำนวนหนึ่ง

    โดยพฤติการณ์ของนายมนัสและนายปิยชัย มีการขายอาวุธปืนที่ดัดแปลงแล้วรวมทั้งชิ้นส่วนอะไหล่อาวุธปืนผ่านเฟซบุ๊ก โดยขายไปแล้วกว่า 100 กระบอกทั่วประเทศ และทำมานานกว่า 1 ปีแล้ว  โดยจะส่งปืนให้กับลูกค้าผ่านทางไปรษณีย์ ส่วนวิธีการนั้น จะหลบเลี่ยงการตรวจพบด้วยการห่อฟอยด์หรือยัดใส่ท่อพีวีซี เมื่อได้ไปสินค้าเเล้วลูกค้าบางส่วนจะนำไปใช้เอง  เเละอีกบางส่วนจะนำไปประกอบดัดแปลงเป็นปืนสำเร็จ แล้วนำไปขายต่อผ่านทางเฟซบุ๊กเช่นกัน

    สองตระกูลไทยรวยติด 50 อันดับมหาเศรษฐีเอเชีย

    วันที่ 10 พ.ย. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า นิตยสารฟอร์บส์ซึ่งเป็นสื่อด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เผยผลสำรวจตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของเอเชียประจำปี 2559 โดยอ้างอิงการสำรวจข้อมูลผลประกอบการและสินทรัพย์รวมของกลุ่มทุนต่างๆ ในเอเชียตลอดปีที่ผ่านมา (2559) พบว่าสินทรัพย์รวมของมหาเศรษฐีในเอเชียทั้ง 50 ตระกูล คิดเป็นเงินกว่า 519,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18 ล้านล้านบาทไทย

    รายงานของฟอร์บส์ระบุว่า มหาเศรษฐีตระกูลอีของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกิจการเครือซัมซุง ติดอันดับ 1 มหาเศรษฐีเอเชียที่มีสินทรัพย์รวมมากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 29,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรายได้ของตระกูลราว 35 เปอร์เซ็นต์มาจากบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ แต่กิจการเครือซัมซุงได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีนี้ จากกรณีที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟน รุ่นซัมซุง แกแล็กซี่ โน้ต 7 มีปัญหาแบตเตอรี่ร้อนและเกิดไฟไหม้ จนทำให้ต้องเรียกคืนสินค้าหลายล้านเครื่องทั่วโลก

    ส่วนตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของกิจการเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีของไทย ติดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย มีสินทรัพย์รวมในปีที่ผ่านมากว่า 27,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.6 แสนล้านบาท) อันดับ 3 ได้แก่ ตระกูลอัมภานี เจ้าของกิจการพลังงานเชื้อเพลิงของอินเดีย มีสินทรัพย์รวมกว่า 25,800 ล้านดอลลาร์ (ราว 9 แสนล้านบาท)

    ขณะที่อันดับ 4 ได้แก่ ตระกูลกว็อก เจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์ซันฮุงไคของฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน มีสินทรัพย์รวม 25,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.8 แสนล้านบาท) และอันดับ 5 ตระกูลลี เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และพัฒนาที่ดินเฮนเดอร์สันแลนด์ของฮ่องกง มีสินทรัพย์รวมประมาณ 24,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.64 แสนล้านบาท)

    นอกจากนี้ ตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของกิจการเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นอีกหนึ่งตระกูลมหาเศรษฐีของไทยที่มีชื่อติดอันดับในโผดังกล่าว มีทรัพย์สินรวมเป็นมูลค่ากว่า 14,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 5 แสนล้านบาท) ติดอยู่ในอันดับที่ 14 จาก 50 ตระกูล

    อินเดียส่อวุ่น รัฐบาลสั่งยกเลิกแบงก์ 500 และ 1,000 รูปี

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (http://bit.ly/2eL1zNN)
    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กบีบีซีไทย (http://bit.ly/2eL1zNN)

    วันที่ 9 พ.ย. 2559 เฟซบุ๊กบีบีซีไทยรายงานว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย มีคำสั่งด่วนให้ยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี ซึ่งเป็นธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดในระบบเงินของอินเดียภายในคืนวันที่ 9 พ.ย. 2559 เพื่อขจัดการถือครองเงินนอกระบบจำนวนมากที่อาจได้มาจากการคอร์รัปชันหรือซุกซ่อนไว้เพื่อเลี่ยงภาษี

    คำสั่งดังกล่าวมีผลให้ธนบัตรทั้งสองชนิดไม่สามารถใช้ชำระหนี้ตามกฏหมายได้ในทันที และธนาคารทุกแห่งรวมทั้งตู้เอทีเอ็มจะปิดทำการในวันที่ 9 พ.ย. 2559 เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถนำธนบัตร 500 และ 1,000 รูปีที่ถือครองอยู่ไปแลกเป็นธนบัตรย่อยมูลค่าอื่นๆ รวมทั้งธนบัตร 500 และ 2,000 รูปีแบบใหม่ที่จะพิมพ์ออกมาใช้งานแทนที่ได้ ที่ธนาคารทุกแห่งภายในเวลา 50 วันนับแต่วันที่ 10 พ.ย. 2559 เป็นต้นไป

    คาดว่าคำสั่งยกเลิกธนบัตรภายในเวลาชั่วข้ามคืนจะสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจภายในประเทศของอินเดียซึ่งยังนิยมใช้เงินสดกันอย่างมาก โดยเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปอาจมีเงินสดราว 2-3 แสนรูปีเก็บไว้ใต้เตียงที่บ้าน โดยในจำนวนนี้เป็นธนบัตร 1,000 รูปีหลายใบ ซึ่งคนจำนวนมากจะต้องรีบนำไปแลกใหม่ และอาจเกิดการขาดแคลนเงินขึ้นในระยะสั้นช่วงไม่กี่วันข้างหน้า

    อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอินเดียยืนยันว่า การสั่งยกเลิกธนบัตรอย่างกะทันหันเพื่อให้ผู้ที่ถือครองเงินสดอย่างผิดกฏหมายไม่สามารถใช้หรือหมุนเวียนเงินนั้นได้ เป็นสิ่งจำเป็นต้องทำเพื่อเดินหน้าขจัดการคอร์รัปชันซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความยากจน